ความเชื่อในสถาปัตยกรรมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และต้องการเชิดชูผู้ที่ทำงานสถาปัตยกรรม คือเหตุผลสำคัญที่คุณ Paul Finch – Founder & Programme Director ของงาน World Architecture Festival (WAF) ก่อตั้งงานนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2008 โดยมี โกรเฮ่ (GROHE) หนึ่งในพาวเวอร์แบรนด์ของลิกซิล เป็นผู้สนับสนุนหลักเคียงข้างมาตลอด
ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่งาน WAF 2023 ได้เวียนกลับมาจัดในประเทศแถบบ้านเราอีกครั้งที่สิงคโปร์ในช่วงระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม ที่ Marina Bay Sands ทีมงานของ WAF จึงได้แวะมาโรดโชว์ เปิดงานเสวนาเล็ก ๆ ในแบบอบอุ่น ที่ LIXIL Experience Center ในกรุงเทพฯ ร่วมกันกับตัวแทนจากชุมชนสถาปนิกและนักออกแบบในประเทศไทย เพื่อบอกเล่าถึงโอกาสของนักออกแบบบนเวทีโลก และอนาคตของงานออกแบบที่จุดความคิดสร้างสรรค์ได้จากการร่วมงาน
ความน่าสนใจของงานนอกจากจะเป็นการรวมตัวกันของเหล่าสถาปนิกระดับโลกที่มาร่วมจัดแสดงผลงานผ่านนิทรรศการแล้ว ที่นี่ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้การพบปะของเหล่านักออกแบบเกิดคุณค่าและพลวัตให้กับวงการ ด้วยบริบทและข้อจำกัดของการออกแบบที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาค นับเป็นการเปิดโลกและเปิดจินตนาการของงานออกแบบให้กว้างไกลออกไปอีกระดับ
สิ่งที่ทำให้ WAF แตกต่างจากงานประกวดอื่น ๆ
Mr.Paul Finch – Founder & Programme Director, World Architecture Festival (WAF) เล่าให้ฟังถึงแนวความคิดของงาน WAF ว่า “WAF สนใจในทุกสิ่งที่ดีที่สุดบนโลกใบนี้ที่ดีไซน์สามารถรังสรรค์ให้เกิดขึ้นได้ สถาปนิกจึงเป็นบุคคลที่ควรเชิดชู”
ความแตกต่างอยู่ที่การประกวดแบบที่จะได้นำเสนอแบบสด ๆ ต่อหน้าคณะกรรมการ ทำให้เกิดบทสนทนาระหว่างกันและกัน นี่นำมาสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในงาน ทั้งกับบนเวทีแข่งขัน และกับบรรยากาศของบูธจัดแสดงจากสถาปนิกระดับโลกภายในงาน
รางวัล WAF 2023 มีทั้งหมด 44 ประเภท เพื่อเข้าไปแข่งขันชิงรางวัลสูงสุด ได้แก่ World Building of the Year, Landscape of the Year, Future Project of the Year และ Interior of the Year รวมถึงรางวัลพิเศษ GROHE Water Research Prize มอบให้เป็นเกียรติสำหรับผลงานออกแบบที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก
จากเวทีเสวนาภายใต้บรรยากาศอบอุ่น ชวนให้เรามองเห็นเทรนด์ของงานออกแบบในยุคนี้ ที่สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม และสภาพสังคมจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมีงานออกแบบทำหน้าที่เป็นผู้แก้ปัญหา สร้างความตระหนักให้ผู้คนมองเห็นปัญหาของโลกที่กำลังเกิดขึ้น และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไข ไม่ว่าจะจากพฤติกรรม หรือการใช้งานดีไซน์ในทุกวันของชีวิต
ที่สำคัญคือ งานออกแบบปัจจุบัน เรียกว่าไร้ขอบเขตระหว่างประเภทของงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก งานออกแบบภายใน ภูมิสถาปนิก หรือวิศวกร ทุกส่วนต้องทำงานร่วมกันโดยใช้ศักยภาพและความสามารถของตัวเอง เพื่อให้ผลงานสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน สร้างทัศนวิสัยที่ดีให้กับโลก และลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
โอกาสของสถาปนิกบนเวทีโลก
งานโรดโชว์จัดขึ้นภายใต้บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง จากการต้อนรับโดย Audrey Yeo – Leader, Thailand and Indochina, LIXIL Water Technology APAC เจ้าภาพด้านสถานที่ และตัวแทนชุมชนวิชาชีพสถาปนิกในประเทศไทย ได้แก่ คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, คุณกรกช คุณาลังการ นายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย และ คุณมังกร ชัยเจริญไมตรี นายกสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย
“อัตลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมในประเทศไทยมาจากบริบทของสภาพอากาศ” คุณชนะเล่าให้เห็นภาพ ยิ่งในโลกยุคที่สิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลง การออกแบบอย่างยั่งยืนที่เป็นโจทย์สำคัญของทุกวงการ ในฐานะสถาปนิกมองเห็นการเติบโตทั้งจากวิธีการในการออกแบบ การใช้วัสดุท้องถิ่น เหล่านี้ทำให้งานออกแบบของไทยโดดเด่น และเป็นที่จดจำในโลกของงานออกแบบ
“บริบทงานออกแบบของบ้านเราที่มีความเฉพาะตัวนี่เองที่ทำให้แตกต่างจากสากล และ WAF จะได้งานที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพราะผมเชื่อว่าดีไซน์จะมีคีย์เวิร์ดที่ทำให้เราต้องต่างกัน” คุณชนะสรุป
ทางฝั่งของงานออกแบบภายใน คุณกรกชชี้ให้เห็นถึง Space ซึ่งเป็นสิ่งที่งานออกแบบภายในต้องทำงานด้วยและเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวผู้ใช้งานที่สุด โจทย์ของยุคนี้จึงเป็นหัวเรื่องของ Intelligence Living หรือการอยู่อาศัยแบบชาญฉลาด
“อาจจะไม่ใช่ต้องนึกถึงแค่เทคโนโลยีอย่างเดียว ความฉลาดของการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย คล่องตัว ทำให้คนอยู่แล้วมีความสุข”
เช่นนั้นแล้ว โซลูชันสำหรับงานออกแบบภายในจึงจำเป็นต้องทำเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย และนี่เป็นความท้าทายของงานออกแบบภายในที่จะต้องทำงานร่วมกันกับทั้งสถาปนิก และภูมิสถาปนิก เพื่อสร้างสรรค์ความรู้สึกดีให้กับผู้ใช้งาน
และสุดท้ายที่งานภูมิสถาปัตยกรรม คุณมังกรบอกกับเราว่า งานภูมิสถาปนิก เป็นงานที่ครอบคลุมตั้งแต่สเกลเล็ก ๆ อย่างสวนในบ้าน ไปจนถึงสวนสาธารณะหรือพื้นที่ขนาดใหญ่ โอกาสบนเวทีนี้จึงเป็นเหมือนกับการแสดงศักยภาพให้ชาวโลกได้เห็นความสำคัญของงานภูมิสถาปนิกที่มีบทบาทต่อทั้งสถาปัตยกรรมและคุณภาพชีวิตของผู้คน
“การส่งผลงานของภูมิสถาปนิกบนเวทีระดับโลกเราไม่ได้แค่โชว์ผลงานอย่างเดียว แต่น่าจะเป็นโชว์เคสที่ดีที่ทำให้คนอื่น ๆ และสังคมได้รับรู้ว่าวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรมทำอะไรได้บ้าง แล้วเราสมควรที่จะทำประโยชน์อะไรกับสิ่งแวดล้อมได้บ้าง มันอาจจะไม่ใช่โครงการใหญ่ที่สามารถเปลี่ยนโลกในบัดดลได้ แต่อาจจะสร้างความตระหนักให้ผู้คนช่วยกันเพื่อโลกได้”
คุณ Audrey Yeo ปิดท้ายด้วยความภาคภูมิใจในฐานะแบรนด์พันธมิตรผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้นว่า “ในปีนี้ เรามีคณะกรรมการคนไทยถึง 3 ท่าน ที่จะเข้าร่วมในงาน WAF 2023 ท่านแรกคุณเอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ จากบริษัท Creative Crews จำกัด เคยได้รับรางวัล WAF/INSIDE ปี 2019 ประเภท Health & Education และ Interior of The Year Highly Commended, คุณพิชัย วงศ์ไวศยวรรณ Deputy Managing Director แห่ง Architects 49 และคุณนิวัติ อ่านเปรื่อง Senior Partner แห่ง PIA Interior ยิ่งไปกว่านั้นปีนี้ ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพื่อชิงรางวัล WAF มากที่สุด นับเป็นการปักหมุดสถาปนิกไทยออกสู่สายตาสาธารณชนในระดับสากล”
จากความร่วมมือระหว่าง GROHE และ WAF นับเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกที่ช่วยยกระดับวงการงานออกแบบของโลก ทั้งในแง่ของแนวความคิด เทรนด์ และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในแวดวงสถาปัตยกรรม รวมทั้งกับสถาปนิกไทยเองที่จะได้แสดงผลงานออกสู่สายตาชาวโลกผ่านนิทรรศการ พื้นที่สื่อระดับโลก ที่ช่วยเพิ่มทั้งการยอมรับ ความร่วมมือ และโอกาสทางธุรกิจที่ไปไกลในระดับนานาชาติ
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!