“ผมชอบบ้านที่อยู่แล้วรู้สึกสงบ ไม่ต้องตื่นเต้น หรือไม่จำเป็นต้องว้าว นี่เป็นความรู้สึกแรกที่มีเลย” คุณวิน-วรุตม์ วรวรรณ ผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบจาก Vin Varavarn Architects (VVA) บอกกับเรา
เมื่อจินตนาการถึงบ้านของสถาปนิก เราคงคิดไปก่อนว่าบ้านหลังนั้นคงจะต้องโดดเด่น หรือโชว์เทคนิคสุดเท่ของงานสถาปัตยกรรมที่หาไม่ได้จากที่ไหน แต่ในความจริงแล้วตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกับ V House บ้านของสถาปนิกที่หวนกลับสู่ความธรรมดาสามัญที่แสนจะเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยรายละเอียด การทดลอง และการแก้ปัญหาที่นำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาร้อยเรียงขึ้นใหม่ได้อย่างน่าสนใจ
คุณวินเริ่มต้นเล่าว่า เดิมทีครอบครัวอาศัยอยู่ภายในบ้านทาวน์เฮาส์ที่ชั้นล่างเปิดเป็นออฟฟิศเล็กๆ เมื่อลูกทั้งสามคนเริ่มโต ต้องการพื้นที่ส่วนตัวที่มากขึ้น ก็ถึงเวลาของการออกแบบ ทำบ้านหลังใหม่ที่เป็นการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้เพียงพอต่อภรรยาและลูกๆ
“น่าจะเป็นกับทุกคนที่เป็นดีไซน์เนอร์หรือสถาปนิก เวลาเราทำงานให้คนอื่น เราจะคิดวิเคราะห์จากความเป็นตัวตนของเขา แต่พอเราทำงานของตัวเอง มันเป็นอะไรที่ยากขึ้น เพราะเราก็ไม่เคยมองว่าตัวตนข้างในเราจริงๆ เป็นยังไง ซึ่งงานนี้ก็เหมือนเป็นกระจกสะท้อนให้เรามาย้อนดูตัวเองสักระยะหนึ่งเหมือนกัน ว่าตัวเราเอง ภรรยา หรือลูกๆ อยากได้บ้านแบบไหน และอะไรจะเป็นจุดกึ่งกลางที่ทุกคนโอเค”
ความไม่เพอร์เฟกต์ ที่มีสิ่งน่าสนใจซ่อนอยู่
ถึงแม้บ้านจะดูเรียบง่าย ดูผิวเผินไม่มีอะไรซับซ้อน แต่หากขึ้นชื่อว่าสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ ยังไงเราก็ยังเชื่อว่าต้องมีแนวคิดหรือเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้าตาสุดธรรมดานั้น จุดกึ่งกลางที่ว่านั้นคืออะไรคะ? เราถามคุณวิน เพราะอยากรู้ว่าอะไรกันแน่ที่สร้างอิทธิพล จนเกิดเป็นรูปร่างหน้าตาของบ้าน V House เรียบง่ายหลังนี้
“อย่างผมกับภรรยา เราไม่เหมือนกัน แต่จะมีความชอบคล้ายๆ กัน นั่นคือ อะไรที่มันเรียบง่าย ไม่เยอะหรือยุบยิบ อย่างงานต่างๆ ที่ออกแบบ เราจะชอบพูดถึงวัสดุ เพราะเรารู้สึกว่าวัสดุมันสัมผัสได้ง่าย ทั้งกับตัวเราเอง ทั้งงานที่ทำให้คนอื่น เหมือนเป็นภาษาหนึ่งที่เมื่อเราเห็น หรือเมื่อได้เข้าไปสัมผัส มันจะทำให้เรารู้สึกได้ถึงอะไรบางอย่าง” แต่ถึงอย่างไร วัสดุใดๆ ที่จะนำมาใช้ก็ไม่ใช่ความตั้งใจแรกที่คุณวินตั้งไว้ เพียงแต่มองหาความเรียบง่าย เข้าใจง่าย ไม่มีอะไรที่หวือหวาก็เท่านั้นเอง
ในตอนเริ่มต้นออกแบบ ตัวแปลนหรือฟังก์ชันนั้นไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นการออกแบบพื้นที่ที่มีอยู่ให้ลงตัวกับการใช้งานของครอบครัวของตนเอง เมื่อการวางผังผ่านไปด้วยดี ทีนี้ก็มาถึงรูปแบบบ้านและการเลือกวัสดุ ซึ่งประจวบเหมาะกับในตอนนั้นมีต้นสักอายุกว่า 20 ปีที่คุณแม่เคยปลูกไว้ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ด้วยความที่ครอบครัวไม่ค่อยได้มีโอกาสกลับไปดูแล คุณวินจึงเล็งเห็นว่าการนำไม้สักนี้มาใช้ทำบ้านก็น่าจะเหมาะเจาะพอดี เพราะเป็นการใช้ไม้ที่ถูกทิ้งไว้ให้เกิดประโยชน์ และยังช่วยประหยัดงบในเรื่องวัสดุก่อสร้างบ้านได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อมีโอกาสไปดูต้นสักที่ปลูกไว้ ปรากฏว่าไม้โดนตัวด้วงป่าแทะจนเกิดเป็นรูพรุนเต็มไปหมด หากจะขายก็คงจะไม่มีใครรับซื้อ แต่พอไม้แปรรูปออกมาเป็นที่เรียบร้อย คุณวินกลับรู้สึกว่ารูต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นน่าสนใจ เกิดเป็นไอเดียที่จะนำไม้เจ้าปัญหานี่แหละ ไปใช้ในการสร้างบ้าน ผลจะออกมาเป็นอย่างไร นี่คือการทดลองเล่นกับวัสดุทั้งสิ้น
รวมถึงวัสดุอื่นๆ ที่ตนเองชอบอย่างผนังคอนกรีต หากไม่ใช่การหล่อคอนกรีตให้เนี้ยบกริบแบบเกรท Tadao Ando จะทำอย่างไรได้บ้างให้คอนกรีตมีพื้นผิวเป็นธรรมชาติในแบบที่ต้องการ หรือแม้แต่ เหล็ก จะมีภาษาแบบไหนบ้างไหมที่แสดงถึงตัวตนของคุณวินได้อย่างลงตัว
‘ไม้ คอนกรีต เหล็ก’ สามวัสดุหลักที่คุณวินชื่นชอบ จึงกลายเป็นตัวเริ่มต้นของงานออกแบบ “นี่เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรามองว่า เออ…เราไม่อยากมีบ้านที่มันเนี้ยบกริบ เราชอบวัสดุที่มันมีความเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเพอร์เฟ็กแต่มันมีอะไรที่น่าสนใจอยู่ในนั้น”
การปูพื้นไม้ในบ้านปกติ มักจะปูกันเป็นแผ่นใหญ่ที่มีหน้าไม้กว้าง 10-15 เซนติเมตร แต่สำหรับไม้สักที่โดนด้วงป่าแทะ ทำให้การใช้ไม้ภายบ้านหลังนี้ต้องตัดให้เป็นชิ้นเล็กกว่าที่เป็น โดยเหลือประมาณ 5 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 นิ้ว โดยวิธีการนี้ทำให้ไม้สามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ ไม้ปกติที่ไม่มีร่องรอยรูพรุน และไม้ที่มีรูพรุนจากด้วงแทะ ซึ่งในการออกแบบส่วนต่างๆ ที่เป็นผิวสัมผัสโดยตรง อย่างงานพื้นหรือ ผนัง คุณวินจะเลือกใช้ไม้ที่ไม่มีรอยด้วงมาใช้ในการออกแบบ ในขณะที่งานองค์ประกอบเสริม ส่วนตกแต่งต่างๆ หรือส่วนที่ไกลตัว อย่าง บานเฟี้ยม ฝ้าเพดาน จะนำไม้ที่มีรูพรุนมาใช้งานแทน
ส่วนวัสดุเหล็ก ถูกนำมาใช้ออกแบบโครงสร้างและรั้วทึบบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งแทนที่จะทาสีแบบธรรมดา คุณวินมีการทดลองทำพื้นผิวให้เป็นสนิม ซึ่งลดการดูแลในระยะยาว และในแง่ของความสวยงาม สนิมยังเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป
สำหรับผนังคอนกรีตเองก็มีความพิเศษไม่น้อยหน้าวัสดุอื่นๆ ซึ่งในการผสมคอนกรีตก่อนเท คุณวินลองใช้กรวดที่มีขนาดแตกต่าง ที่ให้ความเหนียว ความเข้มข้นของคอนกรีตที่แตกต่างกัน ทดลองเทเป็นชั้นๆ ทำให้แต่ละชั้นแตกต่าง ดูมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งคุณวินบอกเราว่า ผนังจะสวยงามเมื่อคอนกรีตเล่นกับแสงเงาธรรมชาติ ซึ่งตนเองค่อนข้างพอใจผลลัพธ์ที่ไม่ได้คาดหวังนี้พอสมควร
เมื่อพูดถึงผนังคอนกรีต หลายคนจะนึกถึงผนังพรีแคส ที่หล่อคอนกรีต เทในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับบ้าน V House เพราะบ้านหลังนี้คุณวินเองก็พยายามจัดสรรงบประมาณอยู่พอสมควร ทำให้ผนังคอนกรีตจึงเป็นการก่ออิฐมอญซ่อนไว้ภายใน และเทคอนกรีตเป็นงานพื้นผิวให้กับผนัง เพื่อช่วยให้โครงสร้างเบาขึ้น และประหยัดงบประมาณไปด้วยในตัว
“ผนังคอนกรีตภายในบ้านจะมีประมาณ 3 ผนัง ซึ่งแต่ละผนังก็ไม่เหมือนกัน ช่วงที่ทำฐานราก เราขุดแล้วเจอก้อนหินที่อยู่ใต้ดิน บางก้อนก็ใหญ่มาก เราเลยตั้งใจจะเอาหินมาตั้งวางในสวน จะได้ไม่ต้องเอาไปทิ้ง เราก็ลองคุยกับทางผู้รับเหมาว่า จะลองสกัดผนังคอนกรีตบางผนังให้มันมีความหยาบเหมือนหิน เพื่อให้ได้พื้นผิวที่แตกต่าง เราก็คิดว่ามันสนุกดี สวยดี ซึ่งจริงๆ เราทำไปโดยไม่มีภาพสุดท้าย เราแค่เห็นอะไรที่เราอยากลองทำ เราก็ลอง ซึ่งก็โชคดีที่ทางผู้รับเหมาเขาสนุกและไปในทิศทางเดียวกับเรา”
พื้นที่ของครอบครัว ที่มองเห็นซึ่งกันและกัน
เพราะความที่คุณวินเรียนจบด้านอินทีเรียดีไซน์เนอร์มาก่อนที่จะไปศึกษาต่อในสายสถาปัตยกรรมหลัก ส่งผลถึงการออกแบบสเปซ ที่คุณวินเล่าว่า “เวลาเรามองบ้านของเรา เราจะมองจากภายในออกไป ว่าสเปซที่เราอยากมีมันเป็นยังไง?”
ยกตัวอย่าง บริเวณห้องนั่งเล่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนวางผัง คุณวินมีภาพที่ตั้งใจให้ห้องนั่งเล่นมองเห็นผืนสีเขียวของสนามหญ้าทั้งหมด ผสานไปกับความสดใสของต้นเหลืองอินเดียซึ่งเป็นต้นไม้เก่าในพื้นที่ที่ตั้งใจเก็บไว้ มีระเบียงที่สามารถหย่อนขา นั่งพักสบายๆ ในวันว่าง หรือในบางครั้งหากนึกสนุก ลูกๆ ที่นั่งอยู่ในห้องนั่งเล่นก็สามารถวิ่งลงสนามไปเล่น เตะบอล หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
“ส่วนที่อยากให้เกิดขึ้นในบ้าน คือ พื้นที่ที่เรามองเห็นกันและกัน เราไม่อยากได้บ้านที่ต่างคนต่างอยู่ เราอยากได้บ้านที่มันมีอารมณ์ของการรับรู้ว่าสมาชิกคนอื่นๆ ทำอะไรอยู่”
บริเวณใจกลางของบ้านจึงถูกออกแบบให้เป็นคอร์ดต้นปีป ที่เปิดรับแสงธรรมชาติ สามารถเปิดระบายอากาศ และเพิ่มบรรยากาศด้วยพันธุ์ไม้สีเขียว ซึ่งในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ชั้นหนึ่งและชั้นสอง ทำให้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านสามารถมองเห็นกันและกันได้ “เราคิดภาพนั้น สมมติเรากลับมาจากทำงานเหนื่อยๆ ถึงบ้าน เราก็อยากมองเห็นลูกนั่งเล่นอยู่ชั้นสองนะ” คุณวินเล่า
บริเวณชั้นบนจัดสรรให้เป็นห้องนอนสามห้อง และห้องนอนมาสเตอร์ โดยที่ห้องนอนของลูกๆ สามคนไม่ใช่ห้องที่ใหญ่มากนัก แต่แทรกด้วยห้องนั่งเล่นบริเวณชั้นสองเข้ามาแทนที่ เพื่อเปิดโอกาสให้เหล่าพี่น้องทั้งสามได้ใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลางมากกว่าที่จะแยกย้ายเข้าห้องส่วนตัวและไม่ได้พูดคุยกัน ห้องนั่งเล่นชั้นบนและชั้นล่าง ยังสามารถเพิ่มความเป็นส่วนตัวได้ในยามที่มีแขกเรื่อ ไม่ว่าจะเป็นแขกของพ่อแม่ หรือแขกของลูกๆ ก็สามารถจัดสรรปันส่วนกันได้อย่างพอดี
สวนกรวดที่ดูแล้วนิ่งสงบ ชวนนึกถึงสวนเซน แท้จริงมาจากการแก้ปัญหาการเดรนน้ำจากระเบียงชั้นสอง แทนที่จะปลูกต้นหญ้าคุณวินจึงเลือกใช้กรวดมารับน้ำแทน พอมีกรวดเป็นองค์ประกอบ ก็เลยนำหินที่ขุดเจอตอนทำฐานรากมาตกแต่งด้วยซะเลย “ความจริงเราก็ชอบนะ การมองดูอะไรที่มันนิ่งๆ แต่เราก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นโทนญี่ปุ่นอะไรขนาดนั้น”
“ใครที่ได้มาเห็นบ้าน เขามักจะถามเราว่าชอบสวนเซน สวนญี่ปุ่นหรอ หรือครั้งนึง เคยมีกรรมการมาตรวจสอบจากที่เราส่งประกวดสถาปัตยกรรมดีเด่น ท่านบอกไม่ถูกว่าบ้านเราเป็นสไตล์ไหน มันมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น แต่ก็มีบางจุดที่รู้สึกถึงความเป็นไทย” คุณวินเปิดประเด็น และเล่าต่อว่า จากคำถามเหล่านั้น นำมาสู่คำตอบว่า ในความเป็นจริงแล้วบ้าน V House ไม่ได้มีภาพสุดท้ายว่าจะต้องเป็นสไตล์ใดๆ ก็ตาม เพียงแต่มาจากพื้นฐานความชอบ ตัวตน การแก้ปัญหา หรือสเปซที่คุณวินชื่นชอบและสนใจเสียมากกว่า
“อย่างเราทำบ้านตัวเอง มันอาจไม่ได้มีคอนเซ็ปต์อะไรชัดเจนขนาดนั้น อาจเพราะมีหลายมุมมากๆ ในตัวเราเอง เพราะฉะนั้น เราเลยมองว่าการออกแบบมันจะตอบรับกับวิถีชีวิตของคนในบ้านที่มันควรจะเป็น ผ่านมุมมองของเราได้ยังไงมากกว่า แทนที่มันจะเป็นสถาปัตยกรรมจ๋า เรากลับมองว่าบ้านที่เราต้องการ เป็นแค่บ้านเรียบง่าย ที่อยู่ได้นาน” คุณวินกล่าว
Location: ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ
Built Area: 600 ตารางเมตร
Architects& Interior : Vin Varavarn Architects
Engineers: Next Engineering Group
Contractor: SPC Technocon
Photo credit: Beer Singnoi
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!