‘Thai Red Cross Children Home’
สถาปัตยกรรมจากอิฐที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับแสงแดด สายลม และการเรียนรู้ของเด็ก ๆ

พื้นที่สีเขียวของพืชพรรณที่เติบใหญ่ขึ้นเองตามสมดุลธรรมชาติ และบรรยากาศที่โปร่งโล่งไร้ตึกสูงในพื้นที่ชานเมืองแห่งนี้ คือปอดขนาดเล็กของเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ จ.นครปฐม โครงการออกแบบที่มีจุดเริ่มต้นจากที่ดินบริจาคของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย และได้รับการเปลี่ยนที่ดินเปล่าผืนใหญ่ให้กลายเป็นทั้งบ้านพักอาศัย พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และศูนย์การเรียนรู้ของเด็กโต ที่กำลังจะได้รับการโยกย้ายจากบ้านพักหลังเก่ามาเติบใหญ่ในสถานที่แห่งใหม่โดยถูกออกแบบอย่างจงใจให้ตัวอาคารสามารถสอดรับกับผู้ใช้งาน แสง และลมธรรมชาติได้มากที่สุด

ด้วยฝีมือการออกแบบจาก ทีมสถาปนิกอย่าง Plan Architect ที่เข้ามาเปลี่ยนคำว่า ‘บ้าน’ ของผู้ที่ถูกจำกัดความว่า ‘เด็กกำพร้า’ หรือผู้ที่ไร้ซึ่งครอบครัวและที่พักอาศัย ให้เป็นพื้นที่ที่พวกเขาจะสามารถใช้ชีวิตและเรียนรู้ผ่านสภาพแวดล้อมที่พวกเขามีอยู่ได้ตลอดทั้งวันภายในหมู่บ้านแห่งนี้

‘ปัญหาเด็กๆ’

ผู้ออกแบบได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาความแออัดในบ้านเด็กแห่งเดิมและข้อจำกัดในการออกแบบหมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ จ.นครปฐม แห่งใหม่ ที่จะนำไปสู่ภารกิจในการแก้ปัญหาในแง่มุมของนักออกแบบให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด นั่นคือการทำความเข้าใจกับผู้ใช้งานและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเด็กๆ ด้วยการออกบแบพื้นที่ให้ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสิ่งรอบตัวที่เด็กๆ มีอยู่ อย่าง แสง ลม และพืชพรรณจากสวนเกษตรเศรษฐกิจพอเพียงในส่วนด้านหลังของโครงการหมู่บ้าน

“เด็กๆ ในบ้านพักหลังเดิมกำลังเติบโต ซึ่งพื้นที่การใช้งานก็เเริ่มจะแออัดเข้าไปทุกที ที่ดินบริจาคผืนนี้จึงได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นหมู่บ้านเด็กชายแยกออกมาอีกแห่งที่จะช่วยรองรับการเติบโตของเด็กๆ และเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้กับพวกเขาด้วย”

ด้วยที่แปลงที่ดินมีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีงบประมาณที่จำกัด อีกหนึ่งโจทย์ที่ผู้ออกแบบได้รับคือพื้นที่ทั้งหมดจะต้องสามารถรองรับการขยายตัวภายในอนาคตได้ รวมถึงวัสดุที่ใช้ต้องมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ตัวแปลงที่ดินจึงได้ถูกแบ่งให้เกิดเป็นโซนและพื้นที่ใช้งานที่ชัดเจน ประกอบด้วย โซนบ้านพักเด็ก โรงอาหาร สำนักงาน ศูนย์อบรมและการเรียนรู้ อาคารที่พักเจ้าหน้าที่มูลนิธิ และอาคารที่พักของวิทยากรผู้ฝึกอบรม รวมทั้งหมด 11 หลัง  ซึ่งแต่ละหลังยังได้ถูกจัดวางให้ตัวอาคารมีความเหลื่อมสลับไม่บังกัน เพื่อให้สอดรับการ Cross-ventilation ของลมได้ดี และยังช่วยให้เกิดที่ว่างสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างวันได้ด้วย

‘วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ในท้องที่’

เพราะงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ผสานกับแนวคิดด้านการใช้วัสดุในท้องที่ของทีมผู้ออกแบบ ‘อิฐแดงหรืออิญมอญ’ จึงเป็นวัสดุที่น่าสนใจสำหรับหมู่บ้านเด็กแห่งนี้ โดยผู้ออกแบบยังได้เล่าว่านอกจากจะเลือกใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นแล้วก็ยังได้เลือกคัดสรรราคาอิฐที่ไม่สูงหรือพยายามหาให้ราคาต่ำที่สุดมาใช้ เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณในการออกแบบได้อย่างคุ้มค่าที่สุด รวมถึงวัสดุชนิดนี้ก็ยังมีความสวยงามเหนือกาลเวลา จึงทำให้โครงการไม่ต้องดูแลหรือบำรุงรักษาอะไรมาก ซึ่งถือเป็นการออกแบบเพื่อความยั่งยืนที่มองการใช้งานไปถึงอนาคต

‘โอบล้อมต้นไม้ด้วยสถาปัตยกรรมและผู้คน’

ด้วยแนวคิดที่ต้องการออกแบบให้อาคารสามารถรับลมแบบ cross-ventilation ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานภายในอาคารไม่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา รูปลักษณ์ของอาคารจึงได้ถูกออกแบบให้มี Fin หรือลักษณะเป็นครีบเฉียงเพื่อเอียงองศาตามแดดลม รวมถึงช่วยในการบังแดดด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ระหว่างวัน ซึ่งจะช่วยให้อาคารสามารถเปิดหน้าต่างได้ตลอดเวลาในแบบที่ว่าถึงไม่เปิดแอร์ก็ยังสามารถอาศัยอยู่ได้สบาย

อีกทั้งรูปทรงของอาคารยังได้ออกแบบให้มีลักษณะเป็นส่วนโค้งล้อมรอบเข้าหาธรรมชาติหรือต้นไม้ ด้วยคอร์ดระหว่างอาคารที่จะสามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างวันได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการสื่อถึงแนวคิดที่อยากให้ผู้คนและสถาปัตยกรรมได้โอบล้อมต้นไม้เอาไว้ด้วย

นอกจากส่วนโค้งของอาคารแล้ว ในส่วนของทางเดินภายในโครงการก็ยังได้ทำการออกแบบให้มีเส้นสายที่โค้งไปตามไซต์เช่นกัน เพื่อให้เด็กๆ และผู้ใช้งานรู้สึกผ่อนคลายด้วยเส้นโค้งที่ไม่ดูออร์เดอร์มากจนเกินไป ซึ่งเป็นแนวคิดหลักที่ถูกวางไว้ตั้งแต่ต้นสำหรับการออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ในเรื่องของการอยู่อาศัย เพราะนอกจากสถานที่แห่งนี้จะต้องรับบทบาทเป็นศูนย์การเรียนรู้แล้ว สำคัญคือยังคงเป็นบ้านพักของเด็กๆ และเจ้าหน้าที่ดูแลมูลนิธี ที่เขาจะต้องอาศัยอยู่ในทุกๆ วัน

อย่างไรก็ดี ผู้ออกแบบยังได้เล่าเสริมว่าที่รูปลักษณ์ฟอร์มของอาคารที่ดูแปลกตานี้ เดิมไม่ได้ตั้งใจอยากให้มีดีไซน์ที่หวือหวาอะไรนัก เพียงแต่แนวคิดของการออกแบบที่อิงแสงและลมธรรมชาติทำให้ตัวอาคารต้องมีการวางทิศทางให้เหมาะสมกับทิศของลม แสง การวางช่องเปิด และการเว้นสเปซต่างๆ เพื่อให้เด็กๆ รวมถึงผู้ใชงานภายในโครงการสามารถใช้งานพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างคุ้มค่าและเต็มประสิทธิภาพเท่าที่สภาพแวดล้อมโดยธรรมชาติจะสามารถมอบให้พวกเขาได้ แต่ภาพรวมก็ยังคงได้ความงามของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอยู่

‘ความสัมพันธ์ของบริบท สถาปัตยกรรม และผู้คนก็สำคัญ’

ในแง่มุมของการออกแบบอาคารเพื่อการเรียนรู้สำหรับ Plan Architect มองว่า อาคารหรือพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ หรือแม้แต่โรงเรียนด้วยแล้ว จริงๆ อาจมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะท้ายที่สุดจุดตั้งต้นในการออกแบบแต่ละครั้งนั่นคือการทำความเข้าใจกับผู้ใช้งานจริงเสียก่อนว่า เขาคือใคร และเขาต้องการอะไรจากพื้นที่แห่งนั้นๆ ซึ่งหากเป็นศูนย์การเรียนรู้หรือโรงเรียน สิ่งสำคัญคือต้องนึกภาพไปถึงว่าการเรียนรู้ต่างๆ อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในห้องเรียนก็เป็นได้ การออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้มีบทบาทมากขึ้นเพื่อรองรับการทำกิจกรรมร่วมกันหรือการทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างวัน พร้อมกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของบริบท อย่าง แสง ลม ต้นไม้ใบเขียว สถาปัตยกรรม และผู้คนให้มีปฏิสัมพันธ์ได้นั้น ก็นับเป็นอีกหนึ่งความสำคัญไม่แพ้ในแง่ของความงามภายนอก

ซึ่งนอกจากสถาปัตยกรรมของหมู่บ้านเด็กเฉลิมพระเกียรติ จ.นครปฐม จะได้ทำการออกแบบให้สอดรับกับบริบทได้เป็นอย่างดีแล้ว สวนเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังเป็นอีกพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ได้ศึกษาธรรมชาติและการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนได้อีกด้วยเช่นกัน

Location: Muang District, Nakorn Pathom
Gross Built Area: 5,700 sq.m.
Client: Thai Red Cross Children Home
Architects: Plan Architect
Photographer: Ketsiree Wongwan

Writer
Pichapohn Singnimittrakul

Pichapohn Singnimittrakul

Copy writer ผู้มีความสนใจในงานจิตอาสา และ Eco-Living ที่เชื่อว่างานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้