ถ้าเลือกได้…ไม่ว่าใครก็ไม่อยากไปโรงพยาบาลหรอก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม
แต่ด้วยความที่อาการป่วยไข้ หรือโรคร้ายมักจะมาเยือนเราแบบไม่ทันคาดฝัน โรงพยาบาลจึงเป็นจุดหมายมั่นที่เราจำใจต้องไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากการไปโรงพยาบาลสักหนึ่งครั้งสร้างความรู้สึกหวั่นใจ ก็คงจะดีไม่น้อยหากการออกแบบสถาปัตยกรรมสามารถปลอบประโลมความกลัวเหล่านั้น เปลี่ยนถ่ายให้เป็นความตื่นตาตื่นใจ อย่างน้อยความไม่อยากไปโรงพยาบาลอาจลดลงมาสักนิดสักหน่อยก็ยังดี
ในยุคหลังๆ โรงพยาบาลไม่เพียงรักษาอาการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังพร้อมที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นโรงพยาบาลที่ผ่านการออกแบบอย่างพินิจพิเคราะห์ย่อมทำให้การทำงานของบุคลากรการแพทย์ฝ่ายต่างๆ เป็นไปได้อย่างสะดวกและดียิ่งขึ้น การออกแบบโรงพยาบาลที่ดีจึงเป็นตัวอย่างกรณีศึกษาที่จะส่งเสริมคุณภาพชีวิตของทั้งคนไข้ ชุมชนและสังคมวงกว้างได้ไม่น้อย
ครั้งนี้ Dsign Something จะพาคุณไปทัวร์ 7 โรงพยาบาลจากทั่วทุกมุมโลกที่มีดีไซน์สุดล้ำแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลจิตเวชลอยน้ำ โรงพยาบาลสุดเก๋ในชนบทเซเนกัล หรือแม้แต่จุดคัดกรองโรงพยาบาลที่สามารถปรับใช้กับสถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบัน
Tambacounda Hospital
By Manuel Herz Architects
Tambacounda , Senegal
เริ่มต้นเราขอข้ามน้ำ ข้ามทะเลไปพูดถึงโรงพยาบาลในเขตชนบทของประเทศเซเนกัลอย่าง โรงพยาบาลแม่และเด็ก Tambacounda ซึ่งรับบทบาทสำคัญตรงที่เป็นโรงพยาบาลหลักเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคที่ต้องให้บริการผู้ป่วยถึง 20,000 คนต่อปีจากพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ซึ่งเดิมทีโรงพยาบาลแห่งนี้มีปัญหาพื้นที่ส่วนกลางที่แน่น และแออัดเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยต้องมารวมตัวอยู่ด้วยกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ บุคลากรทางการแพทย์เองก็ต้องทำงานภายใต้สภาวะที่กดดันและยากลำบากอยู่มากพอสมควร
เมื่อถึงเวลาปรับปรุงสร้างใหม่ ก็ได้ทีมออกแบบจาก Manuel Herz Architects เข้ามารับหน้าที่เปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง โดยทีมสถาปนิกออกแบบโครงสร้างอาคาร 2 ชั้นทรงโค้ง ด้วยการนำคลินิกทั้ง 2 แห่ง ทั้งกุมารเวชศาสตร์และสูติกรรมมารวมกันภายใต้หลังคาเดียว และเพิ่มพื้นที่เตียงในโรงพยาบาลที่รองรับได้ประมาณ 150 เตียง
ความยาวที่กว้างขวางของอาคารเพิ่มความโฟลวให้ทางสัญจรของพนักงานและผู้ป่วยไหลเวียนได้อย่างราบรื่น อีกทั้งยังเกิดพื้นที่ส่วนกลางขึ้นระหว่างห้อง รวมถึงเกิดพื้นที่สีเขียวจากการออกแบบฟอร์มโค้งรูปตัว S
ความน่าสนใจหนึ่งของโรงพยาบาลแห่งนี้ คือการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริงไม่ใช่เพียงแค่สถาปัตยกรรมขั้นสุดท้าย แต่ในทุกขั้นตอนของการออกแบบสถาปนิกได้ร่วมมือกับ Dr. Magueye Ba ผู้นำท้องถิ่น และอาศัยความเชี่ยวชาญของชุมชน โดยทำงานร่วมกับช่างฝีมือและวิศวกรจาก Tambacounda และหมู่บ้านโดยรอบเท่านั้น ช่วยให้มีการจ้างงานและการสนับสนุนเศรษฐกิจในชนบทไปด้วยในตัว
นอกจากนั้นโรงพยาบาลแห่งนี้ยังเปรียบเสมือน prototype ที่ต่อยอดให้กับชุมชน โดยในตอนเริ่มต้นทางทีมออกแบบร่วมกับทีมงานท้องถิ่นได้มีการทดลองใช้อิฐเป็นวัสดุหลักเพื่อช่วยระบายอากาศและควบคุมทิศทางของลม ก่อนที่จะนำอิฐที่ว่าไปใช้ในการสร้างโรงเรียนใหม่ขนาดเล็กสำหรับเด็กที่อยู่ใกล้เคียง นอกเหนือจากสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ก็เป็นสิ่งที่ทีมออกแบบให้ความสำคัญไม่ต่างกัน โดยพยายามลดการทำลายหรือรบกวนต้นไม้ท้องถิ่นโดยรอบนั้นให้น้อยที่สุด นำมาซึ่งรูปฟอร์มของสถาปัตยกรรมที่สร้างสัมพันธ์กับบริบทและผู้คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
St. Carolus Hospital Screening Facility
By AT-LARS
Jakarta , Indonesia
เพราะบางครั้งก็มีโรคระบาดมาเยือนโลกเราอย่างไม่คาดฝัน ยกตัวอย่างเจ้า Covid-19 ตัวร้ายที่ยังคงเป็นปัญหาไปทั่วโลก การออกแบบบางส่วนของโรงพยาบาลจึงอาจต้องมีการปรับให้ยืดหยุ่นพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อตอบรับการรักษาผู้ป่วย และคัดกรองได้อย่างทันท่วงที
‘Screening Facility’ หรือศูนย์คัดกรองโรงพยาบาล St. Carolus ถูกออกแบบขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก คัดกรองผู้ป่วยที่ติดเชื้อก่อนเข้าสู่อาคารโรงพยาบาล ซึ่งโครงสร้างกึ่งถาวรนี้ออกแบบและสร้างขึ้นจากนั่งร้านด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เรียบง่าย โดยสามารถรองรับความต้องการพื้นที่ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นผ่านการออกแบบที่ยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวได้อย่างหลากหลาย
โมดูลาร์ออกแบบด้วยรูปร่างและขนาดที่ต่างกันพร้อมปรับให้เข้ากับความต้องการและพื้นที่ต่างๆ โดยโครงสร้างจะมีความทนทาน ใช้ซ้ำ และเคลื่อนย้ายได้ รวมถึงสามารถปรับเพื่อวัตถุประสงค์อื่นในสถานที่ต่างๆ ได้ เช่น เป็นที่พักพิงฉุกเฉินประจำปีสำหรับผู้ประสบอุทกภัยในกรุงจาการ์ตา
อาคารยาว 32 เมตรใช้ประโยชน์จากสภาพของพื้นที่ซึ่งมีทางลาดเข้า-ออกอยู่ภายใต้หลังคาของอาคารหลัก สร้างทางสัญจรที่เชื่อมต่อได้อย่างสะดวกและปลอดเชื้อ ซึ่งภายในอาคารแห่งใหม่จะประกอบด้วยส่วนต้อนรับ ห้องสำหรับรอตรวจ ห้องตรวจ และพื้นที่บุคลากรทางการแพทย์ โดยผนังกั้นจะแยกแต่ละห้องรอซึ่งมีทั้งส่วนที่นั่งและพื้นที่สำหรับรถเข็น และประกอบไปด้วยทางออกสองทาง ทางหนึ่งแยกไปส่วนล็อบบี้ของโรงพยาบาล และอีกทางหนึ่งจะนำไปสู่คลินิกการติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างไม่ปนเปกัน
ฟาซาดอาคารสถาปนิกออกแบบด้วยโพลีคาร์บอเนตโปร่งแสง ที่เชื่อมโยงพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าไว้ด้วยกัน ความโปร่งใสของวัสดุยังอนุญาตให้แสงธรรมชาติไหลผ่าน ช่วยลดการใช้พลังงานในระหว่างวัน ส่วนช่องเปิดด้านหน้าจะทำหน้าที่ระบายอากาศซึ่งเป็นส่วนจำเป็นสำหรับอาคารโรงพยาบาล โครงการนี้จึงนับเป็นตัวอย่างของการออกแบบอย่างชาญฉลาดที่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ Covid-19 ในปัจจุบันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
Adamant Hospital
By Seine Design
Paris , France
มองเพียงแว่บแรก อาคารกลางน้ำหลังนี้ดูจะเป็นสตูดิโอศิลปินมากกว่าการเป็นโรงพยาบาลจิตเวช อาจเพราะการออกแบบที่เน้น ‘Therapy workshops’ เพื่อลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ดูจะเป็นช่วงเวลาหนักหน่วงสำหรับคนไข้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยความที่ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะทุกข์ทรมานจากโรคที่หลากหลาย โครงการเวิร์กช็อปเชิงสร้างสรรค์อย่างการทำเครื่องปั้นดินเผา ดนตรี หรือการวาดภาพ จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูให้ผู้ป่วยต้องการมีชีวิตอยู่และกลับมาอยู่ท่ามกลางสังคมได้อย่างเป็นสุข
แนวทางของการออกแบบอาคาร คือการให้ความสำคัญกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันซึ่งผู้ป่วยสามารถพบได้บ่อย อย่างเช่น สภาพอากาศ ฝน แดด หรือลม แสงสะท้อนในแม่น้ำจะเปลี่ยนเป็นแสงไฟและเงา หลังบานประตูหน้าต่างที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ อีกทั้งทางเดินเรือยังทำให้เกิดการเคลื่อนไหว โยกเยกเบาๆ ได้อย่างผ่อนคลาย
แผงฟาซาดเปิดปิดได้บริเวณด้านหน้าอาคาร ทำหน้าที่รักษาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ อีกทั้งยังเปิดรับแสงธรรมชาติที่ทำให้อาคารโรงพยาบาลดูโปร่ง โล่งและเป็นมิตรมากขึ้น บริเวณส่วนหน้าของอาคารทำจากไม้ซึ่งเป็นโมดูลาร์ทั้งหมด โดยมีบานประตูหน้าต่างแบบเคลื่อนย้ายได้ ทำให้บรรยากาศภายในและภายนอกแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาของวัน
คุณภาพของพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยอยากกลับมารักษา พื้นที่ภาพรวมทั้งหมดจึงทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ ซึ่งผิวน้ำและ แสงแดดที่ส่องกระทบไม้จะช่วยเติมเต็มความอบอุ่น และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเสมือนอยู่บ้าน ส่วนการออกแบบอาคารในลักษณะสมมาตรยังแสดงออกถึงความเป็นสถานพยาบาลที่พร้อมเปิดกว้างต่อสาธารณชน
Weihai Hospital of Traditional Chinese Medicine
By GLA
Weihai , China
โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนเหว่ยไห่ตั้งอยู่ในเขตป่าสนชายฝั่งทะเล ครอบคลุมพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 8,000 ตร.ม. ซึ่งในการออกแบบปรับปรุงอาคารใหม่ สถาปนิกจำเป็นต้องรักษาป่าสนดำที่อยู่โดยรอบให้มากที่สุด
การออกแบบสถาปัตยกรรมยังมีการนำองค์ประกอบจีนมาใช้เป็นส่วนหลัก ตลอดจนการตกแต่งในสไตล์จีนดั้งเดิม ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดการออกแบบที่พยายาม ‘เลียนแบบแต่ไม่ใช่การคัดลอกจากสไตล์ดั้งเดิม’ เปิดโอกาสให้เราได้เห็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของคอร์ดยาร์ดบ้านในทางภาคเหนือของจีน
ผู้ออกแบบแบ่งขนาด และลำดับการเข้าถึงของสเปซ โดยอ้างอิงจากสถาปัตยกรรมในแบบจีน คอร์ดยาร์ด (Chinese Courtyard) จึงถูกแบ่งออกเป็นลานที่มีกำแพงสี่ด้าน ลานที่มีกำแพงสองด้าน และอาคารสองหลังที่หันหน้าเข้าหากัน ซึ่งลานต่างๆ นี้จะเชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านทางเดินแกนเหนือ-ใต้ และแกนตะวันออก-ตะวันตก ดังนั้นผู้มาเยือนจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของการเดินผ่านคอร์ดยาร์ดจีนแบบดั้งเดิม ที่จำเป็นต้องผ่านพื้นที่หลายต่อหลายชั้น สอดแทรกกลิ่นอายของวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนได้อย่างลงตัว
คอร์ดยาร์ดทางทิศเหนือ-ใต้ ล้อมรอบด้วยทางเดินกลมภายใต้ชายคา เฉลียงทรงกลมและอาคารสี่เหลี่ยมที่ล้อมรอบ สะท้อนถึงปรัชญาอันเรียบง่ายของจีนที่ว่า “โลกสี่เหลี่ยมและท้องฟ้าทรงกลม แสดงความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ”
Hospital Nova
By JKMM Architects
JYVÄSKYLÄ, Finland
บินลัดฟ้ามาที่แถบแสกนดิเนเวียนอย่างฟินแลนด์กันบ้าง ถึงแม้จะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความสุข แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาคือภาคส่วนของโรงพยาบาลในฟินแลนด์ที่ต้องติดอยู่กับความทุกข์ทรมานจากสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงพยาบาลที่เก่า และขาดการรักษาพยาบาลในรูปแบบใหม่ๆ โรงพยาบาลเก่าจิแวสกูลาในฟินแลนด์เป็นตัวอย่างหนึ่ง ก่อนจะถึงเวลาต้องปรับปรุง คิดนอกกรอบโดยได้ทีมสถาปนิกจาก JKMM เป็นผู้ออกแบบ
จุดเด่นของ Hospital Nova อยู่ที่แนวคิดการใช้งาน ซึ่งได้รับการออกแบบโดยมุ่งเน้นผสมผสานระหว่างความเป็นโรงพยาบาลยุคใหม่ที่มีนวัตกรรมมากมาย ในขณะที่ยังคงรักษาความเรียบง่ายของการใช้งาน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติของฟินแลนด์
โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ได้มีเพียงหนึ่งอาคารที่ใหญ่โตจนคนไข้เดินหลงราวกับเป็นเขาวงกต แต่กลับแบ่งออกเป็นอาคาร 4 ประเภทที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน นั่นคือ ‘Hot Hospital’ (การผ่าตัดและการดูแลเฉพาะทาง), ‘Hotel’ (หอผู้ป่วย), ‘Health Care Shopping Mall’ (ผู้ป่วยนอก) และ ‘Factory’ (หน่วยงานสนับสนุน) โดยการแบ่งพื้นที่ใช้งานในลักษณะดังกล่าวยังมีประโยชน์หลายประการ ตั้งแต่การดูแลผู้ป่วยที่ทำได้ดีขึ้น ไปจนถึงการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ในส่วนของฟังก์ชัน ‘Hot Hospital’ อย่างเช่น กรณีฉุกเฉิน การวินิจฉัย หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก และการผ่าตัด จะถูกรวบรวมไว้ในโซนเดียวซึ่งใช้พื้นที่เพียง 25% จากพื้นที่ทั้งหมดของโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้มีพื้นที่ เส้นทางสัญจรที่กระชับ และมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเดิม (รวมไปถึงเส้นทางสัญจรของแผนกฉุกเฉินที่สะดวกและทำให้รวดเร็วมากขึ้นด้วย) นอกจากนี้ในส่วนของผู้ป่วยนอกยังมีการออกแบบใหม่ โดยมีห้องให้คำปรึกษาทั้งหมด 360 ห้องกระจายตัวกันไปตามห้องโถงใหญ่
พื้นที่ภายในทั้งหมดยังออกแบบได้อย่างเป็นกันเอง ห้องโถงใหญ่ 3 ชั้นมองอย่างผิวเผินเหมือนแกลเลอรี่หรือศูนย์การค้ามากกว่าโรงพยาบาลแบบดั้งเดิม ซึ่งการออกแบบวางผังใหม่นี้ยังทำให้คนไข้เข้าใจแผนผังของโรงพยาบาลได้อย่างง่ายดาย โดยทางเข้าหลักจะนำไปสู่ห้องโถงใหญ่ที่มีไฟส่องสว่าง เชื่อมต่อสู่พื้นที่ร้านอาหาร ห้องสัมมนา หรือลานศิลปะ ซึ่งออกแบบให้โปร่งโล่ง มองเห็นได้ง่ายและมีแสงธรรมชาติส่องถึง
Umeda Hospital
By Kengo Kuma & Associates
Hiraki , Japan
โรงพยาบาลอุเมดะเป็นโรงพยาบาลสูตินรีแพทย์ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการคลอดบุตรและการเลี้ยงดูบุตรในลักษณะที่เป็นมิตรต่อผู้คนและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยได้รับการรับรองจาก UNICEF ให้เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่เป็นมิตรกับเหล่าเด็กทารกแรกเกิด
Umeda Hospital นำโดยคุณหมออุเมดะ ผู้ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการกอด เพื่อสะท้อนแนวคิดดังกล่าวออกมาให้เห็นผ่านสถาปัตยกรรม สถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้ในหลายๆ พื้นที่เพื่อแสดงถึงความอบอุ่น ความสะดวกสบายและความเรียบง่าย เสาป้ายบอกทางภายในโรงพยาบาลถูกพิมพ์ขึ้นบนผ้า สวมใส่บริเวณเสาและสามารถถอดซักได้ เช่นเดียวกับเสื้อผ้า เป็นกิมมิคเล็กๆ ที่ทำให้บรรยากาศของโรงพยาบาลนั้นนุ่มนวลและดูเป็นกันเอง
ในการออกแบบโรงพยาบาลซึ่งเป็นส่วนขยายของสถานพยาบาลเดิม คุมะตัดทอนส่วนหน้าของโรงพยาบาลที่มีอยู่ 4 ชั้น แทนที่ด้วยส่วนเสริมรูปตัว L 5 ชั้น โดยมีทางเข้าหลักที่เปิดออกสู่ล็อบบี้โรงพยาบาล ขนาบข้างด้วยแผนกกุมารเวชศาสตร์และสูติศาสตร์ การสร้างโรงพยาบาลใหม่ยังรวมถึงการออกแบบพื้นที่บำบัดสุดล้ำสมัย และการเพิ่มเอกลักษณ์ใหม่ให้กับโรงพยาบาล ช่วยเปลี่ยนโฉมสถานพยาบาลในแบบเดิมๆ ในขณะที่ยังคงส่วนหนึ่งของอาคารเดิมได้อย่างแนบเนียน
“ผมคิดว่าโรงพยาบาลและชุมชนน่าควรมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น” คุมะกล่าว สถาปัตยกรรมจึงมีการออกแบบบานเกล็ดไม้ เป็นวัสดุที่ทำหน้าที่ทักทายผู้คน ภายใต้หลังคาเหล็กกัลวาไนซ์ที่ปกคลุมและแสดงตัวตนของอาคารสถานพยาบาลเดิมที่อยู่ด้านหลังได้อย่างลงตัว
Buerger Center for Advanced Pediatric Care
By Pelli Clarke Pelli Architects
Philadelphia , USA
ศูนย์กุมารเวชศาสตร์แห่งนี้ เป็นอาคาร 12 ชั้นและ 6 ชั้น ที่ประกอบด้วยรูปแบบที่เรียงซ้อนกันเป็นลูกคลื่น พร้อมทักทายผู้ป่วยจากสีสันของการออกแบบสถาปัตยกรรม
พื้นต่างๆ ภายในโรงพยาบาลสามารถจดจำและใช้งานได้โดยง่าย สเปซต่างๆ แสดงให้เห็นถึงการ “รอ เล่น และเรียนรู้” เพื่อให้เด็กๆ มีส่วนร่วมไปกับการรักษาได้อย่างสนุกสนาน อีกทั้งยังมีพื้นที่สวนดาดฟ้าสำหรับการฟื้นฟูและรองรับการเล่นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยลดความเครียดจากการที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล นอกจากนั้นลานรอบนอกอาคารยังออกแบบภูมิทัศน์ขนาด 3 เอเคอร์ เป็นพื้นที่เปิดโล่งสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจที่ปลอดภัย การพบปะสังสรรค์ในครอบครัว รวมถึงสวนสมุนไพรสำหรับใช้ในการรักษา
พื้นที่ทั้งหมดเน้นเส้นสายการออกแบบในลักษณะโค้งลื่นไหล เพื่อให้เด็กๆ ได้เดินซิกแซก สร้างความสนุกสนานและเพิ่มชีวิตชีวาได้มากขึ้น รวมถึงสีสันภายนอกอาคารยังถูกนำมาออกแบบภายในเช่นเดียวกัน สำหรับการออกแบบ Buerger Center เฟสที่ 2 จะขยายศูนย์กุมารเวชศาสตร์เป็น 16 ชั้น โดยอาคารยังสามารถปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในการให้บริการด้านสุขภาพ หรือใช้เป็นสำนักงาน การวิจัย หรือแผนกผู้ป่วยในได้
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.archdaily.com/961242/tambacounda-hospital-manuel-herz-architects?ad_source=search&ad_medium=search_result_projects
http://www.manuelherz.com/tambacounda-hospital
https://www.archdaily.com/947140/st-carolus-hospital-screening-facility-at-lars?ad_source=search&ad_medium=search_result_projects
https://www.designboom.com/architecture/at-lars-prefab-micro-healthcare-facility-scaffolding-jakarta-09-06-2020/
https://www.archdaily.com/934267/adamant-hospital-seine-design?ad_source=search&ad_medium=search_result_projects
https://www.archdaily.com/898817/weihai-hospital-of-traditional-chinese-medicine-gla?ad_source=search&ad_medium=search_result_projects
https://www.archdaily.com/961829/hospital-nova-jkmm-architects?ad_source=search&ad_medium=search_result_projects
https://www.archdaily.com/792313/umeda-hospital-kengo-kuma-and-associates
https://www.architecturalrecord.com/articles/11764-umeda-hospital-by-kengo-kuma-and-associates
https://www.archdaily.com/780867/buerger-center-for-advanced-pediatric-care-pelli-clarke-pelli-architects?ad_source=search&ad_medium=search_result_all
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!