7 Parametric Architecture
ดีไซน์สถาปัตยกรรมสุดล้ำ สัญญาณความหวังของโลกใหม่

ในภาพยนตร์ Sci-Fi ไม่ว่าจะยุคใหม่หรือเก่า เราคุ้นตากับ Parametric Architecture หรืออาคารรูปทรงแปลกตา บิดเบี้ยวไปมา เป็นรูปเรขาคณิตที่ดูแว่บๆ เหมือนจะไม่มีรูปทรงที่แน่นอน สิ่งเหล่านี้ซุกซ่อนอยู่ในโลกภาพยนตร์ล้ำสมัย ราวกับเป็นสัญลักษณ์ของโลกใบใหม่ในอุดมคติ

ซึ่งแท้จริงแล้ว เส้นสายสุด Sci-Fi เหล่านั้นถูกกำหนดและออกแบบขึ้นผ่านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่กำหนดค่าอัลกอริทึมทางคณิตศาสตร์ ทำให้เกิดรูปทรงที่เปลี่ยนแปลงไปจากเรขาคณิตเดิมๆ โดยสิ้นเชิง ดังเช่น ผลงานของสถาปนิกระดับโลกอย่าง Zaha Hadid , Patrik Schumacher หรือ Santiago Calatrava

ด้วยรูปลักษณ์และกระบวนการที่พยายามนำเทคโนโลยียุคใหม่มาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบ จึงทำให้สถาปัตยกรรมก้าวผ่านขีดจำกัดไปได้อีกขั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่อาคารในลักษณะนี้ ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณแห่งความหวังของคนในยุคปัจจุบัน !

Nucelus The New Hyperloop Campus
By Left Angle Partnership

Nucelus เป็นเพียงแนวคิดและแบบร่างที่ออกแบบขึ้นโดย Left Angle Partnership ซึ่งเป็นการประกวดแบบ Hyperloop Campus ในการแข่งขัน Young Architects ในปี ค.ศ. 2020 โดยสถาปนิกได้รับความท้าทายในการออกแบบแคมปัสบนทะเลทรายโมฮาวี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแกรนด์แคนยอนทางตอนใต้ของรัฐเนวาดา ประเทศสหรัฐอเมริกา

โครงสร้างอาคารออกแบบสะท้อนเส้นสายของสัญลักษณ์อินฟินิตี้ท่ามกลางภูมิทัศน์ทะเลทรายที่แห้งแล้ง แกนกลางทั้งสองแกนของอาคารสร้างกรอบล้อมรอบ เกิดเป็นพื้นที่สีเขียวโอเอซิสกลางแจ้งทั้ง 4 รวมถึงการออกแบบภายใน เส้นสายลื่นไหลยังนำพาแสงธรรมชาติและอากาศภายนอกเข้าสู่พื้นที่ภายใน ลานกว้างขนาดใหญ่เปิดให้เห็นผืนฟ้า พืชพรรณและสระน้ำ ที่ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลาย

โครงสร้างของอาคารที่ออกแบบให้ไร้รอยต่อ ลื่นไหลเป็นวงกลมยังสื่อถึงความเร็ว การเดินทางที่สะท้อนเรื่องราวของ Hyperloop แต่ถึงแม้อาคารจะล้ำสมัยสุดไฮเทค พื้นที่ธรรมชาติที่ออกแบบอยู่ภายในจะช่วยสร้างประสบการณ์ที่เรียบง่ายให้กับผู้มาเยือน

ภาพและข้อมูลจาก :
https://parametric-architecture.com/left-angle-partnership-exposes-the-new-hyperloop-campus-in-nevada/
https://www.stirworld.com/see-features-the-hyperloop-desert-campus-in-nevada-is-a-rising-oasis-for-the-future-of-transit

Mediopadana Station
By Santiago Calatrava

สถานี Mediopadana เป็นสถานีรถไฟความเร็วสูงแห่งใหม่ในประเทศอิตาลี สายมิลาน-โบโลญญา ที่ออกแบบขึ้นโดยสถาปนิกชาวสเปน Santiago Calatrava ด้วยบทบาทศูนย์กลางเมืองสำหรับการขนส่งสาธารณะในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคที่เชื่อมระหว่างเมือง และส่วนอื่นๆ ของโลก

ฟาซาดของอาคารเป็นโครงสร้างเหล็กที่ออกแบบให้มีจังหวะซ้ำไปมาของส่วนโค้งที่ลื่นไหล ราวกับเกลียวคลื่นที่กระจายตัวออก โมดูลที่ยาว 25.4 เมตรจะประกอบด้วยเหล็ก 25 แท่งที่ต่อเนื่องกันโดยเว้นระยะห่างกันประมาณ 1 เมตร ซ้ำไปมาเป็นจังหวะ โดยทั้งหมดมีความยาวรวม 483 เมตร

เส้นคลื่นที่เกิดขึ้นบริเวณแปลนพื้นและความสูงทำให้เกิดปริมาตรของอาคารในแบบสามมิติ เสริมด้วยหลังคาและซุ้มกระจก ที่เกิดขึ้นจากการวางกระจกลามิเนตระหว่างเหล็กโดยใช้กรอบอลูมิเนียมซึ่งครอบคลุมความยาวทั้งหมดของชานชาลา เมื่อเรายืนอยู่ภายใน จึงเกิดความเคลื่อนไหวจากรูปทรง และแสงเงาได้อย่างมีมิติ

ภาพและข้อมูลจาก :
https://parametric-architecture.com/mediopadana-station-by-santiago-calatrava/
https://www.arch2o.com/mediopadana-station-santiago-calatrava/

Hengqin International Financial Center
By AEDAS

อาคารระฟ้า 339 เมตรที่เราเห็น คือ ศูนย์การเงินระหว่างประเทศ Hengqin ที่ตั้งอยู่ในเมืองจูไห่ ประเทศจีน ความสูงเสียดฟ้าเป็นสัญลักษณ์ที่พาให้ผู้คนก้าวออกนอกกรอบเดิมๆ โดยได้สถาปนิก AEDAS เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ บริเวณด้านล่างของอาคารออกแบบในลักษณะเกลียวที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ แม่น้ำและเมืองมาเก๊า นอกจากนั้นการออกแบบที่สูงตระหง่านยังสะท้อนถึงตำนานมังกรที่โผล่ออกมาจากทะเลของจีน ซึ่งเป็นคำอุปมาที่แสดงถึงความแข็งแกร่งและพลังของพื้นที่อันกว้างใหญ่

ด้วยสภาพภูมิอากาศกึ่งเขตร้อนของจูไห่ ทำให้พื้นที่แห่งนี้มักจะเกิดลมกรรโชกแรงในช่วงฤดูพายุไต้ฝุ่น ซึ่งอาจทำให้อาคารสูงระฟ้ามีการสั่นคลอนจากแรงลม ทีมออกแบบจึงแก้ปัญหาด้วยการปรับทิศทาง ทางเข้าของอาคารด้วยการออกแบบเกลียวคลื่นจากโครงสร้างพาราเมตริกเพื่อลดแรงลม รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างและประสบการณ์ของคนเดินเท้า

ภาพและข้อมูลจาก :
https://parametric-architecture.com/hengqin-international-financial-center-by-aedas/
https://www.archdaily.com/955428/hengqin-international-financial-center-aedas

V&A Museum
By Kengo Kuma and Associates

นี่เป็นอาคารที่โดดเด่นด้วยการจัดวางองค์ประกอบแนวนอนซ้อนเป็นชั้นๆ ประกอบร่างกันเป็นโครงสร้างพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่ Kengo Kuma and Associates ออกแบบให้อาคารแห่งนี้เป็นประติมากรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่ริมน้ำในเมืองดันดี ทางตอนเหนือของประเทศสกอตแลนด์

สถาปัตยกรรมนำเสนอรูปลักษณ์ที่แข็งกระด้างในแบบ Brutalist Architecture แต่ในขณะเดียวกันก็กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม ฟาซาดอาคารสร้างมิติของแสงเงาที่แตกต่างจากความหลากหลายของชั้นคอนกรีตสำเร็จรูปในแนวนอน ซึ่งทีมออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากหน้าผาของสกอตแลนด์ที่เป็นเสน่ห์อันงดงาม

พื้นที่ว่างขนาดใหญ่บริเวณกลางอาคาร เป็นจุดเชื่อมโยง Union Street ที่ผ่านใจกลางเมืองดันดี เข้ากับทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามของแม่น้ำเทย์ นอกจากนี้โครงสร้างพาราเมตริกล้ำสมัยยังเป็นตัวแทนของอาคารในยุคใหม่ ที่สถาปนิกตั้งใจเปลี่ยนภาพเดิมๆ ของพิพิธภัณฑ์ในยุคศตวรรษที่ 20 ไปอย่างสิ้นเชิง

ภาพและข้อมูลจาก :
https://parametric-architecture.com/va-museum-kengo-kuma-and-associates-dundee/
https://www.arch2o.com/v-amp-a-museum-kengo-kuma/

Wormhole Library
By MAD Architects

Wormhole Library เป็นแนวคิดอาคารสุดล้ำที่มองเห็นได้จากฝั่งทะเลจีนใต้ อาคารถูกออกแบบเป็นรูปทรงของคลื่นโค้งมน สะท้อนภูมิประเทศอันสวยงามในบริเวณใกล้เคียง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สถาปัตยกรรมตั้งใจออกแบบขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ใช้งานใหม่ๆ และเปลี่ยนภาพลักษณ์เดิมของห้องสมุดสาธารณะ

MAD Architects ออกแบบอาคารให้ผสานการทำงานของฟังก์ชันหลายอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ วิวทิวทัศน์ของท้องทะเล หรือพื้นที่การแสดงกลางแจ้ง ผ่านแนวคิดอาคารที่มีเส้นสายลื่นไหล คล้ายกับท่าเต้นของละครชายฝั่งในเมืองไหโข่ว มณฑลไหหลำ ประเทศจีน

อาคารจะหล่อขึ้นด้วยการใช้คอนกรีตสีขาวที่ขึ้นรูปผ่านเครื่องกลึง CNC และเครื่องพิมพ์แบบจำลอง 3 มิติ เพื่อความแม่นยำในการก่อสร้างและการโค้งมนที่ไร้รอยต่อ โครงสร้างคอนกรีตโค้งผสานเพดาน พื้นดิน และผนังเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมด เป็นตัวแทนพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ในยุคใหม่ของประชาชนชาวจีน

ภาพและข้อมูลจาก
:
https://www.dezeen.com/2020/08/11/wormhole-library-mad-architects-haikou-china/
https://parametric-architecture.com/take-a-stellar-trip-through-the-wormhole-created-by-mad-architects/

The Little Island Public Space
By Heatherwick Studio , MNLA

พื้นที่สีเขียวกลางน้ำในมหานครนิวยอร์กอย่าง The Little Island เองก็เป็นหนึ่งในพื้นที่สุดล้ำที่เป็นความหวังของคนยุคใหม่เช่นกัน ด้วยการออกแบบสวนสาธารณะกลางแม่น้ำ Hudson ณ บริเวณ Pier 54 เดิม ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจของ Hudson River Park Trust องค์กรที่มีหน้าที่จัดการดูแลพื้นที่สาธารณะเรียบชายฝั่งทั้งหมดของเมืองแมนฮัตตัน เพื่อให้เป็นพื้นที่พักผ่อนและส่งเสริมการทำกิจกรรมสำหรับชาวนิวยอร์กและนักท่องเที่ยว

เดิมที Pier 54 เป็นท่าเรือเดินสมุทรที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1910 ก่อนจะโดนพายุเฮอริเคนแซนดี้ทำลายจนแทบจะไม่เหลือเค้าโครงเดิม พื้นที่ถูกปิดตัวลงเหลือเพียงซุ้มทางเข้าและเสาไม้จำนวนมากที่ใช้รองรับท่าเรือเดิม Heatherwick Studio จึงตั้งใจเก็บโครงสร้างเดิมเหล่านั้นไว้ และมีการออกแบบโมดูลเสาคอนกรีตด้วยเทคนิค Parametric Modeling เกิดเป็นกระถางต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวน 132 ต้นที่มีรูปทรงคล้ายดอกทิวลิป

แต่ละกระถางเกิดจากชิ้นส่วนของการหล่อคอนกรีตสำเร็จจากโรงงาน 4 – 6  ชิ้นมาประกอบกัน ก่อนใช้เครนยกมาติดตั้ง ณ พื้นที่หน้างาน กระถางคอนกรีตทั้งหมดออกแบบให้มีความสูงอยู่ที่ 4.5 – 18.9 เมตร โผล่พ้นจากน้ำเรียงต่อกันเพื่อรองรับงานภูมิทัศน์สีเขียวของเมืองที่มีขนาดถึง 11,000 ตารางเมตร

ภาพและข้อมูลจาก :

Photo by Michael Young
https://parametric-architecture.com/the-little-island-blossoming-greenways-designed-by-heatherwick-studio/
https://newyorkyimby.com/2021/05/thomas-heatherwicks-little-island-opens-to-the-public-in-chelsea-manhattan.html
https://www.archdaily.com/962374/little-island-park-heatherwick-studio

Bahai Temple
By Hariri Pontarini Architects

สถาปัตยกรรมแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่ผู้คนจะมารวมตัว เพื่อขับกล่อมจิตวิญญาณของศาสนาบาไฮ ซึ่งโครงสร้างของอาคารล้วนสะท้อนการใช้งานของพื้นที่ มิติของแสง รูปแบบและงานวัสดุ ที่สะท้อนถึงปรัชญาและคำสอนของศาสนาบาไฮได้เป็นอย่างดี

รูปทรงของอาคารห่อหุ้มและบิดเป็นเกลียวคล้ายโดม ที่เชิญชวนทุกคนเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยสะท้อนแนวคิดแห่งชีวิตที่รวมกันเป็นหนึ่ง รูปทรงของอาคารที่แปลกตาโอบล้อมด้วยภูมิทัศน์ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน ฟาซาดของอาคารประกอบด้วยปีกทั้ง 9 ที่ทำจากวัสดุโปร่งแสง สะท้อนความมีชีวิตชีวาและด้วยแสงไฟที่เปล่งออกมาและสะท้อนกับผิวน้ำที่อยู่รายล้อม ปีกของอาคารทั้ง 9 บิดตัวและหมุนเป็นแนวขึ้นสู่ยอดสูงสุด เปรียบเปรยในเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวกับการเชื่อมต่อของมนุษย์

ภาพและข้อมูลจาก :
https://parametric-architecture.com/bahai-temple-hariri-pontarini-architects-awaken-a-novel-spiritual-vision/

จากตัวอย่างของอาคารทั้ง 7 ที่เราหยิบยกมาเล่า ไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์ของอาคารที่แสดงออกถึงความล้ำสมัย เป็นตัวแทนของนวัตกรรมและเทคโนโลยียุคใหม่เท่านั้น แต่ฟังก์ชันและการใช้งานของพื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ยังพร้อมยกระดับชีวิตของประชาชนคนเมืองให้ดีขึ้น จนเราอดคิดไม่ได้ว่า คงจะไม่ดีไม่น้อยเลย หากประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับการออกแบบสถาปัตยกรรม หรือพื้นที่สาธารณะเพื่อประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้