ภายใต้เมืองใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยตึกรามบ้านช่องมากครัวเรือน เราอาจพบได้ว่าการขยายตัวของที่พักอาศัยนั้น เกิดจากจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วการโยกย้ายไปยังถิ่นฐานใหม่อาจไม่ใช่คำตอบที่อบอุ่นนักสำหรับการสานสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวขนาดใหญ่ และนั่นทำให้คำว่า ‘ครอบครัวขยาย’ จึงไม่ใช่ศัพท์ที่คุ้นเคยสำหรับคนยุคปัจจุบัน
ทว่ายังคงมีอีกหนึ่งครัวเรือนในย่านงามวงศ์วานที่ยังแน่นแฟ้นและสานสัมพันธ์กันอย่างเข้าอกเข้าใจ สู่การออกแบบ ‘Baan123’ บ้านหลังใหม่ที่ได้กลายเป็นหัวใจหลักของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ด้วยแนวคิดการออกแบบจากทีมสถาปนิก IF (Integrated Field) กับการปะติดปะต่อความต้องการและเรื่องราวของสมาชิกในครอบครัวทั้ง 7 คน ที่มีถึง 3 เจนเนอร์เรชั่นให้ลงตัวเป็นเรื่องเล่าเดียวกันภายในขอบเขตของบ้านหลังนี้
‘1 2 3 เท่ากับ 1’
ทั้งหมดเริ่มจากบ้านหลังที่ 1 บ้านเดี่ยวหลังเดิมของพ่อและแม่ ที่ตั้งอยู่บนที่ดินขนาดกว้างขวางในย่านงามวงศ์วาน จ.นนทบุรี ก่อนจะเอ่ยชักชวนลูกๆ ให้โยกย้ายครอบครัวเข้ามาปลูกบ้านอีกสักหลังสองหลังในพื้นที่ที่ยังคงว่างอยู่ สู่โจทย์ที่ผู้ออกแบบได้นำกลับไปขบคิดจนเกิดเป็น ‘Baan123’ บ้านที่หากมองกันเพียงผิวเผินคงเห็นเป็นอาคารที่มีหลังคาลาดเอียงล้อไปตามกันจำนวน 3 หลัง โดยอาคารไม่ได้แยกตัวออกจากกันเสียทีเดียว แต่ถูกเชื่อมเข้าหากันด้วยสะพานขนาดยาวทะลุขั้นระหว่างตัวอาคารแต่ละหลัง และกลับกันที่หากมองในแง่ของความลึกซึ่ง พื้นที่ส่วนนี้ก็อาจเป็นสะพานรักที่ได้ถูกออกแบบให้เป็นหัวใจของความใกล้ชิดระหว่างบ้าน 1 2 และ 3 หรือบ้านของครอบครัวพ่อแม่ และครอบครัวของลูกๆ บนพื้นที่โดยรวมกว่า 1,350 ตารางเมตร
อีกทั้งบ้านหลังนี้ยังได้ถูกตกตะกอนความคิดผ่านการตั้งคำถามโดยทีมผู้ออกด้วยว่า ทิศทางของบ้านหลังนี้จะต้องออกแบบอย่างไรจึงจะสามารถตอบโจทย์ความต้องทั้งกิจกรรมส่วนตัวและกิจกรรมส่วนรวมของสมาชิกทั้ง 3 เจนเนอร์เรชั่นได้ เพราะกิจกรรมของช่วงวัยที่ต่างกันก็นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายต่อการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารไม่น้อย บ้านหลังนี้จึงนำด้วยการให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของผู้อยู่อาศัยได้มากกว่า 1 เจเนอร์เรชั่น อาทิ พื้นที่จอดรถที่กว้างขวาง สระว่างน้ำขนาดยาว ไปจนถึงพื้นที่นั่งเล่นที่ยังเป็นส่วนต้อนรับเมื่อแขกไปใครมาก็สามารถแวะเวียนมานั่งพูดคุยได้ตลอดวัน
ผนวกกับตัวอาคารที่ได้ถูกออกแบบให้มีส่วนยกสูงคล้ายใต้ถุนในเรือนไทยสมัยก่อนร่วมด้วยแล้ว ก็ยิ่งช่วยตอบโจทย์ให้การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางนี้สามารถออกแบบให้มีความโปร่งโล่ง กว้างขวาง ใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น และยังเกิดการหมุนเวียนของลมธรรมชาติได้อย่างคล่องตัว ซึ่งในวันที่อากาศดีๆ สมาชิกภายในครอบครัวก็สามารถมานั่งเล่นทำกิจกรรมร่วมกันได้ในพื้นที่ส่วนนี้โดยไม่ต้องเปิดแอร์ในระหว่างวันเลยก็ว่าได้
‘พื้นที่กลางใจ’
สำหรับส่วนที่พักของ Baan123 ผู้ออกแบบได้ปะติดปะต่อ Layout ให้สอดคล้องไปกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ด้วยการวางให้บ้านของพ่อและแม่เป็นบ้านหลังที่ 2 ที่อยู่ระหว่างกลางของบ้านลูกๆ หลังที่ 1 และ 3 เพื่อให้ครอบครัวของลูกๆ สามารถปลีกตัวออกไปทำกิจกรรมของตนเองได้และยังคงรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัวในระดับหนึ่งแม้ตัวบ้านจะถูกเชื่อมเข้าหากันตลอดทั้ง 3 หลังก็ตาม ขณะที่การจัดวางในรูปแบบนี้ก็ยังสื่อถึงการมอบให้บ้านของพ่อและแม่เป็นดั่งพื้นที่กลางใจ ที่เด็กและผู้ใหญ่จะสามารถเชื่อมถึงกันได้โดยไม่มีกำแพงของเจนเนอร์เรชั่นมากั้นขวาง อีกทั้งพ่อและแม่ก็ยังสามารถเฝ้ามองลูกหลานได้อย่างใกล้ชิดอีกด้วย
นอกจากเรื่องของรายละเอียดในการออกแบบพื้นที่ให้สัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัยภายในบ้านแล้ว การออกแบบพื้นที่ให้สัมพันธ์กับแสงและลมธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สามารถพบเห็นได้ในทุกๆ มุมของบ้านหลังนี้เช่นกัน เพราะผู้ออกแบบได้ดีไซน์ทั้งบานหน้าต่างและประตูกระจกให้มีขนาดกว้างขวางให้เอื้อต่อการรับลม ซึ่งช่วยให้เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศที่ดีในแบบ Cross ventilation อีกทั้งยังได้ทำการออกแบบช่องเปิดเพื่อรับแสงในอีกหลายๆ ตำแหน่งภายในบ้าน ที่จะช่วยให้บ้านหลังนี้สามารถสร้างความสัมพันธ์และพึ่งพาบริบทของธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนโดยไม่รู้สึกร้อน ด้วยการเสริมชายคาให้ยื่นออกมาเล็กน้อยพร้อมกับระเบียงที่จะเป็นบัฟเฟอร์กันแดดให้กับตัวบ้านได้ในอีกชั้นหนึ่ง
‘พื้นที่พักใจ’
ในแง่ของการออกแบบพื้นที่ใช้งานสำหรับสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวที่จำเป็นจะต้องมีพื้นที่สำหรับการปลีกตัวออกไปทำกิจกรรมของตนเองนั้น ผู้ออกแบบได้ทำการบ้านโดยทำความเข้าใจกับลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันและความชอบของเจ้าของพื้นที่นั้นๆ เพื่อนำกลับมาตีความเป็นงานดีไซน์ให้เกิดการตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากที่สุด โดยแต่ละห้องจะมีฟังก์ชันและดีไซน์ที่แตกต่างกันออกไป
อาทิ ห้องของลูกชายคนโตก็จะมีความเป็นพื้นที่ที่ดูเพล็กซ์มากกว่าห้องอื่นๆ หรือห้องของลูกชายคนเล็กก็จะมีความกว้างขวางยืดหยุ่นต่อการใช้งานและง่ายต่อการรองรับเพื่อนๆ ที่จะเข้ามาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ซึ่งถึงแม้แต่ละห้องจะถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันที่แตกต่างกันก็ตาม แต่ทุกห้องจะถูกครอบด้วยการออกแบบเพื่อความเป็นอยู่ที่สบายของผู้อยู่อาศัยทุกคนภายในบ้าน เพื่อช่วยมอบความรู้สึกที่ดีต่อพื้นที่ที่ถูกเอ่ยเรียกว่า ‘บ้าน’ ให้เป็น ‘พื้นที่พักใจ’ ของสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้อย่างลงตัวที่สุด
แม้นิยามของคำว่าบ้านสำหรับเราทุกคนนั้นอาจต่างกัน แต่ Baan123 ก็ทำให้ได้พบในอีกหนึ่งนิยามแล้วว่า ‘บ้าน คือพื้นที่สำหรับการแบ่งปันที่แท้จริง’ โดยเฉพาะการแบ่งปันพื้นที่ส่วนกลางผ่านการออกแบบที่ตอบโจทย์กับกิจกรรมการใช้ชีวิตของสมาชิกทุกคนในครอบครัว ไปจนถึงการแบ่งปันพื้นส่วนกลางที่จะนำไปสู่พื้นที่กลางใจสำหรับการแบ่งปันคำสั่งสอนจากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นหลังได้อย่างห่วงใยใกล้ชิด ภายใต้ชายคาของบ้าน 1 2 และ 3 หลังนี้
Location : ชินเขต 2 งามวงศ์วาน นนทบุร
Gross Built Area : 1,350 ตารางเมตร
Owner : ครอบครัวธนาดํารงศักดิ์
Architect & Interior Team : IF (Integrated Field Co.,Ltd.)
Structure Engineer : Basic Design Co.,ltd
Photograph : วีระพล สิงห์น้อย
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!