แม้ยารักษาโรคจะถือเป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอก็ตามที แต่ผู้บริหารบริษัทจำหน่ายยารักษาโรค FASHOF กลับไม่เห็นด้วยกับการเยียวยาร่างกายด้วยวิธีนี้เพียงวิธีเดียวและไม่เคยรู้สึกมีความสุขกับยอดจำหน่ายยาที่พุ่งสูงขึ้นในแต่ละปีเท่าไหร่นัก เพราะนั่นทำให้พบว่าผู้คนในปัจจุบันเลือกที่จะใช้ยารักษาโรคเพื่อแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก่อนหันกลับมาดูแลต้นเหตุด้วยการรับประทานอาหารที่ดีพร้อมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
อาคาร FH Office ของบริษัท FASHOF แห่งใหม่นี้ จึงตั้งใจเป็นต้นแบบและปูแนวคิดด้านการออกแบบผ่านความต้องการของผู้บริหารทุกคนที่ใส่ใจด้านสุขภาพ และอยากเห็นพนักงานในบริษัทมีร่างกายที่แข็งแรง โดยได้ทีมสถาปนิกจาก TA-CHA Design เข้ามาเป็นผู้สานต่อรายละเอียดของสเปซให้เกิดเป็นองค์ประกอบของอาคารที่ใช้งานง่าย และเอื้อต่อการเป็นต้นแบบของบริษัทรักสุขภาพที่ใส่ใจการใช้ชีวิตของพนักงานได้อย่างอบอุ่น บนพื้นที่กว่า 1,900 ตารางเมตร
บทบาทที่ไม่ต้องการเรียกร้อง
FH Office ถูกดีไซน์ให้เป็นอาคารรูปตัวแอล 5 ชั้น ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ลักษณะคล้ายกับตัวพี ท่ามกลางข้อจำกัดของบริบทใจกลางเมืองกรุงที่แน่นขนัดไปด้วยซอกซอยและตึกรามบ้านช่อง รูปลักษณ์ของอาคารจึงถูกวางให้รับกับบริบทรอบข้างมากที่สุดและสอดคล้องกับกฎหมายอาคารที่ ความสูงของอาคารไม่เกินกำหนด และมีพื้นที่ให้รถดับเพลิงสามารถเดินทางเข้ามาได้อย่างสะดวก รวมถึงอาคารแห่งนี้ยังได้ถูกตั้งต้นด้วยบทบาทของการเป็นอาคารสำนักงานเป็นหลัก ภาพรวมของการจัดวางอาคารภายนอกจึงไม่ต้องการการเรียกร้องมากจนเกินไป และเข้าไปเน้นรายละเอียดในส่วนของภายในอาคารซึ่งจะเป็นเรื่องของการจัดวางฟังก์ชันให้ตอบโจทย์การใช้งานจริงของพนักงาน ไปจนถึงการรณรงค์ด้านสุขภาพเสียมากกว่า
ถึงแม้รูปลักษณ์ของ FH Office จะขนานนามว่าตนเองเป็นอาคารที่ไม่ต้องการการเรียกร้องจากบริบทที่ตั้งอยู่ในซอกซอย แต่รูปลักษณ์ชวนสะดุดตาของบันไดวนบริเวณด้านหน้าอาคาร ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นดีไซน์ที่ค่อนข้างเชื้อเชิญให้ผู้คนที่พบผ่านอยากเข้าไปเยี่ยมชมภายในอาคารได้ไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นหนึ่งในรายละเอียดที่ผู้ออกแบบได้กลั่นกรองมาเป็นอย่างดีแล้วว่าดีไซน์ส่วนนี้จะต้องมีมิติที่แปลกใหม่ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานหรือผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมเยือนภายในอาคารรู้สึกอยากใช้งานบันไดมากขึ้น ซึ่งเปรียบได้กับเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของตัวอาคารที่ไม่ว่าใครก็ต้องหลงรักและเดินขึ้นเดินลงกันอย่างเพลิดเพลิน สู่ผลลัพธ์ทางอ้อมที่จะช่วยให้พนักงานทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงขึ้นเมื่อมีการใช้งานบันไดที่บ่อยครั้ง
รูปลักษณ์ที่ต้องการการครอบครอง
ด้วยจุดหมายเดียวกันของผู้ออกแบบที่ต้องการดีไซน์อะไรที่แปลกใหม่ และทีมผู้บริหารก็อยากได้ผลลัพธ์ในเรื่องของการรณรงค์ด้านสุขภาพที่ดีให้แก่พนักงาน ผู้ออกแบบจึงใช้เวลาไปกับการตั้งคำถามและหาคำตอบเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของบันไดว่า “บันไดแบบไหนที่จะเชื้อเชิญให้ผู้คนมาใช้งานได้มากที่สุด?”
ผลลัพธ์คือดีไซน์ของบันไดวนที่มีฟังก์ชันตอบโจทย์การเดินได้อย่างสง่างามหรือบันไดในฝันของหญิงสาวที่ชวนจินตนาการให้เดินขึ้น-ลงได้ดุจนางแบบนายแบบ และไม่ว่าจะมองมุมไหนบันไดวนแห่งนี้ก็ดูน่าค้นหาไปด้วยเส้นสายที่อิสระ และเสน่ห์ของสัจจะวัสดุอย่างเหล็กที่ผู้ออกแบบได้ตั้งใจเลือกมาใช้กับโครงสร้างเพื่อบอกเล่าความงดงามของวัสดุที่เหนือกาลเวลา ซึ่งยังทำให้พบว่ายิ่งบันไดวนมีการใช้งานที่บ่อยครั้งมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีการ Fade ของวัสดุที่สวยงามขึ้นเรื่อยๆ มากเท่านั้น
พื้นที่ที่ต้อนรับแสง ลม และผู้คน
นอกจากแนวคิดการออกแบบบันไดด้วยดีไซน์แปลกตาเพื่อรณรงค์ให้พนักงานหันมาสัญจรแทนการใช้ลิฟต์โดยสารแล้ว ผู้ออกแบบยังเชื่อว่าการจัดวางเลย์เอาท์ที่ดี อย่างการวางองค์ประกอบของสเปซภายในอาคารให้มีความเชื่อมโยงกันระหว่างความสัมพันธ์ของแต่ละแผนกเพื่อเอื้อต่อการติดต่อประสานงาน รวมถึงเชื่อมโยงผู้ใช้งานภายในอาคารให้สอดคล้องไปกับพื้นที่ส่วนกลางที่พนักงานจะสามารถมาสัมผัสกับแสงและลมธรรมชาติได้ตลอดทั้งวัน ก็ถือเป็นการออกแบบที่ช่วยเสริมสร้างทั้งสุขภาพกายและใจที่ดีเช่นเดียวกัน
ผู้ออกแบบจึงได้วางให้พื้นที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือ Common Area สำหรับการใช้งานที่ยืดหยุ่น โดยวางให้ส่วนนี้อยู่ตรงกลางของอาคารหรือระหว่างปีกอาคารรูปตัวแอลทั้งสองฝั่ง เพื่อให้พนักงานแต่ละแผนกสามารถลงมาใช้งานพื้นที่ส่วนนี้ได้อย่างสะดวก อีกทั้งการจัดวางเลย์เอาท์ในรูปแบบนี้ยังไม่เพียงแต่ช่วยให้พนักงานมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งกันและกัน แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเครื่องปรับอากาศและแสงไฟได้เป็นอย่างดีเมื่อมีพนักงานอออกมาใช้พื้นที่ส่วนกลางมากกว่าการนั่งทำงานอยู่ภายในห้อง
รวมถึงการจัดวางตำแหน่งของลิฟต์โดยสารที่ยังคงจำเป็นต่อการใช้งานอยู่ ก็ได้ถูกขยับให้ไปอยู่ในส่วนทิศใต้ใกล้ๆ กับตำแหน่งของห้องน้ำ ซึ่งจะสามารถช่วยบังความร้อนจากแสงแดดทิศใต้ไม่ให้เข้ามายังตัวอาคาร ขณะที่แสงแดดก็ยังช่วยฆ่าเชื้อระหว่างวันให้ภายในห้องน้ำได้ในตัว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ออกแบบยังได้เล่าว่าก่อนจะออกมาเป็นเลย์เอาท์ที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันที่กล่าวมานี้ ในช่วงแรกผู้ออกแบบได้ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่รูปแบบการทำงานของแต่ละแผนก ความต้องการการใช้พื้นที่หรือความไม่ต้องการในการใช้พื้นที่ ไปจนถึงการรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานในบริษัทว่านิยามของสำนักงานของแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร
ก่อนจะพบว่าพนักงานที่ต้องการใช้พื้นที่ในการนั่งทำงานนั้นมีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมดในบริษัท ซึ่งอีก 40 เปอร์เซ็นต์คือพนักงานฝ่ายขายที่จะเข้ามาเป็นครั้งคราวในช่วงที่มีการจัดประชุมเท่านั้น พื้นที่ภายในอาคารจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนและรองรับการใช้งานได้หลายรูปแบบ แผนกฝ่ายขายจึงได้ถูกวางให้อยู่ชั้น 3 ใกล้กับชั้น 2 ที่เป็น Common Area เพราะมักจะต้องมีการพบปะประสานงานกับบุคลภายในอยู่เสมอ สำหรับแผนกที่มีการประสานงานน้อยหรือต้องมีการประสานงานเพียงไม่กี่แผนกก็จะถูกจัดให้อยู่ในส่วนของชั้น 4 และ 5 ตามลำดับ
หมุนเวียนพลังงานของเราและโลก
สำคัญคืออาคารแห่งนี้พยายามออกแบบให้พนักงานมีการเคลื่อนไหวให้พลังงานร่างกายเกิดการหมุนเวียนที่สมดุล ไปพร้อมๆ กับคำนึงถึงเรื่องของการพึ่งพาแสงและลมธรรมชาติให้เกิดการเข้าถึงที่ดี การจัดวางอาคารจึงมีการออกแบบให้แสงและลมสามารถหมุนเวียนได้ตลอดทั้งวันโดยไม่รู้สึกร้อน ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและประหยัดพลังงานของโลกได้ในเวลาเดียวกัน อีกทั้งอาคารแห่งนี้ยังได้ติดตั้งถังเก็บน้ำฝนและน้ำแอร์แยกออกมาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการรดน้ำต้นไม้รอบอาคารด้วย
รวมถึงโครงสร้างของอาคาร FH Office ยังถูกออกแบบให้เป็นอาคารประเภท Mixed Use หรือโครงสร้างผสม ทั้งโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตของเสาคาน เพื่อเลือกใช้วัสดุที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่จะเกิดจากระหว่างการก่อสร้าง อีกทั้งโครงสร้างเหล็กก็ยังตอบโจทย์การออกแบบรูปลักษณ์อาคารที่มีการยื่นหดสลับกันของแต่ละชั้นได้ดี เพราะเป็นวัสดุที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูงและสามารถรับน้ำหนักทั้งหมดที่ถูกถ่ายลงตรงๆ ได้โดยไม่มีการถ่ายลงเสาด้านข้าง ซึ่งเอื้อต่อการออกแบบได้มากทีเดียว
อย่างไรก็ดี เพราะผู้บริหารบริษัท FASHOF เป็นหนึ่งในผู้บริหารที่รักสุขภาพและไม่อยากเห็นพนักงานในบริษัทรวมถึงผู้คนทั่วไปต้องเจ็บป่วย อาคารแห่งนี้จึงเปรียบได้กับเป็นตัวอย่างให้กับอาคารสำนักงานอื่นๆ ได้กลับไปคิดในเชิงของด้านการแบบอาคารที่ครอบคลุมด้วยแนวคิดของสเปซที่เอื้อต่อสุขภาพทางกายและใจที่ดีของพนักงาน ไปจนถึงเมื่อพวกเขากลับไปพบครอบครัวที่บ้านก็อาจช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดการใส่ใจรักสุขภาพต่อกันเป็นลูกโซ่ก็เป็นได้
Location : Bangkoknoi, Bangkok
Gross Built Area : 1900 sq.m
Architects : TA-CHA Design
Interior Architect : TA-CHA Design
Engineering : Montien Keawkon
Photographer : BeerSingnoi
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!