Phetkasem Artist Studio
กับการรีโนเวททาวน์เฮาส์เก่าผ่านการสำรวจและคิดค้น ‘อิฐท่อเหล็ก’

ย้อนเวลากลับไปเมื่อสามสิบปีก่อน หากเราลองสังเกตรูปร่างหน้าตาของบ้านทาวน์เฮาส์หรืออาคารพาณิชย์ เราจะพบองค์ประกอบหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน มองไปทางไหนก็คล้ายกันไปเสียหมด สิ่งนั้นคือ โครงสร้างที่แต่ละบ้านต่างต่อเติมไปตามวิถีชีวิต และเรื่องราวของตนไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมรั้วเพื่อให้ได้พื้นที่โรงรถที่ใหญ่ขึ้น ต่อเติมหลังคาเพื่อให้มีพื้นที่เก็บของที่มากขึ้น ทำกันสาดเพื่อตอบสนองความยืดหยุ่นในการใช้งาน หรือแม้แต่การตั้งไม้กระถางหน้าบ้านเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่อย่างจำกัด

ซึ่งโครงสร้างต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น ‘ชั่วคราว’ นี้กลับกลมกลืนกันอย่างน่าประหลาด ผ่านการเลือกใช้วัสดุโลหะอย่าง ‘ท่อเหล็กและกล่องเหล็ก สะท้อนถึงความเป็น ‘วัสดุหาง่ายในประเทศไทย’ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป ประเทศไทยเรา เคยเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ แต่น่าเสียดายที่วัสดุนี้ กลับไม่ได้รับการออกแบบที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นเหล็กได้อย่างแท้จริง เพราะมักจะถูกนำไปใช้ในงานโครงสร้าง ป้ายโฆษณา หรือเหล็กดัดกันขโมย ที่เราเห็นกันบ่อยๆ เสียมากกว่า

หลังจากที่ ป้อ-กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ Jenchieh Hung ทำงานเป็นสถาปนิกมากประสบการณ์ในต่างประเทศอยู่หลายปี และได้ร่วมกันก่อตั้ง HAS design and research ที่เซี่ยงไฮ้ เมื่อเกิดโควิด-19 เมื่อช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา ทั้งคู่จึงได้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกครั้ง ก่อนจะร่วมกันรีโนเวททาวน์เฮาส์เก่าในซอยเพชรเกษม ให้กลายเป็นที่ตั้งของ HAS design and research สาขากรุงเทพฯ และบ้านพักอาศัย โดยนำการทดลองเรื่องวัสดุ อิฐท่อเหล็ก’ ที่ค้นพบและสนใจในบ้านไทยปัจจุบันมาประยุกต์จนลงตัวใน Phetkasem Artist Studio

ออกสำรวจวัสดุไปกับบ้านไทยในปัจจุบัน

เมื่อออกสำรวจการใช้งานของเหล็กตามตึกรามบ้านช่องของไทยในปัจจุบัน รวมถึงบ้านในละแวกใกล้เคียง คุณสมบัติที่ทีมออกแบบค้นพบและคิดว่าน่าดึงดูดใจที่สุด คือ ‘ความโค้งและความเบากลวงของท่อเหล็ก’ ซึ่งน่าแปลกที่เราแทบจะไม่เห็นลักษณะเหล่านี้จากการใช้งานในปัจจุบัน

(รั้วท่อเหล็กที่มีให้เห็นทุกที่ในประเทศไทย ภาพถ่ายจากการสำรวจอาคารในบริเวณโดยรอบ)

เมื่อต้องมาออกแบบ แปลงโฉม Phetkasem Artist Studio ผู้ออกแบบจึงทดลองนำวัสดุท่อเหล็กที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้ในรูปแบบใหม่โดยได้ความร่วมมือจากผู้ผลิตท่อเหล็กที่มีชื่อเสียงของไทยอย่าง บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) สู่ผลลัพธ์ของการริเริ่มนำท่อเหล็กมาต่อกันในลักษณะของยูนิต สร้างรูปแบบใหม่ในการติดตั้ง ‘อิฐท่อเหล็ก’ ที่มีความสูงและความกว้างเกือบ 4 เมตร โดยใช้ท่อเหล็กผ่าครึ่ง หันด้านในท่อออก เล่นลวดลายจากขนาดของท่อ 5 ขนาดที่ต่างกัน นำมาประกบกัน 2 ด้าน กลายเป็นอิฐ  3 รูปแบบที่สามารถหมุนและกลับด้านในการประกอบ เกิดเส้นสาย ลวดลายบนผนังที่สร้างความหลากหลายได้อย่างน่าสนใจ

(ภาพแนวคิดวัสดุอิฐท่อเหล็กสร้างขึ้นจากช่างฝีมือท้องถิ่น โดยสามารถนำมาสร้างรูปแบบของผนังได้กว่า 10 รูปแบบ)

นอกจากนั้น อิฐท่อเหล็กยังถูกผสานไปกับการพ่นพื้นผิวที่คล้ายดินบนวัสดุท่อเหล็กเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะทำให้ความรู้สึกในการรับรู้วัสดุเปลี่ยนไป และช่วยสร้างบรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติให้เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว การทำพื้นผิวในลักษณะนี้ ยังมีข้อดีตรงที่ช่วยลดความร้อนที่เกิดจากการสะสมในตัววัสดุเหล็กแบบดั้งเดิมอีกด้วย

วัสดุสอดผสานกับงานสถาปัตยกรรม

ผนังอิฐท่อเหล็กที่ทีมออกแบบคิดค้น ถูกตั้งต้นนำมาใช้เป็นผนังภายนอกของ Phetkasem Artist Studio ซึ่งทำหน้าที่โอบล้อมพื้นที่กึ่งเปิดโล่งให้เกิดความเงียบสงบสอดผสานไปกับการเติบโตของพรรณไม้ท้องถิ่น วัสดุชิ้นใหม่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยการสร้างประสบการณ์การเข้าถึงที่น่าตื่นตา

ด้วยความตั้งใจที่ต้องการให้วิถีชีวิตใหม่ในบริบทเดิมยังคงใกล้ชิดกับธรรมชาติ บริเวณชั้น 1 สถาปนิกตั้งใจให้พื้นที่สามารถเปิดโล่งโดยไม่จำเป็นต้องใช้งานร่วมกับเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา การออกแบบจึงเชื่อมโยงพื้นที่ด้านหน้าและสวนหลังบ้านผ่านช่องรับแสงที่แทรกอยู่ระหว่างผนังท่อเหล็กภายนอกอาคารและผนังปูนที่อยู่ภายใน เกิดเป็นอุโมงค์ลมที่พัดผ่านเข้ามายังพื้นที่ ลดดีกรีความร้อนจากอุณหภูมิเกือบ 40 องศาเซลเซียสของกรุงเทพฯ ให้เจือจางลง

Phetkasem Artist Studio ไม่ใช่เพียงพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยที่ผสมผสานการใช้ชีวิตและการพักผ่อน โดยรูปแบบพื้นที่ใหม่นี้ยังทำลายภาพลักษณ์ของทาวน์เฮาส์เก่าไปอย่างสิ้นเชิง รวมถึงเปลี่ยนมุมมองของข้อจำกัดการใช้วัสดุในประเทศไทย ให้เกิดรูปแบบของการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในขณะที่ยังคำนึงถึงบริบท ภูมิอากาศและความเป็นถิ่นที่ที่เราคุ้นเคย

นอกจากรั้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่สถาปนิกทำงานกับผู้ผลิต ไม่ว่าจะเป็นงานประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียมที่ออกแบบบานพับและมือจับขึ้นใหม่ให้ดูบาง และมีการเก็บรายละเอียดต่างๆ ให้สวยงามมากขึ้น การออกแบบแสงสว่าง งานด้านสุขภัณฑ์ งานเฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบภูมิทัศน์ และงานออกแบบกราฟิก

ถึงแม้จะเป็นการปรับปรุงอาคารเก่าที่มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดและโครงสร้าง แต่ HAS design and research กลับทลายข้อจำกัดเหล่านี้และสร้างสถาปัตยกรรมผ่านการทดลองวัสดุ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้นกว่าที่เป็น ซึ่งทางผู้ออกแบบยังเชื่อว่าผลงานชิ้นนี้จะทำให้ผู้คนที่พบเห็นมีความเชื่อและจินตนาการถึงความสร้างสรรค์ใหม่ๆ รวมถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง

Project Information
Design Company: HAS design and research
Design Team: Jenchieh Hung, Kulthida Songkittipakdee, Zidong Fan, Jiaqi Han
Steel wall production consultant: Pacific Pipe Co., Ltd.
Aluminum production consultant: Goldstar Metal Co., Ltd.
Aluminum door and window technology: AB&W Innovation Co., Ltd.
Aluminum door and window constructor: Fix and Slide
Lighting design: Jenna Tsailin Liu
Lighting technology: Visual Feast (VF)
Sanitaryware consultant: American Standard
Landscape consultant: Ratchaneeya Yangthaisong
Landscape constructor: FloraScape
Signage design: Qi Zhou
Signage consultant: Shanghai View Studio
Home living furniture: niiq
Construction consultant: Chanin Limapornvanich

Site area: 110 sq.m.
Gross built area: 150 sq.m.
Photo credit: Ketsiree Wongwan

 

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้