เป้าหมายในการรีโนเวทอาคารเก่าแก่ในครั้งนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องของประโยชน์ใช้สอยพื้นที่หรือการส่งเสริมศิลปะเท่านั้น แต่มันยังทำหน้าที่เป็นสถานที่เก็บความทรงจำอันทรงคุณค่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึง ตลอดจนถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นให้สืบต่อสู่อนาคตไปพร้อมกันด้วย นั่นเลยเป็นที่มาของการนำเสนอแนวคิด “Continuous Memories” ที่ทางสถาปนิกฝีมือประณีตกำลังมาแรงอย่าง Tsuyoshi Tane แห่ง atelier tsuyoshi tane architects (ATTA) กลั่นกรองไอเดียให้กลายมาเป็นงานออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวน่าสนใจจนทำให้บริษัทของเขาสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดแบบภายใต้โจทย์การปรับปรุงโรงงานเก่าแก่ของเมืองให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยซึ่งทางเมืองฮิโรซากิ (Hirosaki City) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในที่สุด
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งนี้ก็คือ Hirosaki MOCA หรือ Hirosaki Museum of Contemporary Art ที่ตั้งอยู่ที่เมืองฮิโรซากิ (Hirosaki) ใน จ.อาโอโมริ (Aomori) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมืองทางตอนเหนือสุดของเกาะฮอนชูนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชั้นเยี่ยมระดับโลกรวมตัวอยู่หลายแห่งและถือเป็นแหล่งแสดงงานศิลป์ที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งของญี่ปุ่นเลยทีเดียว แล้วหลังจากที่ Hirosaki MOCA เปิดตัวไปเมื่อเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2020 ที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในแวดวงศิลปะของญี่ปุ่นในทันที รวมถึงได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารดังอย่าง CASA Brutus ให้อยู่ในลิสต์ของ Best 100 Museum in Japan 2020 แถมยังถูกคัดเลือกให้ขึ้นปกเป็นพิพิธภัณฑ์เด่นประจำปีนี้อีกด้วย
สถาปัตยกรรมสืบทอดความทรงจำ
คอนเซ็ปต์ของงานสถาปัตยกรรมสืบทอดความทรงจำ (Continuous Memories) นั้นเริ่มจากโจทย์ที่ทางเมืองต้องการนำโรงงานเก่าถูกทิ้งร้างมาสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดประโยชน์ โดยโรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเป็นเสมือนอาคารเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองแห่งนี้มานานด้วยเช่นกัน สถาปัตยกรรมดั้งเดิมนั้นถูกสร้างให้เป็นตึกอิฐแดงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาคารสไตล์ตะวันตกซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคนั้น โดยโรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นราวช่วงต้น ค.ศ.1900 (ยุคไทโช) เพื่อเป็นแหล่งผลิตสาเกก่อนที่ต่อมาจะขายทอดกิจการเปลี่ยนมือส่งต่อให้กับบริษัทใหม่ที่ปรับมาเป็นโรงงานผลิตน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์ในยุคหลัง กระทั่งปิดกิจการและปล่อยทิ้งร้างในที่สุด
การรีโนเวทโรงงานเก่าแก่นี้เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายตั้งแต่เรื่องของการออกแบบและก่อสร้างสิ่งใหม่ให้ผสมกันกลมกลืนลงตัวกับการอนุรักษ์เอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ แน่นอนว่าอัตลักษณ์ที่โดดเด่นที่สุดของอาคารนี้ก็คืออิฐแดงที่ก่อขึ้นอย่างประณีตซึ่งมีการเก็บเอกลักษณ์นี้ไว้เช่นเดิมรวมถึงเติมเต็มส่วนของผนังใต้หลังคาด้านนอกให้เป็นผนังอิฐแดงทั้งแผงที่ดูกลมกลืนและสมบูรณ์แบบขึ้นกว่าอาคารแบบฉบับดั้งเดิมด้วย จุดเด่นภายใต้เอกลักษณ์อิฐแดงอีกจุดเห็นจะเป็นบริเวณประตูทรงโค้งที่เรียงอิฐอย่างสวยงามเป็นระเบียบซึ่งจุดนี้ก็มีการซ่อมแซมบูรณะเพื่อคงเอกลักษณ์งานดีไซน์อันทรงคุณค่าในอดีตไว้เป็นอย่างดีเช่นกัน
ด้านภายในอาคารทางสถาปนิกต้องการคงโครงสร้างดั้งเดิมของอาคารไว้ แต่ออกแบบพื้นที่ภายในใหม่หมดรวมถึงเสริมรากฐานของอาคารให้มั่นคงขึ้นด้วย จุดเด่นของภายในที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือการโชว์เพดานเปลือยไร้ฝ้าที่เผยให้เห็นโครงสร้างหลังคาเหล็กยุคเก่าที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลแล้วยังสะท้อนสไตล์ Industrial Design ให้โดดเด่นในคราวเดียวกันด้วย นอกจากนั้นแล้วความดิบแต่เท่นี้ยังผสานกับการออกแบบที่เรียบง่ายในสไตล์ Minimalist แบบญี่ปุ่นซึ่งเน้นงานไม้ไปจนถึงผนังสีขาวคลีนได้อย่างลงตัว สร้างเอกลักษณ์ใหม่ที่น่าสนใจให้กับอาคารนี้ได้ดีทีเดียว
รายละเอียดของการออกแบบตกแต่งภายในที่กลายมาเป็นจุดเด่นอีกมุมนั้นก็คือบริเวณร้านอาหารภายในพิพิธภัณฑ์นั่นเอง นอกจากโถงเพดานสูงผสานสไตล์ Industrial Design จะสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกเห็นแล้วในห้องนี้ยังมีจุดดึงดูดสายตาที่สร้างเสน่ห์ได้ดีไม่แพ้กันนั่นก็คือถังบ่มสีเงินวาวขนาดใหญ่ที่เรียงรายอยู่หลังเคาน์เตอร์ซึ่งสร้างความคอนทราสต์ให้กับโถงสีน้ำตาลเข้มนี้ได้น่าสนใจทีเดียว โดยถังบ่มทั้งหมดนั้นเป็นถังดั้งเดิมของโรงงานที่ทางสถาปนิกตั้งใจเก็บไว้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่งห้องพร้อมเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสถานที่แห่งนี้ในมุมมองใหม่ไปในตัวด้วย
มาถึงไฮไลท์เด่นของสถาปัตยกรรมรูปโฉมใหม่นี้กันบ้าง ถึงแม้ว่าภาพโดยรวมสำหรับโปรเจกต์นี้คือการอนุรักษ์เสน่ห์ดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด แต่จุดหนึ่งที่ปรับเปลี่ยนใหม่โดยสิ้นเชิงเพื่อเป็นการสร้างเอกลักษณ์ใหม่ให้กับอาคารหลังนี้ก็คือบริเวณหลังคานั่นเอง จากหลังคากระเบื้องสีเทาที่ทรุดโทรมถูกแทนที่ด้วยแผงหลังคาไทเทเนียมสีทองอร่ามสุดล้ำอันทนทาน แต่หัวใจของการสร้างสรรค์ครั้งนี้ก็ยังคงต้องการสะท้อนเอกลักษณ์ดั้งเดิมในคราวเดียวกันด้วยด้วยการคงรูปทรงแบบกระเบื้องมุมหลังคาเดิมไว้พร้อมปูหลังคาตามรูปแบบดั้งเดิมอีกด้วย นับเป็นเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมรูปโฉมใหม่ที่ยังคงรักษาคุณค่าของสถาปัตยกรรมยุคเก่าไปพร้อมกันได้เป็นอย่างดี
หลังคาสีทองอร่ามนี้ตัดกับตึกอิฐแดงอย่างโดดเด่นและเล่นกับแสงสะท้อนได้อย่างน่าสนใจ ความอร่ามตาไม่ได้สะท้อนแค่ความงดงามของการออกแบบสถาปัตยกรรมยุคใหม่เพียงเท่านั้น แต่มันยังเล่าเรื่องราวของความรุ่งเรืองของท้องถิ่นนี้ได้ดีไม่แพ้กันด้วย โดยส่วนของหลังคานี้ถูกนิยามว่าคือหลังคา Cider Gold ที่สีทองอร่ามนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากสีของน้ำแอปเปิ้ลไซเดอร์นั่นเอง การออกแบบตรงจุดนี้เพื่อต้องการสะท้อนถึงอุตสาหกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่สร้างความรุ่งเรืองให้กับที่นี่แล้วก็สร้างความรุ่งโรจน์ให้กับญี่ปุ่นด้วยเพราะที่ฮิโรซากินี้ถือเป็นแหล่งปลูกแอปเปิ้ลขึ้นชื่อของญี่ปุ่นมายาวนานแถมยังเป็นแหล่งริเริ่มในผลิตแอปเปิ้ลไซเดอร์จนกลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของเมืองและประเทศนี้ในที่สุด
คอนเซ็ปต์ Continuous Memories สำหรับโปรเจกต์นี้ไม่ใช่มีเฉพาะงานสถาปัตยกรรมและการออกแบบเท่านั้น แต่การสืบสานความทรงจำอันทรงคุณค่ายังรวมไปถึงผลงานศิลปะแห่งความทรงจำอีกด้วย เพราะอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญที่เป็นเสมือนหัวใจของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งนี้ก็คือประติมากรรมสุนัขยักษ์สุดคิวท์ที่คนไทยหลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากันมาบ้างแล้ว ประติมากรรมศิลป์ตัวนี้มีชื่อว่า A to Z Memorial Dog เป็นผลงานการออกแบบของศิลปินชื่อดังอย่าง Yoshitomo Nara (หรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่า “นาระ” นั่นเอง)
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะจำสับสนกับเจ้าประติมากรรมสุนัขยักษ์สีขาวอันโดดเด่นของนาระอีกตัวที่ตั้งอยู่ใน Aomori Museum of Art ซึ่งเจ้าตัวนั้นมีชื่อว่า Aomori Ken (Aomori Dog) ถึงแม้จะเป็นคนละตัวแต่ก็ถือว่าเป็นผลงานศิลป์ในตระกูลที่ผลิตโดยศิลปินคนเดียวกันนั่นเอง แล้วหลายคนก็อาจจะเข้าใจว่า A to Z Memorial Dog นี้เป็นผลงานใหม่ล่าสุดของนาระ แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วมันกลับตรงข้ามเลยเพราะเจ้าสุนัขยักษ์ตัวนี้เป็นผลงานต้นฉบับชิ้นแรกสุดของเขาที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี 2007 แล้วมันก็ตั้งอยู่ที่โรงงานเก่าแก่ของเมืองแห่งนี้มาตั้งแต่เริ่มต้นด้วย ซึ่งนาระเลือกสร้างสรรค์ประติมากรรมนี้ขึ้นที่นี่ก็เพราะว่าฮิโรซากิคือบ้านเกิดของเขานั่นเอง
เมื่อมีโปรเจกต์รีโนเวทโรงงานเก่าแก่ให้กลายเป็น Hirosaki MOCA แน่นอนว่าผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าที่สุดของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ก็คือเจ้าประติมากรรม A to Z Memorial Dog ที่ถือว่าเป็นผลงานศิลปะชิ้นแรกและชิ้นดั้งเดิมที่อยู่คู่กับสถานที่แห่งนี้มานานเลยก็ว่าได้ ปัจจุบัน A to Z Memorial Dog กลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นถาวรที่ถูกจัดแสดงไว้ภายใน Hirosaki MOCA แห่งนี้ไปโดยปริยาย แล้วมันก็กลายเป็นผลงานแห่งความทรงจำอันทรงคุณค่าสำหรับเมืองนี้ไปในทันทีเช่นกัน
สำหรับผลงานศิลปะด้านอื่นๆ ทาง Hirosaki MOCA มีเป้าหมายในการคัดสรรงานศิลปะแนว Experimental Art มาจัดแสดงเป็นหลัก พร้อมกับคอนเซ็ปต์ของการคัดเลือกงานที่ว่า “To create artworks,” “To display artworks,” and “To store artworks and leave them on history” เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่แสดงงานและพร้อมจะก้าวไปเป็นบุคลากรในแวดวงศิลปะอันทรงคุณค่าในวันข้างหน้า รวมถึงส่งต่อคุณค่านี้จากรุ่นสู่รุ่นต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด นับเป็นโปรเจกต์ที่สืบทอดความทรงจำหลากมิติได้อย่างมีคุณค่าทีเดียว
Hirosaki Museum of Contemporary Art
ที่ตั้ง : 2-1 Yoshino-cho, Hirosaki City, Aomori, Japan
เปิด-ปิด : ทุกวัน 09.00-17.00 น. / หยุดวันอังคาร
ค่าเข้าชม : ขึ้นอยู่กับแต่ละนิทรรศการ
เว็บไซต์ : www.hirosaki-moca.jp
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
Hirosaki Museum of Contemporary Art
atelier tsuyoshi tane architects (ATTA)
Photo Credit
atelier tsuyoshi tane architects (ATTA)
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!