‘เมื่อเจ้าของอยากปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของตนเอง และอยากให้ Maid มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน’ นี่คือโจทย์ตั้งต้นของ Maid House
ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเห็น บ้านพัก Maid หรือพื้นที่อยู่อาศัยของแม่บ้านมักจะเป็นห้องเล็กๆ ที่หลบซ่อนอยู่ภายในบ้านหลังใหญ่ แต่ภาพจำเหล่านั้นใช้ไม่ได้กับ Vibhavadi 41 House เพราะนอกจากจะตั้งใจออกแบบบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิกครอบครัวทั้ง 8 คนแล้ว ทางเจ้าของยังมีความต้องการสร้างบ้านสำหรับแม่บ้าน พ่อบ้านและพี่คนสวนหลังใหม่แยกออกมาจากบ้านหลังใหญ่โดยเฉพาะ เพื่อให้คุณภาพชีวิตของบุคคลที่ส่งผลโดยตรงกับบ้าน นั้นดีขึ้น เสมือนได้อยู่บ้านของตัวเองมากกว่าเพียงการอาศัยภายในห้องเล็กๆ ส่วนหนึ่งเท่านั้น
ก่อนหน้านี้บ้านหลังเดิมของเจ้าของบ้านตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ในย่านที่มีแต่ความวุ่นวายและแออัดจากเสียงที่รบกวนตลอดเวลา บ้านหลังใหม่ ณ Vibhavadi 41 House แห่งนี้จึงเน้นให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสกับธรรมชาติ พื้นที่สีเขียวของต้นไม้ แสงแดดและลมธรรมชาติให้นานยิ่งขึ้น
และไม่ลืมที่จะปรับเปลี่ยนส่วนของแม่บ้านขึ้นใหม่ กลายเป็น Maid House ที่แยกออกจากบ้านหลักอย่างชัดเจนเพื่อให้พ่อบ้าน แม่บ้าน รวมถึงคนสวนที่จะเข้ามาทำงานภายในบ้านหลังนี้สามารถสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติได้เช่นเดียวกันกับเจ้าของ เมื่อได้โจทย์ดังนั้นแล้ว ไม่รอช้า ทางเจ้าของก็มอบหมายให้ทีมสถาปนิกจาก PVWB Studio เข้ามารับหน้าที่ปรุงแต่งสเปซและเรื่องราวของบ้านทั้งสองหลังให้ตรงกับความต้องการ
ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
หากจะเล่า Maid House ให้เข้าใจและเห็นภาพ คงต้องเล่าบ้านหลังใหญ่ Vibhavadi 41 House ไปพร้อมกัน
บ้านหลังใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยหลักของทางเจ้าของ มีรูปฟอร์มที่เกิดขึ้นจากลักษณะของไซต์ที่ดิน ซึ่งมีด้านหน้าแคบแต่มีเนื้อที่ด้านหลังในลักษณะยาว ทำให้ในการวางผัง สถาปนิกจำเป็นต้องวางฟังก์ชันในส่วนการอยู่อาศัยบนที่ดินในลักษณะยาว โดยให้ฟังก์ชันหลักต่างๆ ของบ้านกระจายตัวอยู่ห่างจากกัน ที่ว่างระหว่างอาคารที่กระจายตัวกันนั้นจึงกลายเป็นคอร์ดยาร์ดต้นไม้ใหญ่ และบ่อน้ำ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศเพื่อให้เจ้าของมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติได้มากกว่าบ้านหลังเดิมที่ฟังก์ชันทุกอย่างกระจุกตัวกันแน่นจนแทบไม่มีพื้นที่หายใจ
(บ้านผู้อยู่อาศัยหลัก)
เมื่อพ้นจากทางเข้าซึ่งเป็นส่วนแคบของที่ดิน ภายในจะเปิดโล่งและสร้างความเซอร์ไพรส์ด้วยต้นไม้ใหญ่ ระหว่างกลุ่มก้อนของอาคารยังเชื่อมเข้าหากันด้วยคอร์ริดอร์ทางเดินยาวที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยได้เดินชมสวน ธรรมชาติรอบตัวได้อย่างเนิบๆ ในยามที่กลับมาจากการทำงานเหนื่อยๆ
เพื่อให้ภาพรวมของสถาปัตยกรรมดูเป็นกลุ่มก้อนและเรื่องราวเดียวกัน สถาปนิกตั้งใจออกแบบ Maid House ให้มีภาษาทางสถาปัตยกรรมที่มองเห็นแล้วรู้สึกได้ว่าบ้านสองหลังนี้เชื่อมโยงถึงกัน แมสของบ้านเมดจึงกลายเป็นอาคารอีกกลุ่มหนึ่งที่วางชิดตัวไซต์ และมีวิธีเชื่อมระหว่างแมสอาคาร ด้วยการใช้คอร์ริดอร์และสวนเช่นเดียวกับกลุ่มอาคารอื่นๆ ของบ้าน โดยครึ่งหนึ่งของคอร์ดยาร์ดนี้จะถูกแบ่งให้เป็นที่จอดรถ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นสวนผักรับประทานได้ที่สามารถใช้งานได้ทั้งบ้านเมดและบ้านของผู้อยู่อาศัยหลัก
เมื่อบ้านต้องการออกแบบเพื่อเปิดรับความเป็นธรรมชาติ บางส่วนของผนังออกแบบให้มีช่องลมที่ช่วยระบายอากาศให้กับพื้นที่คอร์ดด้านใน ซึ่งสำหรับบ้านใหญ่ วัสดุทั่วไปจะเป็นการใช้อิฐสีเทาเข้มแทรกด้วยช่องลมเหล็ก ซึ่งเมื่อถึงคิวของ Maid House ที่ต้องแสดงรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกัน สถาปนิกจึงเลือกใช้บล็อกลมเข้ามาดีไซน์เพื่อให้อาคารบ้านเมดสามารถเปิดรับลมธรรมชาติ โปร่งโล่ง และอยู่สบายได้อย่างไม่ปิดทึบ
ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน
“เราอยากทำให้ Maid house หลังนี้รวดเร็ว ง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนเท่าบ้านหลังใหญ่ แต่ยังมีความเชื่อมโยงด้วยภาษาอะไรบางอย่างที่เข้ากันได้ดี” ด้วยความต้องการอะไรที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานรวมถึงง่ายต่อการดูแลรักษา ฟังก์ชันของ Maid House จึงตรงไปตรงมา โดยเป็นอาคารสองชั้นที่แบ่งการใช้งานระหว่างชั้นบนและล่างอย่างชัดเจน
โดยชั้นล่างจะเป็นส่วนเซอร์วิสของบ้านหลังใหญ่ มีถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำ ส่วนซักรีดทั้งหมด รวมถึงห้องเก็บของขนาดใหญ่ ส่วนอีกด้านหนึ่งของชั้นล่างจะถูกออกแบบไว้ให้เป้นพื้นที่กึ่งอเนกประสงค์ที่เหล่าแม่บ้านสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ อย่างเช่น ครัวไทย พื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งบริเวณนี้จะมีลักษณะเป็นใต้ถุนบ้านที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศต่างจังหวัด มีลมพัด ไหลผ่านเกือบตลอดเวลา ทำให้แม่บ้านสามารถมานั่งพักผ่อน พูดคุย หรือปูเสื่อทำอาหารและรับประทานอาหารหลังเลิกงานได้อย่างเป็นตัวเอง
ชั้นบนของอาคารเป็นฟังก์ชันของห้องนอนทั้งหมด โดยแบ่งเป็นห้องนอนใหญ่ 2 ห้อง และห้องนอนเล็กอีก 3 ห้อง เผื่อสำหรับเมดที่อยู่อาศัยเป็นครอบครัว หรือเมดที่อยู่คนเดียว ส่วนห้องน้ำสถาปนิกดีไซน์ให้เป็นห้องน้ำรวม แต่แยกชาย หญิง โดยชั้นล่างจะเป็นพื้นที่ของห้องน้ำชาย ส่วนชั้นบนเป็นห้องน้ำหญิง
ผนังบล็อกลมและคอร์ริดอร์ยังถูกออกแบบมาเพื่อบดบังมุมมองระหว่างบ้านใหญ่และ Maid House ให้มีความเป็นส่วนตัวระหว่างกัน ส่วนพิเศษของบล็อกลม คือ การเลือกใช้บล็อกลมที่มีการปาดรูเฉียงมาจัดเรียงแพทเทิร์นไปมา ทำให้เมื่อแสงตกกระทบ จะเกิดเงาที่แตกต่างกันไปตามช่วงเวลา ซึ่งผนังสีขาวถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความง่าย และยังทำหน้าที่ราวกับผืนผ้าใบที่รอให้แสงระหว่างวันตกกระทบ เกิดเป็นลวดลายที่สวยงามและชัดเจนบนผืนผนังเปล่า ทั้งในยามกลางวันที่มีแสงแดดจากพระอาทิตย์ และยามกลางคืนที่มีเงาจากการใช้งานพื้นที่ภายใน
อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้บ้านหลังนี้แตกต่าง?
แน่นอนว่าสเปซที่ชักชวนผู้อยู่อาศัยให้ดื่มด่ำธรรมชาติคือคำตอบ แต่สิ่งที่เพิ่มเติมจากนั้นคือเรื่องราวและวิถีชีวิตของกลุ่มแม่บ้าน พ่อบ้าน หรือพี่คนสวนที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง ยกระดับความเป็นอยู่จากห้องทึบตันเล็กๆ ภายในบ้าน สู่อาคารหลังใหม่ที่เปิดทักทายลม แสง และสีเขียวจากธรรมชาติ เพื่อให้ที่อยู่อาศัยสมกับคำว่า ‘บ้าน’ ได้อย่างแท้จริง
Location : วิภาวดี 41 ดอนเมือง กรุงเทพฯ
Gross Built Area: 272 ตารางเมตร
Owner : เดโช สว่างรุ่งเรืองกิจ และดวงดาว รัตนวงศ์ชัย
Architect & Interior : วิชญ์วัส บุญประสงค์ PVWB studio
Contractor : เดโช สว่างรุ่งเรืองกิจ
Photographer: จิรายุ รัตนวงษ์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!