โครงสร้างสาธารณูปโภคของเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เครือข่ายมากมายทั้งบนดินและใต้ดินเปรียบได้กับฟันเฟืองขับเคลื่อนการทำงานของเมืองให้คงอยู่ได้ แต่บางครั้งโครงข่ายเหล่านี้ก็กระทบกับทัศนียภาพของเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ระบบระบายอากาศจากทางรถไฟหรือท่อน้ำใต้ดิน เสาสัญญาณ สถานีไฟฟ้าย่อย หรือแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางเมือง จนกลายมาเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับผู้ออกแบบ ที่ต้องคิดวิธีสรรสร้างทัศนียภาพที่สวยงามและคงไว้ซึ่งประโยชน์ใช้สอยควบคู่ไปด้วยกัน
เสาฉุนประจำกรุงลอนดอน
หน้าร้อนปีค.ศ.1858 สำนักข่าวอังกฤษเจ้าหนึ่งถึงกับเหน็บแนมประเทศตนเองว่า “น่าเหลือเชื่อที่ประเทศอังกฤษสามารถตั้งอาณานิคมในอีกฝากหนึ่งของโลก แต่ไม่สามารถทำให้แม่น้ำเธมส์ในเมืองหลวงของตัวเองสะอาดได้” เนื่องจากกรุงลอนดอนในขณะนั้นกำลังประสบปัญหา “มหาเหม็น” (The Great Stink) ด้วยจำนวนประชากรกรุงลอนดอนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การระบายของเสียจากบ้านเรือนและโรงงานซึ่งปล่อยลงแหล่งน้ำโดยตรง ทำให้แม่น้ำเธมส์เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลขุ่นข้นพร้อมส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่วเมือง จนในที่สุดรัฐสภา (ที่เกือบจะย้ายอาคารไปตั้งที่อื่นเนื่องจากทนเหม็นไม่ไหว) ต้องเร่งนโยบายพัฒนาการระบายน้ำเสียอย่างเร่งด่วน
ในขณะนั้นความรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบยังไม่เป็นที่รู้จัก เซอร์โจเซฟ บาซาลเก็ตต์ (Sir Joseph Bazalgette) หัวหน้าทีมวิศวะโยธานำทีมปรับปรุงท่อระบายน้ำเสียทั่วเมืองโดยเฉพาะการวางท่อระบายดักใต้ดิน (Intercepting Sewer) ขนานไปกับแม่น้ำเธมส์เพื่อลำเลียงของเสียออกไปสู่ปลายน้ำ เครือข่ายท่อน้ำเสียใต้ดินจำเป็นต้องมีการระบายก๊าซที่เกิดจากของเสียหมักหมม ให้ด้วยเหตุนี้เองการติดตั้ง “เสาฉุน” (Stink Pipe) จึงแพร่หลายมากขึ้น ลักษณะเป็นเสาเหล็กหล่อตกแต่งตามสไตล์วิคตอเรีย ถึงแม้เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เสาฉุนส่วนใหญ่ไม่ถูกใช้งานแล้ว แต่เรายังสามารถพบได้ในกรุงลอนดอนและเมืองเก่าในประเทศอังกฤษ แนบเนียนไปกับเสาไฟตามถนน
อาคารปลอมกลางมหานคร
เมื่อเราเดินไปตามถนนกรุงลอนดอน กรุงปารีส หรือ มหานครนิวยอร์ค ท่ามกลางตึกแถวอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว อาคารบางหลังเมื่อลองพิจารณาดีๆจะพบว่ามีอะไรบางอย่างแปลกไป ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะดูกลมกลืนด้วยสไตล์การตกแต่งแบบเดียวกับอาคารแถวข้างเคียง แต่องค์ประกอบสำคัญเช่น บานหน้าต่างที่ปิดทึบ หรือบางหลังเป็นเพียงรูปวาดบนกำแพง ทำให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วอาคารเหล่านี้ไม่ได้ใช้อยู่อาศัย แต่มีการใช้งานคล้ายคลึงกับเสาฉุนคือเป็นช่องระบายอากาศจากอุโมงค์รถไฟใต้ดิน นอกจากนี้ยังเป็นทางหนีไฟยามฉุกเฉินอีกด้วย
หนึ่งในอาคารปลอมที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ อาคารหมายเลข 23—24 ถนนเลนสเตอร์ การ์เดน ในกรุงลอนดอน แม้จากภายนอกดูจะคล้ายกับอาคารธรรมดาแต่จริงๆแล้วเป็นเพียงกำแพงหนาประมาณเมตรครึ่งตั้งไว้เฉยๆเท่านั้น ที่มาของอาคารปลอมหมายเลข 23-24 แห่งนี้ย้อนไปตั้งแต่สมัยทศวรรษที่ 1860 จากการสร้างทางรถไฟใต้ดินด้วยวิธีขุดและถมกลับ (Cut and Cover) จึงจำเป็นต้องทุบอาคารตามรายทาง อาคารส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นใหม่หลังอุโมงค์สร้างเสร็จ แต่บริเวณอาคารหมายเลข 23-24 ใช้เป็นที่ช่องระบายอากาศจึงตั้งฟาสาดปลอมให้กลืนไปกับอาคารข้างเคียง บังช่องระบายอากาศที่อยู่ด้านหลังอย่างแนบเนียน
เสาสัญญาณทรงต้นไม้
ช่วงทศวรรษที่ 1980 โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับความนิยมมากขึ้นพร้อมๆกับการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เครือข่ายจำนวนมาก เนื่องจากหน้าตาที่ดูไม่ค่อยเป็นมิตรทำให้เกิดเหตุการณ์ NIMBY (ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่หลังบ้านฉัน, Not in My Back Yard) บริษัทลาร์สัน แคมะฟลาจ (Larson Camouflage) จากรัฐแอริโซนา ซึ่งมีประสบการณ์สร้างสภาพแวดล้อมจำลองตามสวนสนุก มองเห็นช่องทางนำร่องบุกเบิกธุรกิจ “พรางเสาสัญญาณ” ก่อนหน้าการอนุมัติกฎหมายพระราชบัญญัติโทรคมนาคมซึ่งบังคับให้เสาสัญญาณใหม่ต้องกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบเพียงไม่กี่ปี ด้วยการสนับสนุนจากกฎหมายทำให้ธุรกิจพรางเสาสัญญาณได้รับความนิยมอย่างล้มหลาม เสาสัญญาณทรงต้นไม้หลากพันธุ์ทั้งต้นปาล์ม สน และกระบองเพชรตั้งตระหง่านกลืนไปกับพื้นที่ ถึงแม้ในบางฤดูกาลจะดูไม่เนียนนักเนื่องจากต้นไม้ปลอมยังเขียวชอุ่มในขณะที่รอบๆผลัดใบไปหมด
สถานีไฟฟ้าทรงบ้านประจำเมืองโทรอนโต
บ้านเรือนหลังน้อยตามถนนของเมืองโทรอนโตอาจมีอะไรมากกว่าที่ตาเห็น ถึงแม้ว่าดูเผินๆจะแทบไม่ต่างอะไรกับบ้านปกติ แต่แท้จริงแล้วอาคารเหล่านี้คือสถานีไฟฟ้าย่อย (Substation) ของบริษัทโทรอนโตไฮโดร (Toronto Hydro) แปรพลังไฟฟ้าสำหรับใช้ในครัวเรือน ย้อนไปยามค่ำคืนปีต้นปีทศวรรษ1910 บ้านเรือนในเมืองโทรอนโตสว่างไสวด้วยการบุกเบิกธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทโทรอนโตไฮโดร เดิมแบบสถานีไฟฟ้าย่อยของบริษัทโทรอนโตไฮโดรมีรูปร่างใหญ่โต มีการตกแต่งคล้ายกับอาคารรัฐบาลหรือพิพิธภัณฑ์ จนหลังสงครามโลกครั้งที่สองความต้องการอาคารอยู่อาศัยมากขึ้นพร้อมๆกับจำนวนสถานีไฟฟ้าย่อยที่ต้องกระจายให้ทั่วถึง จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปร่างเป็นบ้านหลังเล็กให้กลืนไปกับสภาพแวดล้อมแทน ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้บ้านไฟฟ้าหลังน้อยเหล่านี้เริ่มถูกรื้อถอนออกไป แต่ยังพอมีให้เห็นบ้างตามรายทาง
Cardiff Tower แท่นขุดเจาะน้ำมันทรงโบสถ์ แห่งย่านเบเวอร์ลีฮิลส์
ช่วงต้นปีศตวรรษที่ 20 ฝั่งตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียร์คึกคักด้วยอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยเฉพาะย่านเบเวอร์ลีฮิลส์ที่แท่นขุดเจาะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แต่เนื่องจากขนาดและหน้าตาที่ไม่น่าดูจนทำลายทัศนียภาพของเมืองทำให้แท่นขุดเจาะหลายแห่งมีการออกแบบอำพรางเพื่อให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น ในปี ค.ศ.1966 บริษัทน้ำมัน Occidental Petroleum ได้ออกแบบแท่นขุดเจาะหน้าตาคล้ายโบสถ์เรียกว่าคาร์ดิฟ ทาวเวอร์ (Cardiff Tower) เพื่อกลืนไปกับสภาพแวดล้อมชุมชนคริสต์ออร์ทอดอกซ์ ภายในอาคารซ่อนบ่อน้ำมันไว้ภายในกว่า 40 บ่อ อาคารคาร์ดิฟทาวเวอร์ถือเป็นหนึ่งในแท่นขุดเจาะน้ำมันแห่งแรกที่ผสมผสานการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และได้รับการยกย่องว่าเป็นอาคารตัวอย่างที่มีส่วนร่วมบูรณะทัศนียภาพเมือง โดยนายกเทศมนตรีลอสแอนเจลิสเดินทางมาร่วมพิธีเปิดอาคารด้วยตัวเองเลยทีเดียว
เปลี่ยนตู้สายสื่อสารเป็นผืนผ้าใบ
กลายเป็นข่าวดังในอินเตอร์เน็ตไม่กี่ปีก่อน เมื่อชาวต่างชาติคนหนึ่งเดินไปเปิดตู้สายสื่อสารริมถนนในกรุงเทพฯ ซึ่งนอกจากสภาพภายนอกที่สกปรกเปอระเปื้อนแล้วเมื่อเปิดแล้วยังพบหนูจำนวนมากวิ่งออกมาด้วย หลังจากเป็นข่าวไม่นานตู้นั้นก็ถูกทำความสะอาดทาสีใหม่เอี่ยมอย่างรวดเร็ว จะดีแค่ไหนถ้าตู้สายสื่อสารที่พบเห็นได้ทั่วไปนอกจากสะอาดตามมาตรฐานแล้วสร้างสีสันให้กับเมืองด้วย แม้จะยังไม่กว้างขวางทั่วทั้งประเทศแต่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เริ่มติดสติ๊กเกอร์ภาพวัดและโขนบนตู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ในประเทศอื่นมีการว่าจ้างศิลปินตกแต่งด้วยลวดลายกราฟฟิติสีสันสดใส บางตู้เลียนแบบภาพวาดชื่อดังของแวนโก๊ะก็มีเช่นกัน เพิ่มการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่พร้อมกับสร้างบริบทน่ารักๆให้กับเมือง
งานระบบเป็นส่วนสำคัญให้เมืองทำงานต่อไปได้ ความสมดุลระหว่างความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยจึงเป็นโจทย์อันท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการซ่อนด้วยสภาพแวดล้อมจำลอง ปกปิดด้วยสถาปัตยกรรม หรือทำให้โดดเด่นด้วยงานศิลปะต่างก็มีส่วนเสริมสร้างทัศนียภาพที่สวยงาม ประเทศไทยเองมีองค์ประกอบเมืองมากมายที่อาจจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ พลิกทัศนอุจาดให้สวยงามก็ได้
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!