เมื่อเราเข้าไปอยู่ในสถานที่หนึ่ง แล้วมองออกไปรอบ ๆ มักจะมีทั้งสิ่งที่อยากเห็น และ ไม่อยากเห็น รวมถึง สิ่งที่เราไม่อยากให้คนอื่นมองเข้ามาเห็น เมื่อความต้องการเหล่านี้ ถูกนำมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรม สถาปนิกมีหน้าที่ทำให้โปรแกรมนี้ออกมามีมิติ เช่นเดียวกับ Research Studio Panin ที่มีสถาปนิกมากฝีมืออย่าง ศ.ดร.ต้นข้าว ปาณินท์ และ อ.ดร.ธนาคาร โมกขะสมิต สามารถออกแบบ House MC (บ้านไม่มีหน้า) บ้านที่สร้างความเป็นส่วนตัวให้ผู้พักอาศัย เปิดมุมมองเฉพาะสิ่งที่สมาชิกในบ้านอยากเห็น ได้อย่างลงตัว
คอนโด สู่ บ้านในย่านเดียวกัน
เดิมทีครอบครัวเจ้าของบ้านหลังนี้ อาศัยอยู่บนคอนโดแถวพหลโยธิน เมื่อลูกเริ่มโตจึงอยากเปลี่ยนไปอยู่บ้านพักอาศัยแทน เพราะต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น มีบริเวณต่าง ๆ ในการทำกิจกรรมของครอบครัว แต่อยากอยู่ย่านเดิม เพราะเจ้าของบ้านคุ้นเคย และ ชอบบรรยากาศของชุมชนนี้ ที่เพื่อนบ้านแต่ละหลังอยู่ติด ๆ กัน ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ต่างจังหวัด ทั้งที่จริงแล้วโลเคชั่นนี้คือใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ด้วยความที่ย่านมีคนพักอาศัยค่อนข้างหนาแน่น ที่ดินมีบริเวณที่เชื่อมกับถนนเพียงนิดเดียว แล้วมีบริเวณกว้างที่จะสร้างบ้านอยู่ด้านในลึก ๆ
การต้อนรับด้วย Courtyard
เนื่องจากปากทางเข้าบ้านแคบ จึงทำเป็นบริเวณจอดรถได้เท่านั้น สถาปนิกจึงเลือกที่จะผลักตัวบ้านให้ลึกเข้าไป แล้วออกแบบให้มีพื้นที่รองรับก่อนเข้าถึงตัวบ้าน เป็นโถงล็ก ๆ ที่เป็นพื้นที่ Semi – outdoor เมื่อผ่านบริเวณนี้ไปจะเจอกับ Courtyard ที่มีพื้นที่ 3 ฟังก์ชันโอบล้อมอยู่ คือ พื้นที่พักผ่อน แกลเลอรี และ พื้นที่ทำงานของเจ้าของบ้าน ทุก Space สามารถเดินเชื่อมต่อกันได้เป็นตัวยู คนที่เดินเข้ามาจะรู้สึกถึงการต้อนรับด้วยพื้นที่เปิดโล่ง ทำให้รู้สึกสดชื่นเมื่อเดินเข้าประตูมา ชั้นสองของบ้านจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของสมาชิกในบ้าน และ มีพื้นที่ดาดฟ้าสำหรับจัดปาร์ตี้ Outdoor
Art Gallery เป็น Central space
สมาชิกในบ้านหลังนี้ ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ และ ลูกชาย ที่อยากจะมีพื้นที่ส่วนรวมร่วมกันในบางกิจกรรม เช่น รับประทานอาหาร ดูโทรทัศน์ แต่ยังมีพื้นที่ส่วนตัวให้คนในบ้านได้ใช้เวลากับตัวเอง คุณพ่อชอบสะสมงานศิลปะมาก สถาปนิกจึงนำเอาพื้นที่เก็บงานศิลปะมาจัดเป็น Central space ในการมองเห็น ที่ทุกคนสามารถมองเห็นแกลเลอรีได้ ผ่าน Courtyard ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของบ้าน
Facade ที่เลือกรับการมองเห็น
รอบข้างบริเวณบ้าน มีบางมุมที่ไม่อยากมอง และ เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้สมาชิกในบ้าน สถาปนิกเลือกที่จะทำให้ทุกฟังก์ชันหันหน้าเข้าหา Courtyard กลางบ้าน เป็นเหมือนพื้นที่เว้นจังหวะให้บ้านได้หายใจจากความแออัดไปด้วยสิ่งก่อสร้างรอบนอก และ ปิดไม่ให้บุคคลภายนอกมองเข้ามาในบ้านด้วย Fin Facade หรือ แผงครีบ ที่ทำจากอิฐสีเทา ซึ่งการจัดเรียงของอิฐจะขึ้นอยู่กับ การเลือกรับ และผลักออกของทัศนียภาพที่มองเห็น หากเป็นมุมที่ไม่อยากเห็น อิฐจะก่อตัวกันเรียงเป็น Boundary ทึบ แต่ถ้าเป็นมุมที่เราอยากมองเห็น แต่ไม่อยากให้เพื่อนบ้านเห็นเรา แผงอิฐจะก่อตัวแบบมีองศาความเอียง เกิดเป็นช่องว่างให้เรามองออกไปได้
การใช้วัสดุธรรมดา มาจัดเรียงในภาษาที่น่าสนใจ
จากมุมมองแบบ Bird eye view เราจะมองเห็น Fin Facade สีเทา อย่างชัดเจน สถาปนิกเลือกใช้วัสดุพื้นฐานที่มีงานก่อสร้างมาเป็นหลายร้อยปี อย่างอิฐ มาก่อ Fin Facade เพื่อใช้เป็นกำแพงบังสายตาจากเพื่อนบ้าน
“อิฐไม่ได้เป็นวัสดุที่โดดเด่น จริงๆมันเรียบง่ายธรรมดามาก แต่เราใช้วัสดุธรรมดา มาจัดเรียงในภาษาที่น่าสนใจตามฟังก์ชัน แผงพวกนี้ตั้งใจจะสร้างเพื่อบดบังจากเพื่อนบ้านในบางมุม และเปิดรับท้องฟ้าในบางมุม มันไม่ได้เกิดจากการจะสร้าง Facade ”
ปกติเมื่อเอ่ยถึง ‘อิฐ’ เราจะรู้สึกว่าถึงความหนักแน่น แต่เมื่อนำอิฐที่มี Scale เล็ก ๆ เหมาะกับ Context มาก่อเป็น Panel เรากลับรู้สึกถึงความเบาบาง ไม่สร้างความอึดอัดให้คนที่มองเข้าไปเลยแม้แต่น้อย
จากความต้องการที่อยากอยู่ย่านเดิมที่คุ้นเคย ทำให้ House MC ถูกสร้างบนพื้นที่ชุมชนหนาแน่น แต่มีบริเวณให้คนในบ้านได้สูดอากาศ กลางบ้าน กลายเป็นบ้านที่เปิดทุกอย่างเข้า Courtyard และ เลือกเปิดรับมุมมองที่อยากรับ ผลักมุมมองที่ไม่ต้องการออก สร้างความเป็นส่วนตัวให้เจ้าของบ้าน
Project Name : House MC
Location : Bangkok
Architecture Firm : Research Studio Panin
Project Team : Tonkao Panin
Tanakarn Mokkhasmita
Pitiwat Pamakate
Nattawat Srisakul
Year : 2023
Area : 480 sqm
Lead Architects : Tonkao Panin
Photographer : Spaceshift Studio
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!