Money Café Pawn Shop
เปลี่ยนภาพจำความลึกลับของโรงรับจำนำ สู่อาคารเฟรนลี่ที่เข้าถึงง่าย

ผู้คนโดยทั่วไปมักมีความรู้สึกต่อโรงรับจำนำในแง่ลบ จากภาพจำที่เคยได้ยินมา หรือจากละครโทรทัศน์ ว่าคนที่เข้าโรงรับจำนำคือคนที่มีปัญหาทางด้านการเงินหมดหนทางแล้วจริงๆ จึงต้องนำสิ่งของมาแลกเป็นเงิน ประกอบกับภาพลักษณ์ของโรงรับจำนำเองที่ดูลึกลับ เข้าทางออกทาง แถมมีฉากบังสายตาตรงประตูทำให้ไม่สามารถมองเข้าไปภายในร้านได้ ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าการเข้าโรงรับจำนำเป็นเรื่องน่าอาย เหล่านี้เป็นปัญหาที่ทางเจ้าของโครงการ Money Café Group ให้มาเป็นโจทย์ว่าต้องการทำให้โรงรับจำนำนั้นเข้าถึงได้ง่าย และการเข้าโรงรับจำนำไม่ใช่เรื่องน่าอายเพราะจริงๆ แล้วมันก็คือสถาบันการเงินในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

Money Café Pathum Pawn Shop

โครงการตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี โดยเป็นการดัดแปลงอาคารพาณิชย์เดิมซึ่งอยู่ถัดเข้าไปจากถนนเป็นระยะพอสมควร ทำให้เกิดปัญหาไม่ค่อยเป็นที่สังเกตเห็นจากผู้คนและรถยนต์ที่สัญจรผ่านไปมา

ทีมสถาปนิกจึงแก้ไขด้วยการออกแบบ façade ให้มีความโดดเด่นโดยการเลือกใช้วัสดุแผ่นอลูมิเนียมสีดำเงาที่มีประกายเฉดสีทองผสมอยู่ ความเงางามของแผ่นอลูมิเนียมดังกล่าวจะทำให้ตัวอาคารโดดเด่นขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมโดยรอบ 

แนวความคิดในการออกแบบ façade เชื่อมโยงกับชื่อจังหวัดปทุมธานีซึ่งหมายถีงเมืองแห่งดอกบัว โดยการนำเอาลักษณะของการพับกลีบดอกบัวมาพัฒนาเป็น Pattern การพับแผ่นอลูมิเนียม ซึ่งชิ้นส่วนของ façade แต่ละชิ้นได้รับการออกแบบเป็นระบบ modular system ที่จัดทำเป็นชิ้นๆ จากโรงงานก่อนจะนำมาประกอบที่หน้างาน แต่ละชิ้นจะมีหน้าตาที่เหมือนกัน แต่แตกต่างด้วยการนำมาติดตั้ง กลับด้านสลับกันไปโดยมีการเว้นช่องระหว่างแต่ละชิ้นเพื่อให้มีแสงธรรมชาติและการระบายอากาศผ่านไปยังผนังอาคารเดิมที่อยู่ทางด้านหลัง

และเพื่อลดแรงปะทะของลมในกรณีที่มีลมพัดแรงหรือมีพายุ โครงเหล็กรับชิ้นส่วน façade ยังได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นบันไดลิงไปด้วยในตัวเพื่อใช้ในการดูแลบำรุงรักษา façade ผ่านทางระเบียงเก่าที่อยู่ด้านหลัง 

ชิ้นส่วนของ façade ที่ได้รับการออกแบบเป็นระบบ modular system
รูปด้านอาคาร

การพับแผ่นอลูมิเนียมช่วยเน้นความเป็น 3 มิติของ façade ความเงาของขอบ มุม และด้านเอียงต่างๆ จะเปลี่ยนไปตามสภาพแสงเงาที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาของวัน ในช่วงยามเย็น บางเสี้ยวของ façade ที่หันทางด้านทิศตะวันตกอาจจะมีแสงสะท้อนของพระอาทิตย์ยามเย็น ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ของ façade ที่หันทางทิศอื่นยังคงเป็นสีดำตามเดิม ส่วนในช่วงเวลากลางคืนแสงไฟที่ซ่อนด้านหลัง façade จะขับผนังทาสีชมพูด้านหลังให้เด่นลอดออกมาตามช่องว่างระหว่างชิ้นของอลูมิเนียม คล้ายกับตะเกียงสีชมพู

สีอัตลักษณ์องค์กรของ Money Café Group คือสีดำ ทอง และชมพู จึงเป็นที่มาของการใช้อลูมิเนียมสีดำ สแตนเลสสีทอง และไฟสีชมพู ตามลำดับ การใช้สีดังกล่าวยังต่อเนื่องไปถึงการตกแต่งภายใน โดยการใช้แผ่นตะแกรงเหล็กฉีกสีทองเป็นหลัก ผนังกรุด้วยต้นไม้ปลอมช่วยลดความแข็งกระด้างของตะแกรงเหล็กฉีก และยังสร้างความประหลาดใจเล็กๆ ให้ผู้มาใช้บริการรู้สึกว่าโรงรับจำนำมีความเป็นมิตรและเข้าถึงง่ายได้มากขึ้นอีกด้วย

Location : ต.บ้านฉาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี
Gross Built Area: 459 ตารางเมตร
Completion Year :  2019

Architecture & Interior Firm: archi.smith
Lead Architects: จิรวิชช์ แย้มกลีบ และสุคนธ์ทิพย์ เสงี่ยมวงศ์
Design Team: จิรวิชช์ แย้มกลีบ, สุคนธ์ทิพย์ เสงี่ยมวงศ์ และ ธนภณ ภูมิปัจจภัคค์
Owner: Money Café Group  ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์
Contractor : Tris Builder Group
Interior Contractor: Leben Work
Photographer: DOF SKY|GROUND

Money Café Pinkoo Pawn Shop

หน้าตาอาคารเดิมทั้งหมดถูกปกคลุมไปด้วยแผ่นป้ายชื่อร้านที่ทำด้วยแถบอลูมิเนียมตามที่เห็นกันทั่วไปตามร้านค้าที่เป็นตึกแถว และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ทำให้แทบจะไม่มีแสงธรรมชาติและการถ่ายเทอากาศตามธรรมชาติผ่านเข้ามาที่ผิวอาคารภายในได้เลย ที่แย่ไปกว่านั้น คือ มีการติดตั้งคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศที่กันสาดด้านหลังป้ายเหล่านี้ด้วยทำให้ช่องว่างระหว่างป้ายและผิวอาคารร้อนมาก ซึ่งอากาศร้อนที่ถูกเก็บกักอยู่ภายในสะสมขึ้นเรื่อยๆจนทำให้อุณหภูมิภายในอาคารสูงขึ้น

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทางทีมสถาปนิกออกแบบให้ façade ใหม่ของอาคารมีความโปร่งที่มากขึ้นด้วยการใช้วัสดุอย่างตะแกรงเหล็กฉีกเข้ามาช่วย เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วอากาศร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นดังนั้นการออกแบบ façade ให้มีความโปร่งตลอดความสูงอาคารจะช่วยระบายความร้อนได้อย่างดี

ในแง่ภาพลักษณ์อาคาร ทางเจ้าของต้องการให้อาคารดูหรูหรา มีความโดดเด่นและแตกต่างจากโรงรับจำนำทั่วไป เพื่อเป็นการ rebranding ธุรกิจโรงรับจำนำให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น

วัสดุหลักที่นำมาสร้างจุดเด่น ทางทีมออกแบบจึงเลือกใช้ กระจกเทมเปอร์ลามิเนตสีดำแผ่นใหญ่เนื่องจากความเงาของตัววัสดุจะโดดเด่นจากอาคารโดยรอบ ซึ่งดีไซน์ façade ให้ประกอบไปด้วยกระจกเทมเปอร์ลามิเนตสีดำดังกล่าวจำนวน 20 แผ่นในลักษณะโมดูลที่มีขนาดเท่ากันทุกแผ่นมาจัดเรียงกัน 4 ชั้น ชั้นละ 5 แผ่น

แต่ละชั้นจะจัดเรียงให้แผ่นกระจกหันหน้าไปคนละด้านสลับกันไปทุกชั้น โดยให้สันกระจกเรียงเป็นแนวเดียวกัน ที่ปลายด้านนอกของกระจกทุกแผ่นยังติดแถบอลูมิเนียมสีทองซึ่งจะดูต่อเนื่องเป็นเส้นแนวตั้งสีทองตลอดความสูง façade ตามแนวสันกระจกที่เรียงกันเป็นเส้นตรงตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งเส้นสีทองนี้ทำหน้าที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในแนวตั้งของการจัดองค์ประกอบงานออกแบบที่มีทิศทางของ design elements ที่แตกต่างกันในแต่ละชั้น

(ภาพอาคารเดิมก่อนรีโนเวท)
(ภาพแสดงแนวคิดโครงการ)
(ภาพแสดงแนวคิดโครงการ)

ซึ่งในแต่ละชั้นมีการติดตั้งแผ่นตะแกรงเหล็กฉีกและบันไดลิงสำหรับใช้ในการ maintenance ตัว façade เช่นการเช็ดกระจก หรือการขึ้นไปเช็คสกรูที่ยึดแผ่นกระจก หรือซ่อมไฟ LED เป็นต้น โดยความโปร่งของวัสดุตะแกรงเหล็กฉีกจะยังสามารถให้อากาศร้อนจากเครื่องแอร์ลอยผ่านขึ้นมาได้ ในยามค่ำคืนแสงไฟ LED ที่ติดตั้งด้านหลังกระจกสีดำส่องสว่างเป็นสีชมพูให้ effect เหมือนตัว façade เป็นโคมสีชมพู สี corporate identity ของทาง Money Café Group คือ ดำ ทอง และชมพู จึงเป็นที่มาของกระจกดำ แถบอลูมิเนียมสีทอง และไฟสีชมพูตามลำดับ

*คำอธิบายทั้งหมดโดยผู้ออกแบบ (Text description by the architects)

Location : ถ.บรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
Gross Built Area: 63 ตารางเมตร (façade area)
Completion Year : 2016

Architecture & Interior Firm: archi.smith
Design Team: จิรวิชช์ แย้มกลีบ และ สุคนธ์ทิพย์ เสงี่ยมวงศ์ 
Owner: Money Café Group  ชูศักดิ์ ตั้งเลิศสัมพันธ์
Construction: พิพัฒน์ ศุภสัณฐิติกุล
Contractor : AIC
Civil Engineer:  พรชัย ชวนะเวช และพงษ์ศักดิ์ ชีพสัตยากร
Photographer: Spaceshift
Renderings credits: DOF