หลังจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดิ มหาวทิยาลัยมหิดล ได้มีนโยบายที่จะพัฒนาสถาบันเพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำในระดับเอเชีย การจัดประกวดแบบ “ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา” เพื่อให้บริการด้านการดูแลรักษาสุขภาพ การป้องกันโรค และรักษาโรคเฉพาะทางด้วยมาตรฐานสากล จึงได้ถูกจัดขึ้นและได้ทำการประกาศผลตัดสินผู้ชนะไปเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา
นอกจากโครงการประกวดแบบครั้งนี้จะเป็นโครงการที่ท้าทายด้วยโจทย์และรูปแบบของอาคารที่นับว่ามีความซับซ้อนค่อนข้างมากแล้ว ยังท้าทายด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมประกวดที่มีมากถึง 100 ทีมสตูดิโอออกแบบ ก่อนจะถูกคัดเหลือเหลือเพียง 5 ทีม สู่ 5 แนวคิดที่แอบแฝงไปด้วย “การให้” และมุมมองในการพัฒนา “ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา” ให้เป็นอาคารที่พร้อมต่อการใช้งานตามโจทย์และข้อจำกัด ตั้งแต่การออกแบบอาคารให้ประหยัดพลังงานและทันสมัย มีพื้นที่ใช้สอยที่ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ มีมาตรฐาน JCT พร้อมยกระดับอาคารด้วยความคิดสร้างสรรค์ และออกแบบอาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้เนื้อที่ดินที่จำกัด เป็นต้น ตามไปดูแนวคิดจาก 5 ทีมผู้ออกแบบที่เข้ารอบการประกวดศูนย์แพทย์ฯ ในครั้งนี้กันว่า จะคิดค้นและตีความโจทย์ต่างๆ ออกมาได้น่าสนใจอย่างไรบ้าง
เพราะการ “ให้” คือหนึ่งในเจตนาของการสานสัมพันธ์
สำหรับทีมแรกกับทีมผู้ชนะเลิศอย่าง บริษัท เวสสุ คอลลาบอเรชั่น จำกัด คือหนึ่งในทีมผู้ออกแบบที่ร้อยเรียงรายละเอียดของอาคารด้วยการตีความจากคำว่า “ให้” ว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของการ “สานสัมพันธ์” สู่การออกแบบจัดวางฟังก์ชันภายในอาคารด้วยการเชื่อมโยงสเปซต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกันภายใต้รูปลักษณ์อาคารที่ดูทันสมัยตามโจทย์ที่ได้รับ
พร้อมทั้งนำเสนอแง่มุมใหม่ๆ ให้กับพื้นที่การใช้งานหลัก 3 ประการของศูนย์การแพทย์ ตั้งแต่ Wellness Center, Imaging Center, และ Specialist Clinic ในรูปแบบของการสานสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน
การสานสัมพันธ์ทางแกนนอน (Horizontal Linkage) คือการเชื่อมต่อบนพื้นฐานของทางเดินสาธารณะจาก Airport Link เข้ามายังพื้นที่ของอาคาร ซึ่งเป็นการสานสัมพันธ์ในรูปแบบที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึง Wellness Center และส่วนกายภาพบำบัดได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการสานสัมพันธ์ในส่วนของพื้นที่สาธารณะของเมืองและศูนย์การแพทย์ฯ ให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สามารถนำไปต่อยอดมาตรฐานการพัฒนาผังเมืองในอนาคตได้
การสานสัมพันธ์ทางแกนตั้ง (Vertical Linkage) คือการสานสัมพันธ์ของการจัดการรูปแบบคลินิกด้วยระบบผังโมดูลาร์ที่เข้ามาช่วยให้การปรับเปลี่ยนแผนการจัดการขนาดของศูนย์การแพทย์ฯ สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างไร้ข้อจำกัด โดยสามารถสลับชั้นหรือขยายพื้นที่ได้ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของผู้ป่วยในแต่ละยุคสมัย
การสานสัมพันธ์ทางการปฏิบัติการ (Operational Linkage) โดยทั่วไปแล้วงานสถานพยาบาลจะปฏิบัติการได้ดีในอาคารแนวราบซึ่งนั่นจึงทำให้ Imaging Center มักจะอยู่ชั้นล่างสุด แต่ด้วยข้อจำกัดทางที่ดินจึงทำให้ผู้ออกแบบเลือกแก้ปัญหาด้วยการจัดวาง Imaging Center เป็นจุดตัดของการสานสัมพันธ์ทางแนวตั้งและแนวนอน เพื่อให้ยังสามารถทำงานร่วมกับ Wellness Center และ Clinic ได้สะดวก ไปพร้อมๆ กับการดัดแปลงโปรแกรมที่ตอบสนองกับบริบทปัจจุบันเช่น Telehealth และห้องพักแพทย์เข้ามาในส่วนกลางของอาคารหลัก เพื่อให้หมอสามารถเข้าถึงคนไข้ทั้งชั้นล่างและชั้นบนได้อย่างรวเดร็ว
ด้วยความที่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลมักมีความเครียดจากการอาศัยอยู่ในสถาพยาบาลเป็นเวลานาน การออกแบบพื้นที่ในส่วนของภูมิสถาปัตยกรรมภายนอกด้วยหลักการของสวนเพื่อสุขภาพ สำหรับฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัด จึงถูกออกแบบด้วยการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่วน ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การได้กลิ่น และการสัมผัส ผ่านการเลือกใช้พืชพรรณที่มีลักษณะเป็นป่า มีไม้ดอกหอมและไม้ดอกที่ให้สีสันสวยงาม รวมถึงการเลือกใช้วัสดุต่างๆ ที่จะส่งผลต่อกระตุ้นประสาทสัมผัสในแต่ละแง่มุม
การดูแลที่ยก “ให้” ผู้รับบริการเป็นดั่งศูนย์กลาง
ในส่วนของผลงานจากทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 อย่าง บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ได้นำเสนอแนวคิดด้วยความต้องการขั้นพื้นฐานและมุมมองที่เล็งเห็นถึงความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต จนนำมาสู่การออกแบบพื้นที่ให้สามารถรองรับเทคโนโลยีดังกล่าวไปพร้อมๆ 3 แนวคิดหลัก Patient Centric, Technology, และ Natural Healing ได้อย่างลงตัวกับการใช้งานของผู้รับบริการ ไปจนถึงบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป
Patient Centric คือการดูแลผู้รับบริการแบบเป็นศูนย์กลางโดยให้ความสำคัญกับการเข้าใจถึงชีวิตส่วนบุคคลและคำนึงถึงความต้องการในการดูแลสุขภาพ รวมถึงการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพก่อนการเกิดโรค นำมาซึ่งการออกแบบพื้นที่อาคารที่ช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับบริการและบุคคลากรทางการแพทย์
Technology คืออนาคตทางการแพทย์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับการปฏิบัติงาน หากการปฏิบัติงาน เทคโนโลยี และพื้นที่ใช้งานมีความสอดคล้องกันจะช่วยให้การใช้งานภายในพื้นที่อาคารเกิดความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ผู้ออกแบบจึงได้คำนึงถึงแนวโน้มในการพัฒนาและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ก่อนนำกลับมาออกแบบพื้นที่ภายในอาคารให้สามารถรองรับกับเทคโนโลยีในอนาคต
Natural Healing คือธรรมชาติที่มีผลต่อกระบวนการรักษาทั้งทางกายและจิตใจ การสรร้างความผ่อนคลายให้กับบรรยากาศทั้งภายนอกและภายในอาคารย่อมส่งผลดีต่อผู้รับบริการที่มักมีความกังวล หวาดกลัว หรือเครียด เนื่องจากอาการเจ็บป่วยและการรอรับบริการ รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการ แพทย์ และพยาบาลที่ปฏิบัติงานตลอดทั้งวัน
อีกทั้งอาคารแห่งนี้ยังได้รับการออกแบบด้วยแนวคิดของการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบแผงบังแดดเพื่อช่วยลดความร้อนที่เข้ามากระทบเปลือกอาคาร โดยกลไกของแผงบังแดดดังกล่าวยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเปิดปิดของแผงได้ในแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาระบบไฟฟ้าหรือระบบเซ็นเซอร์อัตโนมัติ
“ให้” พื้นที่สาธารณะช่วยเสริมสร้างการรักสุขภาพ
นอกเหนือจากบทบาทการให้บริการทางการแพทย์ของศูนย์แพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยาแล้ว ทีมผู้ออกแบบจากผลประกวดรองชนะเลิศอันดับที่ 2 อย่าง บริษัท ชาน เอ แอนด์ ดี จำกัด ก็ยังได้สอดแทรกแนวคิดด้านการเพิ่มพื้นที่สาธารณะเข้าไปในส่วนต่างๆ ของอาคารร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น ส่วนหย่อม (Healing Park), ลานอเนกประสงค์, ร้านอาหารและสินค้าเพื่อสุขภาพ เพื่อการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้งานพื้นที่ของตัวอาคาร และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกันดูแลรักษาสุขภาพอย่างถูกวิธี ผ่านเรื่องราวของสเปซต่างๆ ที่ได้นำเสนอ
โดยภายในโครงการประกอบไปด้วยสองอาคารฟังก์ชันที่แบ่งตามลักษณะการใช้งาน ซึ่งอาคารที่ติดถนนศรีอยุธยาจะเป็นอาคารกลุ่ม Wellness Center, ศูนย์ตรวจสุขภาพ Rehabsitation Center ส่วนอาคารที่อยู่ด้านในจะประกอบไปด้วย Imaging center และ Clinic ต่างๆ อีกทั้งสองอาคารยังได้เพิ่มพื้นที่สาธารณะด้วยการเชื่อมต่อกับ Airport Link, Lab, ศูนย์รวมสุขภาพ, Sky lounge และ Rooftop Garden ที่ล้วนแต่จะช่วยส่งเสริมให้สุขภาพทางกายและใจของผู้ใช้งานในแต่ละพื้นที่ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ตัวอาคารยังได้ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นสูงสุด ด้วยการเลือกออกแบบผ่านระบบโมดูลาร์ เพื่อให้การปรับปรุงอาคารในอนาคตหรือการปรับเปลี่ยนตามรูปแบบการรักษาของยุคสมัยสามารถเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
“ให้” ช่วงเวลาช่วยบอกเล่าความสุขของการอยู่
บริษัท สถาปนิก ดีเอ็ม โอ จำกัด เป็นอีกหนึ่งผู้เข้าร่วมการประกวดที่ได้รับรางวัลชมเชยมาด้วยการถ่ายทอดแนวคิดผ่านกาลเวลาให้ออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับบริบทและความรู้สึกของผู้ใช้งาน โดยการออกแบบอาคารได้ถูกวางภาพรวมให้พึ่งพาพื้นที่ของสวนขนาดใหญ่ เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย และการเชื่อมโยงร่วมกับแนวคิดที่นำเรื่องของ “เวลา” เข้ามาผสมผสาน
ซึ่งทีมผู้ออกแบบได้เลือกใช้ความรู้สึกต่อเฉดสีแดงและเขียวในการเปรียบเทียบร่วมกับแนวคิด ให้สีเขียวเป็นตัวแทนของ “ความช้า” และสีแดงเป็นตัวแทนของ “ความเร็ว” ก่อนจะออกแบบให้พื้นที่สีเขียวเป็นโซนของธรรมชาติที่ผู้คนจะสามารถรับรู้ได้ถึงชีวิตและความสุขของการอยู่
ขณะเดียวกันพื้นที่สีแดงก็เปรียบกับความรวดเร็ว หรือความรับผิดชอบของชีวิตที่จะต้องเร่งรีบในแต่ละวัน อีกทั้งพื้นที่การใช้งานในอาคารก็ยังถูกคำนึงถึงการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการเพิ่มพื้นที่นั่งปฏิสัมพันธ์พูดคุยสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวิชาชีพซึ่งกันและกัน
เชื่อมโยงมนุษย์และธรรมชาติ “ให้” เป็นหนึ่งเดียวกัน
อีกหนึ่งทีมสถาปนิกจาก บริษัท โปรเกรสซีฟ บิลดิ้ง แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดครั้งนี้ กับการมองแก่นแท้ของสถาปัตยกรรมคือการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เกิดเป็นความสัมพันธ์ในการดึงพลังงานจากสิ่งรอบตัวเข้ามาใช้ร่วมในการออกแบบให้มีความสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกัน
ผู้ออกแบบจึงได้ตีความแนวคิดในเรื่องของเวชศาตร์ที่แฝงไปด้วยความสมดุลของแร่ธาตุ อย่าง ดิน น้ำ ลม และไฟ เข้ามาประยุกต์กับสถาปัตยกรรมในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย
“ดิน” คือที่ที่ประกอบขึ้นเป็นมนุษย์ เหมือนพื้นโลกและพื้นที่สำหรับสิ่งอื่นที่เติบโต เปรียบได้กับคอนกรีต ไม้ และต้นไม้ ที่เชื่อมให้คนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ
“น้ำ” เป็นองค์ประกอบในร่างกายของมนุษย์ จึงออกแบบให้สถาปัตยกรรมแสดงออกถึงความลื่นไหล โค้งมน และต่อเนื่องเหมือนเส้นสายของน้ำที่มีความเป็นอิสระ และใช้สีในโทนเย็นเป็นหลัก
“ลม” คือตัวควบคุมการเคลื่อนไหวของร่ายกาย เช่น ลมหายใจเข้าออก การบีบและหดของกล้ามเนื้อ ที่แม้จะเป็นธาตุที่มองไม่เห็นด้วยตา แต่สามารถสัมผัสได้ด้วยความเย็นสบายในพื้นที่ การออกแบบจึงคำนึงถึงเรื่องของการไหลเวียนของลมเพื่อให้รู้สึกถึงธรรมชาติ
“ไฟ” คือกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดเป็นพลังงานและความอบอุ่น สื่อแทนด้วยแสงสว่าง และใช้วัสดุในโทนค่าสีร้อนโดยออกแบบให้เป็นพื้นที่ที่เปิดรับแสงจากธรรมชาติเข้ามาโดยส่งผลให้พื้นที่นั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศที่ดี
ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยาจึงถูกออกแบบให้เป็นสถาปัตยกรรมแห่งการบำบัดที่ช่วยเยียวยาด้วยความรู้สึกกับผู้ที่มารักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจให้รับรู้ถึงสายลมที่พัดผ่านชีวิตทั้งหมดของสถาปัตยกรรม
ภาพและข้อมูลจาก : สมาคมสภาสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!