ในยุคที่เราขึ้น 3D Model ได้อย่างง่ายดาย การตัดโมเดลยังจำเป็นอยู่ไหม ?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งสิ่งที่คุณต้องพบเจอเมื่อคุณเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์คือการตัดโมเดลในที่นี้
เพื่อน ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือ ผ่านช่วงเวลาอันมีค่านั้นมาแล้วทุก ๆ คนล้วนต้องเคยผ่านประสบการณ์การทำโมเดลมาก่อนไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ การโดนคัตเตอร์บาด นิ้วติดกาวร้อน การอดหลับอดนอนประกอบร่างโมเดล สิ่งที่ทุกคนอาจเคยพบเจอมาแล้ว

เพื่อน ๆ เคยสงสัยไหมว่าเราตัดโมเดลไปเพื่ออะไร ในยุคที่เราขึ้น 3D Model ได้อย่างง่ายดายการตัดโมเดลยังจำเป็นอยู่หรอ ? วันนี้ Dsign Something จะพาเพื่อน ๆ หาคำตอบผ่านการพูดคุยจากมุมมองของน้อง ๆ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก ( KMITL ) ผ่าน Project: Central Market for Fruit Trade and Logistic of Eastern Region และ ผลงานการตัดโมเดลสุดเนี๊ยบ

พูดคุยกับกลุ่มน้อง ๆ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ( KMITL ) ผ่านผลงาน Central Market

กับคำถามเปิดอกเด็กถาปัต การตัดโมเดลยังจำเป็นอยู่ไหม ?

Project : Central Market for Fruit Trade and Logistic of Eastern Region หรือ โครงการตลาดกลางส่งเสริมการค้าผลไม้และโลจิสติก ภูมิภาคตะวันออก Project ที่ได้รับการออกแบบร่วมกันของน้อง ๆ นักศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 5 (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) หรือ ( KMITL ) ในการออกแบบตลาดกลางเพื่อการส่งเสริมผลไม้และโลจิสติกส์ในภาคตะวันออก ของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี จากแนวคิดและความสนใจของระบบการขนส่งผลไม้ในภูมิภาค และความเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในฐานะของศูนย์กลางการส่งออกผลไม้ชั้นนำ โดย Project : Central Market for Fruit Trade and Logistic of Eastern Region ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการสัญจรของพื้นที่ภายในโครงการ ที่ซึ่งนำมาสู่แนวคิดของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่คล้ายโรงงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับฟังก์ชั่นหลักได้แก่ พื้นที่ค้าขายผลไม้ พื้นที่จัดเก็บ พื้นที่สำหรับรถบรรทุก และ พื้นที่ส่งออก ผ่านการศึกษาพื้นที่ผ่านการสร้างแบบจำลองของพื้นที่ในส่วนต่าง ๆ

เมื่อโมเดล 3D สร้างการรับรู้ได้มากกว่าภาพ 2D

ทีมน้อง ๆ ผู้ออกแบบเล่าว่า

” ด้วยความที่ Project : Central Market for Fruit Trade and Logistic of Eastern Region มีพื้นที่ที่ค่อนข้างใหญ่ ในการที่จะตัดโมเดลขนาด 1 : 750 มันทำให้โมเดลอาจมีขนาดที่เล็กเกิน ที่อาจส่งผลกับการรับรู้ของคนทั่วไปหรือแม้แต่ทีมที่ออกแบบแค่ที่เห็นภาพจากโมเดลขนาดเล็กและภาพ 3D เราจึงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการตัดโมเดล Section เพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้นของแนวคิดที่ต้องการจะสื่อสารออกไปและคิดว่ามันน่าจะสร้างความน่าสนใจให้ผู้ที่พบเห็นได้ง่ายกว่าการเห็นเพียงภาพ 2D “

โดยทีมน้อง ๆ ผู้ออกแบบ Project : Central Market for Fruit Trade and Logistic of Eastern Region ได้ทำการเลือกตัดโมเดล Section ของพื้นที่โครงการออกมาทั้งหมด 4 ส่วนโดยโมเดล Section แต่ละตัวจะทำหน้าที่แสดง Function ของแต่ละพื้นที่ออกมาในสเกลที่แตกต่างกันตัวอย่างเช่น Resale Section Model ที่แสดงความสัมพันธ์ของสัดส่วนผนังที่มีต่อผู้ใช้งาน หรือ Main Wholesale Section Model ที่แสดงความสัมพันธ์กับสัดส่วนของรถบรรทุก

Resale Section Model - Scale 1 : 100 โมเดลแสดงสัดส่วนของ ระดับพื้นที่ และ Façade อาคารที่ยื่นออกมา
Auction Section Model - Scale 1 : 50 โมเดลแสดงส่วนของ Corridor Services ที่จะแสดงพื้นที่ขนส่งของผลไม้ของพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง และ เพื่อแสดงสัดส่วนการใช้งานของ Human Scale ในพื้นที่
Sub Wholesale Section Model - Scale 1 : 35 โมเดลแสดงโครงสร้างและขนาดของสัดส่วนต่าง ๆ ที่มีความใกล้เคียงกับอาคารสำเร็จรูป และแสดงระบบชิ้นส่วน ระบบ Modular ของวัสดุมากที่สุด
Main Wholesale Section Model - Scale 1 : 75 โมเดลแสดงส่วนของพื้นที่เก็บของภายในโครงการ ที่แสดงรายละเอียดของพื้นที่จอดรถบรรทุก

การตัดโมเดลยังมีความจำเป็นต่อการออกแบบไหม ?

ในรูปแบบของการเรียนการสอนภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้นเป็นเรื่องธรรมดามากเลยที่เราจะได้ตัดโมเดลระหว่างที่อยู่ในกระบวนการออกแบบของทุก ๆ งานน้อง ๆ มีมุมมองยังไงกับการตัดโมเดล คิดว่าการตัดโมเดลมีประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการออกแบบมากน้อยแค่ไหน?

จากคำบอกเล่าของน้อง ๆ

“ ผมมองแยกเป็น 2 พาร์ท ในพาร์ทแรกในส่วนของการ Develop แบบผมคิดว่าการตัดโมเดลมีความสำคัญค่อนข้างสูงเพราะในนการตัดโมเดลจะทำให้เราสามารถเห็นมิติของแสงและเงา เมื่อตัวโมเดลโดนแสงอาทิตย์จริง ๆ หรือทั้งในเรื่องของ Space ทำให้มีความสำคัญอยู่ที่ประมาณ 70 – 80% และในอีกพาร์ทที่เป็นเรื่องของ Production ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของความสวยงามแต่ก็ยังทำให้ตัวโมเดลมี่ความสำคัญอยู่ และอีกข้อดีคือของโมเดลคือหน้าที่ ๆ จะเป็นตัวกลางในการช่วยสื่อสารระหว่างผู้ออกแบบและช่าง หรือแม้แต่การสื่อสารกับลูกค้า ที่จะทำให้สามารถเห็นภาพรวมของการก่อสร้างและสร้างความเข้าใจได้มากขึ้น ”

“ ในการตัดโมเดลมันทำให้ผมรู้สึกเรามีความเข้าใจที่มากขึ้น เวลาเราขึ้นงานจากแบบที่เป็น 2D หรือ แม้แต่การปั้น 3D ในคอมบางอย่างมันมีข้อจำกัดที่ทำให้เราไม่สามารถลงลึกไปในรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ ได้แต่พอเราได้ลองตัดออกมาเป็น Model Section มันทำให้เราได้คิดมากขึ้นกว่าเดิม และ ยังช่วยสื่อสารกับคนอื่น ๆ ให้สามารถทำความเข้าใจกับงานได้ง่ายขึ้น ”

โมเดลที่ดีคือโมเดลที่สวย ?

ในปัจจุบันที่เราสามารถเห็นภาพรวมของงานออกแบบได้อย่างง่ายดายจาก การขึ้นภาพ 3D ด้วยโปรแกรมต่าง ๆ แล้วการตัดโมเดลยังจำสำคัญอยู่ไหม ?

จากคำบอกเล่าของน้อง ๆ

“ ถ้าเป็นมุมมองของคนที่่กำลังเรียนอยู่คิดว่า มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่นด้วยสถานการณ์ที่บางคนอาจจะมีข้อจำกัดของทุนทรัพทย์ในเรื่องของวัสดุอุปกรณ์ ที่มันอาจจะส่งผลออกมาในแง่ของความสวยงาม มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดีถ้าหากเราไม่ตัดสินกันที่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ให้มองมุมที่ว่าโมเดลชิ้นนั้นต้องการจะสื่อสารอะไร อย่างเช่น Project : Central Market ที่เราออกแบบนี้หลาย ๆ คนก็อาจไม่สามารถทำความเข้าใจกับงานออกแบบได้หากได้เห็นเพียงแค่ภาพ 3D นั้นจึงทำให้โมเดล Section อันนี้ช่วยทำหน้าที่ในการช่วยสื่อสารทั้งโครงสร้าง และ Spcae ที่เกิดขึ้นของภายในโครงการที่ออกแบบ ด้วยความที่เราตัดโมเดลไม่เก่งเราไม่อยากให้ใครมาตัดสินเพียงที่ความงามของโมเดล แต่อยากให้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่โมเดลชิ้นนั้นจะสื่อสารงานออกแบบของเราออกมา ”

“ ถ้าในมุมมองของผม ๆ คิดว่าโมเดลที่เราต้องการทำเพื่อการ Study เป็นสิ่งที่เราความทำด้วยความละเมียดละไม ถ้าเราทำแค่เพื่อผลลัพธ์ตอนสุดท้ายเพียงเพื่อ Presentation หรือ เพื่อเพียงเอาไปตั้ง ผมว่ามันอาจไม่ให้คุณค่าได้เท่ากับโมเดลที่อาจจะมีความไม่สมบูรณ์สวยงามไปด้วยรอยกาวแต่สามารถสื่อสารแนวคิดของการ Study ที่เราอยากนำเสนอออกมาได้เลยอยากให้ทุกคนมองภาพรวมวัตถุประสงค์ของความเป็นโมเดลที่มากขึ้นกว่าความเป็นวัสดุ ”

โมเดลยังคงเป็นเพียงตัวช่วยในการนำเสนอ ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้ออกแบบด้วยสิ่งต้องการที่จะสื่อสารออกมา สุดท้ายแล้วการตัดโมเดลอาจไม่มีประโยชน์เลยหากมันถูกทำขึ้นเพียงเพื่อความจำเป็นที่ต้องมีหรือการนำมาเพียงเพื่อโชว์ในรูปแบบของความสวยงาม แต่มันคงจะดีหากโมเดลที่เราตัดสามารถทำให้เราเข้าใจกับงานออกแบบของเรามากขึ้นและยังสามารถช่วยสื่อสารแนวคิดหรือนำเสนอวิธีการในการออกแบบของเราไปสู่ผู้คนที่พบเห็น และ ช่วยสร้างความเข้าใจให้เแก่งานออกแบบของเราได้ดียิ่งขึ้น


ชื่อโครงการ :
 Central Market for Fruit Trade and Logistic of Eastern Region
ผลงานการออกแบบของ : นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นายชวิน จันทรสุพิศ , นายณภัทร เอมสีเเดง , นายภาสวุฒิ วัชรสินธุ์ , นางสาวลภัสรฎา ปั้นดี , นายณัฐชกานต์ ทวี , นานภูวัน วัฒนจรุงรัตน์

อาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม : รศ.โอชกร ภาคสุวรรณ , อาจารย์รุจนะ ประคองวิทยา

Photographer : นายสรภูมิ ก้อนฆ้อง, นายปาณัท สินาคมมาศ

Heamarat Chimchavee

Heamarat Chimchavee

สถาปนิกจำเป็น ที่ทำงานออกแบบเป็นงานอดิเรก มีความสนใจในการทำความเข้าใจแนวคิดและที่มาของงานออกแบบต่าง ๆ ที่พบเจอ ให้กลายเป็นเรื่องเล่า
Writer