Basic Space Coffee
จิบกาแฟในสเปซสุดเรียบง่ายที่ทักทายผู้คนผ่านองค์ประกอบคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

Basic Space Coffee คือชื่อของร้านกาแฟที่ตั้งอยู่หัวมุมสี่แยกในตัวเมืองจังหวัดอยุธยา ประตูไม้ และหลังคาสังกะสีปนสนิมนิดๆ หว่านเสน่ห์ความเป็นเอกลักษณ์เพื่อทักทายผู้คนที่ผ่านไปมา ถึงแม้รูปลักษณ์ที่ผ่านการออกแบบมาของสถาปัตยกรรมจะบอกเราว่าสถานที่แห่งนี้มีความเป็นเจนเนอเรชันใหม่อยู่ไม่น้อย แต่ด้วยองค์ประกอบหรืออะไรบางอย่าง ก็ชวนให้เราหวนนึกถึงความเบสิก และกลิ่นอายความเก่าแต่ก็เก๋าจนชวนให้เข้าไปสัมผัส

บ้านที่เป็นทั้งร้านอาหารของคุณพ่อคุณแม่ และร้านกาแฟของลูกชาย

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่หัวมุมนี้เคยเป็นบ้านติดกับโรงหนังเก่า ซึ่งในอดีตเป็นทำเลที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและเฟื่องฟูพอสมควร บ้านหลังนี้จึงเปิดเป็นร้านโชว์ห่วยและร้านอาหาร เพื่อรองรับลูกค้าที่แวะเวียนมาดูหนังเรื่อยมา แต่เมื่อโรงหนังปิดตัวลง ร้านโชว์ห่วยและร้านอาหารจึงค่อยๆ ลดบทบาทจากร้านโชว์ห่วยเหลือเพียงธุรกิจร้านอาหารกึ่งร้านข้าวต้ม จนกระทั่งเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ลูกชายผู้เป็นคนเจนเนอชันใหม่ ได้ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเล็กๆ เพิ่มเติม เพื่อตอบสนองความหลงใหลในกาแฟของตนเอง

ซึ่งหลังจากเปิดขายมาเป็นเวลากว่า 5 ปี ก็เริ่มมองหาลู่ทางในการขยับขยาย เพื่อเพิ่มเมนู จำนวนลูกค้า ที่นั่งรับประทาน ให้ตอบรับกับการเติบโตของร้านในระยะยาว ประกอบกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีอายุมากขึ้น ร้านอาหารแห่งนี้จึงถึงเวลาผันเปลี่ยนอีกครั้ง จากแนวคิดขยับขยาย ส่งไม้ต่อให้กับทีมสถาปนิกจาก BodinChapa Architects ผู้เป็นทั้งเพื่อนและลูกค้าประจำ มารับหน้าที่ออกแบบ วางแผนและปรับปรุง Basic Space Coffee แห่งนี้ขึ้นใหม่

(ภาพ Basic Space Coffee บ้านและพื้นที่ครัวเดิม ก่อนการรีโนเวท)

“พื้นที่ตรงนี้ค่อยๆ ผันเปลี่ยนฟังก์ชันมาเรื่อยๆ แต่ละสเปซค่อนข้างมีความหลากหลายในฟังก์ชัน และจะมีรายละเอียดมากมายที่เกิดจากคุณพ่อ ซึ่งเป็นคนวางแผนที่จะก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณนี้ตั้งแต่ต้น รวมถึงมีรายละเอียดเดิมของพื้นที่ อีกทั้งทางเจ้าของยังต้องการให้สเปซนี้ใช้งานร่วมกับความเป็นบ้านได้อย่างกลมกลืน” คุณว่าน-พิชชาภา โล่ห์ทอง (สถาปนิก) เล่าถึงโจทย์จากทางเจ้าของ

หวนคืนสู่ความ ‘Basic’ ภายใน Basic Space Coffee

เพราะชื่อร้าน Basic Space Coffee บ่งบอกคอนเซ็ปต์ ‘Basic Space’ อย่างตรงไปตรงมา ทีมสถาปนิกจึงต้องกลับมามองหาอะไรที่เรียบง่าย ทั้งในแง่ที่ผู้มาเยือนจะมองเข้ามา และในแง่ของเจ้าของบ้านเองที่ต้องมองเห็นและใช้สเปซนั้นในทุกๆ วัน

“พอเราเข้าไปดูในพื้นที่จริง เราเลยพยายามหยิบจับองค์ประกอบต่างๆ ของอาคารเดิมที่เรียบง่าย ซึ่งมันถูกซ่อนไว้อยู่ เราค่อยๆ เผยความงามออกมาให้ได้เห็น เช่น แผ่นสังกะสี หลังคาสีเทาๆ ซึ่งเป็นสีตั้งแต่ยุคของคุณพ่อ เรามองว่ามันคือสเน่ห์ที่เราจะไม่พยายามเปลี่ยนมัน” คุณว่านเล่า

“หลักๆ โปรเจกต์นี้จะเน้นเรื่องของการใช้วัสดุ วีธีการในการก่อสร้างและวิธีการใช้งาน ซึ่งหลายๆ พื้นที่มันเกิดจากองค์ประกอบเดิมที่มีอยู่แล้ว เราเลยตีความว่าคอนเซ็ปต์ที่เกิดขึ้นมันคือ Basic space จริงๆ ซึ่งมันเชื่อมโยงกับแบรนด์ของเขาด้วย” คุณป้อง-บดินทร์ เมืองลือ เล่าเสริม

โต๊ะไม้ขาสิงห์ ชิ้นส่วนในความทรงจำของครอบครัว ซึ่งเป็นโต๊ะที่มีอยู่เดิมในร้านอาหารเก่าของคุณแม่แต่ไม่ได้ผ่านการใช้งาน ถูกนำมาเล่าเรื่องราวภายในร้านกาแฟใหม่ โดยทำหน้าที่ต้อนรับลูกค้าบริเวณหน้าเคาน์เตอร์บาร์กาแฟ ซึ่งคุณว่านเล่าให้เราฟังว่า “เราอยากให้มันเป็นอะไรที่ผู้คนเห็นแล้วเขาจดจำได้ว่า นี่คือสิ่งคุ้นเคยที่อยู่ในชีวิตประจำวัน มันสามารถเอามาดีไซน์เป็นแบบนี้ได้ด้วยหรอ? มันสามารถสร้างความประหลาดใจ และในทางกลับกันมันก็เป็นการเอาสิ่งที่มีอยู่เดิมมาใช้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทิ้ง”

(แปลนร้าน Basic Space Coffee)

ทักทายแขกผู้มาเยือนด้วยของเดิมที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวัน

ถึงแม้ร้านกาแฟร้านใหม่นี้จะไม่ได้มีขนาดกว้างขวางใหญ่โต แต่นอกเหนือจากโต๊ะไม้ขาสิงห์ที่เรายกตัวอย่างไป ยังมีรายละเอียดของเรื่องราวอันคุ้ยเคยแฝงอยู่ในทุกดีเทลของการออกแบบ

เสาคอนกรีตสำเร็จรูปถูกนำมาปูเป็นพื้นบริเวณหน้าร้านเรียงรายเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน แท่นคอนกรีตที่นั่งหน้าร้านกรุด้วยอิฐดินเผา เกิดจากวิธีการนั่งของคนในร้านเดิมที่มีขนาดเล็ก ผู้คนนั่งหันหน้าเข้าหาบาร์ พูดคุยกับบาริสตาและพูดคุยกันเองราวกับเพื่อนบ้านมาเยี่ยมเยียนหากัน สถาปนิกจึงเลือกที่จะรักษาสเปซเดิมๆ นี้เอาไว้ โดยใช้ประโยชน์จากแท่นกระบะปลูกต้นไม้คอนกรีตเดิมของคุณพ่อ นำมาปรับสเกลให้พอดีกับการนั่ง เสริมด้วยแผ่นไม้ที่นั่งวางซ้อนทับ เพื่อให้เกิดมูฟเมนท์ในการใช้สเปซ โดยสามารถยกออก ยกเข้า หรือขยับซ้าย-ขวาได้ตามความต้องการในการใช้งาน

บานหน้าต่างไม้ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งพื้นที่ภายในและภายนอก และเป็นเหมือนฉากกั้นส่วนนั่งในแต่ละโซนไปในตัว ดีเทลของบานประตูหน้าต่างยังซ่อนกรอบของความโค้งมนเล็กน้อย ล้อรูปฟอร์มกับความโค้งมนของโต๊ะไม้ขาสิงห์ที่อยู่ภายในได้อย่างกลมกลืน เซ็ตบานประตูที่อยู่บริเวณด้านข้างตัวร้าน ยังมีรายละเอียดของรูปแบบที่สามารถเลือกเปิดบน หรือล่างได้ตามการใช้งาน วันไหนอยากจะเปิดทั้งบนและล่างเพื่อให้ร้านกลายเป็นกึ่ง Open-Air ก็ได้บรรยากาศบ้านๆ หรือหากวันไหนต้องการจะปิด เพื่อสร้างขอบเขตให้กับการนั่งรับประทานในร้านก็ไม่ว่ากัน

ภายในร้าน จากเดิมฝ้าที่ตีปิดเรียบ ถูกปรับเปลี่ยนให้เปิดโล่งเพื่อโชว์โครงสร้างเหล็กเดิมที่คุณพ่อเป็นคนริเริ่มให้ช่างก่อสร้างขึ้น “ด้วยความที่คุณพ่อเขาเป็นพ่อครัวร้านอาหาร เขาก็สั่งทำโครงสร้างเอง มันจะไม่เทอะทะและกังวลเรื่องน้ำหนักเหมือนที่ดีไซน์เนอร์หรือวิศวกรออกแบบ เป็นเหล็กบางๆ ที่ค้ำยันกันไป ซึ่งเรามองว่ามันน่ารักดี แต่เราก็มีการตั้งเสาไปรับแนวอะเสด้านข้างเพื่อให้มันแข็งแรงขึ้น” คุณป้องเล่า

ภาพรวมของหลังคาไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปมากนัก เพราะสถาปนิกเล่าว่า ตั้งแต่มาถึงตัวไซต์ คาแร็กเตอร์แรกที่เห็นคือหลังคาของร้านที่เป็นเสมือนจุดเด่น มีสีเขียวและมีสีเทาของสังกะสี แซมด้วยสนิมนิดๆ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป วัสดุดังกล่าวกลับแสดงตนได้อย่างเข้าขากับบริบทโดยรอบ กลายเป็นสเน่ห์ที่ทีมสถาปนิกมองว่าไม่อยากเข้าไปแตะต้องมัน

บริเวณบาร์เหนือศรีษะ เดิมจะเป็นเพียงรางน้ำเล็กๆ เมื่อถึงช่วงเวลาของหน้าฝน หรือฝนตกหนักทีไร ก็ต้องมีการรั่วซึม น้ำไหลเจิ่งนองกันทุกครั้งไป สถาปนิกจึงแก้ไขโดยการดีไซน์กระบะรับน้ำกว้างประมาณเมตรกว่า อยู่บริเวณเหนือบาร์และขนานยาวตลอดทั้งร้าน โดยส่วนนี้ยังกลายเป็นรูปทรงหนึ่งที่ตกแต่งและเพิ่มคาแร็กเตอร์ร้านได้อย่างชัดเจน บริเวณด้านหลังบาร์ยังถูกดีไซน์ให้เป็นเสายื่นในลักษณะตัว Y มารับกระบะนี้ เกิดเป็นเสาถี่ๆ และเกิดแพทเทิร์นหลังบาร์ที่เป็นเส้นสายของงานไม้ เสา โชว์โครงเคร่าหลังบาร์ได้อย่างต่อเนื่อง

บริเวณบาร์ยังชัดเจนในเรื่องของการเลือกใช้วัสดุ โดยมีโต๊ะไม้ขาสิงห์ และบล็อกลอนเป็นองค์ประกอบ รวมถึงยังมีกระจกลอน ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นแนวกั้นสเปซระหว่างพนักงานที่อยู่ภายในบาร์และลูกค้าที่มาใช้บริการ เมื่อวัสดุต่างๆ เหล่านี้มารวมตัวกัน จึงกลายเป็นภาพบาร์กาแฟที่ชวนจดจำได้ไม่ยาก

เมื่อถึงเวลาปิดร้านในช่วงเย็นประมาณ 4-5 โมง จากเดิมที่เจ้าของต้องคอยไล่ปิดประตูรอบด้านจำนวน  4-5 บาน ที่ทั้งหนัก ฝืดและเป็นสนิมส่งเสียงดังรบกวนใจ ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็หมดไปเพราะสถาปนิกดีไซน์ประตูบานเลื่อนรางแขวนมีล้อ กึ่งฟาซาดอาคาร โดยใช้วัสดุเป็นเหล็กเจาะรูที่ยังให้ความโปร่งและยอมให้แสงธรรมชาติไหลผ่าน

“สเปซของบ้านและร้านมันเป็นสเปซเดียวกัน ทุกครั้งที่ปิดร้าน 4 โมง แสงสว่างยังมีอยู่เลย แต่เพราะมันเป็นประตูทึบ ทุกอย่างในบ้านมันเลยมืดไปหมด เราเลยมองว่าถ้าเป็นวัสดุที่มีแสงส่องได้ เขาจะรู้สึกถึงเวลาที่ชัดเจนมากขึ้น แสงและความโปร่ง อาจช่วยให้บรรยากาศการอยู่อาศัยเป็นธรรมชาติได้มากขึ้น”

Something More:  เพื่อให้ร้านกาแฟสามารถเปิดบริการได้ปกติในยามที่มีการรีโนเวทปรับปรุง สถาปนิกจึงต้องแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 เฟส โดยแบ่งเป็นเฟสของพื้นที่ครัวด้านหลัง และเฟสของร้านกาแฟใหม่ด้านหน้า สถาปนิกปรับปรุงพื้นที่ครัวที่อยู่ด้านหลังด้วยการดีไซน์บล็อกลอนและบล็อกช่องลมซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในละแวกนั้น มาใช้ในการกั้นระหว่างสเปซ ซึ่งเมื่อพื้นที่ครัวตรงนี้ถูกปรับปรุงเสร็จสวยงาม ก็จะทำหน้าที่เป็นคาเฟ่ชั่วคราว เมื่อถึงคิวรีโนเวทคาเฟ่บริเวณด้านหน้าขึ้นใหม่ สลับกันไปเพื่อให้ธุรกิจไม่เกิดการหยุดชะงัก

(Basic Coffee Space Phase 1)

“ด้วยความที่เราทำเองตั้งแต่ดีไซน์ ก่อสร้างเราก็คุมเอง มันเลยทำให้เห็นพัฒนาการ การเพิ่มหรือลดดีเทลบางอย่างหน้างานที่เราสนุกไปกับมัน ทุกจุด ทุกดีเทลของการออกแบบส่งผลกับความประทับใจของเรามากพอสมควร รูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมมันสร้างความสบาย มันทำให้เจ้าของ เขารู้สึกเหมือนบ้าน แต่ละวันที่เขาต้องออกมาทำงาน ขายของ เขาไม่ต้องคอยคีฟคูลเพื่อรักษาภาพลักษณ์อะไรมากมาย มันกลายเป็นความรู้สึกบ้านๆ คล้ายกับมีเพื่อนแวะเวียนมาเยี่ยมแล้วเขาก็แค่ทำกาแฟให้กินเฉยๆ เป็นสเปซที่ให้ความรู้สึกถึง Basic Space ได้จริงๆ” คุณว่านทิ้งท้าย

Location : ถ.บางเอียน ริมคลองมะขามเรียง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Owner :
คุณพุทธิพงษ์ วณิชย์สุวรรณ และคุณสุภาทิพย์ อ่อนบัวขาว
Architects & Interior :
BodinChapa Architects
Contractor :
BodinChapa Architects
Photographer :
รุ่งกิจ เจริญวัฒน์

Writer