Flat+White Café
เสิร์ฟความละมุนของกาแฟ ภายในสถาปัตยกรรมที่คล้ายประติมากรรม 1:1

การได้ลิ้มรสสัมผัสนุ่มนวล หอมกรุ่นของกาแฟคงเป็นช่วงเวลาอันแสนสุขสำหรับคอกาแฟทั้งหลาย แต่อาจจะดียิ่งกว่า หากสเปซรอบๆ ในร้านกาแฟยังโอบอุ้มบรรยากาศ ชวนให้เรานึกถึงรสสัมผัสไปพร้อมกัน  Flat+White Café คาเฟ่สีขาวที่มีเส้นสายพลิ้วไหวราวกับงานประติมากรรม จึงถูกออกแบบขึ้นเพื่อขับกล่อมความนุ่มนวลของกาแฟ Flatwhite และชั้นฟองนมของกาแฟแสนละมุน ที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นสเปซทางสถาปัตยกรรม โดยได้อินทีเรียดีไซน์เนอร์ผู้รักในงานคราฟท์อย่าง คุณต้น-บดินทร์ พลางกูร จาก Context studio มาเป็นผู้ออกแบบ

Flat + White จุดเริ่มต้นของคนรักกาแฟ

ด้วยความที่คุณไวท์-รตา คุโรปกรณ์พงษ์ (เจ้าของร้าน) มีที่ดินและตึกแถวอยู่ในย่านทองหล่อซึ่งตั้งใจไว้ว่า จะแบ่งบริเวณพื้นที่ของสองชั้นบนทำเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนสองชั้นล่างที่เหลือจะทำร้านคาเฟ่เล็กๆ เป็นธุรกิจของตนเอง แต่ก็ยังไม่แน่ใจนัก ว่าเป็นธุรกิจอะไรจึงจะเหมาะ คุณไวท์จึงเริ่มต้นจากการมองหาความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวของตนเอง

จนมาบรรจบที่ความชื่นชอบรับประทานขนมหวานเป็นทุนเดิม ประกอบกับการที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกาแฟ Flatwhite ธุรกิจเล็กๆ จึงเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ออกมาเป็นร้านคาเฟ่สีขาวในชื่อ Flat + White ที่มีส่วนหนึ่งของชื่อร้านเป็นชื่อของตนเองผสมอยู่ด้วย

Flat+White Café เน้นเสิร์ฟกาแฟ Flatwhite ซึ่งมี ‘นม’ เป็นส่วนผสมหลัก ความนุ่มนวลของชั้นนม ความอ่อนนุ่ม ละมุนลิ้นจึงกลายเป็นแนวคิดเริ่มต้นของตัวร้าน ซึ่ง Flatwhite ยังถูกนำมาตีความต่อ โดยนำคำว่า Flat ที่แปลว่าความเรียบ ระนาบที่แบนราบ มาผสมกับ White ซึ่งแปลตรงตัวว่าสีขาว ความเรียบง่ายในโทนสีขาวที่เราเห็นจึงสื่อสารกับชื่อร้าน และเมนูกาแฟ Flatwhite ที่แสนจะนุ่มนวลได้อย่างพอดิบพอดี

ความนุ่มนวลของกาแฟ Flatwhite ภายใต้สเปซของ Flat+White Café

หลังจากที่ได้คอนเซ็ปต์ของร้านคร่าวๆ เมื่อช่วงเวลาของการออกแบบเริ่มมาถึง คุณต้นจึงถอดความจากคอนเซ็ปต์สู่สเปซที่จับต้องได้ โดยเล่าว่า “เราอยากสื่อถึงชั้นนมของกาแฟ ความครีมมี่ ซึ่งจะแปลงเป็นสเปซอย่างไรให้คนที่มาเยือนเขาอยู่ท่ามกลางเลเยอร์ เท็กเจอร์ต่างๆ แล้วรู้สึกได้ถึงชั้นของนมที่ทำให้กาแฟ Flatwhite นี้นุ่มนวล”

เลเยอร์ของนมยังเป็นพื้นฐานที่เชื่อมโยงสู่กาแฟชนิดอื่นๆ อย่างศิลปะการทำลาเต้อาร์ต หรือในอีกแง่หนึ่ง คุณต้นยังมองว่าเลเยอร์ของชั้นต่างๆ ในระนาบแบนนี้ ยังคล้ายกับเส้นคอนทัวร์ของงานแลนด์สเคป ที่เราต่างคุ้นเคยกันในสมัยที่ต้องตัดโมเดลสถาปัตย์อีกด้วย

ทุกเลเยอร์ที่เป็นระนาบแนวนอน (Horizontal Plane) อย่างเช่น บันได เคาน์เตอร์ เพดาน หรือแม้แต่ท็อปโต๊ะ ดีไซน์เนอร์ตั้งใจออกแบบเส้นสายมาจากคอนทัวร์ ที่สื่อความหมายแฝงถึงเลเยอร์ต่างๆ ของชั้นนมที่แสนละมุน เพื่อให้ลูกค้าที่มาลิ้มรสกาแฟถูกโอบอุ้มด้วยความรู้สึกนุ่มนวลไปพร้อมๆ กัน

เฟอร์นิเจอร์อย่างที่นั่งบริเวณเคาน์เตอร์ ยังมีลูกเล่นเล็กๆ โดยทำมาจากถังนมเก่าที่ใช้แล้วจากจังหวัดโคราช ส่วนโต๊ะเก้าอี้ และที่นั่งในโซนอื่นๆ จะเน้นการออกแบบที่มีเส้นสายโค้งมน เพื่อให้ภาพรวมของสเปซเกิดความนุ่มนวลมากที่สุด

บันไดขึ้นสู่ชั้นสอง เรียกได้ว่าเป็นไฮท์ไลท์หนึ่งของร้าน ซึ่งถูกออกแบบโดยเสริมเหล็กเข้าไปในตัวกำแพง เพื่อให้ขั้นบันไดเสมือนลอยอยู่กลางอากาศ และมีชั้นเลเยอร์ ความโค้งมน ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่บนชั้นของนมต่างๆ ภายในแก้วกาแฟ

สถาปัตยกรรมที่เปรียบเสมือนประติมากรรม 1:1

เสน่ห์หนึ่งที่เราเห็นจากร้านกาแฟแห่งนี้ คือเส้นสายนู่นต่ำที่สร้างเฉดเงา มิติ ให้ความเรียบง่ายในโทนสีขาวเพลนมีชีวิตได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเบื้องหลังของเส้นสายเหล่านั้นต้องผ่านกระบวนการออกแบบและก่อสร้างมาอย่างพิถีพิถัน ก่อนจะออกมาลื่นไหลได้ราวกับงานปั้น 3 มิติ

“งานนี้มีทั้งความเป็นอินทีเรีย สถาปัตยกรรม แต่ก็มีความคล้ายงานประติมากรรม 1:1 อยู่ด้วย เพราะตัวเราเองชอบงานฝีมืออยู่แล้ว เราได้ไปดูหน้างาน ขึ้นหน้างานเอง มันเหมือนเราได้ลงไปปั้นงานนี้ด้วยมือจริงๆ” คุณต้นเล่าให้ฟัง

บริเวณกำแพงภายในร้านทั้งหมด ถูกออกแบบให้เป็นงานปูนปั้นที่โดดเด่นด้วยเส้นสาย Parametric โดยโครงเหล็กข้างใต้ฟอร์มของกำแพงถูกออกแบบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ในขณะที่งานพื้นผิวได้น้องๆ นักศึกษาวิทยาเขตเพาะช่าง สาขาประติมากรรมมาช่วยเติมเต็มผิวสัมผัสโค้งละมุนในส่วนของงานฉาบ ทำให้พื้นผิวที่ได้มีความนุ่มนวล ดูเป็นงานฝืมือของช่างที่แฝงเสน่ห์ระหว่างการใช้เทคโนโลยีและกลิ่นอายความแฮนด์คราฟท์เอาไว้อย่างกลมกล่อม

เช่นเดียวกับฟอร์มของคอนทัวร์บริเวณเพดาน ซึ่งเกิดจากระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนที่จะใช้วิธีเดียวกับการตัดโมเดลมาก่อสร้างจริง ณ ไซต์งาน นั่นคือ การทำเทมเพลตเป็นกระดาษสเกล 1:1 และตัดแผ่นยิปซัมซึ่งเป็นวัสดุจริงตามเทมเพลตที่วางไว้ และนำมาประกอบเป็นรูปเป็นร่างเข้าด้วยกันในพื้นที่

(ภาพเบื้องหลังการก่อสร้าง และการฉาบผนังโค้ง)

ฟาซาดสแตนเลสด้านนอกทำหน้าที่ปกคลุมและห่อหุ้มอาคารในส่วนร้านและส่วนที่อยู่อาศัยให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ซึ่งในส่วนนี้ผู้ออกแบบดึงคาแร็กเตอร์สีขาว นุ่มของ ‘นม’ ของภายในออกมาสู่ภายนอกโดยใช้เส้นสาย และเลเยอร์แนวนอนมาใช้ออกแบบฟาซาด ซึ่งเส้นแนวนอนยังมีข้อดีที่ช่วยสร้างความลึกและความเป็นส่วนตัวให้กับอาคารได้มากขึ้น

บริเวณฟาซาด Double Space ด้านหน้าของตัวร้านยังเปิดให้เห็นพื้นที่ภายใน โดยที่เส้นสายของฟาซาดจะค่อยๆ แหวกออกคล้ายกับเวลาที่เราแอบเปิดมู่ลี่ส่องดู ซึ่งเส้นสายเหล่านี้ก็ได้มาจากกระบวนการทางคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน ส่วนบริเวณ Double Space ของที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่บริเวณชั้นบน คุณต้นออกแบบล้อไปกับส่วนตัวร้านด้วยการใช้วิธีสะท้อนเส้นสายบนและล่างที่ตรงกันอย่างพอดี

(ภาพฟาซาดจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์)

รสชาติของกาแฟที่อร่อยก็เรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือสเปซที่ส่งเสริมให้รสชาตินั้นๆ อร่อยขึ้น ซึ่งอร่อยขึ้นในที่นี้คงทำให้รสชาติหวานขึ้น หรือเค็มขึ้นไม่ได้ แต่คงกล่าวได้ว่าการออกแบบสถาปัตยกรรมที่รวบรวมความรู้สึกและบรรยากาศเอาไว้ภายใน ย่อมทำให้การดื่มด่ำรสชาติกลมกล่อมขึ้นได้ไม่มากก็น้อย Flat+White Café เป็นตัวอย่างของงานออกแบบที่เรากล่าวถึง ความนุ่มนวลของนมไม่เพียงส่งผ่านรสชาติของกาแฟ แต่ยังแสดงให้เห็นในสเปซที่นุ่มละมุนตั้งแต่แรกเห็น  

Location : ซอยธารารมณ์ 2 ทองหล่อ กรุงเทพฯ
Area : 240 ตารางเมตร
Owner : รตา คุโรปกรณ์พงษ์
Architect & Interior : Context studio
Structure Engineer : ปรีชา กนกโชติกุล
Contractor : OWA co.,ltd
Photography : SkyGround DOF Architectural Photography

Writer