Prima Lounge Clinic การพลิกโฉมอาคารพาณิชย์
สู่คลินิกกายภาพบำบัดที่เป็นมิตร ใจกลางเมือง

ในปัจจุบันภาพลักษณ์ของสถานพยาบาลหลายแห่งไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่รักษาอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้เข้ารับบริการเท่านั้น แต่ยังคงเป็นพื้นที่ให้บริการด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ ๆ หรือสถานพยาบาลที่จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย หรือผู้ที่เข้าใช้บริการได้เช่นกัน ทั้งนี้ยังได้มีการนำหลักการของการออกแบบเข้ามาช่วยในการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่พื้นที่นั้น ๆ อีกด้วย

Prima Lounge Clinic คลินิกกายภาพบำบัดใจกลางเมือง ที่อยู่ภายในของพื้นที่อาคารพาณิชย์ 6 ชั้นที่รายล้อมไปด้วยที่พักอาศัย สู่ความท้าทายของบริบทที่ตั้ง ได้รับการออกแบบโดย Tanda Design Studio Co,.LTD. ด้วยพื้นที่รวมกว่า 370 ตารางเมตร ในการอำนวยความสะดวกของการรักษาตามมาตราฐานของข้อกำหนดสถานพยาบาล

แนวคิดของการออกแบบพื้นที่เพื่อสร้างความสบายใจ แก่ผู้ที่เข้ารับการรักษา

“ อยากเปลี่ยนอาคารพาณิชย์ให้กลายเป็น คลินิกกายภาพบำบัด เพื่อชาวออฟฟิศในรูปแบบสไตล์ Luxury ”
คือโจทย์ที่ทางคุณกมล พิทักษ์ภาวศุทธิ (เจ้าของคลินิก) ให้แก่ทางทีมผู้ออกแบบ จึงนำมาสู่การผสมแนวคิดของการออกแบบโดยคำนึงถึงการ รักษา และ ความผ่อนคลาย ภายใต้พื้นที่ปิด และถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดของสถานพยาบาล โดยทางทีมสถาปนิกผู้ออกแบบได้รวบรวมความต้องการของทาง Owner และนำมาตีความออกแบบใหม่เพื่อให้กลายเป็นคลินิกกายบำบัดที่สร้างสภาพแวดล้อมให้กับผู้ที่เข้ามารับการให้บริการ ได้รับรู้ถึงความรู้สึกผ่อนคลายเมื่อเข้ามาใช้บริการภายในพื้นที่ของคลินิก โดยแนวคิดของการออกแบบที่จะเข้าไปช่วยเสริมความรู้สึกเมื่อใช้งานพื้นที่ด้วย

โดยในการออกแบบจะมีรูปแบบของการใช้รูปทรงตรงและความโค้งมนเพื่อที่จะสื่อสารถึงร่างกายที่มีทั้งส่วนตรงและส่วนโค้ง ซึ่งเป็นสัดส่วนปกติของมนูษย์อยู่แล้ว ควบคู่ไปกับการเลือกใช้วัสดุที่ถูกนำมาใช้ในการออกแบบที่ผ่านการเลือกลวดลาย สีสัน ที่จะสามารถช่วยในการสร้างความผ่อนคลายด้วยการอ้างอิงจากสีของธรรมชาติ อย่างเช่นลายของพื้นที่มีการเลียนแบบมาจากไม้ ลายของกระเบื้องที่มีความใกล้เคียงกับหินและธรรมชาติ สีเขียวของใบไม้ที่ถูกแทรกอยู่ในองค์ประกอบของเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการเสริมด้วยเงาของแสงจากธรรมชาติที่จะแทรกอยู่ในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของคลินิกโดยทั้งหมดของการออกแบบผู้ออกแบบยังคงไม่ลืมที่จะออกแบบภายใต้ของหลักการออกแบบ Universal Designทั้งทางลาดสำหรับผู้พิการ ราวจับในห้องน้ำ พื้นยางสำหรับกันกระแทก โดยที่จะหมดจะมีการแทรกอยู่ในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของภายในอาคารแห่งนี้

ทางทีมสถาปนิกผู้ออกแบบเล่าว่า “ ในการออกแบบได้แบ่งการใช้งานในแต่ละชั้นด้วยฟังก์ชั่นของพื้นที่ ๆ แตกต่างกัน ” โดยในพื้นที่ชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 มีการแบ่งโซนสำหรับเป็นพื้นที่ส่วนต้อนรับและพื้นที่เตรียมการรักษาตามลำดับ โดยมีการออกแบบให้แสงธรรมชาติสามารถผ่านเข้ามาสู่พื้นที่ได้จากช่องแสงขนาดใหญ่ที่ส่องมาลงมาถึงโถงที่เปิดโล่ง

การจัดสรรพื้นที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอาคาร

ในชั้นที่ 2 พื้นที่ส่วนนี้ได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับการกรอกประวัติและรอรับการรักษา โดยในชั้นนี้ยังมีการแบ่งพื้นส่วนหนึ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับการตรวจร่างกายเบื้องต้นอีกด้วย ภายในพื้นที่จะมีการกั้นด้วยผนังตกแต่งที่ทำด้วยกระจกลอนลูกฟูกและมีการแซมด้วยอลูมิเนียมสีโรสโกล โดยสถาปนิกผู้ออกแบบเล่าว่า “ ต้องการให้วัสดุนี้เป็นส่วนช่วยให้ผู้ที่เข้ามาใช้งานในพื้นที่ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป ” ต่อมาในส่วนของพื้นที่ของชั้นที่ 3 พื้นที่นี้ได้รับการออกแบบเป็นพื้นที่ของการกายภาพบำบัดด้วยการออกกำลังกาย ทางทีมออกแบบเลยได้คำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งาน โดยมีการนำวัสดุพื้นยางที่มีความหนามาใช้ในการช่วยดูดซัพแรงกระแทกเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอีกด้วย

พื้นที่ชั้น 4 ถูกออกแบบให้เป็นห้องรักษาและประกอบการกายภาพบำบัดทั้งหมด 4 ห้องที่ประกอบไปด้วยการคลายเส้น การทำกายภาพบำบัดด้วยการอันตราซาวน์และเลเซอร์ โดนแต่ละห้องถูกตกแต่งด้วยผนังกระเบื้องลายหินอ่อนสีขาว ตัดขอบโค้งด้วยอลูมิเนียมสแตนเลสสีโรสโกล และตกแต่งด้วยระแนงไม้สีเขียวธรรมชาติเพื่อดึงบรรยากาศให้ดูสะอาด และเพื่อเป็นการส่งอารมณ์ของผู้ใช้งานให้มีความผ่อนคลายและไม่เกิดความเครียดจากการเข้ารับการรักษา ตามความต้องการของทาง Owner

การออกแบบที่ให้ความสำคัญแก่ผู้รับบริการ และ ผู้ให้บริการ

ในส่วนของพื้นที่ชั้น 5 เป็นชั้นสำหรับการกายภาพบำบัดและรักษาด้วยแพทย์แผนจีนทางเลือก ที่ประกอบไปด้วยห้องสำหรับการฝังเข็ม ครอบแก้ว และกัวซา โดยในพื้นที่ของการรักษาทั้งหมดนั้น ได้มีการออกแบบผนังกั้นห้องเพื่อให้สามารถเปิดช่องสำหรับระบายอากาศให้มีการถ่ายเทของอากาศได้ ภายในของพื้นที่ทางเดินได้ถูกออกแบบให้มีขนาดกว้างเพื่อทีจะสามารถให้รถวิลแชร์สำหรับผู้พิการหรือช่วยเหลือตนเองไม่ได้สามารถสัญจรได้อย่างสะดวก ตามมาตรฐานข้อกำหนดสถาพยาบาลของกระทรวงสาธรณะสุข

พื้นที่ส่วนสำคัญที่จะขาดไม่ได้อีกส่วน นั้นคือพื้นที่รองรับสำหรับการพักผ่อนของนักกายภาพผู้ให้บริการการรักษาและพนักงงานทั้งหมดของคลินิก ที่ได้ถูกออกแบบในส่วนของพื้นที่ชั้นที่ 6 โดยการออกแบบที่คำนึงถึงการพักผ่อนจากการทำงานที่เหนื่อยล้ามาทั้งวัน ผู้ออกแบบได้ออกแบบให้เป็นห้องกระจกใสที่สามารถเปิดม่านรับบรรยากาศรอบ ๆ อาคารได้ทั้งหมด และตกแต่งด้วยฝ้าระแนงไม้และแสงสีส้ม เพื่อดึงบรรยากาศให้อยู่ภายใต้แนวคิดของการรักษาและผ่อนคลายในรูปแบบที่มีความ Luxury ที่ทางผู้ออกแบบและ Owner วางไว้ตั้งแต่ต้นอีกด้วย ซึ่งทำให้ Prima Lounge Clinic กลายเป็นสถานพยาบาลที่มีความเป็นมิตรกับผู้ที่เข้ารับการรักษา และ ยังสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายลดความกังวลของผู้เข้ารับการรักษาได้อีกด้วย

Project Name : Prima Lounge Clinic
Architecture Firm: Tanda Design Studio Co,.LTD. 
Interior Designer: Tanda Design Studio Co,.LTD.
Year : 2022
Area : 370 Sq.m.
Photographer : ศุภลักษณ์ แก้วประดับ

Writer
Heamarat Chimchavee

Heamarat Chimchavee

สถาปนิกจำเป็น ที่ทำงานออกแบบเป็นงานอดิเรก มีความสนใจในการทำความเข้าใจแนวคิดและที่มาของงานออกแบบต่าง ๆ ที่พบเจอ ให้กลายเป็นเรื่องเล่า