“อยู่กรุงเทพมาตลอดชีวิตการทำงาน หลังเกษียณจะหนีไปอยู่ต่างจังหวัด” นี่คงเป็นความคิดของพ่อแม่ใครหลายคนที่บางทีเขาก็เผลอพูดออกมาให้เราได้ยิน ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากพ่อแม่เราได้มีบ้านสวนไว้หลีกหนีความวุ่นวาย ให้เขาได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ OAAS บริษัทสถาปนิกที่ออกแบบบ้านไว้รองรับสมาชิกในครอบครัวในวัยเกษียณ ให้ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสวยงาม และ การใช้งานสำหรับผู้สูงอายุ
ใช้พื้นที่ธรรมชาติสร้างความเป็นส่วนตัว
“User (ผู้อาศัย) ของบ้านหลังนี้ คือพ่อแม่ผมเอง ที่จะมาอยู่หลังจากเกษียณเป็นครั้งคราว อารมณ์บ้านพักตากอากาศ ที่ให้ลูกมาเยี่ยมได้บ้าง” คุณยอร์ช สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านพูดถึงโจทย์ที่ได้รับจากคุณพ่อคุณแม่ ในการปลูกบ้านหลังนี้ ด้วยความที่พื้นที่ของพ่อแม่เป็นสวนที่มีขนาดกว้าง และ มีบ่อน้ำขนาดกลางอยู่ด้วย สถาปนิกจึงใช้บ่อน้ำตรงนี้เป็นทัศนียภาพหลักของบ้าน และ เป็นสเปซกั้นระหว่างบุคคลภายนอกกับสมาชิกภายในบ้าน เพื่อความเป็นส่วนตัวในการใช้ชีวิตในบ้านพักตากอากาศหลังนี้
หลังคายื่นยาวช่วยเพิ่มพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ
สถาปนิกมีแนวคิดว่าบ้านหลังนี้ต้องมีช่องเปิดให้มากที่สุด เนื่องจากบริบทรอบด้านของบ้านเป็นต้นไม้ และ น้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่อาศัยรู้สึกสดชื่น แต่ข้อจำกัดคือบ่อน้ำที่เป็นวิวหลักของบ้านอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ร้อนที่สุด สถาปนิกจึงออกแบบหลังคาให้ยื่นยาวออกมา มากกว่าปกติเพื่อบังความร้อนของแสงแดด และ ต้องการเพิ่มพื้นที่ Gray area หรือ พื้นที่ในร่มเงาภายนอกอาคาร พื้นที่ตรงนี้เป็นมุมโปรดของคุณแม่ที่ออกมาใช้งานอยู่บ่อยครั้ง
บ้านที่ออกแบบความปลอดภัยในคนวัยเกษียณ
ผู้อยู่อาศัยของบ้านหลังนี้เป็นคนวัยเกษียณ การยกตัวบ้านขึ้นสูงอาจสร้างความลำบากในการเดินของเจ้าของบ้าน สถาปนิกเลยเลือกทำที่เดินเป็น Slope จากพื้นที่หน้าบ้านสู่โรงจอดรถ ทำให้สมาชิกในบ้านสามารถเดินเข้าบ้านโดยไม่ต้องใช้บันได ภายในบ้านถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือพื้นที่สำหรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน และ พื้นที่ส่วนตัวของคนในบ้าน เมื่อเดินเข้าบ้านมาพื้นที่แรกที่จะเจอคือห้องรับแขก และ พื้นที่รับประทานอาหารที่เชื่อมต่อกันได้ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งของบ้านเป็นห้องนอน และ พื้นที่ซักล้างของบ้าน
โชว์สเน่ห์บ้านสวนผ่านวัสดุ
เนื่องจากบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักตากอากาศ ในสวนต่างจังหวัด ผู้ออกแบบอยากเก็บ Character ของบ้านสวนไว้ จึงใช้หลังคาจั่วที่เปิดโครงสร้างให้คนได้เห็น เราจะสังเกตได้ ว่าวัสดุมีสีที่ไม่สม่ำเสมอ วัสดุที่ใช้งานในบ้านไม่มีการปรับแต่งเลย เพราะ ต้องการแสดงถึงธรรมชาติของวัสดุ ไม้ที่ใช้ในบ้าน ไม่มีการทาสี หรือ ฟอกสี เป็นสีธรรมชาติจากที่ได้วัสดุมา สถาปนิกนำเอาวัสดุที่มีความเนี๊ยบอย่างเหล็ก และ วัสดุที่มีมีความดิบสไตล์ลอฟท์อย่างคอนกรีต มาเชื่อมต่อกัน จึงทำให้แต่ละวัสดุโดดเด่นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ถือว่าเป็นสเน่ห์อย่างหนึ่งของบ้านสวน
สถาปนิกแพ้แม่สถาปนิกจริงไหม
สิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่าง คือกระบวนการทำงานของบ้านหลังนี้ เพราะ สถาปนิกเป็นลูกชาย เจ้าของบ้านเป็นคุณพ่อคุณแม่ ที่ทำหน้าที่เป็นคนคุมงานผู้รับเหมาอีกทีหนึ่ง
“พอเป็นคนสนิท หรือ ครอบครัวเดียวกัน สเปซของการให้ความเห็นจะไม่ค่อยมี ความสัมพันธ์แบบครอบครัว เขาจะแยกไม่ออกว่าเราเป็นสถาปนิก หรือ ลูกเขา แต่สุดท้ายเราควบคุมได้ คุยกันได้ง่ายเพราะความเป็นครอบครัว อย่างชานบ้าน ตอนแรกแม่ก็งงว่าจะมีไปทำไม อธิบายยังไงก็ไม่เข้าใจ แต่ก็ยอมให้ทำเพราะความเป็นลูก สุดท้ายพื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นมุมโปรดของแม่เลย ออกมาใช้ทุกวัน ซึ่งถ้าเป็นลูกค้าทั่วไปเขาอาจมีความคิดที่มียอมไม่ได้ พื้นที่ตรงนั้นอาจจะไม่ได้สร้าง”
คุณยอร์ช แชร์ประสบการณ์การออกแบบบ้านของคนในครอบครัว
การก่อสร้างบ้านหลังนี้ใช้งบในงานสถาปัตยกรรม 4 ล้านบาท เนรมิตบ้านพักตากอากาศที่ตอบโจทย์คนวัยเกษียณที่อยากพักผ่อนหย่อนใจ หลังจากใช้ชีวิตในเมืองมานาน บ้านทุ่งหัวพรหมถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานตามช่วงวัย ทั้งด้านความสวยงาม และ ความปลอดภัยในการใช้งาน
Project : Baan Suan Tung Hua Prom- บ้านสวนทุ่งหัวพรหม
Location : Nakhon Pathom
Architecture Firm : OAAS (The Office of Design and Research for Appropriate Aesthetic)
Year : 2023
Interior area : 136 sq.m
Exterior area : 230 sq.m
Lead Architect : Sirkit Charoenkitpisut, Sineenart Suptanon
Interior Designer : Sirkit Charoenkitpisut, Sineenart Suptanon
Construction : Kanatouch KC ,Unified furnishing co,ltd.
Photographer : Add Peerapat Wimolrungkarat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!