Maneeya House
แปลงโฉมบ้านขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ สู่นิยามใหม่ของคำว่า ‘พอดี’

Maneeya House เป็นบ้านเดี่ยวขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ตั้งชื่อตามโครงการบ้านจัดสรรมณียาในย่านไทรม้า จังหวัดนนทบุรี ร่มไม้สีเขียวและการสัญจรที่ไม่พลุกพล่านทำให้บ้านหลังนี้เงียบสงบ รายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่ชวนให้น่าอยู่อาศัย จนกระทั่งเมื่อลูกๆ เริ่มเติบโต ก็ถึงเวลาที่ครอบครัวเอกอรัญพงศ์ เริ่มมองหาการขยับขยาย และรู้สึกว่าบ้านที่เคยไม่เล็ก ไม่ใหญ่หลังเดิมเริ่มจะแคบลงไปทุกวัน

คุณธนวัฒน์ เอกอรัญพงศ์ (เจ้าของบ้าน) จึงกลายเป็นนักสะสมที่ดินไปโดยปริยาย ที่ดินแปลงข้างบ้านเกิดการต่อเติมตัวบ้าน รวมถึงสร้างออฟฟิศเล็กๆ ไว้ที่มุมหนึ่ง เพื่อขยายเรื่องราวของการอยู่อาศัยให้กว้างขวาง ตอบรับการใช้งานมากขึ้น เมื่อขยายพื้นที่จนครบแปลงที่ดิน ก็ถึงเวลาวนกลับมาที่บ้านเก่าหลังแรก จนเกิดเป็นโจทย์ของการรีโนเวทที่ได้สถาปนิกอย่างคุณ คุณเบนซ์ – ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ จาก I like design studio มารับหน้าที่แปลงโฉม

ขยายขนาดแต่ฟังก์ชันไม่เปลี่ยนแปลง

ผู้อยู่อาศัยหลักของบ้าน Maneeya House มีทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย คุณพ่อ คุณแม่และลูกอีก 2 คน ด้วยความที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับธุรกิจการเงิน ทำให้คุณวัฒน์กลายเป็นคนเนี้ยบและใส่ใจในรายละเอียดสูง “ปกติเวลาเราได้โจทย์ปรับปรุงบ้าน คือบ้านเดิมต้องโทรมแล้ว เหมือนเรารื้อทิ้งได้โดยไม่ต้องเสียดายของเดิมมากนัก แต่บ้านหลังนี้ไม่ใช่ ด้วยนิสัยของพี่เขา เขายังคงดูแลบ้านจัดสรรหลังนี้ได้ดีมาก ถึงภายนอกจะเก่าไปบ้างตามอายุการใช้งาน แต่ส่วนไหนที่เสียหรือพังเขาเปลี่ยนใหม่หมด ทำให้ภาพรวมบ้านหลังนี้ยังดูใหม่อยู่ตลอด” สถาปนิกเล่า

โจทย์ของการแปลงโฉมในครั้งนี้ ทางเจ้าของอยากให้บ้านหลังแรกขยายขนาดใหญ่กว่าเดิมเกือบอีกเท่าหนึ่ง โดยที่ฟังก์ชันภายในไม่เปลี่ยนแปลง หมายความว่า มีจำนวนห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือฟังก์ชันอื่นๆ เท่าเดิม รวมถึงอยากได้สเปซโล่งๆ ที่ทลายข้อจำกัดของบ้านจัดสรร ซึ่งมักจะมีผนังกั้นเป็นสัดส่วนมากเกินไป จนทำให้บ้านดูแคบและแน่นไปเสียหมด  “โจทย์ของเรา ถ้าพูดกันขำๆ มันจะคล้ายการแกะห่อของขวัญ แกะมาจะเจอบ้านทั้งหลังที่เหมือนเราสร้างใหม่ โดยที่คนไม่รู้ว่าด้านในเราเอาบ้านจัดสรรเดิมมาใช้ประโยชน์ด้วย”

บ้านหลังนี้ถูกเปลี่ยนโฉมพื้นที่ภายในไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยการจัดสรรฟังก์ชันใหม่ทั้งหมด แต่สิ่งที่ขัดแย้งคือในการเปลี่ยนใหม่ ก็ยังจำเป็นต้องเก็บโครงสร้างเสา คาน และพื้นเดิมเอาไว้ เนื่องจากยังมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์และน่าเสียดายหากจะทุบทำลายทิ้ง

ส่วนที่ยากในการรีโนเวทครั้งนี้ คือ ตำแหน่งของห้องน้ำ เสาเดิมของบ้านจัดสรรที่มีสแปนค่อนข้างเล็ก ทำให้บ้านโล่งๆ สเปซใหญ่ๆ ที่ทางเจ้าของตั้งใจไว้ กลายเป็นเรื่องที่ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ “เราต้องวางฟังก์ชันยังไงก็ได้ ให้หลบตำแหน่งเสา ให้เสามันไปแแอบอยู่ในผนังให้ได้” นี่จึงเป็นโจทย์ที่สอง ที่สถาปนิกต้องแก้ไขเพื่อให้บ้านตรงตามใจของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด

พื้นที่สีเขียว โอเอซิสกลางบ้าน

นอกจากจะเป็นคนละเอียดแล้ว คุณวัฒน์ยังมีลักษณะนิสัยที่ชื่นชอบต้นไม้ พื้นที่สีเขียว ชอบความเป็นธรรมชาติที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานหนักมาทั้งวัน ในการวางผัง พื้นที่ทั้งหมดถูกห้อมล้อมด้วยสวนที่อยู่บริเวณกลางบ้าน กลายเป็นวิวของทุกฟังก์ชันที่สำคัญ เริ่มต้นตั้งแต่บริเวณทางเข้าบ้านและลานจอดรถ มีการเว้นพื้นที่บางส่วนเอาไว้เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถมองเห็นสวนที่อยู่ตรงกลางได้เต็มที่ แทรกด้วยทางเดินเล็กๆ ที่เชื่อมเรื่องราวสู่บ้านหลังที่สองได้อย่างลงตัว  

เมื่อเข้าสู่ตัวบ้าน ด้านซ้ายจะเป็นพื้นที่ของห้องนอนแขก หรือห้องนอนผู้สูงอายุในอนาคต ซึ่งมีช่องแสงที่เปิดให้แสงธรรมชาติและร่มเงาของสวนหน้าบ้านเข้ามาทักทาย ช่วยให้พื้นที่ห้องไม่ดูแคบและอึดอัดจนเกินไป แต่ในปัจจุบันห้องที่ว่านี้ยังคงเป็นพื้นที่เล่นและทำกิจกรรมของลูกๆ

ถัดเข้ามาภายในจะเป็นบริเวณของห้องนั่งเล่น ซึ่งเชื่อมต่อกับห้องครัว ที่ออกแบบส่วนกั้นพื้นที่เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน ใกล้เคียงบริเวณนั้นเป็นโต๊ะรับประทานอาหารตัวยาวที่ทางเจ้าของมักจะนำแล็ปท็อปมานั่งทำงาน นั่งเล่น เพื่อกินลมชมธรรมชาติจากพื้นที่สีเขียวด้านหลังที่เคยซื้อที่ดินเพิ่มเอาไว้

ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องรับประทานอาหาร ทั้ง 3 สเปซออกแบบให้เชื่อมต่อกับลานที่อยู่บริเวณหน้าบ้านหลังที่ 2 พอดิบพอดี หากเป็นวันที่มีแขกเรื่อมาเยี่ยมบ้าน คุณวัฒน์จะเปิดพื้นที่ทั้งหมด เพื่อใช้สำหรับสังสรรค์ หรือสามารถออกมานั่งรับลมกลางลานในวันพักผ่อน ซึ่งเปิดให้ลมไหลถ่ายเทไปสู่ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ในขณะที่ยังมองเห็นสวนหน้าบ้านไปพร้อมๆ กัน

บริเวณชั้นสอง แบ่งเป็นสามห้องนอนเช่นเดิม เพียงแต่ขยายขนาดให้ใหญ่มากขึ้น รวมถึงแก้ปัญหาจากบ้านจัดสรรเดิมที่ปกติต้องแชร์ห้องน้ำร่วมกัน ห้องน้ำเดิมในบ้านจัดสรรจึงถูกจัดไว้เป็นของห้องนอนห้องหนึ่ง ส่วนห้องน้ำอีกห้องที่ทำขึ้นใหม่จะอยู่ในส่วนต่อเติม ทำให้ห้องนอนของลูกๆ จะมีห้องน้ำในตัว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการอยู่อาศัยในอนาคต

ห้องนอนมาสเตอร์อยู่บริเวณหน้าบ้าน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้วิวที่ดีที่สุด เพราะสามารถมองเห็นสวนที่อยู่หน้าบ้านได้ตรงองศาพอดี สถาปนิกจึงออกแบบให้เป็นห้องกระจกล้อมในพื้นที่ส่วนนอนทั้งหมด ราวกับกรอบรูปธรรมชาติที่ผู้อยู่อาศัยสามารถมองเห็นความพลิ้วไหวของเรือนยอดไม้ได้ตลอดเวลา แต่ด้วยความที่หน้าบ้านดันเป็นลมทิศตะวันตก และกระจกก็ยังคงเป็นที่ต้องการ ระแนงไม้จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ปัญหา ช่วยกรองแสง และกันความร้อนได้ระดับหนึ่ง

“จะบอกว่าบ้านหลังนี้ เป็นบ้านหลังแรกตั้งแต่ทำงานมาที่เราไม่ได้ไปดูไซต์เลย ทางเจ้าของเขาเป็นคนดูเองทั้งหมด คุยกับช่างเอง ดีลทุกอย่างเอง ซึ่งมันน่าแปลกตรงที่ พอเราไปดูตอนบ้านเสร็จ มันเหมือนแบบที่เราทำเป๊ะเลย ซึ่งพี่เจ้าของเขาเล่าด้วยความภูมิใจว่า อันนี้พี่แก้ปัญหาแบบนี้ อันนี้พี่ทำแบบนี้ เขาเป็นคนละเอียดถึงขั้นว่าเขาดูทุกอย่างด้วยตัวเขาเอง เขาใส่ใจ ภูมิใจ เรามองเห็นเขามีความสุขกับบ้านหลังนี้มาก จนมันทำให้เราอิ่มเอมไปด้วย”

“ผมเคยออกแบบบ้านหลังหนึ่ง ทางเจ้าของเขาพูดขึ้นมาว่า นี่คุณกำลังออกแบบบ้านให้ผมอยู่ หรือออกแบบบ้านให้ตัวคุณเองอยู่ เราจุกเลย หลังจากนั้นมา เราเลยทำความเข้าใจกับสิ่งนี้ค่อนข้างเยอะ นั่งคิดวิเคราะห์ว่าจริงๆ เราทำอาชีพสถาปนิกในฐานะอะไร ทำในฐานะ ศิลปินที่จะฝากลายเซ็นของตัวเอง หรือเรากำลังจะไปเอาความต้องการของเขามาคลี่คลายในสิ่งที่มันควรเป็น เราควรจะดึงความฝันของเขาออกมาแล้วเอามาเรียบเรียงใหม่ ให้คำแนะนำ มันจะทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านของเขา เขามีส่วนร่วมในบ้าน เขาจะภูมิใจในบ้าน และเขาจะรู้สึกว่านี่คือบ้านที่เขาตามหามาตลอด” คุณเบนซ์ สถาปนิกกล่าว

จากบ้านจัดสรรหลังเดิมที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ แต่มีสเปซคับแคบ ไม่น่าอยู่อาศัย ณ ตอนนี้ถูกเปลี่ยนโฉมขยายออก ทุกอย่างดูสบายขึ้นและเป็นจุดกึ่งกลางที่เรียกได้ว่า สุดจะพอดิบพอดีสำหรับสมาชิกครอบครัวอบอุ่นทั้ง 4 คน การออกแบบพื้นที่ภายในและภายนอก ไม่น้อยจนมินิมอล แต่ก็ไม่เยอะจนแน่นตา Maneeya House จึงเป็นตัวแทนของความเรียบง่ายแบบถ่อมตัว ความพอดีส่งผ่านความสุขของผู้อยู่อาศัยที่เรามองเห็นได้ภายในบ้านหลังนี้

Location : ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
Gross Built Area: 355 ตารางเมตร
Owner : ธนวัฒน์  เอกอรัญพงศ์
Architects : ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ และ ศิรประภา ประสมพันธ์จาก I like design studio
Interior Architect : ปนันดา โสพันธ์
Engineering: Kor-It Structural Design and Construction Co.,Ltd
Photographer: ศุภกร ศรีสกุล

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้