ตีความบริบทบ้านชนบทไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยาสู่โรงแรมร่วมสมัย
Sala Bang Pa-In

บางครั้ง การไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวอาจไม่ใช่เป้าหมายของการหลบไปพักผ่อนเสมอไป เพราะประสบการณ์และเรื่องราวที่เราเก็บเกี่ยวได้ระหว่างทาง สิ่งเหล่านั้นต่างหากที่กลายเป็นคำตอบของนักเดินทางจำนวนมากมาย การพบปะเรื่องราว วัฒนธรรมและผู้คนที่ต่างไปย่อมทำให้เราได้ประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าจดจำ

Sala Bang Pa-In โรงแรมแห่งใหม่ในเครือศาลาซึ่งตั้งตัวอยู่ในเขตชนบทสุดสโลว์ไลฟ์จึงกลายเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่ตั้งใจออกแบบเรื่องราวของความร่วมสมัยให้อยู่ร่วมกับบริบทที่รายล้อมได้อย่างกลมกลืน หลังคาจั่วกระเบื้องลอนคู่ทรงป้าน บ้านไทยยกใต้ถุน หรือวิถีชีวิตชนบทริมแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของศาลาบางปะอินที่รอให้นักเดินทางทั้งหลายเข้าไปเยี่ยมเยือน

โรงแรมร่วมสมัยที่เข้าอกเข้าใจบริบท

“พอเราไปดูไซต์ มันสวยและมีความพิเศษมาก เพราะขนาบทั้งสองข้างไปด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาที่แทบจะหาจากไหนไม่ได้แล้ว เราเลยอยากสร้างพื้นที่ที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัสความเป็นแม่น้ำได้ดีที่สุด อีกอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกประทับใจ คือบริบทของไซต์ที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ไม่ใช่เขตเมือง และไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวอะไรทั้งนั้นเลย” ทวิตีย์-วัชราภัย เทพาคำ สถาปนิกจาก Department of ARCHITECTURE Co. เริ่มต้นเล่า

เพื่อให้แขกผู้มาเยือนได้สัมผัสกับบรรยากาศการอยู่ท่ามกลางชนบทในละแวกนั้นอย่างแท้จริง สถาปนิกออกแบบให้โรงแรมมีความเชื่อมโยงกับบริบทที่มีเสน่ห์อยู่เดิม เป็นส่วนหนึ่งและไม่แปลกแยก การจะออกแบบสถาปัตยกรรมที่มีความร่วมสมัยมากๆ ให้กลมกลืนกับบริบทได้อย่างไร? นี่จึงเป็นโจทย์ที่ทีมสถาปนิกต้องรับบทแก้ปัญหา

“เราไปนั่งเรือดูบ้านริมน้ำรอบๆ คาแร็กเตอร์จะคล้ายกับบ้านทั่วๆ ไปของเมืองไทยในชนบท เราเลยคิดว่า เราอยากจะเอาคาแร็กเตอร์ของบ้านเหล่านั้นมาเป็นคาแร็กเตอร์ของเรา แต่ดีไซน์ความร่วมสมัยให้สอดผสานกัน เป็นการตีความบริบทของชนบทไทย ว่าหากจะมีความร่วมสมัย มันจะเป็นอย่างไรได้บ้าง?” คุณทวิตีย์ขยายความให้เราฟัง

ต้อนรับด้วย ‘First Impression’ ที่อ้างอิงความเป็นชนบท

ด้วยพื้นที่โรงแรมที่รายล้อมไปด้วยแม่น้ำ การสัญจรจึงต้องจอดรถที่ฝั่งตรงข้าม ก่อนจะเจอกับล๊อบบี้ซึ่งทำหน้าที่ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยบรรยากาศอาคารแบบชนบท รายล้อมไปด้วยที่พักอาศัยของชาวบ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง เมื่ออาคารอยู่ติดกับบ้านเรือน ก็ยิ่งต้องออกแบบให้กลมกลืนไปกับบริบท และไม่โดดเด่นเกินหน้าเกินตา

แต่ทำไมอาคารจึงถูกทาเป็นสีแดง? เชื่อว่านี่คือคำถามที่หลายคนสงสัยเช่นเดียวกับเรา ก่อนที่คุณทวิตีย์จะเล่าต่อว่า เพราะบ้านตรงนั้นต่างก็เป็นสีสันสดใส สีส้ม สีแดง สีเขียว สีฟ้าถูกนำมาทาบริเวณเปลือกอาคาร สร้างความสนุกสนาน จนกลายเป็นคาแร็กเตอร์ที่น่าสนใจของบ้านชนบทไทยในปัจจุบัน ซึ่งในมิติหนึ่งยังสร้างความโดดเด่น ในขณะที่เบลนเข้ากับบริบทได้อย่างลงตัว

เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้นต่ำและต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมในทุกปี แต่ทางเจ้าของและดีไซน์เนอร์ต่างตัดสินใจไม่ถมที่ เพื่อไม่ให้ที่ดินของโรงแรมอยู่สูงกว่าและปล่อยน้ำไปสู่เพื่อนบ้านโดยรอบ ซึ่งสถาปนิกใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการออกแบบอาคารล๊อบบี้ให้เป็นบ้านไทย ยกใต้ถุนเพื่อเตรียมหนีน้ำ กลมกลืนกับคาแร็กเตอร์ของบ้านในละแวกนั้นไปพร้อมกัน

(การต้อนรับแขกบริเวณใต้ถุนบ้านไทย ยังสร้างประสบการณ์และอารมณ์บ้านๆ ในแบบไทยได้เป็นอย่างดี)
(ล๊อบบี้ ออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวทั้งหมด รวมถึงปลั๊กไฟที่ติดตั้งบริเวณเพดานเพื่อเตรียมตัวรับเหตุการณ์น้ำท่วมในทุกปี)

หากต้องการจะไปสู่พื้นที่ห้องพัก หรือส่วนอื่นๆ ของโรงแรม แขกผู้เข้าพักจำเป็นต้องเดินผ่านสะพานโค้งที่ทอดยาวข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ชมทิวทัศน์ของเวิ้งน้ำและชุมชนฝั่งตรงข้ามได้อย่างเป็นกันเอง ซึ่งสีของสะพานผู้ออกแบบยังตั้งใจทำเป็นสีแดงเพื่อให้กลมกลืนไปกับบริบท แต่ยังคงสร้างจุดเด่นได้อย่างสนใจ

เชื่อมโยงผู้คนผ่านเรื่องราวของแม่น้ำเจ้าพระยา

สถาปนิกพยายามเชื่อมโยงผู้คนเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสองสายที่ไหลขนาบไปกับพื้นที่ ผ่านการออกแบบสเปซส่วนต่างๆ ภายในโครงการ

เมื่อข้ามสะพานโค้งสีแดงเราจะเจอกับ Arrival Terrace ทรงกลมพร้อมต้นจามจุรี 2 ต้นที่แผ่กิ่งก้านขนาดใหญ่ ต้อนรับแขกที่มาเยือนด้วยบรรยากาศร่มรื่น แสนสบายที่น่ามาทิ้งกายมองความเนิบช้าของเรือและแม่น้ำไหลเอื่อย

ต้นจามจุรีทั้ง 2 เป็นองค์ประกอบเดิมที่มีอยู่ภายในพื้นที่ ซึ่งทีมออกแบบและเจ้าของเองเห็นพ้องต้องกันในการเก็บต้นไม้ไว้ถึงแม้จะลำบากและเป็นข้อจำกัดในการออกแบบ ด้วยที่ดินที่เคยมีน้ำท่วมในอดีต ทำให้บริเวณโรงแรมต้องถมที่สูงขึ้นทั้งหมด ยกเว้นบริเวณต้นจามจุรีสองต้นที่ไม่สามารถถมทับรากได้ ทีมผู้ออกแบบจึงต้องมีการดีไซน์พื้นที่ดังกล่าวในลักษณะเล่นระดับเชื่อมโยงเข้าสู่ระดับหลักของพื้นที่โรงแรม กลายเป็นสเปซวงกลมที่แขกสามารถมานั่งชิลล์มองแม่น้ำ นั่งพักผ่อนกินลมชมธรรมชาติริมน้ำได้อย่างสบายตา

พื้นที่ Arrival Terrace ยังเชื่อมสู่ส่วนกลางอย่างสระว่ายน้ำของโรงแรมซึ่งขนานไปกับแม่น้ำ เพิ่มประสบการณ์การใช้งานพื้นที่ เพื่อให้แขกได้ใกล้ชิดกับความเป็นแม่น้ำได้มากที่สุด เช่นเดียวกันนั้น บริเวณห้องพักสถาปนิกยังออกแบบเลย์เอาท์ให้ทุกห้องสามารถดื่มด่ำกับวิวทิวทัศน์แม่น้ำได้อย่างเต็มที่ โดยมีรูปแบบห้องพักให้เลือกทั้งหมด 3 รูปแบบ นั่นคือ Deluxe วิลล่า และวิลล่า 3 ห้องนอน

ห้องพัก Deluxe ถูกวางผังให้อยู่ด้านหลังสระว่ายน้ำหันหน้าเข้าสู่วิวแม่น้ำเจ้าพระยา และด้วยความที่เป็นห้องที่มีขนาดเล็กที่สุด สถาปนิกจึงออกแบบหน้าต่างบานใหญ่ รวมถึงมีพื้นที่นั่งเล่น Bay Window เพื่อให้ผู้เข้าพักสามารถมานั่งพักผ่อน ทอดสายตามองบรรยากาศของเรือโดยสาร หรือวิถีชีวิตริมแม่น้ำได้อย่างสะดวกสบาย

ส่วนห้องพักวิลล่าจะมีความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นพิเศษ ด้วยการออกแบบห้องพักเป็นหลังๆ ที่มีชานบ้านและสระว่ายน้ำส่วนตัวเชื่อมโยงสู่แม่น้ำ สเปซภายในดีไซน์ให้มีกระจกเต็มบานเพื่อให้ผู้เข้าพักมองเห็นแม่น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของบริบทที่ตั้งโครงการ

ความพิเศษของห้องพักวิลล่า ไม่เพียงแต่เปิดมุมมองสู่แม่น้ำเท่านั้น แต่บริเวณห้องนอนยังถูกออกแบบให้อยู่กั้นกลางระหว่างพื้นที่ธรรมชาติภายนอกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่ได้ทั้งความเป็นส่วนตัว และบรรยากาศธรรมชาติราวกับอยู่ในบ้านพักริมแม่น้ำส่วนตัว

วิลล่า 3 ห้องนอน คือ ห้องพักที่พิเศษและใหญ่ที่สุดของโรงแรม โดยสถาปนิกวางผังให้ตั้งอยู่ที่ปลายแหลมของไซต์ สามารถมองเห็นวิวอันสวยงามของเวิ้งน้ำทั้งสองฝั่งได้อย่างสุนทรีย์ ห้องนั่งเล่น และห้องนอนมาสเตอร์ ออกแบบโดยเน้นใช้กระจกทั้งสามด้าน เช่นเดียวกับการออกแบบห้องพักในรูปแบบอื่นๆ

ตีความ ‘ร่วมสมัย’ ในแบบฉบับโมเดิร์น

เมื่ออาคารส่วนอื่นๆ ของโรงแรมตีความบริบทไทย สู่การใช้หลังคาหน้าจั่วที่เราคุ้นชินกันไปหมดแล้ว ในส่วนร้านอาหารที่ต้องมีความพิเศษและโดดเด่นเป็นที่น่าจดจำ สถาปนิกยังคงใช้รูปทรงจั่ว เพียงแต่ตีความ ‘จั่ว’ นั้นให้มีความโมเดิร์นขึ้นด้วยการเปลี่ยนวัสดุไปใช้ ผืนผ้า ที่มีความโปร่งแสงแทนที่ จั่วสูงต่ำไล่ระดับไม่เท่ากัน จึงเป็นสเกลที่เปลี่ยนภาพลักษณ์จั่วในแบบเดิมๆ อีกทั้งสเกลของหลังคาที่สูงกว่าปกติยังช่วยถ่ายเทอากาศ ให้ร้านอาหารดูโปร่งโล่งได้มากขึ้นอีกด้วย

สถาปนิกออกแบบร้านอาหาร โดยแบ่งแมสอาคารออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งหันหน้าเข้าหาพื้นที่สีเขียวภายในโครงการซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนกลางที่แยกทางสัญจร ก่อนที่แขกจะเข้าสู่ห้องพักของตนเอง ส่วนแมสอาคารอีกหลังหนึ่งหันหน้าเข้าสู่แม่น้ำ ซึ่งมีการออกแบบพื้นที่เอาท์ดอร์สำหรับนั่งกินลมชมวิวริมน้ำในยามเย็น รายล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ที่รอวันเติบโต แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาภายในพื้นที่

งานผนังที่ใช้กั้นสเปซภายในร้านอาหาร สถาปนิกยังออกแบบ Architectural Wall จากอิฐที่ทำขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษ ทำให้ชั้นวางอิฐเหล่านั้น ราวกับลอยอยู่และยึดติดด้วยโครงสร้างบางๆ สอดแทรกด้วยโหลปลากัด ที่เติมชีวิตชีวาและสีสันให้กับพื้นที่ สะท้อนกิจกรรมและวัฒนธรรมแสนสนุกสนานของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง

(ภาพ Mater Plan โครงการ)
(Internal Courtyard ทำหน้าที่เป็นสวนส่วนกลางที่แยกทางสัญจร เข้าสู่ห้องพักในแต่ละส่วนของโรงแรม)
(Architectural Wall ที่สอดแทรกด้วยโหลปลากัด สะท้อนวัฒนธรรมของชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง)

วัสดุธรรมดาที่เสริมคุณค่าจนกลายเป็นความพิเศษ

“การออกแบบภายในโรงแรม เราเลือกใช้วัสดุพื้นๆ มากเลย เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน หลังคากระเบื้องลอนธรรมดา เราพยายามใช้วัสดุที่มองเห็น และหาง่ายทั่วๆ ไป แต่มาชาเลนจ์ตัวเองว่า วัสดุพวกนี้เราจะทำอย่างไรให้มันดูไม่ธรรมดาได้บ้าง?”

อาคารหลังคาจั่วธรรมดาที่กลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบที่เราเห็น จึงซุกซ่อนดีเทล หรือรายละเอียดของงานร่วมสมัยเข้าไปได้อย่างกลมกล่อม กระจกบานใหญ่ผสมผสานกรอบบานไม้ สร้างความรู้สึกรีแล็กซ์ และดูนุ่มนวลมากขึ้น ส่วนบริเวณฟาซาดของอาคาร สถาปนิกออกแบบคิ้วไม้ที่แรนดอมจังหวะแตกต่างไม่เท่ากัน ทำให้อาคารก่ออิฐฉาบปูนธรรมดาดูมีมิติและลูกเล่นได้มากกว่าที่เป็น

ภายในห้องพัก เพิ่มความสบายและน่าพักผ่อน ด้วยการใช้ไม้สีอ่อนเป็นหลัก ผสานกับสีขาวอมครีม แทรกด้วยการใช้ผ้า เพื่อให้บรรยากาศภาพรวมของห้องดูนุ่มนวลและเบาบางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งคุณทวิตีย์ยังเล่าเสริมด้วยว่าในส่วนของงานเฟอร์นิเจอร์ ทีมสถาปนิกออกแบบขึ้นเองเกือบทั้งหมด โดยเน้นการใช้ไม้ หรือหวายเทียม สะท้อนถึงความเป็นชนบทท้องถิ่นของไทย

(หวายเทียมออกแบบเพิ่มกิมมิค โดยได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงเครื่องจับปลาหรือเครื่องจักสานของไทย)

อีกหนึ่งวัสดุที่แน่นอนว่าขาดไม่ได้ หากเราพูดถึงจังหวัดอยุธยา นั่นคือ ‘อิฐ’ ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ของโบราณสถานที่ผู้คนจดจำ โดยสถาปนิกหยิบมาใช้แต่ลดทอนให้เกิดความร่วมสมัยหรือนุ่มลงด้วยการใช้สีขาว และเลือกใช้ผนังอิฐในส่วนที่มีช่องเปิด เพื่อให้เกิดมิติของแสงเงา เล่นแสงธรรมชาติได้อย่างสวยงาม

“โรงแรม หรือรีสอร์ทเป็นสถานที่ที่ผู้คนย้ายไปอยู่ชั่วคราว เขาต้องการไปสัมผัสอะไรที่อยู่ ณ ตรงนั้น เราต้องตีความให้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร และจะออกแบบให้สอดรับกับผู้คนอย่างไร? ซึ่งสิ่งที่เราชอบที่สุดสำหรับศาลาบางปะอิน คือ การสร้างสเปซให้คนสัมผัสกับธรรมชาติ แม่น้ำ หรือบริบทของพื้นที่นั้นได้จริงๆ”

ไม่ใช่สถาปัตยกรรม หรือบริบทเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ก่อตัวขึ้นร่วมไปกับการเข้าอกเข้าใจชุมชนรอบข้าง ยังเติมเต็มบรรยากาศการพักผ่อนในแบบที่หาที่ไหนไม่ได้ อีกทั้งยังรักษาสเน่ห์ วัฒนธรรมของความเป็นท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

Project Information :
Location:
Ayutthaya, Thailand
Land Plot:
4.8 rai
Total Built Floor Area: 4,000 sq.m.

Architects ,Interior & Landscape : Department of ARCHITECTURE Co., Ltd.
Principals in Charge: Twitee  Vajrabhaya , Amata Luphaiboon
Design Team: Jirapatr Jirasukprasert , Worrawit Leangweeradech ,Tanapat Phanlert ,Ramida Sakulteera ,Kwanchanok Pornchaipisut ,Fahlada Roonnaphai
Fabric and Accessory Designer:  Gasinee Chieu
Lighting Designer: Accent Studio x FOS Lighting Studio Co., Ltd.
Structural Engineer: POST Co., Ltd.
M&E Engineer: MITR Technical Consultant Co., Ltd
Soil Engineer: Suttisak Soralump, Ph.D.
Construction Management: P.H.2000 Consultant Engineer Co., Ltd.
General Contractor: S45 Engineering Co., Ltd , Double Click Construction Co.,Ltd
M&E contractor: SKT Engineering Co.,Ltd
Interior Contractor: New Muangthong Furniture (1993) Co., Ltd.

Photographer: W Workspace

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้