SHU
ร้านรองเท้าที่บอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่

SHU รองเท้าแบรนด์ไทยชื่อดัง ที่มัดใจคนไทยและไปสู่ระดับโลก แบรนด์ SHU ประสบความสำเร็จ เติบโต และขยายสาขาไปตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ของกรุงเทพฯ ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นครั้งแรกที่ร้านมีการ Rebrand โดยได้ดีไซเนอร์จาก Gratitude Design มาช่วยกำหนดทิศทาง แนวคิด และดีไซน์ของร้าน โดยโจทย์ที่ได้รับในการออกแบบครั้งนี้ ทางเจ้าของต้องการให้ผู้ออกแบบ มองหาแนวคิดที่รองรับกับการเติบโตของแบรนด์ เป็นที่จดจำของผู้คนที่พบเห็น 

ทางทีมดีไซเนอร์จึงมีแนวความคิดมาจากรองเท้ารุ่นยอดฮิตที่ถือเป็น Signature ของแบรนด์ นั่นคือรุ่น Sofa Shu ซึ่งเมื่อพูดถึงรองเท้ารุ่นนี้ ความรู้สึกแรก คือ ความนุ่ม เป็นที่มาของการใช้ GRID LINE นำมาเป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบร้าน มิติของการเดินทาง Life motion รองเท้า คือ การเดินทาง ส่วนกระจกคือสิ่งสะท้อนความหลากหลายของมิติความงาม

(แปลนร้าน SHU)

พื้นที่ภายในร้าน SHU ออกแบบให้มีโทนสว่างและดูโปร่ง โดยใช้โทนสีขาว เทา และวัสดุที่มีความสะท้อนแสง เพื่อสื่อถึง Reflection อย่าง กระจก หรือสแตนเลส  ที่บอกเล่าเรื่องราวการสะท้อนตัวตนของผู้สวมใส่ การซ้อนกันของวัสดุ สร้างตัวตนในมุมมองสินค้าที่แตกต่าง และเลือกใช้วัสดุหลากหลายรูปแบบที่สามารถสะท้อนได้ ให้มีความแปลกใหม่ในหลายมิติ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการทับซ้อน โดยได้ปรับ ลด ทอน และคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลัก

แพทเทิร์นของกระเบื้องพื้นใช้การร้อยเรียงในลักษณะลดหลั่นกัน เพิ่มความน่าสนใจโดยการเพิ่มแผ่นสแตนเลสทำให้พื้นดูมีความพิเศษมากขึ้น ฟังก์ชันการใช้งานที่สำคัญ คือ กอนโดล่าที่สามารถวางรองเท้าได้ครบทุกคอลเล็กชัน และยังไม่ลืมแทรกที่นั่งสำหรับลองรองเท้าในแต่ละกอนโดล่า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญของร้าน  

โซนเคาน์เตอร์ ออกแบบให้มีผนังโค้งที่โอบรับกับตัวเคาน์เตอร์โดยใช้วัสดุสแตนเลสแฮร์ไลน์ เมื่อมองเข้ามาจากทางหน้าร้าน จึงให้ความรู้สึกโดดเด่นขึ้น และยังมีโลโก้ซ่อนไฟอยู่บริเวณด้านหลังของเคาน์เตอร์ ส่วนฝ้า ทีมออกแบบยังคงใช้เส้น Grid line มาตกแต่งเพื่อเป็นการไฮไลท์พื้นที่ ทำให้บริเวณนี้ดูสว่างมีมิติและเป็นเอกลักษณ์ของร้านอีกด้วย

*คำอธิบายทั้งหมดโดยผู้ออกแบบ (Text description by the architects)

Credits ;
Location :
เซนทรัล พระราม 2
Gross Built Area: 150 ตารางเมตร
Completion Year :  2020

Architecture Firm: Gratitude Design
Lead Architects: วรากร เติมวัฒนาภักดี
Owner: กรกนก สว่างรวมโชค
Electrical Engineer: อังกูร เชยเอี่ยม

Photographer: Panoramic Studio