World Architecture Festival (WAF) เวทีออสการ์แห่งสถาปัตยกรรม
ที่ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับวงการ

เพราะจินตนาการและแรงบันดาลใจเป็นส่วนประกอบสำคัญของงานออกแบบและสถาปัตยกรรม หลากหลายเวทีแข่งขันผลงานออกแบบระดับโลกได้กลายมาเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับสถาปนิกและนักออกแบบภายในได้แสดงผลงาน แต่มีเพียงงานประกวดระดับโลกไม่กี่รายการเท่านั้นที่นำเสนอมุมมองที่สดใหม่และพลังแห่งความคิดใหม่ ๆ ให้แก่วงการ ซึ่ง World Architecture Festival หรือ WAF ก็เป็นเวทีประกวดออกแบบระดับโลกที่ดึงดูดผลงานจากนักสร้างสรรค์ในวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา WAF เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่ผลงานของผู้เข้าแข่งขันจะได้รับการตัดสินโดยกรรมการที่เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน จนนับได้ว่าชื่อเสียงของ WAF เปรียบดั่งรางวัล “Academy Awards” ในโลกแห่งงานสถาปัตยกรรม 

WAF เป็นมากกว่ารางวัลที่ได้รับการตัดสินจากเพื่อนร่วมสายอาชีพ แต่ยังรวมถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดกับเพื่อนในแวดวงเดียวกัน การขยายเครือข่ายและโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนยกระดับวงการสถาปัตยกรรมให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

เราจึงอยากพาคุณไปทำความรู้จัก WAF ซึ่งเป็นโอกาสที่นักออกแบบชาวไทยจะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานครั้งนี้ และการเชื่อมโยงชุมชนสถาปนิกและนักออกแบบภายใน ไปพร้อม ๆ กับการยกระดับความเป็นเลิศของอุตสาหกรรมนี้ทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก             

รู้จักกับ WAF 

World Architecture Festival (WAF) เป็นกิจกรรมโชว์เคสผลงานทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจมากที่สุดในโลก โดยมีความร่วมมือจากโกรเฮ่เป็นพาร์ทเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งกิจกรรม WAF มาตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปัจจุบัน

เหตุผลที่รางวัลนี้เปรียบเสมือนกับเป็นออสการ์ของวงการสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน นั่นก็เพราะเป็นการรวมเครือข่ายจากกลุ่มนักออกแบบที่ได้รับการยกย่องจากทั่วทุกมุมโลกมานำเสนอแนวความคิดงานดีไซน์ของตัวเอง และได้รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์แบบสด ๆ ไปพร้อม ๆ กับการแลกเปลี่ยนบริบทรอบด้านของงานออกแบบ ตั้งแต่วัฒนธรรม สังคม ความคิดเห็น เพื่อสร้างคอนเน็กชันของวงการออกแบบในระดับโลก

จากจำนวนผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,000 คนจาก 70 ประเทศทั่วโลก การประกวดออกแบบ WAF 2023 ครั้งนี้มีผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันรวมทั้งสิ้น 833 ผลงาน ในจำนวนนี้มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเป็น shortlisted  รวม 477 ผลงาน ซึ่งผู้ออกแบบ Shortlisted ในกลุ่มนี้จะต้องนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการในสัปดาห์การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้  ทั้งนี้กิจกรรมในงานที่น่าสนใจซึ่งพร้อมต้อนรับทุกคนเพื่อขยายขอบเขตความคิดสร้างสรรค์เริ่มตั้งแต่ Crit Sessions การนำเสนอผลงานที่น่าประทับใจของผู้ได้รับการคัดเลือก (Shortlisted) ตามประเภทผลงานประกวด ภายในเวลา 10 นาที ต่อด้วยช่วงถามตอบอีก 8 นาที ต่อหน้าผู้ฟังและคณะกรรมการเพื่อรับคำติชมในรูปแบบที่ไม่มีใครเหมือน ก่อนที่คณะกรรมการจะพิจารณาตัดสินผลงานที่ชนะเลิศ และส่งต่อเพื่อรับรางวัล Building of the Year Award

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเสริมทักษะและความรู้ต่าง ๆ งานครั้งนี้มีเวทีเสวนาโดยผู้บรรยายและผู้เชี่ยวชาญจำนวน 76 คนจากทั่วโลกตลอด 3 วันเต็ม ซึ่งปีนี้จัดขึ้นในธีมที่มีชื่อว่า ‘Catalyst’ งานนี้ยังมีส่วนที่เรียกว่า Festival Hall ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการโชว์เคสผลงานการออกแบบล่าสุดจากผู้จัดแสดงระดับโลก และยังเป็นพื้นที่สานสัมพันธ์ของคนในวงการออกแบบอีกด้วย

ในช่วงเย็นวันศุกร์สุดสัปดาห์ของงาน WAF ก็เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง Gala Awards Dinner อีเวนต์สุดพิเศษที่สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมากกว่า 600 คนมารวมตัวกัน

ทำไมต้องร่วมงาน WAF

WAF เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สถาปนิกและนักออกแบบภายในไทยจะได้นำเสนอตัวตนในเวทีโลก และสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับเพื่อนร่วมวงการจากทั่วทุกมุมโลก โอกาสครั้งนี้เป็นความท้าทายทางวิชาชีพครั้งสำคัญที่จะได้ผลักดันตัวเองสู่ปลายทางที่ไกลออกไปอีก

ความท้าทายเริ่มต้นจากการที่ผู้เข้ารอบสุดท้ายจะได้นำเสนอโปรเจกต์จากมือและสมองของตนเองต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำคำติชมที่ได้รับจากคณะกรรมการมาต่อยอดงานในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเหล่าคณะกรรมการตัดสินประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงมากกว่า 140 คน โดยขั้นตอนการตัดสินของ WAF ที่มีเอกลักษณ์ และเข้มงวดช่วยตอกย้ำให้ผลงานของผู้เข้าแข่งขันมีความน่าเชื่อถือและแตกต่างยิ่งขึ้นจากการประกวดบนเวทีนี้ ผลงานที่ได้รับรางวัลจะถูกบันทึกลงใน World Buildings Directory พร้อมคำบรรยายผลงานฉบับเต็มและภาพประกอบ

ข่าวการประกวดของ WAF ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกมากกว่า 350 ข่าวในแต่ละปี โดยสำนักข่าวระดับโลกไม่ว่าจะเป็น CNN, AI Jazeera, BBC, The New York Times, Domus Web, ArchDaily และอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้ชนะรางวัลจะได้รับความสนใจจากสื่อซึ่งนั่นจะช่วยเพิ่มการเป็นที่รู้จัก เพิ่มการร่วมมือกันในการทำงาน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากมาย

WAF ขอเรียนเชิญเพื่อนสถาปนิกและนักออกแบบชาวไทยมาร่วมทำความรู้จัก พบปะพูดคุยกันเกี่ยวกับกิจกรรมของ WAF ในงาน An intimate evening with WAF ในวันที่ 26 ตุลาคม 2566 นำโดย Audrey Yeo ลีดเดอร์ ประเทศไทย และกลุ่มประเทศอินโดไชน่า, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำ ลิกซิล เอเชียแปซิฟิก และ Paul Finch Programme Director of the World Architecture Festival (WAF) 

ยิ่งไปกว่านั้น งานครั้งนี้ยังได้รับการตอบรับและความร่วมมือจากผู้ที่เป็นที่ยอมรับในวงการสถาปัตยกรรมและการออกแบบของไทยที่พร้อมใจมาร่วมงานเพื่อช่วยกันผลักดันเวที WAF ให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาปนิกและนักออกแบบภายในของไทยได้มีโอกาสแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์บนเวทีระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น โดยมีรายนาม อาทิ ชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA),
กรกช คุณาลังการ นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย (TIDA), มังกร ชัยเจริญไมตรี นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) นอกจากนี้ทาง WAF ยังได้เชิญ พิชัย วงศ์ไวศยวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด และ นิวัติ อ่านเปรื่อง ผู้บริหารอาวุโส บริษัท พีไอเอ อินทีเรีย จำกัด เข้าร่วมงานด้วยในฐานะที่ทั้งสองตอบรับคำเชิญจากทาง WAF ในการเป็นคณะกรรมการตัดสินผลงานที่เข้ารอบในปีนี้ที่กำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์

ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้โดยคลิกที่ลิงก์ Google Form นี้เพื่อเข้าร่วมงานในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 18.00 – 21.00 น. ณ LIXIL Experience Center ถ.วิทยุ (อาคาร All Seasons Place) โดยขออนุญาตสงวนสิทธิ์ในการลงทะเบียนเข้าร่วมงานเฉพาะผู้ที่เป็นสถาปนิกและนักออกแบบภายในเท่านั้น

Writer
Nathanich Chaidee

Nathanich Chaidee

อดีตนักเรียนสัตวแพทย์ผู้หลงใหลในเส้นสายสถาปัตยกรรม ก่อนผันตัวเองมาเรียน'ถาปัตย์ และเลือกเดินบนถนนสายนักเขียนหลังเรียนจบ สามสิ่งในชีวิตที่ชอบตอนนี้คือ การได้ติ่ง ไปญี่ปุ่น และทำสีผม