ในช่วงหลังๆ มานี้ เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีหรือโปรแกรมสำหรับงานออกแบบ ต่างก็มีการอัพเดตลูกเล่นใหม่ๆ ให้เลือกใช้มากมาย หรือแม้กระทั่ง AI ที่เข้ามามีบทบาทกับวงการออกแบบและงานศิลปะมากขึ้น จนทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า ทิศทางของวิชาชีพหรือการเรียนสถาปัตย์จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต ?
วันนี้ Dsign Something จึงมาบอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในรั้วสถาปัตย์ท่ามกลางโลกปัจจุบัน ผ่านการพูดคุยกับอาจารย์ ผู้ที่มีประสบการณ์สอนกว่า 17 ปี อย่าง ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือที่น้องๆ นักศึกษารู้จักกันในชื่อ ‘อาจารย์จิม’
รูปแบบการนำเสนองานของนักศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ?
อาจารย์จิม : ผมคิดว่าแนวโน้มของการนำเสนอมันเปลี่ยนไป ด้วยสภาพแวดล้อม, สื่อ, เทคโนโลยีที่รองรับ บวกกับการลดใช้กระดาษที่เป็นเทรนด์ของโลกในตอนนี้ด้วย มันก็ทำให้พวกอุปกรณ์มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญเลยก็คือช่วงโควิด ที่ทุกอย่างจะต้องเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด หลังจากนั้นก็กลายมาเป็น New Normal ไปเลย
แต่ว่ากระดาษก็ยังมีความสำคัญอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องการดูความเชื่อมโยงกันของงาน เพราะกระดาษจะเป็นตัวช่วย ที่ทำให้สามารถดูภาพรวมทั้งหมด โดยไม่ต้องสลับหน้าเพลทไปมา ดังนั้นก็อาจจะยังมีพรินต์อยู่ แต่จำนวนเพลทจะไม่ได้เยอะ สำหรับวิดิโอนั้น ไม่ได้ถูกกำหนดตายตัวว่าทุกโปรเจกต์จะต้องมี บางโปรเจกต์อาจจะมาแทนโมเดลได้ หรือบางวิชาก็อาจจะกำหนดให้สรุปผลงานเป็นรูปแบบแอนิเมชัน
โมเดลยังจำเป็นอยู่ไหมในยุคนี้ ?
อาจารย์จิม : เด็กรุ่นใหม่หลายๆ คนอาจคิดว่าไม่สำคัญแล้ว เพราะว่ามันมีอย่างอื่นมาตอบโจทย์แทน และการตัดโมเดลก็ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ผมมองว่าโมเดล, perspective หรือแอนิเมชัน มันใช้งานกันคนละแบบ ข้อดีของโมเดล คือเป็นสิ่งที่สื่อสารได้เข้าใจง่ายที่สุด เห็นความเชื่อมโยงได้ง่าย จับต้องได้ คนที่ไม่ได้เรียนมาด้านนี้ก็สามารถค่อนข้างเข้าใจได้ ส่วนแอนิเมชัน หรือภาพดิจิตอล ก็จะได้ความสมจริงในเชิงของเรื่องแสงเงา วัสดุ หรือความเชื่อมต่อในมุมมองของคนเดิน แต่ข้อเสียคือไม่สามารถเช็คความเชื่อมโยงย้อนหลังได้ เพราะซีนเหล่านั้นถูกเซตมาแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาไปนำเสนองาน เราต้องดูว่าลูกค้าเป็นใคร แล้วเราคิดว่าเราจะนำเสนอด้วยสื่ออะไร วิธีการแบบไหน ที่จะทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายที่สุด เพราะสุดท้ายทุกอย่างที่เราทำออกมา มันคือการสื่อสารนั่นเอง
การเข้ามาของ AI มีผลต่อการเรียนการสอนสถาปัตย์อย่างไรบ้าง ?
อาจารย์จิม : ผมเชื่อว่าในอนาคตมันจะมีผลขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มันก็สร้างความกังวลในระดับหนึ่งสำหรับอาจารย์ แต่ผมมองว่า AI ก็คล้ายๆ กับคนเรา ที่เมื่อเราดูโน่นดูนี่มา เราก็จะบันทึกเข้าไปในหัว หากต้องการดึงภาพเหล่านั้นออกมาใช้ เราก็ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในการประมวลออกมาเป็นงาน ซึ่งถ้าเด็กไม่ถูกฝึกทักษะเลย มันก็จะทำให้เขาไม่มีสกิลในการครีเอท หรือการเคลียร์แบบก่อสร้าง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเซตความรู้ที่ยังต้องเรียนอยู่ ในวันที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เราก็ต้องบาลานซ์การใช้ AI ให้ดี อย่าใช้มันเพลินจนตัดวิธีการเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์ของเราออกไป
บางขั้นตอนที่ AI สามารถเข้ามาเป็นตัวช่วยได้ เราก็คงต้องยอมรับและใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่สิ่งที่ AI ประมวลผลออกมา มันไม่สามารถที่จะจบงานสถาปัตย์หนึ่งชิ้นได้แน่นอน ดังนั้นเราจึงต้องนำความรู้ในเชิงสถาปัตย์ที่มีมาต่อยอด เพื่อให้สามารถจบงานได้ โดยเฉพาะการออกแบบบ้านที่ผมมองว่ามันพิเศษ เพราะมันมีเรื่องของจิตใจและการสื่อสารด้วย เราได้พูดคุยกัน ได้ถามสารทุกข์สุขดิบ หรือเราอาจจะผูกพันกับเจ้าของบ้านไปเลยก็ได้ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ AI เข้ามาเติมเต็มไม่ได้ และอีกสิ่งหนึ่งผมคิดว่า AI ยังทำไม่ได้ คือเรื่องของความรับผิดชอบในการดูแลและตรวจเช็คงานก่อสร้าง
ในช่วงการตรวจแบบดีไซน์ การที่จะให้แบบของนักศึกษาผ่าน อาจารย์จะตัดสินจากอะไรบ้าง?
อาจารย์จิม : การจะให้แบบผ่านหรือไม่ผ่าน หลักๆ เลยคือเรื่องเวลา บางครั้งถึงแม้ว่ามันอาจจะยังไม่ได้ดีที่สุด หรืออาจจะยังปล่อยผ่านไม่ได้ แต่ว่าก็จำเป็นต้องตัดจบ เพราะเรื่องเวลาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำหรับในเชิงของวิชาดีไซน์ หลักๆ เลยคือเรื่องของมาตรฐาน ความถูกต้องของ Area, Function และสิ่งสำคัญก็คือการกำหนดไอเดียหรือแนวคิดของคุณขึ้นมา แล้วสามารถที่จะถ่ายทอดจากสิ่งเป็นนามธรรมสู่รูปธรรม แปลงออกมาเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมได้อย่างสมเหตุสมผล ตรงนี้ผมถือว่าก็ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่จะต้องเรียนรู้ ต้องอาศัยประสบการณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เข้าใจว่ามันก็ไม่ง่ายหรอก ก็ค่อยๆ ฝึกไป สำหรับอาจารย์เองก็มีหน้าที่ในการช่วยประคับประคอง ช่วยชี้แนะในการดึงความคิดเหล่านั้นออกมาเป็นรูปลักษณ์ของอาคารให้ได้เช่นกัน
ในมุมมองของอาจารย์ คิดว่าอยากให้แนะนำกับนักศึกษา ที่ยังไม่มั่นใจในทักษะการวาดรูปอย่างไรบ้าง ?
อาจารย์จิม : ผมคิดว่าการเรียนด้านสถาปัตย์ มันไม่ใช่แค่การวาดรูป ไม่ใช่แค่ศิลปะ การเรียนด้านนี้เป็นส่วนผสมระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ ซึ่งต้องมีทั้งคู่จริงๆ และควรที่จะบาลานซ์ให้ใกล้เคียงกัน ไม่ต่างกันมากเกินไปด้วย เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ถึงขั้นที่ว่าจะต้องวาดรูปเก่งเสมอไป เพราะส่วนตัวผมก็วาดรูปไม่เก่งเหมือนกัน ยิ่งในปัจจุบันที่เรามีเครื่องมือต่างๆ เข้ามาช่วยแปลงความคิดออกมาเป็นแบบดีไซน์ได้หลากหลาย ผมจึงไม่อยากให้กังวลมาก
สำหรับน้องๆ ที่อยากเข้ามาเรียนสถาปัตย์ในยุคนี้ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
อาจารย์จิม : ตอนนี้โอกาสมีเยอะขึ้น ทั้งระบบการคัดเลือก และโอกาสในการไปทดลอง เมื่อรู้ตัวในระดับหนึ่งว่าเรามีความชอบในสถาปัตย์ ก็อยากให้ไปลองทบทวนให้มั่นใจก่อน อาจจะเป็นการเข้าค่าย หรือเข้าคอร์สต่างๆ ก็ได้ เพราะการที่เราสอบเข้ามา มันใช้ทรัพยากรเยอะ ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ถ้าเข้ามาแล้ว เพิ่งรู้ว่าไม่ใช่ ก็จะเป็นการทำให้เสียเวลาอีก เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ไปเตรียมตัว เตรียมใจให้ชัดเจนก่อน แน่นอนว่าอุปสรรคในตอนเรียนมักจะเจออยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเรายังมีใจกับมันอยู่ ต่อให้เจออุปสรรคแค่ไหน เราก็จะผ่านไปได้
ตั้งแต่ตอนเข้าเรียนคณะสถาปัตย์จนถึงทุกวันนี้ อาจารย์คิดว่าเสน่ห์ที่ทำให้ยังอยู่ในวิชาชีพนี้คืออะไร ?
อาจารย์จิม : โดยส่วนตัวผมมองว่างานสถาปัตย์มีเสน่ห์จริงๆ เพราะว่าคนที่จะประสบความสำเร็จในวิชาชีพนี้ได้ ต้องรอให้เป็น เพราะงานก่อสร้างงานหนึ่ง ผมคิดว่าตั้งแต่ช่วงออกแบบจนถึงก่อสร้างเสร็จ จะใช้เวลาอย่างน้อยสองปี อย่างงานบ้านที่ผมเพิ่งทำก็ใช้เวลา 4-5 ปีเลย ดังนั้นมันต้องอาศัยความอดทนมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้มันคุ้มค่ากับความอดทน คือการที่ได้เห็นงานถูกสร้างจริง และเป็นสิ่งที่อยู่ได้นาน อย่างต่ำก็ 20-30 ปี ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมคือที่สุดของงานศิลปะแขนงหนึ่งเลย ที่ต้องการทรัพยากรและพลังงานมาทุ่มเท เพื่อที่จะสร้างผลงานชิ้นหนึ่งออกมา มากกว่านั้นยังเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตของคนด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สถาปนิกหลายๆ คนยังอยู่ในวิชาชีพนี้ เพราะมันช่วยเติมเต็มความรู้สึกข้างในของเราให้สมบูรณ์
ขอขอบคุณ ผศ.ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!