‘จะเลือกฟ้อนท์ จัดฟ้อนท์ยังไงให้ดูดี’ ‘ลงรูปต้องเขียนแคปชันไหม เขียนเท่าไหนจึงจะเหมาะสม’ ‘อยากคุมโทน Instagram แบบเท่ๆคูลๆจะทำยังไงดี’ บทสนทนาจั่วหัวประเด็นเข้ายุคเข้าสมัยที่กลายเป็นปัญหายิบย่อยของใครหลายคน คือวิธีที่กิ๊ฟ ยูทูปเบอร์สาวในลุคสุดคูลกับรอยยิ้มปนขี้เล่นนิดๆ มักใช้อธิบายเปิดคลิปอย่างเป็นกันเอง จนทำให้คาแร็กเตอร์นี้กลายเป็นภาพจำของช่อง ‘Gift Lee’ ที่ได้เห็นเพียงไม่กี่นาที ก็ชวนให้เรากดปุ่มติดตามได้ไม่ยาก
ในยุคที่ใครๆ ก็ผันตัว มาเรียกตัวเองว่าเป็น Influencer ,Youtuber, Blogger หรือ Content Creator กิ๊ฟ-วริษฐา ลีลเศรษฐพร Youtuber สายอาร์ตที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่า ที่จริงแล้วเธอเรียนจบด้านสถาปัตยกรรมหลักเพื่อมาเป็นสถาปนิกโดยตรง แต่เมื่อรู้ตัวว่ามิติของการเรียนสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องจบลงที่การเป็นสถาปนิกเพียงอย่างเดียว คุณกิ๊ฟจึงตัดสินใจเบนสาย จากอาชีพสถาปนิก สู่บทบาทของนักสร้างคอนเทนต์ในสายงานดีไซน์ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวการถ่ายรูปไปจนถึงศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ จนกลายเป็นเจ้าของแฟนเพจเฟสบุ๊ค และยูทูปแชลแนล ‘Gift Lee’ ที่มียอด Follower กว่า 2 แสนคน
สถาปัตยกรรมกับความสวยงามที่เป็นเหตุเป็นผล
ย้อนกลับไปช่วงที่ต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะเรียน คุณกิ๊ฟเองก็คงเป็นเหมือนใครหลายคนที่ครอบครัวแอบตั้งความหวังให้ลูกเป็นนักศึกษาแพทย์ แต่ด้วยความที่ตนเองรักในการวาดรูป สถาปัตยกรรมจึงกลายเป็นทางออกที่เรียกได้ว่า พบกันคนละครึ่งทาง เป็นจุดกึ่งกลางระหว่างวิทย์และศิลป์ ซึ่งหากไม่ได้เป็นสถาปนิก ความกึ่งกลางระหว่างสองเรื่องนี้ก็น่าจะนำไปต่อยอด และทำอาชีพที่น่าสนใจได้อีกหลากหลาย เมื่อคิดได้อย่างนั้นแล้ว คุณกิ๊ฟจึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“ตอนเรียนสนุกนะ เราชอบมากเลย เราเรียนโรงเรียนหญิงล้วนมาก่อน มันจะมีกฏระเบียบพอสมควร แต่พอมาเรียนสถาปัตย์ มันเหมือนเปลี่ยนเป็นอีกโลกหนึ่งเลย ถึงจะเรียนเหนื่อย เรียนหนัก แต่เราชอบสังคมแบบนั้น มันเป็นสังคมที่มีแต่คนที่เป็นตัวของตัวเองมากๆ การเรียนมันก็เป็นอย่างที่คิดไว้ประมาณหนึ่งเลย ไม่ได้มีแค่ศิลปะอย่างเดียว ไม่ได้แค่ทำสวยแล้วจบ แต่มันต้องมีเหตุผล มีหลักการ มีที่มาที่ไป”
แน่นอนว่าเมื่อต้องอยู่กับอะไรนานๆ อย่างการเรียนสถาปัตยกรรมถึง 5 ปี สังคม การเรียนรู้ สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เสพย์ย่อมหล่อหล่อม เปลี่ยนความคิดบางส่วนไปโดยปริยาย ซึ่งสำหรับคุณกิ๊ฟ การเรียนสถาปัตยกรรมเปลี่ยนมุมมองความสวยงามให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น “เมื่อก่อนชอบวาดรูป ก็จะติสแตกนิดหนึ่ง อีโมชันนอลมาก ฉันจะทำอย่างนี้ใครจะทำไม (หัวเราะ) แต่พอต้องเริ่มทำโปรเจ็กต์ในคณะ พอบอกอาจารย์ว่าหนูชอบแบบนี้ มันสวย อาจารย์ถามว่าสวยยังไง เพราะอะไร เราก็ใบ้กิน กลายเป็นว่าทุกครั้งที่ทำอะไร ก็เลยจะต้องมีข้อมูลมาซัพพอร์ทตลอดว่าที่เราทำแบบนี้เพราะอะไร” คุณกิ๊ฟเล่า
“มันค่อนข้างหล่อมหลอมเราไปในทิศทางนั้นเยอะ มันหนักถึงขั้นที่ว่า ตอนเรียนปี 5 อาจารย์บอกเราว่า เหตุผลมันมากเกินไปหรือเปล่า ความสุนทรีย์มันหายไปไหนหมด ตอนนั้นเราทำธีสิสเป็นรีสอร์ท เราหาข้อมูลเยอะมาก มีโครงสร้างแปลน มีทุกอย่างมารองรับเยอะมาก แต่กลายเป็นว่าอาจารย์บอก แค่นี้ไม่ได้ เราต้องบรรยายถึงความสุนทรีย์ ถึงอารมณ์ ซึ่งมันเป็นอะไรที่เราเคยมีมาก่อนเรียนสถาปัตย์ เราเลยต้องกู้กลับมาให้มันบาลานซ์กันเหมือนเดิม”
ความเป็นเหตุเป็นผลผสมกับอารมณ์และความรู้สึก จึงเป็นเรื่องราวระหว่างทางที่คุณกิ๊ฟเก็บสะสมได้จากการเป็นนักเรียนสถาปัตย์ ก่อนจะค้นพบว่าที่จริงแล้วตนเองอาจไม่ได้ชอบการออกแบบอาคาร แต่กลับชอบงานออกแบบเชิงทัศนศิลป์เสียมากกว่า ความชื่นชอบเสพย์อะไรสวยๆงามๆ ผสมผสานกับความเป็นเหตุเป็นผลที่ได้จากการเรียนสถาปัตย์ จึงพาให้คุณกิ๊ฟใช้ความรู้ที่สั่งสมมาสู่การเป้นนักสร้างคอนเทนต์สายดีไซน์
จุดเปลี่ยนจากนักออกแบบอาคารสู่นักสร้างคอนเทนต์
“ตั้งแต่สมัยเรียน เราก็สังเกตตัวเองมาพักใหญ่ว่าเราไม่ได้ชอบดีไซน์ขนาดนั้น เราชอบทำ Presentation มากกว่า เราชอบคิดว่าทำยังไงให้ภาพรวมงาน การจัดเพลทนำเสนอดูดี ให้อาจารย์ชอบ ซึ่งจริงๆ มันก็คือการออกแบบเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ใช่ออกแบบบ้าน เราเลยลองเปลี่ยนจากสถาปนิกไปทำอย่างอื่น ทำ Brand Communication แล้วก็สนุก ก็เลยทำมาพักใหญ่ ทำควบคู่ไปกับเพจ แล้วพอลองทำคอนเทนต์ลงเพจที่เป็นเรื่องประมาณนี้ ปรากฏว่ามันไปได้ดีมากๆ ก็เลิกทำงานนั้น แล้วมาทำเพจเต็มตัว”
เมื่อรู้ตัวว่าสนุกกับการทำเพจและคลุกคลีอยู่กับการนำเสนอคอนเทนต์ที่ตนเองชื่นชอบ ไม่รอช้า คุณกิ๊ฟก็ตัดสินใจออกจากงานสถาปนิกมาทำเพจของตนเองอย่างจริงจังด้วยเรื่องราวใกล้ตัวที่เก็บตกได้จากชีวิตประจำวัน ความสงสัยส่วนตัว หรือประเด็นที่คุยกับเพื่อน ก็ถูกหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังผ่านคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ในยุคที่ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับการถ่ายรูป แต่งรูปอย่างทุกวันนี้ ‘ทำไมสีกล้องฟิล์มถึงกลับมาเป็นที่ชื่นชอบและฮิตอีกครั้ง’ ‘เทคนิคการใช้สีสันหลากหลายให้ดูแพง’ ‘เทคนิครีทัชผิวยังไงให้ดูเนียน’
“หลายอย่างมันเป็นอะไรที่เราเรียนรู้ระหว่างทางโดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างสมัยเราเรียนสถาปัตย์ เราจะทำเพลทนำเสนอส่งอาจารย์ การจัดหน้ากระดาษยังไงให้ดูสวย เราก็ชอบไปดู Art Daily Pinterest อะไรพวกนี้ แล้วก็ฝึก ลองทำตามเขามา การจัดฟอนต์จัดอะไร มันก็เลยซึมซับมาตั้งแต่ตอนนั้น”
“วิชา Visual Design ยังจำได้อยู่เลย ตอนปี1 เราเรียนไปก็ไม่รู้ว่าจะได้เอามาใช้เยอะขนาดนี้ พอเรียนจบกลายเป็นว่ามันใช้กับทุกอย่าง ไม่ว่าจะถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ สมมติจะไปเป็นช่างภาพสายโปรดักต์ หรือจะไปเป็นแฟชันสไตล์ลิสก็ได้ใช้ มันกว้างกว่าที่เราคิดตอนเรียนเยอะมาก พูดได้เต็มปากว่าทุกวันนี้เราก็ยังเอาวิชานี้มาใช้อยู่” เราย่อมมีวิชาที่ชื่นชอบ กระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่อถึงคลาสของวิชาเหล่านั้น ซึ่งสำหรับคุณกิ๊ฟ Visual Design เป็นวิชาสุดโปรดที่รู้สึกสนุกกับมันได้เต็มที่มากกว่าวิชา Design เสียอีก
แสดงว่าถ้าย้อนกลับไปได้ ก็ยังจะเลือกเรียนสถาปัตย์?
“เรียน อันนี้ไม่ได้ตอบเอาใจ แต่อย่างที่บอก ว่าเราสนุกกับชีวิต 5 ปีที่อยู่ในรั้วของคณะสถาปัตย์มากๆ แล้วก็รู้สึกว่าช่วง 5ปีนี้มันหล่อหลอมเราหลายๆ อย่าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ไปเป็นสถาปนิก แต่เรานำความรู้ หรืออะไรที่ได้จากคณะนี้มาใช้เยอะมาก คิดว่าถ้าย้อนไปได้เราก็คงเรียนอยู่ดี ฟังดูเหมือนโกหกไหม? (หัวเราะ)”
ความต่างของการเป็น Youtuber กับสถาปนิก
“อันนี้เป็นความคิดส่วนตัวเลยนะ เรามองว่าการเป็น Youtuber ง่ายกว่าเป็นสถาปนิก ด้วยความที่มันอาจจะมีอิสระมากกว่า กรอบมันน้อยกว่า มันก็เลยสนุกกว่า แต่เรื่องที่เหมือนกันก็มีเยอะ คือตอนเราเป็นสถาปนิก ก็ต้องดีลงานกับหลายคน ดีไซน์ตามลูกค้า ตามออฟฟิศ แล้วเราต้องบาลานซ์ความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งพอเรามาเป็น Content Creator มันก็ยังต้องทำแบบนั้นอยู่นะ เราก็ต้องบาลานซ์งานของเรา สไตล์ของเรา กับงานที่ลูกค้าให้มา แล้วยังมีสกิลการต่อรอง การพูดคุย การพรีเซนต์ ซึ่งมันเป็นอะไรที่เราสร้างมาตั้งแต่เรียนสถาปัตย์ ทุกอย่างมันคือ Presentation การพูดหน้ากล้อง ได้เอามาใช้เยอะ แต่ต้องขอย้ำว่ามันง่ายกว่าการเป็นสถาปนิก (ยิ้ม)”
อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้สองอาชีพนี้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ เรื่องอิสระในการจัดการกับชีวิต ซึ่งคุณกิ๊ฟเล่าว่า การเป็นยูทูปเบอร์ค่อนข้างจัดสรรเวลา การทำงานให้ลงตัวง่ายกว่า ซึ่งก็ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตนเองซึ่งเป็นคนรักอิสระเป็นทุนเดิม “เราเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ สิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายของเรา ก็มีคนอื่นที่เขาอาจจะไม่รู้อีกเยอะ พอเราได้แชร์ไป มีคนมาบอกว่าเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แค่นี้เราก็ชื่นใจแล้ว”
ความสุขของ ‘Gift Lee’
คุณกิ๊ฟเล่าว่า Gift Lee ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ออกแนวบังเอิญ ไม่ใช่ความตั้งใจ ไม่ได้คาดคิดว่าวันหนึ่งจะมีคนมาสัมภาษณ์ ไม่คิดว่าตนเองจะทำเพจที่มียอดคนติดตามมากถึง 2 แสนคน ณ ทุกจุดในชีวิตจึงเป็นการ challenge อะไรใหม่ๆ มาให้ได้ลองแก้ปัญหาและท้าทายตัวเองอยู่เสมอ
“กิ๊ฟติดตามคนหนึ่ง เขาบอกว่า You Can Share What You Know Why You Learn คือเราไม่ต้องรู้ทุกอย่างเพื่อมาสอนคนอื่น มันจะมีคนที่รู้น้อยกว่าเราที่จะได้ประโยชน์จากเรา หรือบางทีจะมีคนที่เขาเชี่ยวชาญมาร่วมแชร์กับเรา เนี่ยคุณกิ๊ฟพูดเรื่องนี้ ผมเลยนึกถึงเรื่องนี้ เราก็เออจริง ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย มันเลยเกิดเป็น Learning Community เล็กๆ แล้วพอเราต้องเอาเรื่องที่เรียนรู้มาถ่ายทอดให้คนอื่น เราต้องสรุปหาเนื้อของมันจริงๆ พอเราเข้าใจมันจริงๆ เราก็ได้เรียนรู้มากขึ้นไปด้วยในขณะที่เราได้แชร์ให้คนอื่นฟัง”
คุณกิ๊ฟไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น Expert ด้านใดด้านหนึ่งโดยตรง เพียงแต่เป็นคนที่มีความสนใจอันเปี่ยมล้น พร้อมที่แชร์และน้อมรับความเห็นจากกลุ่มคนรอบด้านเพื่อเปิดกว้างมุมมอง ซึ่งเรารับรู้ได้ว่าความสุขของ Gift Lee ในวันนี้อาจไม่ใช่ยอดไลค์ ยอดแชร์ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกๆ วัน แต่เป็นช่วงเวลาของการได้แลกเปลี่ยน พูดคุยในเรื่องที่ตนเองสนใจ ส่งต่อแพสชันและความหลงใหลให้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ “บางทีรู้อะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว รู้ได้เยอะ มันช่วยให้มุมมองเรากว้างขึ้น” คุณกิ๊ฟทิ้งท้าย
วริษฐา ลีลเศรษฐพร (Gift Lee)
YouTube: https://www.youtube.com/c/GiftLee
Facebook: https://www.facebook.com/giftllee
(ขอบคุณภาพผลงานประกอบจาก https://www.facebook.com/giftllee)
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!