Search
Close this search box.

HOUSE COVE(R)
ส่วนต่อขยายของบ้านหัวมุม ที่แอบปกคลุมบ้านหลังเก่าไว้อย่างแนบเนียน

ส่วนต่อขยายของบ้านสีขาวในชื่อ HOUSE COVE(R) นอกจากจะทำหน้าที่ปกคลุมพื้นที่ เป็นเกราะกำบังแสนปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยตามความหมายของคำว่า ‘Cover’ อย่างตรงไปตรงมา อีกนัยหนึ่งยังหมายถึงการห่อหุ้มบ้านจัดสรรสองชั้นเดิมในพื้นที่ 150 ตารางเมตร รวมถึง ‘Cove’ ที่วางตัวอยู่นอกวงเล็บ ยังเล่นคำ สื่อความหมายถึง ลักษณะโค้ง เว้า ซึ่งหากมองประกอบกับบ้านหัวมุมหลังนี้ ก็ถือว่าชื่อ HOUSE COVE(R) ทำหน้าที่บ่งบอกตัวตน และรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเอาไว้ได้มากทีเดียว

เมื่อบ้านจัดสรรหลังเดิมเริ่มมีขนาดไม่เพียงพอต่อการใช้งานของสมาชิกครอบครัว เพราะมีลูกเล็กที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย ประกอบกับมีคุณยาย ผู้สูงอายุที่ต้องคอยดูแล บ้านจัดสรรแปลงหัวมุมที่มีพื้นที่ด้านข้างเหลือว่าง จึงถึงเวลาที่ต้องต่อเติม ขยับขยายกลายเป็นบ้านหลังใหม่ โดยได้สถาปนิกจาก TOUCH ARCHITECT นำทีมโดย คุณเอฟ-เศรษฐการ ยางเดิม และคุณจือ-ภาพิศ ลีลานิรมล มาเป็นผู้ออกแบบ

ในส่วนของบ้านเดิม ทางเจ้าของไม่มีความต้องการที่จะรีโนเวทขึ้นใหม่แต่อย่างใด เพียงแค่อยากให้บ้านหลังใหม่ที่ต่อเติมกลมกลืนไปกับบ้านเดิมอย่างเนียบเนียน ทีมสถาปนิกจึงตั้งโจทย์ที่จะสร้างตัวอาคารใหม่ขึ้น และทำฟาซาดใหม่ปกคลุม ไหลต่อเนื่องทั้งบ้านเดิมและบ้านใหม่ ให้ภาพรวมทั้งหมดกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน

ส่วนฟังก์ชันของบ้าน ทั้งสองหลังต่างทำหน้าที่ของตนเอง โดยแบ่งการใช้งานอย่างชัดเจน แต่ทั้งสองหลังก็ยังจำเป็นต่อการอยู่อาศัยโดยไม่มีใครน้อยหน้าใคร บ้านหลังเดิมเป็นส่วนของห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องนอนของลูกๆ ในอนาคต ในขณะที่บ้านใหม่จะมีฟังก์ชันที่ยืดหยุ่นกว่า โดยทำหน้าที่เป็นห้องเล่นของลูกๆ ห้องนอนของคุณยาย ห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ และห้องดูโทรทัศน์

(ฟาซาดใหม่ที่สร้างขึ้นปกคลุม เพื่อให้บ้านทั้งสองหลังกลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน)

จัดสรรพื้นที่จำกัดให้คุ้มที่สุด

เส้นเฉียงพาดไปพาดมาที่ทำให้คาแร็กเตอร์ของบ้านหลังนี้ชัดเจน ไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของเจ้าของ แต่เกิดจากข้อจำกัดและปัจจัยในเรื่องที่ดิน ด้วยความที่เป็นบ้านหลังมุม รูปทรงของแปลงที่ดินจึงโค้งมนไปตามเส้นถนนหลักต่างจากแปลงอื่นๆ ในหมู่บ้าน ประกอบกับความต้องการพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้นพอสมควร สถาปนิกจึงจำเป็นต้องเริ่มออกแบบบ้านจากเส้นโค้งที่ล้อไปกับตัวไซต์ เพื่อให้ได้ฟังก์ชันใช้งานเต็มพื้นที่ที่สุดเท่าที่จะมากได้ ตามระยะการร่นของอาคารที่ถูกกฎหมาย

แมสอาคารถูกจัดสรรขึ้นตามรูปทรงของแปลงที่ดิน โดยฟังก์ชันภายในก็ต้องเกิดการประหยัดพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะทางสัญจรอย่างบันได ตำแหน่งบันไดของชั้น 2 และชั้น 3 จึงไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งบันไดที่พาดไปมาระหว่างชั้นนี้เองที่เป็นตัวกำหนดแมสอาคาร เส้นสายและ Slope ความเฉียง โดยที่ชั้นบนสุด สถาปนิกออกแบบ Skylight ขนาดใหญ่ขนานไปกับช่องบันไดเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติให้ส่องเข้าถึง มุมเฉียงของบันไดในบริเวณห้องนั่งเล่นชั้น 1 ยังถูกแทรกด้วยกระจกสูงขึ้นไปจนถึงใต้ Slope ของบันได เพิ่มโอกาสให้แสงสว่างเข้าถึง ช่วยให้ขนาดพื้นที่ที่มีจำกัดนั้นดูกว้างและโปร่งมากขึ้นจากองค์ประกอบธรรมชาติ

Dtips : ด้วยโครงสร้างภาพรวมของบ้านที่เป็นเหล็ก โครงสร้างบันไดจึงต้องทำขึ้นจากเหล็กตามไปด้วย สถาปนิกยังดีไซน์บันไดแผ่นเหล็กพับ โดยออกแบบคานให้เล็กลง และใช้ดีเทล Cladding หุ้มวัสดุไม้ลงบนตัวเหล็กพับ เพื่อโชว์ดีเทลของงานเหล็กสร้างความสวยงามให้กับโครงสร้างบริเวณทางสัญจรทั้งหมดของบ้าน

ด้วยบริบทของบ้าน 2 ชั้นหลังอื่นๆ ที่อยู่รายล้อม ทำให้สถาปนิกมองว่าบ้านที่ต่อเติมใหม่มีเพียงสองชั้นครึ่งก็น่าจะเพียงพอ เพื่อไม่ให้บ้านหลังใหม่นี้โดดเด่นเกินหน้าเกินตาเพื่อนๆ หรือผิดแปลกไปจากบริบทเดิม พื้นที่ส่วนที่เหลือของชั้นสาม จึงถูกออกแบบให้เป็นสวนหลังคาเล็กๆ ที่เปิดให้เด็กๆ ได้ออกมาวิ่งเล่น สัมผัสธรรมชาติภายนอก และยังได้ทดแทนพื้นที่สีเขียวที่หายไปจากเดิม

อีกหนึ่งพื้นที่สวนที่ทางสถาปนิกพยายามคืนให้กับเจ้าของบ้าน คือ ส่วนระยะร่นของอาคารที่ถูกปรับให้เป็นภูมิทัศน์ เทอเรสกลางแจ้ง บ่อน้ำ พื้นที่สีเขียว รวมถึงต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยกรองแสง กรองความร้อนที่จะเข้ามารบกวนการใช้งานพื้นที่ภายใน พื้นที่ทั้งหมดห่อหุ้มด้วยรั้วกึ่งทึบกึ่งโปร่ง พรางสายตาจากผู้ที่สัญจรไปมาภายนอก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังยอมให้แสงธรรมชาติบางส่วนผ่านทะลุ เพื่อเพิ่มบรรยากาศที่ดีให้กับการอยู่อาศัย

ในขั้นตอนของเปลือกนอกอย่างการเลือกใช้วัสดุ ทีมสถาปนิกเลือกใช้อลูมิเนียม และวัสดุโปร่งแสงอย่างเช่น สกายไลท์ เป็นวัสดุหลัก แนวคิดนี้เริ่มต้นจากความต้องการของทางเจ้าของ ซึ่งทำงานที่เกี่ยวข้องกับโรงงานวัสดุ จึงสามารถหาซื้อได้ในราคาถูก ซึ่งก็คงทนถาวรตอบโจทย์ความเป็นบ้านได้อย่างเหมาะสม

การอาศัยของสามเจนเนอเรชันในบ้านหลังเดียว

นอกจาก HOUSE COVE(R) จะเชื่อมโยงบ้านหลังเก่าและบ้านหลังใหม่เข้าไว้ด้วยกัน บ้านหลังนี้ยังทำหน้าที่หลอมรวมเจนเนอเรชันทั้งสามเอาไว้อย่างอบอุ่น ส่งผลให้พื้นที่ภายในต้องออกแบบจุดเชื่อมต่อของเรื่องราวเหล่านี้ให้พอเหมาะพอดีกับไลฟ์สไตล์และการใช้งาน

แปลนบ้าน HOUSE COVE(R) ชั้น 1
แปลนบ้าน HOUSE COVE(R) ชั้น 2
แปลนบ้าน HOUSE COVE(R) ชั้น 3

บ้านหลังใหม่และบ้านหลังเดิม มีทางเชื่อมเป็นหลังเดียวกันอยู่บริเวณห้องนั่งเล่นเดิมที่ชั้น 1 ของตัวบ้าน ส่วนห้องนอนของคุณยายออกแบบตามมาตรฐานโดยจัดสรรไว้ที่ชั้น 1 เพื่อให้เดินเหินไปยังส่วนต่างๆ ของบ้านได้อย่างสะดวก ทั้งเดินเชื่อมไปส่วนครัว ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารภายในบ้านเดิม หรือจะนั่งเล่น คลุกคลีกับหลานๆ ในพื้นที่เล่นบริเวณชั้น 1 ของบ้านใหม่ก็สามารถทำได้สะดวก

ส่วนชั้นสองเป็นฟังก์ชันห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งบันไดที่อยู่ในชั้นนี้จะถูกปิดกั้นด้วยประตูอีกหนึ่งชั้นก่อนจะขึ้นสู่ชั้น 3 เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของทางเจ้าของซึ่งมีการจำกัดชั่วโมงการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเด็กๆ เมื่อถึงเวลาดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมส์บริเวณชั้น 3 เด็กๆ จึงจะผ่านประตูในส่วนนี้ โดยต้องได้รับอนุญาติจากผู้ปกครอง หรือขึ้นไปใช้งานสเปซพร้อม กันเป็นครอบครัว

บริเวณพื้นที่ชั้น 3 เป็นที่ตั้งของห้องดูโทรทัศน์ หรือห้องนั่งเล่นขนาดย่อมที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา มีหน้าต่างบานใหญ่ที่เปิดรับแสงธรรมชาติ รวมถึงวิวที่มองเห็นเรือนยอดไม้ พื้นที่สีเขียวหนาตา ที่ชวนให้ลืมความวุ่นวายจากถนนภายนอกไปชั่วขณะ…

“ปกติ TOUCH Architect เราจะชอบออกแบบงานที่ Simple แต่เกิดฟังก์ชันที่ดี ดังนั้นมันจะไม่เกิดรูปร่างของแมสอาคารที่มันแปลกไป แต่สำหรับโปรเจ็กต์นี้ ไซต์มันแปลก มันเลยได้แมสอาคารที่รูปร่างแปลกตา แต่ว่าเราไม่ได้ทำเพราะอยากทำ เราทำเพราะมันเชื่อมโยงกับความต้องการ บริบท และความสวยงาม ซึ่งทางเจ้าของเองเขาก็ชอบด้วย เราก็แฮปปี้ตาม” คุณจือเล่า

คงจะเรียกได้ว่า HOUSE COVE(R) รับบทเป็นบ้านหัวมุมที่นำข้อจำกัดของพื้นที่มาผสมกับฝีไม้ลายมือในการดีไซน์ได้อย่างน่าสนใจ จากที่ดินทรงโค้งบนหัวมุมถนนที่ดูเหมือนจะกินพื้นที่และสร้างอะไรไม่ได้มากนัก จึงถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่ทั้งแปลกตาและกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังเดิมไปพร้อมกัน

รูปด้านบ้าน HOUSE COVE(R)
รูปตัดบ้าน HOUSE COVE(R)

Location : หมู่บ้านสีวลี สุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
Gross Built Area : 170 ตารางเมตร
Owner : ก้องเกียรติ พูนพานิช
Lead Architects : เศรษฐการ ยางเดิม และ ภาพิศ ลีลานิรมล TOUCH Architect
Architect & Interior Team : พิชญา ติยะพิษณุไพศาล , สุภานัน ตั้งสัจจานุรักษ์ และ ธนิตา ปัญจวงศ์โรจน์ TOUCH Architect
Structure Engineer : ชิตติณัฐ วงศ์มณีประทีป
Photograph : อานันท์ นฤพันธาวาทย์

Writer
Picture of Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading