ใครเล่าจะรู้ว่ารูปลักษณ์ของอาคารลูกครึ่งไทย-โมเดิร์นที่ระบุตัวตนได้ชัดเจนตั้งแต่แรกเห็น จะเป็นผลลัพธ์ของการออกแบบที่ คุณบี วิทยถาวรวงศ์ เจ้าของบ้านและสถาปนิกจาก Beautbureau Co., Ltd. ไม่ได้คาดหมายหรือมีภาพตั้งต้นไว้แต่เริ่มแรก หากแต่ก่อร่างขึ้นเองในกระบวนการออกแบบ เมื่อจัดวางสเปซตามความต้องการใช้งานและฟังก์ชัน หยิบยกหลายองค์ประกอบจากความชอบและความคุ้นเคยส่วนตัวมาผสมผสานกันจนออกมาเป็นบ้านหลังใหม่ คุณบีจึงได้ย้อนกลับมานั่งทบทวนตัวเองอีกครั้งในฐานะผู้ออกแบบและผู้ใช้งานสเปซที่ตนเองวาดขึ้นกับมือ
“มันเป็นความประหลาดเหมือนกัน เพราะเรียกได้ว่าเราจับนู่นนิดนี่หน่อยมาผสมกัน ด้วยวิธีการที่เราต้องออกแบบให้เข้ากับไซต์ที่มี ด้วยโปรแกรมที่มีทั้งออฟฟิศและส่วนที่เป็นบ้าน พอเราทำบ้านหลังนี้เสร็จแล้ว ใช้สเปซแล้ว เราถึงมาคิดได้ว่า การออกแบบในลักษณะนี้ เราคงมีติดตัวอยู่แล้ว มีต้นแบบที่เราคุ้นเคยให้หยิบจับมาใช้ และมันก็ปรากฏออกมาในงาน โดยที่เราไม่ได้คิดว่า ฉันจะต้องทำบ้านไทยประยุกต์”
คุณบียังเล่าเสริมว่า ไม่ว่าจะบ้านหลังไหน แน่นอนว่าการออกแบบก็ควรเริ่มจากฟังก์ชัน สถานที่ บริบทและข้อจำกัดที่มีมากกว่าโจทย์ของรูปลักษณ์ที่จะตั้งไว้เป็นธงปลายทาง เช่นเดียวกับ #11 II /Number Eleven the Second/ House หลังนี้ ที่คุณบีเริ่มต้นจากการวางฟังก์ชันให้มีทั้งออฟฟิศและบ้านสำหรับครอบครัว
แรกเริ่มเดิมทีบ้านสองชั้นเล็กๆ ในซอยหลังนี้ เป็นบ้านเก่าของครอบครัวที่คุณบีคุ้นชินในวัยเยาว์ ก่อนจะมีการขยับขยาย บ้านหลังเก่าจึงถูกรื้อและปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างมานานกว่า 20 ปี เมื่อเรียนจบและทำงานทางด้านสถาปัตยกรรมจากเมืองนอกอยู่สักพัก คุณบีก็ตัดสินใจกลับมาเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเองที่เมืองไทย และหวนนึกถึงที่ดินคุ้นเคยในวัยเด็กนี้ขึ้นมาอีกครั้ง จนเกิดเป็นพื้นที่ออฟฟิศ และบ้าน สามห้องนอนอย่างที่เราเห็น
การใช้งานฟังก์ชันที่มาจากความตั้งใจ
เรื่องราวของการออกแบบเริ่มต้นขึ้นจากขนาดที่ดิน ซึ่งมีเพียง 120 ตารางวา กับการใช้งานฟังก์ชันที่ต้องมีทั้งบ้านและออฟฟิศ สิ่งแรกที่คิดจึงเป็นขยายผังขอบเขตของอาคารให้สุดขอบที่ดินมากที่สุดเท่าที่กฏหมายจะอนุญาต เพื่อให้การใช้งานพอเพียงและคุ้มค่ามากที่สุด
โจทย์ต่อไปที่คุณบีนึกถึง คือ ความต้องการในเชิงฟังก์ชัน ความเป็นส่วนตัวระหว่างการใช้งานของบ้านและออฟฟิศ ผลลัพธ์ที่ได้จึงเกิดเป็นแมสอาคารที่แยกตัว มีช่องว่างระหว่างกันเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวทางสายตาและทางเสียง พื้นที่อยู่อาศัยถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยห้องนอน พื้นที่ส่วนกลาง ชานและระเบียง สลับกันจัดวางอยู่บนเส้นกริด (#) 9 ช่อง ที่เราต่างก็คุ้นเคยดีในสมัยที่เป็นนักเรียนสถาปัตย์
เพื่อให้บ้านเปิดรับ แสง แดดและลมธรรมชาติ การมีช่องว่างให้อาคารหายใจจึงเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนของอาคารที่แยกออกจากกัน คุณบีร้อยเรียงให้เรื่องราวของบ้านลื่นไหล และเชื่อมต่อ ผ่านชานบ้าน เฉลียงและที่ว่าง โดยมีห้องนั่งเล่น พื้นที่รับประทานอาหาร และห้องครัวกระจุกตัวอยู่รายล้อม และด้วยความที่อาคารแต่ละส่วนแยกออกจากกัน ทำให้ในแต่ละห้องยังสามารถมีหน้าต่างที่เปิดรับลมทิศเหนือ-ใต้ให้ไหลผ่านได้ตลอดเวลา
ชั้นล่างของพื้นที่ฝั่งออฟฟิศเปิดโล่งให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่โปร่งสบายด้วยช่องเปิด และพาร์ติชั่นบานเลื่อนซึ่งสามารถเปิดให้กว้างขวาง ชวนให้นึกถึงความเย็นสบายของใต้ถุนเรือนไทยพื้นถิ่น “สเปซทั้งหมดนี้มันเกิดมาจากวิธีการออกแบบ กระบวนการคิดวิเคราะห์การใช้งาน ความเหมาะสม ก่อนที่เราจะพบทีหลังว่า มันหน้าตาเหมือนชานเรือนไทยเลย” คุณบีเล่าให้ฟัง
บ้านเรือนไทยประยุกต์ที่เกิดจากจิตใต้สำนึก และความคุ้นเคย
นอกจากสเปซของบ้านจะคล้ายคลึงกับชานเรือนไทย รูปลักษณ์และวัสดุของฟาซาดที่บ่งบอกความร่วมสมัยก็ยังส่งกลิ่นอายของความไทยๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งจุดเริ่มต้นในการออกแบบฟาซาดนี้ คุณบีเองก็ไม่ได้ตั้งโจทย์เอาไว้เป็นปลายทางว่าจะใช้องค์ประกอบ หรือรูปลักษณ์ที่ต้องมีความเป็นไทย เพียงแต่มองหาภาษาของสถาปัตยกรรมที่จะมาทำหน้าที่ห่อหุ้ม อาคารที่มีทั้งส่วนผนังทึบ ส่วนโปร่ง หรือส่วนที่เปิดโล่ง ให้ภาพรวมของแมสที่แยกกลุ่มก้อนดูเป็นบ้านหลังเดียวกันได้อย่างกลมกลืน
เมื่อรู้ว่าต้องมองหาฟาซาดที่จะเรียงร้อยไปรอบบ้านในลักษณะดังกล่าว สถาปนิกจึงเลือกใช้ Wood Plastic Composite ไม้สังเคราะห์สีเข้ม จัดวางในลักษณะคล้าย Panel ทำเป็นแผงด้วยระบบ Prefabricated ซึ่งสามารถประกอบขึ้นที่ไหนก็ได้ โดยคุณบีดีไซน์แต่ละชิ้นของ Panel เหล่านี้ให้มาบรรจบกัน ในสัดส่วนที่ล้อไปโครงสร้างส่วนอื่นของบ้านได้อย่างลงตัว อย่างช่องเปิด บานหน้าต่าง หรือกรอบบานประตู
ฟาซาดรูปลักษณ์ของไม้สังเคราะห์ที่เว้นช่องว่าง สร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่ภายใน จึงเกิดเป็นลวดลายที่มองดูแล้ว คล้ายกับฝาปะกนของบ้านเรือนไทย อีกทั้งวิธีการประกอบเข้าด้วยกันแบบ Prefabricated ยังคล้ายกับวิธีการประกอบฝาบ้านแบบไทยๆ ด้วยเช่นกัน
แนวบานเปิดบริเวณห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ออกแบบด้วยบานไม้ในสัดส่วนสูงแคบ เป็นความชอบส่วนตัวของคุณบี ซึ่งความแคบยังทำให้เกิดกรอบบานถี่ได้มากขึ้น การมองเห็นกันระหว่างพื้นที่จึงเกิดความ privacy ได้มากกว่า สัดส่วนของความสูงแคบของกรอบบานยังกลายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ช่วยตอกย้ำให้เรานึกถึงความเป็นบ้านแบบไทยเดิมในอดีต
บ้านที่บรรจุความทรงจำและความคุ้นเคย
หลังจากที่ได้อยู่อาศัยภายในสเปซที่ตนเองออกแบบมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คุณบีเองก็ได้โอกาสมาทบทวนอีกครั้งและพบว่า บ้านหลังนี้บรรจุความเป็นตัวตน และสิ่งที่ตนเองคุ้นเคยเอาไว้มากเหลือเกิน ทั้งโทนสีดำ สีเข้มที่ให้ความรู้สึกดิบ เท่ เป็นอิทธิพลมาจากงานที่เคยทำสมัยอยู่ต่างประเทศ หินขัดที่ได้แรงบันดาลใจจากม้าหินที่ตนเองคุ้นเคยในวัยเยาว์
ที่ว่างจากงานสถาปัตยกรรม สถาปนิกปล่อยให้ความโล่งและพื้นที่สีเขียวจากต้นไม้ใหญ่เข้าแทรกตัว บริเวณส่วนกลางของหน้าบ้านจึงร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ที่สร้างร่มเงา เฉดของแสงแดด และลมธรรมชาติ รวมตัวก่อเกิดเป็นบรรยากาศที่ดี
“เราเป็นมนุษย์ที่แทบไม่รู้จักเรื่องต้นไม้ใบหญ้าเลย เพราะย้ายไปอยู่ในเมืองที่ร้ายล้อมไปด้วยตึก เราเลยสงสัยตัวเองว่า มันอาจจะเป็นความโหยหาในสิ่งที่คุ้นเคย เพราะตอนเด็กๆ เราก็โตมาในบ้านที่มีสนามหญ้าให้วิ่งเล่น มีต้นมะม่วงให้สอย แล้วเราก็ไม่ได้สัมผัสอะไรแบบนั้นมานานมาก บ้านหลังนี้เลยรวมความคุ้นเคยที่อยู่ในตัวเรา ซึ่งอยู่ๆ เราก็นึกอยากจะกลับไปหามัน”
คุณบีเล่าว่า พออายุการทำงานมากขึ้น เส้นทางการเป็นสถาปนิกของเธอก็มองหาอะไรที่มีพื้นฐานอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่การมีภาพหรือรูปลักษณ์ของอาคารเป็นที่ตั้งไว้ในหัวแล้วออกแบบให้เป็นตามที่คิด ทุกอย่างที่ออกแบบต้องผ่านกระบวนการคิดและกลั่นกรอง สเปซนี้จะใช้งานได้จริงไหม? จะสร้างได้อย่างไร? ใช้แมททีเรียลอะไร? นี่คือความจริงของการใช้งานและการอยู่อาศัย มากกว่าเพียงรูปลักษณ์ที่มองเห็น
“มันจะมีบางวันที่เราเดินๆ รอบบ้าน หรือเรานั่งทำงานอยู่ มองซ้าย ขวา แล้วรู้สึกว่าเห้ย บ้านเราก็มีมุมนี้ด้วย ตรงนี้มีเงาไม้สวยจังหรือแค่เราเดิน เปิดประตูออกไปตรงชาน มีลมพัดเย็น แค่นี้เราก็แฮปปี้แล้ว มันทำให้เราเข้าใจว่าจริงๆ สเปซจะมีชีวิตเมื่อมีคนเข้ามาอยู่ เราพบกับตัวเองนี่แหละว่า บางมุมเราไม่ได้นึกถึงเลย ถึงแม้ว่าในตอนออกแบบ เราใช้ 3d model ส่องไปส่องมาตลอด แต่มันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการที่เราอยู่ในสเปซนั้น ได้มองไปรอบๆ มันจริงๆ”
สำหรับรูปลักษณ์ของบ้านเรือนไทยประยุกต์หลังนี้ จะว่ามาจากความตั้งใจก็ไม่ใช่ หรือเป็นความบังเอิญก็ไม่ถูกต้องซะทีเดียว แต่อาจบอกได้ว่าดีเทลและสเปซทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมาจากความรู้สึก และจิตใต้สำนึกที่อยู่ในความทรงจำของคุณบี ก่อนจะถูกเรียบเรียง ถอดจากความคิดนามธรรมในหัว ประกอบร่างกลายเป็นบ้านไทยร่วมสมัยให้เราเห็นกันใน #11 II /Number Eleven the Second/
Location: Bangkok, Thailand
Built Area: 550 sqm
Architect: Beautbureau
Lead Architect: Bea Vithayathawornwong
Structural Engineers: Next Innovation Engineering
MEP & HVAC Consultants: Next Innovation Engineering
Lighting Designer: Atelier Ten Bangkok
Contractor: Siam PYC Engineering
Photo Credits: Spaceshift Studio
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!