เพราะสมมาตรถึงสวยงาม จิตวิทยาวิวัฒนาการสู่ความหลงใหลในสมดุล

ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ผลงานศิลปะหรือสถาปัตยกรรม นิยามของคำว่าสวยงามอาจจะแตกต่างกันไปในมุมมองของแต่ละคน ในขณะเดียวกันงานวิจัยหลายแหล่งเห็นตรงกันว่าโดยทั่วไปแล้วมนุษย์มักชื่นชอบคุณลักษณะพื้นฐานบางอย่างร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือความสมมาตร ซึ่งเป็นได้จากสถาปัตยกรรมในหลากหลายสถานที่ วัฒนธรรม และความเชื่อ ที่ให้ความสำคัญกับความสมดุลตั้งแต่ผังพื้นไปจนถึงเครื่องตกแต่งอาคาร ความหลงใหลนี้แท้จริงแล้วฝังอยู่ในดีเอ็นเอผ่านการวิวัฒนาการของมนุษย์เลยทีเดียว

ความสวยงามอยู่ที่ตาของคนมอง?

สิ่งที่สวยงามมักมีความดึงดูดอย่างน่าประหลาด แต่สิ่งไหนที่เรามองว่าสวยนั้นเป็นเรื่องที่สามารถนำมาถกเถียงกันได้อย่างไม่รู้จบ เนื่องด้วยนิยามของแต่ละคนอาจแตกต่างกันด้วยปัจจัยหลายอย่างเช่นสภาพแวดล้อมวัฒนธรรม หลักปรัชญาหรือความเชื่อ มุมมองทางการเมืองหรือสังคม และการศึกษา ทำให้ความงามจะดูเป็นเรื่องปัจเจกจนยากจะจับต้องได้ ถึงแม้เมื่อเราลดขอบเขตพิจารณาลงมาแค่ในงานศิลปะหรือสถาปัตยกรรม ภาษาการออกแบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงก็ยังสามารถเรียกว่าสวยงามได้ เรขาคณิตอันวิจิตรในมัสยิดอิสลาม ความสะอาดตาในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น รูปลักษณ์ตามวัตถุประสงค์ในงานโมเดิร์น ไปจนงานออกแบบล้ำสมัยของอาคาร Futuristic

แต่ความงามใครว่าไม่สำคัญ งานวิจัย Beautiful Places: The Role of Perceived Aesthetic Beauty in Community Satisfaction ในปี 2009 พบว่าทัศนียภาพของเมืองส่งผลกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ งานสำรวจของ Knight Soul of the Community 2010 จากประชากรกว่า 43,000 คน 26 รัฐ ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าทัศนียภาพเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผูกพันระหว่างผู้อาศัยกับชุมชนมากที่สุดเป็นอันดับสามรองจากโอกาสและการยอมรับทางสังคม สูงกว่าโรงเรียนในพื้นที่หรือสภาพการเงินของชุมชนเสียอีก

จิตวิทยาวิวัฒนาการ (Evolutionary Psychology) สู่ความหลงใหลในความสมดุล

แต่อะไรที่ทำให้เรามองว่าสิ่งนั้นสวย? นักวิทยาศาสตร์หลายคนเช่น สตีเวน พินเจอร์ (Steven Pinker) นักจิตวิทยาการปริชาน (Cognitive Psychologist) ถกประเด็นไว้ในหนังสือ How the Mind Works (ค.ศ.1997) หรือ ทฤษฎีความงามของดาร์วิน (A Darwinian Theory of Beauty) ของนักปรัชญาศิลปะชาวอเมริกา เดนนิส ดัตตั้น (Dennis Dutton) กล่าวว่าเนื่องจากการวิวัฒนาการ ส่งผลให้โดยทั่วไปเรามีแนวโน้มชื่นชอบคุณลักษณะบางอย่างร่วมกันใน มนุษย์ ทิวทัศน์ ศิลปะ รวมถึงผลงานของผู้มีฝีมือ เช่น ทิวทัศน์ธรรมชาติที่เรามองว่าสวยมักเป็นทุ่งหญ้าโล่งกว้างมีพืชพรรณต้นไม้นานาพันธุ์และแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้รสนิยมต่อดนตรีและศิลปะนั้นถูกพัฒนาร่วมกับทักษะความนึกคิดของมนุษย์อย่างแยกออกจากกันไม่ได้

ความพึงใจของมนุษย์ที่มีต่อความสมมาตรสามารถอ้างอิงได้จากชีววิทยาวิวัฒนาการเช่นกัน ภายใต้แรงกดดันทางสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดทางพันธุกรรม รูปร่างหน้าตาที่สมมาตรบ่งบอกสุขภาพและยีนที่ดี งานสำรวจพบว่าโดยทั่วไปเรามักมองว่าใบหน้าที่สมมาตรมีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่า ทั้งนี้ความสมมาตรนั้นต้องมีความเป็นธรรมชาติอยู่ในระดับหนึ่ง (เนื่องจากเวลานักวิจัยนำใบหน้ามาสะท้อนครึ่งซีก คนก็ไม่ชอบเหมือนกัน) สมองมนุษย์ยังเป็นเลิศในด้านการรับรู้รูปแบบ (Pattern Recognition) ทำให้วัตถุสมมาตรง่ายต่อการประมวลผล อีกทั้งยังพบว่าการมองรูปทรงสมมาตรไปกระตุ้นส่วนหนึ่งของเปลือกสมองเกี่ยวกับการรับรู้และมองเห็น เกิดเป็นข้อสันนิษฐานว่ามนุษย์น่าจะพัฒนาโครงข่ายประสาทส่วนนั้นมาเพื่อจำแนกวัตถุสมมาตรโดยเฉพาะ

สุนทรียะของความสมมาตรในงานสถาปัตยกรรม

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามไขความลับผ่านจิตวิทยาวิวัฒนาการ ศิลปินและนักปราชญ์ต่างก็พยายามหาคำตอบของคำว่าสวยงามเช่นเดียกัน นักปรัชญาโรมันโบราณ วิตรูวิอุส (Marcvs Vitrvvivs Pollio) กล่าวถึงสุนทรียะในแง่ที่สามารถนำมาวัดคำนวณและสร้างได้ พัฒนากลายเป็นคุณลักษณะสามประการของอาคารที่ดี ได้แก่ความแข็งแรงมั่นคง (Firmitas), ประโยชน์ใช้สอย (Utilitas) และความงาม (Venustas) โดยความสมมาตร (Symmetry) ในความหมายของวิตรูวิอุสนั้นมากกว่าแค่ซ้ายขวาเหมือนกัน แต่รวมไปถึงสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยมีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นมาตรฐาน เช่นสัดส่วนต้นแขน เท้า ฝ่ามือ นิ้วที่สัมพันธ์กันของมนุษย์ หรือองค์ประกอบต่างๆในอาคารโดยมีขนาดเสาเป็นมาตรฐาน (Book 1 Chapter 2, The Ten Books on Architecture,) ถึงแม้คนละส่วนแต่จำเป็นต้องมีสัดส่วนที่สัมพันธ์กัน

โครงสร้างที่สมมาตรหรือสมดุลย่อมแข็งแรงมากกว่า ทิวทัศน์ที่มีรูปแบบชัดเจนย่อมง่ายต่อการจดจำ กระบวนการรับรู้รูปแบบของมนุษย์สามารถจำแนกสิ่งที่มีคุณลักษณะแตกต่างเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ลักษณะสมมาตรสร้างทั้งความรู้สึกสบายตาและสบายใจ ต่อมาอาคารสมมาตรยังถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงความศักยภาพของจักรวรรดินั้นๆ การนำวัสดุธรรมชาติที่มีรูปร่างแตกต่างกันในแต่ละชิ้นมาสร้างเป็นอาคารรหลังหนึ่งตามรูปทรงเรขาคณิตอย่างแม่นยำนั้นต้องใช้พลังงานมากและแรงงานที่มีความชำนาญสูง รูปเรขาคณิตสมบูรณ์ ผังสมมาตรเชิงหมุน และสัดส่วนของวิหารแพนธีออน (Circle, Square and Ad Quadratum) แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของ

อาณาจักรโรมันโบราณที่ยากจะเลียนแบบแม้ในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะแตกต่างกันด้านภาษา สถานที่ หรือวัฒนธรรม แต่ความสมมาตรเป็นอีกภาษาออกแบบที่เข้าถึงผู้คนง่ายที่สุด การวิจัยจิตวิทยาวิวัฒนาการยกเหตุผลมากมายมาอธิบายความพึงใจของมนุษย์เมื่อมองสิ่งสมมาตรหรือสมดุล และความหลงใหลที่ฝังอยู่ในดีเอ็นเอสรรสร้างออกมาเป็นงานศิลปะและการออกแบบสถาปัตยกรรม อีกทั้งสถาปัตยกรรมที่แม่นยำเหล่านั้นยังกลายเป็นการแสดงถึงศักยภาพของอาณาจักรหรือการอุทิศให้กับหลักการและความเชื่อ ความงามในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นสุดท้ายแล้วขึ้นกับปัจเจกบุคคล แต่การศึกษาอย่างลึกซึ้งนำไปสู่การไขความลับกระบวนการคิดของมนุษย์มากขึ้นนั่นเอง

รูปภาพจาก :

Figure 1 Arch of Victory, France
ถ่ายโดย Bastien Nvs ภาพจาก https://unsplash.com/photos/KzhckF1pq1Y

Figure 2 Louvre Museum, France
ถ่ายโดย Tomáš Nožina ภาพจาก https://unsplash.com/photos/nwT0Y-NaQ4Y

Figure 3 Osaka Castle, Japan
ถ่ายโดย Alejandro Barba ภาพจาก https://unsplash.com/photos/n0R3OQoENE8

Figure 4 Bosjes Chapel, South Africa ออกแบบโดย Steyn Studio
ถ่ายโดย Adam Letch ภาพจาก https://www.archdaily.com/867369/bosjes-chapel-steyn-studio

Figure 5 St. Peter Basilica, Vatican City 

ถ่ายโดย Yoav Aziz ภาพจาก https://unsplash.com/photos/PVxcrHNfrOY

Figure 6 งานศึกษาของสถาปนิกชาวอเมริกัน Kenneth Hewes Barricklo เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสัดส่วนในวิหารพาร์เธนอน ภาพจาก https://static1.squarespace.com/static/54b44002e4b0dac1922be42f/t/
57dee01b725e257371558b42/1474224196463/Rediscovering+The+Parthenon+PDF.compressed

Figure 7 ผังและสัดส่วนองค์ประกอบของวิหารแพนธีออน
ภาพจาก https://link.springer.com/article/10.1007/s00004-018-00423-2

Writer
Panon Sooksompong

Panon Sooksompong

สถาปนิกที่หลงใหลในการค้นคว้าสู่นักเขียนผู้ถ่ายทอดเรื่องราว จากกองหนังสือที่เอามารองนอน ตอนนี้ได้ฤกษ์จะถูกหยิบมาเปิดอ่านไปพร้อมกัน