Keep Coffee X Cafe
คาเฟ่เรขาคณิตที่คิดมุมมองผ่านสี่เหลี่ยมจัตุรัส

เรามักคุ้นเคยกับ “เรขาคณิต” ผ่านการหาพื้นที่และปริมาตรในเชิงคณิตศาสตร์ ส่วนในเชิงศิลปะเอง เรขาคณิตก็เป็นองค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในสิ่งของในชีวิตประจำวันของเรามากมายเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ร่างกายของเราเอง ก็มีเรขาคณิตเป็นส่วนประกอบด้วยกันทั้งนั้น แต่จะเป็นอย่างไร หากเรขาคณิตเข้ามาสร้างมุมมองใหม่ให้กับสถาปัตยกรรมอย่าง Keep coffee X Café คาเฟ่เรขาคณิตสีขาวในจังหวัดระยอง ที่ได้ ศาศวัต แต่ถาวร และวรัญญา สุขวารี สถาปนิกจาก Studio m2 มาออกแบบและสร้างสรรค์มุมมองใหม่ของคาเฟ่สีขาว ให้เปิดประสบการณ์กับผู้ที่มาเยือน ผ่านมิติของเรขาคณิตที่หลากหลายกว่าเดิม

จุดเริ่มต้นจากการที่เจ้าของร้านอยากทำโปรเจ็กต์คาเฟ่เล็กๆ สเกลประมาณ 100 ตารางเมตร ภายในที่ดินเปล่ารูปสี่เหลี่ยมคางหมู 2 ไร่ ซึ่งเมื่อเทียบขนาดกันแล้วค่อนข้างใหญ่ จึงตัดสินใจแบ่งพื้นที่เพียงครึ่งหนึ่งมาทำคาเฟ่ และให้โจทย์ผู้ออกแบบว่า อยากได้คาเฟ่สีขาวที่มีความเรียบง่าย และมีความร่วมสมัย

เรขาคณิต คิดสร้างสรรค์

จากความต้องการที่ลูกค้าให้มา ผ่านการตีโจทย์ของสถาปนิก ผลลัพธ์ของการออกแบบจึงออกมาเป็น คาเฟ่ในรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีขาวละมุนตา ซึ่งดูเผินๆ แล้ว มีเส้นสายและสัดส่วนที่เกิดขึ้นจากรูปทรงเรขาคณิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นช่องประตู-หน้าต่าง รูปวงกลม สี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวตั้ง สี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวนอน สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมคางหมู หรือแม้แต่รูปทรงใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการผสานรูปเรขาคณิตต่างๆเข้าด้วยกัน โดยแต่ละด้านมีรูปแบบที่แตกต่างกันและสัดส่วนที่ใหญ่กว่าสเกลทั่วไป เพื่อเพิ่มมิติให้คาเฟ่มีลูกเล่นที่หลากหลาย และเปิดประสบการณ์กับผู้ใช้งานในมุมมองแตกต่าง

หน้าต่างวงกลมขนาดใหญ่ ที่ถูกออกแบบบนผนังทิศใต้ ซึ่งเป็นทางเข้าหลัก

หน้าต่างรูปทรงเรขาคณิตเกือบทั้งหมด ถูกออกแบบมาเป็นกระจกใส ที่ล้อมรอบไปด้วยแผ่นเหล็กสีขาวยื่นออกมาเล็กน้อย ที่นอกจากจะเป็นการเพิ่มลูกเล่นให้มิติของอาคาร ตามที่สถาปนิกตั้งใจแล้ว แผ่นเหล็กนี้ยังทำหน้าที่เป็นกันสาด ช่วยป้องกันละอองฝนตกกระทบมายังหน้าต่างโดยตรงในวันที่ฝนตกอีกด้วย

ในส่วนของทางเข้าอาคาร สถาปนิกออกแบบให้หลังคาในส่วนนี้ยื่นออกมาจากตัวอาคารที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส เพื่อเพิ่มมิติให้อาคารไม่ดูเรียบจนเกินไป และสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่นี้

พื้นที่ในสี่เหลี่ยมจัตุรัส

เมื่อภายนอกอาคารเป็นรูปทรงเรขาคณิตแล้ว แน่นอนว่าพื้นที่ภายใน สถาปนิกก็มีการใช้กิมมิกนี้มาออกแบบด้วยเช่นเดียวกัน แปลนของร้านจึงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 8 x 8 เมตร ซึ่งก่อนที่จะแบ่งสัดส่วนและวางฟังก์ชันภายในร้านนั้น สถาปนิกก็ได้แบ่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่ออกเป็น 16 ช่องเล็ก ในขนาด 2 x 2 เมตร จากนั้นก็ค่อยๆเชื่อมต่อพื้นที่เข้าด้วยกัน ประกอบกันจนเกิดเป็นฟังก์ชันต่างๆขึ้นมา เช่น โซนเคาท์เตอร์บาร์ เกิดจากสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด, โซนที่นั่งในทิศเหนือ เกิดจากสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2 x 2 เมตร ต่อกัน 2 ช่อง โดยผนังทั้งหมดที่แบ่งฟังก์ชันออกเป็นส่วนๆจะอยู่ในแนวเดียวกับกริดของสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 2 x 2 เมตร นี้ด้วย

ภาพแปลนภายในร้าน (Photo: Studio m2)

พื้นที่ภายในถูกแบ่งเป็น 2 ชั้น พร้อมทั้งมีทางเข้าถึง 3 ทาง ซึ่งทางเข้าหลักอยู่ทางทิศใต้ เพราะเป็นทิศที่เชื่อมต่อกับลานจอดรถมากที่สุด ถัดมาจะเป็นเคาท์เตอร์บาร์ และเซอร์วิสอยู่ทางทิศตะวันตก ส่วนพื้นที่นั่งของลูกค้า ก็กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของชั้น 1 และภายในชั้น 2

ทั้งหมดพยายามจัดลงในฟอร์มที่ดูเรียบและลงตัวมากที่สุด มีเพียงผนังทึบสีขาวที่ว่างเปล่า และหน้าต่างที่เป็นกระจกใสเปิดรับแสงธรรมชาติจากด้านนอก โดยหน้าต่างที่ติดกับประตูทางเข้า เป็นหน้าต่างกระจกเข้ามุม ช่วยเปิดมุมมองทางเข้าร้านให้กว้างและดึงดูดความสนใจจากผู้คนภายนอกได้มากขึ้น รวมไปถึงมีการเพิ่มลูกเล่นด้วยกระเบื้องโมเสกบนพื้น เป็นเหมือนป้ายต้อนรับผู้ที่มาเยือนด้วย

รูปแบบที่นั่งหลากหลาย

เมื่อเข้ามาภายในร้าน สิ่งแรกที่สังเกตได้ชัดเจนคือ การจัดพื้นที่นั่งภายในร้านที่มีความหลากหลาย มีทั้งที่นั่งแบบบาร์ชิลล์ๆ ไปจนที่นั่งทำงานแบบจริงจัง ไม่ว่าจะมาคนเดียว มาเป็นคู่ หรือมาเป็นกลุ่ม ก็สามารถรองรับลูกค้าได้ในทุกๆรูปแบบ ทั้งหมดนี้มาจากการศึกษาไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการมาคาเฟ่ของลูกค้า ไปจนถึงไลฟ์สไตล์ของเหล่าคาเฟ่ฮอปปิ้งในปัจจุบันนั่นเอง

การตกแต่งภายในร้าน เน้นเป็นสีขาวสะอาดตา ไม่มีรูปภาพใดๆแปะบนผนัง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว เพราะสามารถปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายได้ง่าย ส่วนเรื่องสีสันยังคงคอนเซปต์สีขาว ที่มีความเรียบง่ายและทำให้การออกแบบเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นอกจากที่นั่งภายในอาคารแล้ว ภายนอกอาคารฝั่งทิศเหนือ ก็ยังมีที่นั่งแบบ Outdoor ไว้ให้ลูกค้านั่งเปลี่ยนบรรยากาศ และยังเป็นพื้นที่จัดอีเวนท์ มีดนตรีสดช่วงเย็นเป็นบางครั้งคราวอีกด้วย

บันไดในขนาด 2 x 2 เมตร

อีกหนึ่งความต้องการของเจ้าของคือ อยากให้คาเฟ่สามารถถ่ายรูปได้ทุกมุมตามไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่ชอบเที่ยวคาเฟ่ นอกจากด้านหน้าและที่นั่งต่างๆภายในร้านที่ถูกออกแบบให้ถ่ายรูปได้ทุกมุมแล้ว “บันได” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ ที่เหล่าคาเฟ่ฮอปเปอร์ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากมีฟอร์มที่สวยงามคุมโทนแล้ว ด้านบนยังมีช่องเปิดที่มองเห็นท้องฟ้า และมีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาเหมาะกับการถ่ายรูปเป็นที่สุด

“อยากให้คาเฟ่กลายเป็นเหมือนออฟเจกต์หนึ่ง ที่สะดุดตาแก่ผู้คนที่ผ่านไปมา คนที่เห็นสงสัยว่าด้านในเป็นอะไร แต่ด้านในก็จะรู้สึกโปร่งในเวลาเดียวกัน” สถาปนิกกล่าว นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ภายในร้านเปิดรับแสงธรรมชาติจากด้านบนผ่านสกายไลท์ถึง 2 ที่ ซึ่งใช้หลังคาลอนลูกฟูกที่เปิดรับแสงแบบ Indirect ทำให้แสงที่สะท้อนเข้ามามีความละมุนตา และบรรยากาศภายในร้านดูโปร่งโล่ง

เรขาคณิตในสถาปัตยกรรม ยังคงเป็นเรื่องที่น่าค้นหาอยู่เสมอ แม้แต่ในโปรเจ็กต์นี้ ที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆของเรขาคณิตในด้านการออกแบบ ทั้งเผยออกมาผ่านรูปลักษณ์และซ่อนอยู่ในแปลนของพื้นที่การใช้งาน แต่ยังไงก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่มีสูตรตายตัว และอย่างน้อยๆก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้คนเห็นความสำคัญของงานออกแบบมากขึ้น และสนุกไปกับมัน

Keep coffee X cafe
Location: อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
Owner: คุณประทานพร เจริญสุข
Architects: คุณศาศวัต แต่ถาวร และคุณวรัญญา สุขวารี จาก Studio m2
Area: 100 ตารางเมตร
Photo: คุณจิรายุ รัตนวงษ์

Writer