เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่า ในอนาคตโลกของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง หลายคนคงมีจินตนาการที่ผุดขึ้นในหัวมากมาย ทั้งภาพการ์ตูนที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างโดราเอมอน หุ่นยนต์แมวที่พกกระเป๋าวิเศษไว้ที่หน้าท้อง หรือของวิเศษที่ปรากฏในเรื่อง บ้างก็ถูกสร้างขึ้นแล้วในโลกปัจจุบัน อย่างนั้นการคิดถึงโลกอนาคตไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ผู้คนมากมายจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ รวมถึงสถาปนิก ผู้กำกับ หรือนักเขียนมากมายที่สนใจศึกษาโลกอนาคตแบบดิสโทเปีย (Dystopia) เป็นพิเศษ
ดิสโทเปีย (Dystopia) มักกล่าวถึงโลกอนาคตอันแสนเลวร้าย และภาพยนตร์แนวนี้ชอบนำสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist มาเป็นฉากหรือสถานที่หลักในเรื่อง เพราะอะไรสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist มักโผล่อยู่ในภาพยนตร์แนวนี้ หลายคนอาจสงสัย อาจเพราะก้อนคอนกรีตที่ใหญ่โตและดูมีอำนาจหรือเปล่า? วันนี้ขอชวนทุกคนมาติดตามดู 5 ภาพยนตร์ที่ผู้กำกับเลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบBrutalist ในโลกดิสโทเปียที่เราคัดสรรมาให้คุณ!
Dystopian Architecture
สถาปัตยกรรมในอนาคตของสังคมที่ไม่พึงปรารถนา แนวคิดนี้เริ่มมาจากแนวคิดเรื่องยูโทเปีย หมายถึงโลกในอุดมคติที่ผู้คนมีสันติสุข ไม่มีความทุกข์ยาก และแน่นอนว่าสังคมแบบยูโทเปียไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ จินตนาการของมนุษย์จึงได้คิดโลกตรงข้ามขึ้นมา ซึ่งก็คือโลกดิสโทเปีย ตั้งแต่ปีค.ศ.1868 โดย John stuart mill นับจากนั้นวงการภาพยนตร์ก็ได้ผลิตหนังแนวโลกอนาคตแบบดิสโทเปียขึ้นมาหลายเรื่องด้วยกัน อย่างที่เคยกล่าวก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่อาคารในเรื่องมักจะใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Brutalist
แล้วทำไมต้อง Brutalist Architecture? Brutalist Architecture เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากและมีความเกี่ยวพันกับอุดมการณ์ทางการเมืองและสมาคมต่าง ๆ รวมไปถึงมุมมองแบบเผด็จการที่ถือกำเนิดขึ้นในวัฒนธรรมสมัยนิยม ด้วยโครงสร้างหลายอย่างที่ใช้ในภาพยนตร์ดิสโทเปียและนิยายภาพ หลายคนจึงมีมุมมองเชิงลบต่อโครงสร้าง Brutalist ว่ามีรูปร่างที่ใหญ่โต น่าเกลียด คล้ายป้อมปราการ และพวกเขามองว่าเป็นพวกกดขี่ แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบฟอร์มภายนอกของอาคาร การแสดงสัจจะของวัสดุ มีความใหญ่โตและกล้าแสดงออก ที่อาคารเหล่านี้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบแบบสุดขั้ว เพราะความงามไม่สามารถตัดสินได้โดยใครคนใดคนหนึ่งนั่นเอง
Equals (2015) สถาปัตยกรรมแห่งการไม่มีตัวตน
เรื่องแรกคือ Equals (2015) เป็นภาพยนตร์แห่งอนาคตที่แสดงให้เห็นถึงสังคมในอุดมคติ แต่คนในสังคมปราศจากอารมณ์ความรู้สึก สถาปัตยกรรมแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของตัวละคร เรื่องนี้ต่างจากนิยายส่วนใหญ่ที่ใช้เอฟเฟกต์เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์ dystopian แต่เน้นไปที่ใช้สถานที่ถ่ายทำจริงมากกว่า
สถานที่ส่วนใหญ่ที่ปรากฏในเรื่องนี้ตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออก เช่น สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำคือ Awaji Yumebutai Conference Center ในญี่ปุ่น ออกแบบโดย Tadao Ando ด้วยรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายของอาคารขนาดมหึมา การใช้คอนกรีตเปลือย และกระจกส่องน้ำ ทั้งหมดเพื่อเสริมสร้างความสงบของสังคมที่ไร้อารมณ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะที่พื้นที่ส่วนกลางและหอประชุมขนาดใหญ่ช่วยยกระดับแนวคิดเรื่องการรวมกลุ่มตามความต้องการของผู้นำในเรื่อง
นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ Sayamaike ในญี่ปุ่นยังได้รับการออกแบบโดยอันโดะนั้น ยังมีลานคอนกรีตที่ล้อมรอบด้วยน้ำตก แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดและความยิ่งใหญ่ของอำนาจการปกครอง ลักษณะเหล่านี้ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่นำผู้ติดเชื้อไวรัสไปบำบัดอารมณ์ เนื่องจากความเป็นกลางของคอนกรีตที่เปิดโล่งและน้ำตกขนาดใหญ่ทำให้เกิดความสงบที่จำเป็นในสถานพักฟื้น
A Clockwork Orange (1971) สถาปัตยกรรมที่ถูกใช้เป็นอาวุธ
ตึกจากภาพยนตร์เรื่อง A Clockwork Orange (1971) เป็นอีกฉากหนึ่งที่แฟนหนังเรื่องนี้ต้องยังพอจำกันได้ โดยต้นเรื่องเกิดจาก อเล็กซ์ ตัวเอกของเรื่องที่เป็นอาชญากร ถูกจับเข้าคุกในช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนคนเลวให้เป็นคนดี เขาได้ยินข่าวการทดลองจากรัฐบาล ทำให้เขาเชื่อว่าสามารถทำให้ตนเองออกจากคุกเร็วขึ้นได้ จากนั้นเขาตกลงรับการทดลองที่สถาบันแพทย์ลูโดวีโก
สถาปัตยกรรมข้างหลังเป็นแบบ Brutalism ที่ดูทรงอำนาจ ลักษณะคล้ายป้อมปราการ และที่ทำให้เหมือนรัฐเผด็จการนาซีก็ด้วยการแต่งตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เสริมความหมายในฉากนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งสังคมในเรื่องนั้นเป็นสังคมแห่งโลกอนาคตที่เจริญไปด้วยเทคโนโลยีระดับสูงมากมาย แต่ผู้คนกลับมีคุณธรรมต่ำลง
ในภาพยนตร์นั้นอาคารหลังนี้อาจแทนความหมายเป็นอาวุธที่รัฐบาลจะใช้จัดการกับนักโทษในเรื่องโดยการเปลี่ยนให้เขาเป็นคนไขลานอย่างที่รัฐต้องการ แต่ความเป็นจริงที่นี่คืออาคารเรียน ของ Brunel University มหาวิทยาลัยชื่อดังจากสหราชอาณาจักร ที่ถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ.1966-1971 โดยสถาปนิก Richard Sheppard ซึ่งไม่ได้มีความหมายแฝง มีก็เพียงแต่ต้องการให้เกิดความทันสมัยในยุคนั้นเพื่อเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่น ๆ แต่ก็เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากหลังจากสร้างเสร็จ เมื่ออาคารถูกนำมาเป็นฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้
Dredd (2012) สถาปัตยกรรมเมืองลอยฟ้าในอนาคต
เป็นเรื่องในอนาคตที่เล่าถึงเรื่องราวในยุคศตวรรษที่ 22 เมืองสมมุติชื่อ Mega city one ตั้งอยู่ชายฝั่งแอตแลนติกของสหรัฐอเมริกา มีประชากรกว่า 400 ล้านคน อาศัยอยู่ในสลัมบนตึกระฟ้าที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรมจากมลภาวะและอาชญากรรม เมืองปกครองด้วยกลุ่มผู้รักษากฎหมายที่เรียกว่า “จัดจ์” (judge) ทำหน้าที่เป็นทั้งตำรวจ ผู้พิพากษา ลูกขุน และเพชฌฆาต
90% ของภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ใน Peach Trees เป็นโครงการบ้านจัดสรรนาดใหญ่ 200 ชั้นในเขต 13 ของเมือง Mega-City One แต่ละช่วงตึกเปรียบเสมือนโลกที่แยกจากกัน เกือบจะเป็นเมืองหนึ่งที่แยกออกจากเมืองใหญ่ภายนอก ทั้งมีร้านค้า สถานบันเทิง และระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ Futurism ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ mega city one ขาดการจัดการที่ดีก็เท่านั้นตึกนี้จึงกลายเป็นอาวุธร้ายที่คอยทำร้ายพลเมืองโดยกลุ่มคนไม่กี่คน
ด้วยความล้ำสมัยและแนวคิดเรื่องเมืองลอยฟ้าของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทำให้นึกถึงแนวความคิดแบบ Metabolism Architecture ขึ้นมา หลายคนอาจเคยเห็นมาบ้างแล้วว่า Metabolism เป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมที่มีการออกแบบคล้ายเซลล์ที่แตกตัวออก เน้นแนวคิดของการเติบโตทางชีววิทยาในสถาปัตยกรรม และพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าเมืองตลอดจนโครงสร้างนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่งที่สามารถพัฒนาเติบโตได้ แนวคิดการพัฒนาเมืองมีความคล้ายคลึงกับตึกในเรื่อง Dredd
อย่างผลงานการออกแบบ The City in the Air ของ Arata Isozaki ที่เป็นที่โด่งดังในแวดวงสถาปนิก เป็นการวางผังเมืองในอนาคตของเมืองชินจูกุ ประเทศญี่ปุ่น มีการออกแบบเส้นทางคมนาคม บ้านพักอาศัย และอาคารต่าง ๆ ให้ลอยขึ้นเหนือเมืองชินจูกุในปัจจุบัน ถึงแม้ว่า โปรเจคนี้จะไม่ได้สร้างขึ้นจริง แต่แนวคิดนี้ถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาสังคมเมืองญี่ปุ่นให้ทันสมัยมากขึ้น และยังเป็นโปรเจคที่ทำให้ Arata Isozaki ได้วางผังเมืองในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกอีกด้วย
Equilibrium (2002) สถาปัตยกรรมแห่งการกดขี่
Equilibrium เป็นเรื่องราวของประเทศสมมุติที่ถูกรัฐควบคุมและริดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ไปจนถึงการเสพสุนทรียะเช่นงานศิลปะ รวมถึงการแสดงออกทางอารมณ์และความรู้สึกก็ห้ามอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นฉากอาคารต่าง ๆ ในเรื่องยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรมของระบอบนาซีและฟาสซิสต์ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกของกรีกและโรมันอีกด้วย สถาปัตยกรรมที่ใหญ่โตเกินไปนั้นทำให้ลดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และอาคารลง เป็นผลที่ทำให้ความเป็นตัวเองผู้คนลดลง กดขี่ให้มนุษย์อยู่ในระบบโครงสร้างของเรื่อง เหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้กำกับต้องการจะสื่อว่าประชาชนต้องอยู่ใต้อำนาจอย่างไม่มีเงื่อนไข
Equilibrium Centre สถานที่ถ่ายทำคือทางเข้าของ Olympia Glockenturm ซึ่งเป็นหอระฆังที่อยู่ด้านหลัง Olympiastadion ประเทศเยอรมัน มีการใช้CGIเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งหอคอยนี้เคยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ฉากหลังเป็นอนุสรณ์ที่เหมาะสมกับที่นั่งของแขกผู้มีเกียรติด้วย (ซึ่งคาดว่าเป็น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์)
High Rise (2015) สถาปัตยกรรมแห่งการควบคุม
ถ้าพูดถึงเรื่อง High Rise บางคนอาจคุ้นเคยกับนิยายของ JG Bullard นวนิยายในปี 70s ซึ่งถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ในปี2015 เรื่องราวเกิดในปี 1975 พูดถึงการแบ่งชนชั้นภายในตึกที่ออกแบบโดยสถาปนิก (ในเรื่อง) ที่ไม่ได้ใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย ด้านบนเป็นที่อยู่ของเศรษฐี ถัดลงมาเป็นที่อยู่ของชนชั้นกลาง และชั้นล่างเป็นที่อยู่ของชนชั้นแรงงาน สิ่งอำนวยความสะดวกบางอย่างเช่นสวนบนดาดฟ้า สระน้ำ ก็ถูกจำกัดให้ชนชั้นสูงใช้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ชนชั้นล่างทนไม่ไหวจึงเริ่มประท้วงเพื่อเรียกร้องให้แก่ผู้อาศัยทุกคนได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเท่าเทียม
การตกแต่งภายใน เสาที่กลับหัวทำให้มีความรู้สึกว่าอาคารหลังนี้กำลังกดขี่ผู้คนที่ใช้อาคารอยู่ เสาคอนกรีตเปลือยที่วางกลางห้องได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจเท่าไหร่ในการพักโรงแรมของผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ห้องพักของเขามีเสาตั้งอยู่กลางห้อง เขาเข้าใจว่าทำไปเพื่อความแข็งแรงของอาคาร แต่กระนั้นสถาปนิกเองที่กลับเป็นฝ่ายไม่สนใจความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย ที่ต้องได้รับความอึดอัดของพื้นที่ว่างที่ไม่ได้สัดส่วนของเสาพวกนั้น เขารู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในตึกสูงที่อึดอัดคล้ายว่าอยู่ในคุกแม้จะไม่มีผู้คุมนักโทษก็ตาม
ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ทำการสเก็ตลงสตอรี่บอร์ดกว่า 700 แบบ เพราะอาคารทำหน้าที่เป็นตัวละครหลักที่สำคัญ จากนั้นเขาส่งแบบให้กับสถาปนิกเพื่อออกแบบต่อ ฟอร์มตึกทั้งหมดถูกกลับหัวลง เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนมันกำลังควบคุมผู้คนอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างจึงถูกออกแบบเพื่อให้กดขี่ผู้พักอาศัยที่อยู่ชั้นล่างกว่า เช่น ระเบียงของห้องที่อยู่ชั้นบนกว่าสามารถมองเห็นระเบียงของห้องข้างล่างได้ ความเป็นส่วนตัวของคนแต่ละชั้นจึงต่างกันมาก ทั้งหมดมาจากความคิดที่ว่าตัวอาคารเองไม่สนใจผู้คนภายในอาคารเลยแม้แต่น้อย เพราะสถาปนิกในเรื่องมองว่าอาคารก็เปรียบเสมือนโลกทุนนิยมที่คนชั้นล่างต้องดิ้นรนมากกว่าชนชั้นบนนั่นเอง
คงเป็นอย่างที่สำนักพิมพ์สมมติเคยกล่าวไว้ว่า “สำหรับบางคน ภาพยนตร์แนวดิสโทเปียเป็นเสมือนคู่มือ เป็นบทเรียนแห่งอนาคตจากโลกแห่งอดีต” แต่บางครั้งมนุษย์เราก็ง่วนอยู่กับความคิดที่ว่าโลกใบนี้กำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ มากกว่าที่จะสนใจว่า เราจะรับมืออยู่ในโลกใบเดิมได้อย่างไร ซึ่งทั้งสองความคิดก็น่าสนใจทั้งคู่แม้เป็นมุมมองที่ต่างกัน
แต่ในอนาคต ‘เทคโนโลยีจะมอบอะไรให้เราบ้าง’ อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี ที่จะสามารถพัฒนาไปด้วยกันได้ในทิศทางไหนได้บ้าง บางครั้งโลกอนาคตอาจมีหน้าตาไม่ต่างไปจากโลกปัจจุบัน อาจจะยังคงมีเฟอร์นิเจอร์ไม้ กระเบื้องดินเผา หรือแม้แต่กระดาษ
สิ่งที่เราควรใส่ใจอาจไม่ใช่ว่าโลกดิสโทเปียเดินทางมาถึงแล้วหรือยัง จริง ๆ แล้วเราอาจยืนอยู่บนมันแล้วก็เป็นได้ เพียงแต่ส่วนสำคัญที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดคือเราจะรับมืออย่างไรให้โลกใบนี้ยังคงน่าอยู่เหมือนเดิมทั้งสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นที่พักพิงของเรา และมิใช่อาวุธอย่างที่เคยปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ต่าง ๆ
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก
https://www.flickr.com/photos/evandagan/13387881665/
https://www.archdaily.com.br/br/889083/cinema-e-arquitetura-equals-a-arquitetura-da-impessoalidade
https://www.behance.net/gallery/67441235/Osaka-Prefectural-Sayamaike-Museum-
https://bogeart.wordpress.com/tag/dystopia/
https://davidrothwellgraphics.wordpress.com/2017/11/20/brutalist-berlin-west-vs-east/
https://www.wurkon.com/blog/150-dystopian-architecture-in-films
http://www.modernism-in-metroland.co.uk/lecture-block-brunel-university.html
https://www.archdaily.com/912738/the-city-in-the-air-by-arata-isozaki
https://www.designboom.com/architecture/kisho-kurokawa-nakagin-capsule-tower-tokyo-faces-demolition-05-12-2021/
https://www.movie-locations.com/movies/e/Equilibrium.php
https://www.archdaily.com/247836/films-architecture-equilibrium
https://independentrevolutiondotnet.wordpress.com/2014/02/12/italian-fascist-architecture-through-the-movie-the-conformist-and-titus/comment-page-1/
https://www.dezeen.com/2016/03/25/high-rise-movie-not-a-criticism-of-post-war-architecture-interview-director-ben-wheatley/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!