คนส่วนมากมักใช้เวลาของวันไปกับชั่วโมงทำงาน ความเหนื่อยล้าจากงานที่เราเจอในแต่ละวัน ความวุ่นวายท่ามกลางเมืองใหญ่ที่ทำให้กายและใจอ่อนล้าลงไปทุกวัน ‘บ้าน’ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในแง่มุมเหล่านี้ และกลายเป็นเซฟโซนที่เราเอนกายลงพักผ่อน ปรับอารมณ์ให้พร้อม ก่อนจะกลับสู่รูทีนในเช้าวันใหม่
“บ้านควรจะเป็นที่ที่กลับมาแล้วมีความสุข ซึ่งความสุขของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ในฐานะสถาปนิกเราต้องเรียบเรียงเรื่องราวชีวิตกับวิชาที่เรามี ให้มันกลายเป็นบ้านที่เหมาะกับผู้อยู่อาศัย ให้ชีวิตเขาดีขึ้นและที่สำคัญ ต้องอยู่สบาย” นี่คือนิยามคำว่าบ้านของคุณแจ๊ค-ดนัย สุราสา สถาปนิกแห่ง Studio Krubka Co.,Ltd. ก่อนจะส่งต่อ สู่เรื่องราวของ Inside-Out House บ้านทึบนอกโปร่งใน ที่รวมนิยามความสุขของสมาชิกครอบครัวทั้ง 3 เอาไว้ภายในได้อย่างอบอุ่น
โยกย้ายสู่บ้านหลังสุดท้าย ‘Inside-Out House’
ด้วยความที่ทำงานในวงการธุรกิจภาพยนตร์ และวนเวียนอยู่ในงานสายอาร์ตเป็นทุนเดิม คุณสมบูรณ์ พิรพยะภักดีกุล (เจ้าของบ้าน) จึงซึมซับและชื่นชอบในงานออกแบบ งานดีไซน์อาคาร ซึ่งตลอดช่วงเวลาของการอยู่อาศัยที่ผ่านมา ครอบครัวของคุณสมบูรณ์มักจะซื้อบ้านโครงการ มาปรับปรุงและตกแต่งด้วยตนเองจนแทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม ทำให้มีผู้สนใจซื้อบ้านต่อในราคางาม เรื่องราวดำเนินในลักษณะนี้หลายต่อหลายครั้ง ทำให้คุณสมบูรณ์และครอบครัวมักจะต้องมีการย้ายที่อยู่อาศัยกันอยู่เรื่อยมา
คุณแจ๊คเองรู้จักกับคุณสมบูรณ์มานานนับ 10 ปีผ่านการออกแบบอาคารให้ แต่หลายหลังก็ยังไม่มีโอกาสได้สร้างจริง เมื่อคุณสมบูรณ์ได้ที่ดินย่านลาดพร้าวที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของครอบครัว ทั้งทำเลที่ใกล้กลุ่มเพื่อนฝูงและที่ทำงาน จึงตัดสินใจลงหลักปักฐานเป็นบ้านหลังสุดท้าย โดยชักชวนคุณแจ๊ค สถาปนิกมาเป็นผู้ออกแบบ
ซึ่งถึงแม้ความต้องการแรก ทางเจ้าของจะอยากได้บ้านที่กระทัดรัดพอดีสำหรับสมาชิกเพียง 3 คน แต่ด้วยที่ดินที่มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้ Inside-Out House กลายเป็นบ้านที่ถูกสร้างเต็มผืนที่ดินเพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยที่คุ้มค่ามากที่สุด
ถึงไลฟ์สไตล์จะต่าง แต่ความสัมพันธ์ยังดี
อย่างที่เราบอกข้างต้นว่า ผู้อยู่อาศัยหลักของบ้านหลังนี้มีทั้งหมด 3 คน นั่นคือ คุณพ่อ (คุณสมบูรณ์) คุณแม่ และลูกชาย ทั้งสามค่อนข้างมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน โดยทางคุณพ่อจะชื่นชอบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในแบบโมเดิร์นและมินิมอล ดูแลรักษาง่าย แต่ก็ต้องการให้บ้านมีลมโกรกเย็นสบาย และมีระเบียงที่กว้างขวาง ผิดกับคุณแม่และลูกชายที่ค่อนข้างหวงแหนความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบให้ใครมองเห็นกิจกรรมส่วนตัวที่ซ่อนอยู่ภายในบ้าน ‘ความเปิดโล่ง โปร่งสบายและความเป็นส่วนตัว’ จึงเป็นโจทย์ที่ขัดแย้งกันทั้งแนวคิดและไลฟ์สไตล์ของสมาชิกครอบครัว
“มันคือความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ดีนะ เพียงแต่ไลฟ์สไตล์มันต่างกันมาก ผมก็เลยมองว่า มันควรจะเริ่มคิดจากปฏิสัมพันธ์ของพื้นที่ภายในมากกว่ารูปลักษณ์ หรือกลุ่มก้อนอาคารภายนอก เราพยายามสร้างระบบของสเปซภายในขึ้นมาก่อน เพื่อตอบโจทย์ความสัมพันธ์ของคนในบ้านและโจทย์ต่างๆ ที่เขาให้ไว้ เช่น เรื่องความเป็นส่วนตัว หรือเรื่องของการใช้สอยพื้นที่ที่ต่างกัน” คุณแจ๊ค สถาปนิกเล่า
หน้าตาโมเดิร์น แต่วางฟังก์ชันแบบไทย
เพื่อให้ตัวอาคารมีลมโกรก และเย็นสบายตามความต้องการของคุณพ่อ สถาปนิกวางผังอาคารโดยนำลักษณะของเรือนไทยแบบเรือนกลุ่มมาใช้ในการวางผังทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ซึ่งหากลองสังเกต การวางผังพื้นที่ภายในของชั้น 1 และชั้น 2 จะมีการแยกกลุ่มก้อนฟังก์ชันต่างๆ โดยมีชานตรงกลางเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ทั้งหมดเข้าหากัน
แนวคิดเดียวกันนี้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบทางตั้งด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อนำฟังก์ชันของทั้ง 3 ชั้นมาต่อรวมเข้าด้วยกัน จึงยังมีช่องว่างที่ทำให้ลมสามารถไหลผ่านได้ทั่วทั้งอาคาร อีกทั้งยังมีการออกแบบคอร์ดขนาดเล็ก ใหญ่ วางสับหว่างกันไป เพื่อที่จะควบคุมการไหลของลมภายในให้ทั่วถึงกันทั้งหมด ส่วนใดของฟังก์ชันที่ต้องการให้รับลมเยอะ ช่องเปิดจะมีขนาดกว้าง ซึ่งการวางกลุ่มของฟังก์ชันใช้สอยภายในทั้งหมดจะคำนึงถึงเรื่องของลมเป็นหลัก
ภาพแปลนชั้น 1 Inside-Out House
ภาพแปลนชั้น 2 Inside-Out House
ภาพแปลนชั้น 3 Inside-Out House
บริเวณชั้นล่างของบ้านถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่เซอร์วิส ส่วนพื้นที่ใช้สอยหลักของบ้าน จะเริ่มต้นขึ้นบริเวณชั้น 2 โดยเปิดโล่งและเชื่อมหากันด้วยระเบียงใหญ่พร้อมสระว่ายน้ำ ถึงแม้บ้านหลังนี้จะอยู่ใกล้บริเวณทางด่วนที่ได้ยินเสียงรถราวิ่งผ่าน แต่ผู้อยู่อาศัยกลับถูกตัดขาดจากโลกภายนอก โดยรับรู้ได้เพียงเสียงน้ำไหลเอื่อยจากสระว่ายน้ำ ร่มเงาจากกลุ่มต้นไม้ ท้องฟ้า และลมเย็นสบายที่ไหลผ่าน สร้างบรรยากาศพักผ่อนได้อย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าบ้านจะอยู่กลางเมือง
เมื่อออกแบบฟังก์ชันภายในเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาของกรอบอาคารภายนอก ซึ่งคุณแจ๊คใช้เพียงกรอบอาคารแบบเรียบๆ มาครอบฟังก์ชันภายในเอาไว้ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ โมเดิร์นมินิมอล ตอบโจทย์คุณพ่อ ในขณะที่ยังสร้างความเป็นส่วนตัวตรงตามที่คุณแม่และลูกชายต้องการ กรอบภายนอกของอาคารยังมีช่องเล็กๆ ที่ช่วยบังคับลมให้ไหลเวียนเข้าสู่คอร์ดบริเวณกลางบ้านได้ง่ายมากขึ้น
สำหรับสภาพอากาศอย่างบ้านเรา ลมเย็นอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ แสงจากธรรมชาติเองก็จำเป็นต้องควบคุมด้วยเช่นกัน บริเวณหลังคาจึงมีการดีไซน์คอนกรีตในลักษณะซี่ระแนง (Fin) เพื่อลดเรื่องของแสงแดดที่จะส่องเข้าสู่อาคารโดยตรง แสงเงาตกกระทบที่เปลี่ยนแปลงในทุกฤดูยังทำให้สเปซภายในเกิดความเคลื่อนไหว ด้วยการใช้ธรรมชาติเข้ามาผสมผสานกับงานสถาปัตยกรรมได้อย่างกลมกล่อม
“ผมว่าบ้านหลังนี้จะสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับคนที่มาบ้าน คนที่เห็นบ้านจากถนน เขาจะคิดไปก่อนว่าบ้านมันไม่น่าจะอยู่สบาย อึดอัด เพราะถ้ามองจากภายนอก จะไม่เห็นหน้าต่างหรือช่องเปิดเลย แต่พอเข้าสู่ภายใน มันกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าขึ้นสู่ชั้นสอง จะรู้สึกว่าทุกอย่างมันเบา มันหายไปหมด”
เรียกได้ว่า Inside-Out House เป็นจุดศูนย์รวมของความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งไลฟ์สไตล์ของสมาชิกครอบครัว ทั้งรูปลักษณ์สุดโมเดิร์นที่หยิบกลิ่นอายความเป็นไทยมาผสมผสาน หรือแม้แต่ความทึบ ความโปร่งและความเป็นส่วนตัว แต่ในความแตกต่างกันนั้น บ้านหลังนี้กลับทำหน้าที่เสมือนป้อมปราการสำหรับผู้อยู่อาศัย สร้างเกราะกำบังอันเป็นส่วนตัว อีกทั้งยังห่อหุ้มเรื่องราวความสัมพันธ์เอาไว้ภายในได้อย่างอบอุ่น ละทิ้งความวุ่นวายเอาไว้เบื้องหลัง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถปลดปล่อยอารมณ์ พักผ่อนได้อย่างสูงสุดภายในบ้านทึบนอกแต่โปร่งในหลังนี้
Location : ลาดพร้าว กรุงเทพฯ
Gross Built Area: 1,115 ตารางเมตร
Owner : ลาวัลย์ พิทักษ์เขตต์ และ สมบูรณ์ พิรพยะภักดีกุล
Architects: ดนัย สุราสา Studio Krubka Co.,Ltd.
Interior designers : สร้อยพลอย พานิช
Engineering: สิงหา แดงนิเวศน์
Landscape Designer : อนุภาพ พงษ์นะเมตตา
Contractor: TSix7 Con สุทธิศักดิ์ บุญรักษ์
Photographer : วีระพงษ์ สิงห์น้อย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!