The Real Memoirs of a Geisha
มนต์เสน่ห์เรือนเกอิชาที่เติมแต่งเสน่ห์ยุคใหม่

ใครที่หลงเสน่ห์ญี่ปุ่นน่าจะรู้จักกับเกอิชา (芸者 – Geisha) นางบำเรอศิลป์แห่งแดนอาทิตย์อุทัยกันเป็นอย่างดี แล้วผมก็เชื่อว่าหลายคนในที่นี่น่าจะเคยดูหนังฟอร์มยักษ์ในตำนานอย่าง The Memoirs of a Geisha ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2005 มาแล้ว หนังที่มีเสน่ห์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของเกอิชาได้อย่างน่าหลงใหลซึ่งบทภาพยนตร์นั้นหยิบมาจากนวนิยายชื่อดังในชื่อเดียวกันนี้ที่แต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 โดยนักเขียนชาวอเมริกัน Arthur Golden นั่นเอง แต่ละฉากที่ถ่ายทอดออกมาบนแผ่นฟิล์มนั้นทำให้เราได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของเกอิชาอย่างลุ่มลึก นั่นทำให้ใครหลายคนในยุคนี้หวนกลับมาหลงในเสน่ห์ของนางบำเรอศิลป์นี้กันอีกครั้ง และนั่นก็อาจทำให้อีกหลายคนเกิดแรงบันดาลใจอยากจะลองมาสัมผัสกลิ่นอายความทรงจำของเกอิชาบนโลกแห่งความเป็นจริงดูบ้างสักครั้งในชีวิต

บ้านเก่าสองชั้นสไตล์ญี่ปุ่นราวยุค 50 หลังนี้ซ่อนตัวอยู่ในซอยเงียบสงบท่ามกลางกรุงโตเกียวหนึ่งในเมืองที่ขึ้นชื่อว่ามีวิถีชีวิตวุ่นวายมากที่สุดในโลก หากใครไม่รู้จักบ้านหลังนี้มาก่อนอาจมองว่านี่คือบ้านญี่ปุ่นธรรมดาหลังหนึ่งแล้วก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับบ้านละแวกข้างๆ หรือพิเศษกว่าบ้านหลังอื่นๆ เลยสักนิด แต่ถ้าหากใครที่ชื่นชอบงานสถาปัตยกรรมหรือติดตามข่าวสารแวดวงดีไซน์มาก่อน ตลอดจนเป็นสายท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความฮิปแล้วล่ะก็ จะรู้ทันทีว่าบ้านที่ดูเหมือนธรรมดาหลังนี้ก็คือ TRUNK (HOUSE) ที่พักแสนหรูหราที่ใครทั่วโลกต่างก็หมายตาอยากลองมาเยือนสักครั้งนั่นเอง

เทรนด์โรงแรมขนาดเล็ก (มาก) ที่กำลังมา

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะคุ้นชื่อกับ TRUNK (HOTEL) โรงแรมสุดฮิปแห่งย่านชิบูย่าที่ดังไปทั่วโลกมาแล้ว และเมื่อเห็นชื่อ TRUNK (HOUSE) ที่คล้ายกันนี้ก็คงไม่ต้องแปลกใจเพราะนี่คือที่พักแห่งที่สองในเครือเดียวกันที่สร้างสรรค์ขึ้นโดย TRUNK Atelier บริษัทสถาปนิกอินเฮาส์ของแบรนด์ TRUNK นั่นเอง ในส่วนของ TRUNK (HOTEL) นั้นเป็นที่พักสไตล์ Private Boutique Hotel สุดฮิปที่มีห้องพักแค่ 15 ห้องเท่านั้น โรงแรมสุดเก๋แห่งนี้เปิดบริการไปเมื่อปี ค.ศ.2017 แล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดจนทำให้เกิดโปรเจกต์ที่สองอย่าง TRUNK (HOUSE) ขึ้นนั่นเองซึ่งคอนเซ็ปต์ของที่พักแหล่งใหม่นี้แตกต่างไปจากเดิมเพราะมันมาในรูปแบบ Micro-Hotel ที่มีลักษณะเป็น Private House โรงแรมส่วนตัวขนาดเล็กมากๆ ที่เช่าคราวเดียวแบบเหมาทั้งหลังแล้วก็มาพร้อมบริการระดับ Full Service เหมือนโรงแรมหรู โดยบ้านหลังนี้เพิ่งจะเปิดบริการเมื่อปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมานี้เอง

เสน่ห์ซ่อนใน – อาจเป็นนิยามที่บ่งบอกถึง TRUNK (HOUSE) ได้ดีที่สุด เพราะภายนอกที่ดูแสนธรรมดานั้นภายในกลับซ่อนไว้ด้วยงานดีไซน์สุดแสนละเมียดที่ผสมผสานกลิ่นอายญี่ปุ่นให้เข้ากับความโมเดิร์นแบบตะวันตกอย่างมีเสน่ห์เฉพาะตัว สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบและตกแต่งภายในทั้งหมดนั้นมาจากเรื่องราวโดยรอบบริเวณบ้านหลังนี้ไปจนถึงย่านละแวกนี้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวนั่นเอง ทุกอย่างถูกนำมาเป็นวัตถุดิบตลอดจนแนวคิดในการออกแบบโดยถูกนำมาตีความให้กลายเป็นคอนเซ็ปต์ Tokyo Design ที่ง่ายแสนง่ายแต่ทว่าสะท้อนการใส่ใจรายละเอียดที่ลุ่มลึก โดยเสน่ห์แบบโตเกียวในแบบฉบับ TRUNK (HOUSE) นั้นก็คือการสร้างสรรค์ดีไซน์ที่มีความเฉพาะตัว กลิ่นอายญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมถูกนำมารื้อฟื้นคืนชีวิตเพื่อผสมผสานกับกลิ่นอายญี่ปุ่นสมัยใหม่ นั่นเป็นการสะท้อนอัตลักษณ์พลวัตรเมืองโตเกียวได้เป็นอย่างดีซึ่งที่นี่เต็มไปด้วยสิ่งเก่าที่ผสานสิ่งใหม่อย่างกลมกลืนลงตัวทีเดียว

เสน่ห์เรือนอิสตรี – สานต่อตำนานที่น่าหลงใหล

อันที่จริงแล้วความน่าสนใจของ TRUNK (HOUSE) นั้นเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของสถานที่และย่านโดยรอบ เพราะบ้านสไตล์เรโทรอายุกว่า 70 ปีที่โดดเด่นด้วยการผสมผสานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นกับสถาปัตยกรรมตะวันตกหลังนี้ก็คืออดีตบ้านของเกอิชาที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จริงๆ แล้วย่านที่บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ก็คือ ย่านคากุระซากะ (神楽坂 – Kagurazaka) ซึ่งที่นี่เป็นแหล่งบันเทิงเก่าแก่ขึ้นชื่อของโตเกียวในยุคเอโดะที่ได้รับฉายาว่า Little Kyoto แล้วก็แน่นอนว่าที่นี่คือแหล่งของเกอิชาในแบบฉบับเมืองหลวงยุคใหม่นั่นเอง

ในญี่ปุ่นมีศัพท์เฉพาะที่เรียกย่านเกอิชาว่า “ฮานะมาฉิ (花街-Hanamachi) หรือแปลความได้ว่า “ย่านแห่งดอกไม้” ที่สื่อถึงย่านแหล่งรวมสตรีที่งดงามราวบุปผา ย่านแห่งความรื่นเริงนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศแต่ในทุกวันนี้หลายแห่งก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ภายในฮานะมาฉิเองก็จะมีเรือนอิสตรีที่เรียกกันว่า “โอกิยะ (置屋-Okiya) ซึ่งเป็นบ้านของเกอิชาตั้งอยู่ในละแวกนั้นด้วย ซึ่งบ้านนี้ก็จะเป็นที่อาศัยไปจนถึงที่ฝึกตนของบรรดาเกอิชาตลอดจนไมโกะที่อยู่ในสังกัดของมาม่าซังแต่ละคน

ในฮานะมาฉิเองก็จะมีโอกิยะอยู่หลายหลังตามแต่ความคึกคักของย่านและขึ้นอยู่กับจำนวน “โอะชายะ (お茶屋-Ochaya)” หรือเรือนชาที่เป็นแหล่งเอ็นเตอร์เทนของเหล่าเกอิชาด้วยนั่นเอง หากใครได้ดูภาพยนตร์ The Memoirs of a Geisha มาแล้วก็จะพอเห็นภาพว่าวัฒนธรรมบันเทิงตลอดจนวิถีบำเรอศิลป์ของเกอิชานั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร แล้วก็แน่นอนว่าบ้านของเกอิชาแต่ละหลังต่างเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ซ่อนเร้นอยู่มากมายเช่นกัน

ตามธรรมเนียมดั้งเดิมแล้วเกอิชาจะไม่ทำงานข้ามเขตย่านฮานะมาฉิระหว่างกัน ใครประจำอยู่ย่านไหนก็มักจะอาศัยและทำงานอยู่ในละแวกนั้นโดยตลอด และนั่นทำให้ฮานมาฉิต่างๆ ต่างก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป รวมถึงเสน่ห์ของแต่ละโอกิยะเองด้วยที่แต่ละหลังต่างก็มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจแตกต่างกัน สำหรับ TRUNK (HOUSE) เองที่เป็นโอกิยะของเกอิชาในอดีตก็มีเรื่องราวเฉพาะตนที่ไม่เหมือนที่ไหน ถึงแม้ว่าไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าเจ้าของเรือนนี้ที่แท้จริงคือใครและความโด่งดังของเกอิชาที่นี่อยู่ในระดับไหน แต่นั่นล่ะบางครั้งความลับมักทำให้หลายอย่างมีเสน่ห์เพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง

ถึงแม้ว่ากลิ่นอายในอดีตจะค่อยๆ จางหายไปในยุคนี้ แต่เรื่องราวและความทรงจำก็ยังคงถูกบันทึกไว้อย่างเข้มข้นและเล่าขานสืบต่อกันมาได้จนถึงปัจจุบัน นั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถาปนิกและนักออกแบบตกแต่งภายในทำงานร่วมกันอย่างพิถีพิถันเพื่อที่จะนำเรื่องราวอันทรงคุณค่ามาเล่าต่อให้แขกของบ้านหลังนี้ได้สัมผัสเสน่ห์ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเรื่องราวทุกอย่างกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่สร้างคุณค่าใหม่ให้กับบ้านที่ถูกชุบชีวิตใหม่นี้เช่นกัน สำหรับรายละเอียดต่างๆ นั้นถูกดีไซน์บนพื้นฐานที่สามารถถ่ายทอดเสน่ห์ของเรื่องราวอันทรงคุณค่านี้ออกมาให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องถ่ายทอดอัตลักษณ์ที่แสนประณีตในแบบฉบับ TRUNK ออกมาให้เด่นชัดไปพร้อมกันด้วย

เก่าผสานใหม่ – ปลุกชีวิตคุณค่าดั้งแล้วเติมแต่งเสน่ห์ยุคใหม่

อย่าง ห้องชา (Tea Room) ในแบบดั้งเดิมถูกนำมาใส่ไว้เป็นหนึ่งในฟังก์ชั่นที่แสนมีเสน่ห์ของบ้านหลังนี้ พื้นที่รับแขกนี้เป็นสไตล์แบบนั่งพื้นที่ล้อมรอบหลุมเตาถ่านแบบโบราณที่เรียกกันว่า “อิโรริ (囲炉裏 – Irori)” ซึ่งบ้านในแบบวิถีปัจจุบันนั้นแทบจะไม่ค่อยมีฟังก์ชั่นของพื้นที่นี้กันแล้ว แต่ที่ TRUNK (HOUSE) กลับนำมาผสมผสานลงไปบนห้องเสื่อตาตามิแบบสไตล์ญี่ปุ่น ขณะเดียวกันอีกมุมนั่งเล่นภายในบ้านก็ตกแต่งในสไตล์ Modern Vintage ที่เป็นกลิ่นอายญี่ปุ่นผสมตะวันตกที่มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน มุมนี้โดดเด่นด้วยการปูพื้นไม้สีธรรมชาติและมีพระเอกของโซนเป็นโซฟาหนังสีน้ำตาลแสนคลาสสิกของแบรนด์ Stephen Kenn อันโด่งดัง แต่เสน่ห์ที่แทรกตัวอยู่ในทั้งสองห้องเหมือนกันนั้นก็คือความโดดเด่นของดีไซน์หน้าต่างแบบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า “โชจิ (障子 – Shoji)” ซึ่งเป็นหน้าต่างกึ่งระเบียงแบบโครงระแนงไม้สูงเรียงต่อกันอย่างมีเอกลักษณ์

ห้องชา (Tea Room) ในแบบดั้งเดิม

อีกจุดเด่นที่ถือเป็นไฮไลท์ของบ้านหลังนี้เห็นจะเป็นห้องนอนสไตล์ Modern Contemporary แบบฉบับญี่ปุ่นที่ยังคงเอกลักษณ์การปูฟูกนอนบนพื้นแบบดั้งเดิมไว้ แต่ผสมผสานกับการยกพื้นต่างระดับที่ไม่สูงนักเพื่อประยุกต์ให้เป็นเตียงตามสไตล์ตะวันตกไปในตัว พื้นที่เปิดโล่งทำให้ห้องนอนนี้มีการวางผังที่โดดเด่นและมีดีไซน์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ

การผสมผสานของเสน่ห์แบบฉบับเก่ากับเสน่ห์แบบฉบับใหม่อีกจุดที่น่าสนใจก็คือโซนห้องอาหารด้านล่างที่เป็นการผสมผสานครัวสไตล์ Japanese-French Kitchen ที่มีเครื่องครัวและอุปกรณ์ตามแบบตะวันตกผสมผสานอุปกรณ์ตะวันออก บริเวณครัวนี้ยังมีจุดเด่นอีกอย่างอยู่ตรงโต๊ะทานอาหารตัวยาวที่สามารถมองเห็นวิวของสวนญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมภายนอกได้ด้วย เป็นการสร้างเสน่ห์ของบรรยากาศตามแบบฉบับญี่ปุ่นที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

ห้องนอนสไตล์ Modern Contemporary แบบฉบับญี่ปุ่น

นอกจากนี้ถ้าอยากเปลี่ยนบรรยากาศจากความชิลล์สู่ความชิคก็ทำได้ไม่ยากเพราะแค่เพียงก้าวไปไม่กี่ก้าวโดยไม่ต้องออกจากบ้านก็จะเปลี่ยนโหมดสู่ดิสโก้บาร์สีเจ็บทันทีซึ่งบาร์ส่วนตัวนี้ดูจะเป็นห้องลับที่เสมือนพื้นที่ลับซ่อนอยู่ในบ้าน แล้วก็ช่างเป็นอะไรที่แตกต่างจากบรรยากาศทั่วทั้งหลังโดยสิ้นเชิงแบบแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีบาร์สุดเจ๋งแหวกแนวซ่อนอยู่ภายในบ้านสุดเนี้ยบหลังนี้ด้วย

บาร์ส่วนตัวที่เสมือนเป็นพื้นที่ลับซ่อนอยู่ในบ้าน

มาถึงอีกหนึ่งพระเอกของบ้านหลังนี้ที่ใครๆ ต่างก็ยกย่องเรื่องการออกแบบได้อย่างมีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร นั่นก็คือห้องอาบน้ำที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “เซ็นโตะ (銭湯 – Sento)” ห้องอาบน้ำสาธารณะตามแบบฉบับญี่ปุ่นนั่นเอง จุดเด่นของห้องนี้อยู่ที่บ่ออาบน้ำส่วนตัวที่ทำจากไม้สนไซปรัสพร้อมช่องน้ำไหลตามสไตล์บ่อแช่น้ำร้อนแบบโบราณ แล้วเสริมเสน่ห์ด้วยอุปกรณ์อื่นๆ สำหรับการอาบน้ำตามแบบดั้งเดิมที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

จุดเด่นของห้องนี้ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะพระเอกดึงดูดสายตาที่แท้จริงก็คือลายกราฟฟิกบนกระเบื้องฝาผนังที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยเฉพาะจากแรงบันดาลใจภาพวาดสไตล์ “ชุนกะ (春画 – Shunga)” ที่เป็นศิลปะแนว Erotic Art อันเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ขึ้นชื่อของศิลปะญี่ปุ่นแบบโบราณดั้งเดิม ซึ่งศิลปะชิ้นนี้สามารถเป็นตัวแทนถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนจิตวิญญาณของบ้านหลังนี้ได้อย่างมีเสน่ห์ทีเดียว

ห้องอาบน้ำที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “เซ็นโตะ (銭湯 – Sento)”

บันทึกและระลึก – ภาคภูมิกับเรื่องราวอดีต พร้อมบันทึกความทรงจำหน้าใหม่

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบตกแต่งภายใน TRUNK (HOUSE) หลังนี้ก็คือ Tripster บริษัทออกแบบตกแต่งภายในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงนั่นเอง (ซึ่งเคยฝากผลงานออกแบบไว้ที่กรุงเทพฯ ด้วยอย่างร้าน Aksorn และ Siwilai Sound Club ในย่านเจริญกรุง) นอกจากเรื่องของการตกแต่งบ้านแล้วที่นี่ก็ยังใส่ใจรายละเอียดงานดีไซน์ของงานบริการอีกด้วย อย่างที่บอกไปว่าใครที่มาพักบ้านหลังนี้แพ็คเก็จจะมาพร้อมบริการหรูแบบ Full Service ที่มีบัตเลอร์ส่วนตัวคอยดูแลตลอดเวลาซึ่งผู้ช่วยส่วนตัวนี้มาพร้อมเครื่องแบบแนว Avant-Garde (อาวองการ์ด) ที่ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง Yohiji Yamamoto อีกด้วย ตลอดจนมี Private Chef ส่วนตัวอย่าง Masashi Okamoto แห่ง TRUNK (HOTEL) ที่มีชื่อเสียงมาคอยดูแลความอร่อยให้เป็นพิเศษพร้อมเสิร์ฟตำรับอาหารญี่ปุ่นในแบบฉบับที่คุณไม่เคยทานที่ไหนแน่นอน

ปัจจุบันวัฒนธรรมเกอิชาลดหายลงไปมากตามยุคตามสมัย แต่แหล่งที่วัฒนธรรมนี้ยังโดดเด่นและแข็งแรงอยู่ก็คงต้องยกให้กับย่านกิอง (祇園 – Gion) ในเกียวโต ที่ยังคงอนุรักษ์เสน่ห์ดั้งเดิมไว้ได้เด่นชัดที่สุด สำหรับในโตเกียวยุคปัจจุบันเองก็ยังคงพอมีย่านฮานะมาฉิหลงเหลืออยู่บ้างที่ผสานไปกับเมืองใหญ่อย่างกลมกลืน นอกจากย่านคากุระซากะแล้วก็ยังมีย่าน โยชิโฉว (よし鳥-Yoshicho), ชินบาชิ (新橋-Shinbashi), ฮัทฉิโอจิ (八王子市-Hachioji), มุโกะจิมา (向島-Mukojima) แล้วก็ย่าน อซากุซะ (浅草-Asakusa) ที่หลายคนรู้จักกันดีนั่นเอง

ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนผู้คนยังคงโหยหาความบันเทิงเริงใจที่จะทำให้ผ่อนคลายและสร้างความสุขอยู่เสมอ เพียงแต่จะเป็นรูปแบบไหนก็เท่านั้นเอง เกอิชาก็เช่นกันตำนานนี้ยังคงมีมนต์เสน่ห์อยู่แต่ก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาล เช่นเดียวกับเสน่ห์ในภาพยนตร์ The Memoirs of a Geisha ที่นาจะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการเสพอรรถรสของเกอิชาในยุคใหม่ที่ทำให้ใครหลายคนหลงใหลเกอิชาไม่แพ้การไปรับบริการความบันเทิงจากเรือนชาในแบบอดีต

หนังคุณภาพอย่าง The Memoirs of a Geisha เคยคว้ารางวัลจากเวทีต่างๆ มากมาย รวมถึงรางวัลออสการ์ (Academy Awards) จากหมวด Best Art Direction (กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม), Best Cinematography (กำกับภาพยอดเยี่ยม), และ Best Costume Design (ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม) ที่บ่งบอกการถ่ายทอดความงามในเชิงศิลป์ได้ลุ่มลึกและมีเสน่ห์ สำหรับ TRUNK (HOUSE) เองก็โดดเด่นไม่แพ้กันด้วยการคว้ารางวัลมาได้จากมากมายหลายเวที อาทิ Best Urban Hotels 2019 ที่มอบให้โดยนิตยสาร Wallpaper*, หรือจะเป็นรางวัล Great Design Award 2020 ที่มอบโดยสื่อด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบชื่อดังอีกแห่งอย่าง Architectural Digest, แล้วก็รวมถึงรางวัลแถวหน้าในสายการท่องเที่ยวที่ดังระดับโลกอย่าง Hot List 2020 จาก Condé Nast Traveler ซึ่งยกย่องให้ที่นี่เป็นหนึ่งในที่พักใหม่ที่มาแรงประจำปี สิ่งเหล่านี้เองการันตีได้ถึงฝีมือการออกแบบแสนประณีตในสไตล์เฉพาะตัวอันโดดเด่นแล้วก็มาพร้อมคุณภาพที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้ภาพยนตร์ในตำนานเช่นกัน ที่สำคัญทั้งสองสามารถถ่ายทอดเสน่ห์ของเกอิชาได้น่าหลงใหลไม่แพ้กันเลยทีเดียว

Writer