มุมมองสร้างสรรค์ของ Jun Aoiki
ที่ถ่ายทอดจินตนาการเรียบหรูสู่ Louis Vuitton

ต้นปี 2021 ที่ผ่านมานี้ยักษ์ใหญ่ในแวดวงแฟชั่นโลกอย่าง Louis Vuitton ก็เพิ่งจะสร้างเซอร์ไพรส์ในญี่ปุ่นอีกครั้งด้วยการเผยโฉม Louis Vuitton Tokyo Ginza Namikidori โปรเจกต์รีโนเวทในโตเกียวที่สร้างความฮือฮาได้ไม่แพ้การ Louis Vuitton Maison Osaka Midosuji แฟล็กชิพสโตร์โฉมใหม่ของญี่ปุ่นในเมืองโอซาก้าซึ่งก็เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยตึกใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวนี้มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ซ่อนไอเดียน่าสนใจไว้ไม่แพ้แฟล็กชิพสไตร์ในคันไซเลยแม้แต่น้อย ที่สำคัญผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเจ๋งของทั้งสองโปรเจกต์นี้ก็คือนักสร้างสรรค์คนเดียวกันอย่าง Jun Aoiki (青木 淳) แห่ง Jun Aoki & Associates สถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่เป็นนักออกแบบคู่บุญของ Louis Vuitton มาแสนนานนั่นเอง

โปรเจกต์รีโนเวทแฟล็กชิพสโตร์ Louis Vuitton Tokyo Ginza Namikidori ประเทศญี่ปุ่น

จินตนาการบนผิวน้ำ

ทันทีที่ตึกสี่เหลี่ยมสูงชะลูดดีไซน์แปลกตาเปิดตัวได้ไม่นาน สื่อทั่วโลกก็กระพือข่าวจนมันโด่งดังขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็วเช่นเคย (ถึงแม้ว่าทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงช่วง COVID-19 ระบาดก็ตามที) โดยโปรเจกต์รีโนเวท Louis Vuitton Tokyo Ginza Namikidori ใหม่นี้กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากจากคอนเซ็ปต์การออกแบบที่โดดเด่นและสถาปัตยกรรมที่สร้างสรรค์ได้อย่างมีเอกลักษณ์ จุดเด่นของอาคารแห่งนี้หนีไม่พ้นฟาซาดลอนคลื่นสีมุกมันขลับที่สะท้อนแสงออกมาหลากเฉดสีพร้อมลูกเล่นการสะท้อนเงากับผนังอาคารในรูปแบบแปลกตาซึ่งสิ่งนี้ล่ะคืออีกหนึ่งเอกลักษณ์เด่นของงานสถาปัตยกรรมในสไตล์ที่ Jun Aoki ชื่นชอบและมักใส่ลงไปในการออกแบบร้านของ Louis Vuitton แทบทุกงานเลยทีเดียว

Jun Aoiki (青木 淳) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นแห่ง Jun Aoki & Associates

สำหรับ Concept Design ในการออกแบบครั้งนี้สามารถเข้าใจและตีความได้ไม่ยากเพราะฟาซาดลอนคลื่นสไตล์ล้ำยุคนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากระลอกคลื่นและการพลิ้วไหวของผิวน้ำที่เราคุ้นเคยนั่นเอง แล้วการสะท้อนเงาที่บิดเบี้ยวนั้นก็ไม่ได้แฝงความหมายเชิงลึกอะไรมากนักเพราะผลลัพธ์ของลูกเล่นทางสถาปัตยกรรมนี้ก็เพื่อต้องการสะท้อนภาพให้เหมือนกับลักษณะของภาพที่เกิดจากการสะท้อนแสงบนผิวน้ำจริงๆ ด้วยเช่นกัน สิ่งที่ขับให้ผลลัพธ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้โดดเด่นออกมาก็เห็นจะเป็นการเลือกใช้วัสดุอย่าง Dichroic Glass กระจกลักษณะพิเศษมาปรับพื้นผิวให้เป็นลอนคลื่นเพื่อทำผนังอาคารซึ่งวัสดุนี้จะช่วยสะท้อนและหักเหแสงให้มีเฉดคล้ายแสงขาวจากปริซึมที่แยกสเปกตรัมเป็นสีสันต่างๆ ซึ่งเป็นผลลัพธ์เดียวกับการสะท้อนน้ำนั่นเอง แล้วมันก็ทำให้สถาปัตยกรรมนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจในทันที

แม่ทัพแห่งมหาสมุทร

ย้อนกลับไปดูผลงานก่อนหน้าที่ก็สร้างความน่าสนใจได้ดีไม่แพ้กันบ้าง โปรเจกต์รีโนเวทแฟล็กชิพสโตร์ Louis Vuitton Maison Osaka Midosuji ในโอซาก้าก็เคยสร้างความประทับใจให้คนทั่วโลกมาแล้วเช่นกัน ตึกสีขาวสะอาดตาตามสไตล์ของ Jun Aoki นี้โดดเด่นด้วยลูกเล่นแผงตกแต่งอาคารหลายชิ้นที่ปะติดปะต่อกันอย่างสวยงามจนเกิดเอกลักษณ์ของฟาซาดที่สะดุดตา ใครที่รู้จักประวัติศาสตร์ของเมืองโอซาก้าเป็นอย่างดีก็พอจะเดาออกได้ไม่ยากว่ารูปร่างนี้ต้องการสื่อถึงอะไร

แต่อันที่จริงแล้วรูปโครงของแผงแต่ละชิ้นก็เข้าใจได้ไม่ยากว่า Concept Design ของสถาปัตยกรรมนี้มีแนวคิดมาจาก “เรือสำเภา” ที่กำลังกางใบแล่นอยู่ในมหาสมุทรนั่นเอง โดยไอเดียการออกแบบนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเรือ Naniwa Maru (浪華丸) อันเป็นเรือสำเภาตามแบบฉบับภูมิปัญญาดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า Higaki-kaisen (菱垣回船) ซึ่งเรือที่ใช้ทำการค้าในอดีตนี้ก็คืออีกหนึ่งประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของโอซาก้าที่หากย้อนรอยศึกษาประวัติศาสตร์เมืองนี้กันแล้วจะพบว่ารากฐานดั้งเดิมของชุมชนแห่งนี้เติบโตขึ้นมาจากการเป็นเมืองท่าอันรุ่งโรจน์ในอดีตนั่นเอง

โปรเจกต์รีโนเวทแฟล็กชิพสโตร์ Louis Vuitton Maison Osaka Midosuji ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

ฟาซาดของตึกเรือสำเภานี้ทาง Jun Aoki เลือกใช้โลหะน้ำหนักเบาสีขาวที่ทำโครงสร้างหลักพร้อมปูด้วยวัสดุพิเศษแผ่นบางเบาแบบโปร่งแสงที่ทำให้เห็นโครงสร้างของฟาซาดที่สื่อถึงโครงรองรับการกางใบเรือนั่นเอง แถมวัสดุที่น่าสนใจนี้ยังทำให้เกิดมุมมองในยามกลางวันและกลางคืนที่มีเสน่ห์แตกต่างกันด้วย ถึงแม้ว่าคราวนี้ทาง Jun Aoki จะไม่ได้เล่นกับการสะท้อนเงาบนพื้นผิวฟาซาดแต่เขาก็หยิบเอาอีกเอกลักษณ์ของงานออกแบบในสไตล์เฉพาะตัวมาใช้เช่นกันนั่นก็คือการเล่นกับความโปร่งแสงและดีไซน์การเปล่งแสงของอาคารได้อย่างน่าสนใจเช่นเคย

ตำนานแห่งแดนอาทิตย์อุทัย

ตำนานของ Louis Vuitton นั้นเริ่มต้นที่กรุงปารีสในฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 1854 แต่ตำนานของ Louis Vuitton ที่เริ่มต้นในญี่ปุ่นนั้นก็คือการเข้ามาเปิดกิจการครั้งแรกในโตเกียวและโอซาก้าพร้อมๆ กันในปี 1978 นั่นเอง ส่วนตำนานสถาปัตยกรรมกับสถาปนิกคู่บุญอย่าง Jun Aoki นั้นก็เพิ่งจะเริ่มต้นในยุคหลังเมื่อราวปี 1998 อันเป็นจุดเปลี่ยนผันสู่ศตวรรษใหม่ซึ่งจุดนี้ทาง Louis Vuitton เองก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายสิ่งหลายอย่างตั้งแต่แฟชั่นไปจนถึงสถาปัตยกรรมด้วยเช่นกัน ผลงานการออกแบบร้าน Louis Vuitton แห่งแรกของ Jun Aoki ปรากฏขึ้นในปี 1999 กับการเผยโฉมร้าน Louis Vuitton Nagoya Sakae ในเมืองนาโกย่า

สถาปัตยกรรมนี้อาจไม่ได้โดดเด่นเรื่องโครงสร้างแต่กลับใช้ฟาซาดของอาคารดึงดูดความใสใจแทนโดยการสร้างสรรค์ที่สะดุดตานี้ก็คือลูกเล่นลวดลายบนกระจกร้านที่คล้ายเทคนิคภาพลวงตา รูปแบบนี้เกิดจากการพิมพ์ลายตารางหมากรุกสีขาวอันเป็นเอกลักษณ์ของ Louis Vuitton ลงบนผิวกระจกด้านในสองชั้นซึ่งเมื่อนำมาวางซ้อนกันแล้วจะทำให้เกิดมุมมองในลักษณะแบบ Moiré Effect ที่เสมือนเห็นการเคลื่อนไหวของลายเส้นและรูปทรงสไตล์เลขาคณิตอย่างน่าฉงน

แล้วก็ดูเหมือนเทคนิคนี้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจ Louis Vuitton เป็นอย่างมากนอกจากจะทำให้ต่อจากนั้น Jun Aoki กลายมาเป็นสถาปนิกคู่บุญของแบรนด์แล้วไอเดียนี้ก็ยังถูกต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ฟาซาดกระจกด้วยไอเดียใหม่ๆ บนพื้นฐานเดียวกันนี้ให้กับร้านของ Louis Vuitton อีกหลายสาขาทั่วโลก ทำให้กระจกใสธรรมดาสามารถเสริมจุดเด่นให้กับสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้ในทันที

Louis Vuitton Nagoya Sakae ในเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากโปรเจกต์ที่ได้ยกตัวอย่างมานั้นก็ยังมีสถาปัตยกรรมน่าสนใจอีกมากมายที่ Jun Aoki ได้ร่วมทำงานให้กับทาง Louis Vuitton ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นตึกดีไซน์ระดับตำนานที่ขึ้นหิ้งการออกแบบชิ้นสำคัญของโลกไปแล้วอย่าง Louis Vuitton Omotesando (2002) ในโตเกียวซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากหีบคลาสสิกต้นตำรับอันเลื่องชื่อของ Louis Vuitton ที่กำลังวางซ้อนทับกันอยู่

หรือจะเป็นอีกโปรเจกต์ที่โดดเด่นในสไตล์เรียบหรูที่มาพร้อมดีไซน์ล้ำและลูกเล่นน่าสนใจอย่าง Louis Vuitton Tokyo Matsuya Ginza (2013) ซึ่งฟาซาดสีขาวฉลุลวดลายกราฟฟิกแพทเทิร์นง่ายๆ แต่จัดเรียงได้เก๋ซึ่งลายนี้ประยุกต์มาจากลาย Monogram ของ Louis Vuitton นั่นเอง แถมกลางคืนยังส่องแสงลอดผ่านลายฉลุที่ทำให้เกิดมุมมองสวยแปลกตาต่างจากตอนกลางวันได้อีกด้วย โดดเด่นราวโคมไฟฉลุลายอันประณีตที่เปล่งประกายยามค่ำคืนอย่างสวยงามเลยทีเดียว

Louis Vuitton Omotesando (2002) ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
Louis Vuitton Tokyo Matsuya Ginza (2013) ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

พระอาทิตย์ฉายแสงทางทิศตะวันตก

ใครที่ติดตามผลงานของ Jun Aoki มาโดยตลอดจะพบว่าเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของเขาก็คือการเล่นกับอาคารรูปทรงธรรมดาสีขาวคลีนเรียบหรูตามสไตล์มินิมอลแบบญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะแสนธรรมดาแต่ทว่าเขาก็มักจะสอดแทรกรูปแบบการสร้างสรรค์ที่น่าสนใจในมิติต่างๆ ลงไปในงานแต่ละชิ้นด้วยเสมอ สไตล์นี้ไม่ได้ปรากฎเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้นยังรวมถึงสถาปัตยกรรมนอกเกาะที่เขายังคงเอกลักษณ์การออกแบบของเขาไว้ด้วยเช่นกัน

นอกจากร้าน Louis Vuitton ที่ฮ่องกงแล้วอีกหนึ่งผลงานนอกเกาะแดนอาทิตย์อุทัยที่น่าสนใจมากๆ ก็คือการออกแบบร้าน Louis Vuitton New York 5th Avenue ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกานั่นเอง ถึงแม้จะเป็นผลงานสร้างสรรค์ Louis Vuitton ในอเมริกาแค่เพียงโปรเจกต์เดียวเท่านั้นแต่สาขานี้กลับโด่งดังมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้แถมโด่งดังยาวนานข้ามทศวรรษมาจนถึงทุกวันนี้ซึ่งผลงานนี้ทาง Jun Aoki ได้รีโนเวทอาคารเก่าสไตล์ Art Deco ให้เป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่มีเสน่ห์ไร้กาลเวลา

จุดเด่นของงานนี้ก็เห็นจะเป็นฟาซาดกระจกสีขาวคลีนที่ผสานกับวัสดุเรียบหรูสไตล์มินิมอลลิสต์ตามแนวถนัดของเขา ทำให้สีขาวที่ฉาบไปลงบนตึกสูงชะลูดตัดกับโทนสีเทาของอาหารเก่าแก่รอบข้างแล้วช่วยเสริมให้ดีไซน์โดยรวมดูโดดเด่นไปโดยปริยาย

Louis Vuitton New York 5th Avenue ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ว่าอาคารแห่งนี้เปิดตัวมานานตั้งแต่ปี 2004 แล้ว แต่สถาปัตยกรรมก็ยังมีความโมเดิร์นสำหรับยุคปัจจุบันอยู่ไม่เปลี่ยน ที่สำคัญมันถ่ายทอดอัตลักษณ์ของ Jun Aoki ที่สมบูรณ์แบบไปพร้อมกันด้วยตั้งแต่การเล่นกับฟาซาดกระจก การเล่นกับมุมมองในลักษณะภาพลวงตา ไปจนถึงการฉาบสีขาวทั้งตึกที่จงใจให้ดูเรียบง่ายแบบธรรมดาแต่ทว่าจะสอดแทรกไอเดียน่าสนใจที่ทำให้อาคารนั้นโดดเด่นขึ้นมาเสมอ

นอกจากนี้ในยุคหลังตึกแห่งนี้ยังกลายเป็นเหมือนผืนผ้าใบที่ให้ศิลปินมาสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างอิสระเพราะฟาซาดสีขาวมักจะถูกละเลงไอเดียสร้างสีสันงานศิลป์หลากหลายรูปแบบที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เสมือนการเติมชีวิตชีวาใหม่ให้อาคารดูสดใสอยู่เสมอ กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำงานไปพร้อมกับศิลปะได้อย่างสร้างสรรค์และกลมกลืน แล้วยังทำให้อาคารดูมีชีวิตยืนยาวแถมเอกลักษณ์ดั้งเดิมก็ยังคงอยู่เช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง

การสร้างสรรค์ที่ไม่เคยหยุดยั้ง

นอกจากจะเป็นแบรนด์คลาสสิกระดับตำนานแล้ว Louis Vuitton ก็ยังเป็นแบรนด์หรูระดับไฮเอ็นด์ที่เป็นผู้นำในการลุกขึ้นมาสลัดคราบโบราณสู่การสร้างสรรค์ในแบบฉบับยุคใหม่ด้วยเช่นกัน ในยุคที่ Marc Jacobs ขึ้นแทนมากุมบังเหียน Creative Director ของแบรนด์นั้นว่าสนุกกับการสร้างสรรค์มากแล้ว แต่การส่งผ่านตำแหน่ง Creative Director สู่มือ Nicolas Ghesquière นั้นก็ยิ่งมันส์กับการครีเอทมากขึ้นไปอีก แถมได้ Virgil Abloh เจ้าพ่อสายสตรีทสุดเจ๋งมานั่งเป็นหัวเรือของฝั่งเสื้อผ้าผู้ชายสมทบไปอีกแรง เราเลยได้เห็นการสร้างสรรค์ไอเดียเด็ดๆ ออกมามากมายที่สัมผัสได้ว่าแบรนด์ระดับตำนานนี้ได้ส่งไม้ต่อสู่คนยุคใหม่ให้สร้างตำนานหน้าใหม่ได้สำเร็จอย่างแท้จริง

แล้วไม่ใช่แค่แฟชั่นเท่านั้นแต่ Louis Vuitton ยังคงเล่นสนุกกับงานสถาปัตยกรรมเช่นเคยเสมอด้วย สำหรับ Louis Vuitton Tokyo Ginza Namikidori นี้ดูเหมือน Jun Aoki จะเริ่มต้นปรับเปลี่ยนทิศทางสร้างสรรค์แบบฉบับใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมของ Louis Vuitton ซึ่งถือว่าเริ่มเห็นความสนุกน่าสนใจในมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เลวเลยทีเดียว เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าทาง Louis Vuitton จะมอบหมายให้ Jun Aoki ถ่ายทอดจินตนาการสนุกๆ อะไรออกมาอีกหลังจากนี้ จะยังคงเป็นความแฟนตาซีที่สอดแทรกอยู่ในความมินิมอลแบบญี่ปุ่นอีกหรือไม่ หรือจะเป็นความสนุกแบบขบถฉีกแนวอย่าง Pop-Up Store เฉพาะกิจฉาบสีเขียวทั้งร้านในนิวยอร์กเหมือนที่ Virgil Abloh เคยสร้างปรากฏการณ์กระตุกความสนใจคนทั่วโลกได้อยู่หมัดมาแล้ว … คงต้องตามลุ้นกัน

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน