Search
Close this search box.

Coastal Reborn : A symbiosis of architecture and environment
วิทยานิพนธ์ที่ตั้งต้นด้วยคำถาม และใช้วิจัยนำไปสู่คำตอบของการออกแบบที่คืนความยั่งยืนให้ชายฝั่งทะเลไทย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างป่าชายเลนที่โดนทำลาย หรืออัตราการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่พุ่งสูงต่างเป็นเรื่องที่เราได้ฟัง ผ่านหูผ่านตากันอยู่บ่อยๆ แต่น่าเสียดายที่ปัญหาเหล่านี้ ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ตรงจุด การแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนหินทิ้งในหลายๆพื้นที่ ได้ทิ้งคำถามไว้กับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ว่าวิธีที่ว่า ดีจริงหรือ?

ดล-ดลเทพ เจตีร์ เป็นหนึ่งคนที่สนใจและตั้งคำถามกับประเด็นดังกล่าว เขาจึงตัดสินใจหยิบเรื่องราวนี้มาทำเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาตรีในก้าวสุดท้ายของการเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภายในรั้วมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผลงานวิทยานิพนธ์ของดลนอกจากจะคว้ารางวัลจากเวทีการประกวดในระดับชาติมาหลายรางวัลแล้ว ล่าสุดยังชนะรางวัลที่ 3 จากเวทีประกวดการออกแบบยั่งยืนระดับโลกอย่าง ‘LafargeHolcim Awards’ ในประเภท Next Generation Prize ภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์แพร์ หรือ ผศ.ดร.คัทลียา จิรประเสริฐกุล  ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ชนะรางวัลในรุ่นอายุไม่เกิน 30 ปีนี้

‘Design and Research Integration’
วิถีการเรียนแบบใหม่ที่นำไปสู่การค้นหาข้อเท็จจริง

“ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมันอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่ช่วงที่อยู่ ปี3 เพราะเป็นประเด็นที่เห็นบ่อย เวลาเปิดข่าว หรือวารสารที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ซึ่งตอนนั้นเราก็คิดว่า มันน่าจะนำสถาปัตยกรรมไปจับและทำเป็นวิทยานิพนธ์ได้”  ดลเริ่มต้นเล่า

“วันแรกที่เขามาปรึกษา อาจารย์ให้เอกสารดลไปอ่านฉบับนึง ในนั้นอธิบายแนวทางการทำโปรเจกต์ที่หลากหลาย และบอกให้เขาถามตัวเองว่า จริงๆแล้วเขาสนใจอะไร ซึ่งเขากลับมาพร้อมกับคำตอบที่ว่า เขาสนใจปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะไปเห็นเขื่อนหินทิ้งที่อยู่ริมชายฝั่งทะเล แล้วเกิดคำถามว่า เขื่อนที่มีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ใช้งบประมาณก่อสร้างมากมายขนาดนั้น ทำไมจึงตั้งอยู่เฉยๆ และไม่มีผู้คนที่ได้ประโยชน์จากมันเลย วันนั้น…เราเห็นได้ชัดเลยว่า เขามีความมุ่งมั่นที่จะใช้งานออกแบบแก้ปัญหาและพัฒนาสิ่งแวดล้อม” อาจารย์แพร์เล่าเสริม

อาจารย์แพร์ผู้สนใจและมีพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม จึงรับหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ การเดินทางไปสำรวจชุมชนด้วยกันตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้ทั้งคู่เห็นภาพว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้มีแต่เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นครอบคลุมหลายด้าน ทั้งธรรมชาติ สัตว์ พืช มนุษย์ และชุมชนที่อยู่อาศัย และที่สำคัญ ทั้งหมดเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ จุดตั้งต้นนี้จึงผลักดันให้ดลก้าวออกไปจากศาสตร์ความรู้เพียงแค่สถาปัตยกรรม การศึกษาในเรื่องที่เราไม่รู้นั้น จำเป็นจะต้องมีการ สืบเสาะ ค้นคว้า หาข้อเท็จจริง ซึ่งอาจารย์แพร์อธิบายการเรียนรู้แบบนี้ว่า ‘Design and Research Integration’ หรือการทำวิจัยควบคู่ไปกับการออกแบบ ซึ่งเป็นแนวทางใหม่สำหรับการเรียนสถาปัตยกรรมในระดับปริญญาตรี

แนวทางการเรียนในรูปแบบนี้ จึงคล้ายชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ดลและอาจารย์แพร์เดินทางร่วมกันเพื่อค้นหา ก่อนจะประกอบร่างกลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ ในวิทยานิพนธ์นี้ สถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรม จึงเป็นศาสตร์ที่ถูกบูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ที่ได้จากการค้นคว้าและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อีก 4 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ วนศาสตร์ ประมง และวิศวกรรมโยธา

(ดลเทพ เจตีร์ และผศ.ดร.คัทลียา จิรประเสริฐกุล)

เริ่มต้นด้วยการมองหาไซต์

จากความสนใจปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง สิ่งที่ดลต้องทำเป็นเรื่องแรกๆ คือการเลือกไซต์ที่จะใช้ในการศึกษาและออกแบบ เนื่องจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแต่ละจังหวัดที่ได้รับผลกระทบนั้นค่อนข้างเฉพาะเจาะจง และมีปัจจัยที่ทำให้แต่ละที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดลกลับไปค้นคว้า จนพบว่าไซต์ที่น่าสนใจคือ ชุมชนคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในบริเวณชายฝั่งทะเลแถบอ่าวไทยตอนบน เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งสูง อีกทั้งยังเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนไปเป็นการทำนากุ้ง ทำให้ชุมชนประมงพื้นบ้านที่ติดกับชายฝั่งต้องโดนผลกระทบมายาวนานหลายสิบปี

เมื่อได้ไซต์ที่จะทำการศึกษา ดลได้ลงพื้นที่อยู่หลายครั้ง และทุกครั้งจะมีการเก็บข้อมูลพร้อมสอบถาม พูดคุยปัญหาเชิงลึกกับชาวบ้านในชุมชน “ผมมองว่าสิ่งสำคัญ มันคือการที่เราพยายามเข้าใจปัญหาที่นั่นจริงๆ เราพยายามเข้าไปคุยกับเขาเยอะมากๆ เก็บมาเป็นข้อมูลไว้ในมือ ไปบ่อยจนคุณลุง คุณป้าร้านขายน้ำในชุมชนจำเราได้” ดลเล่า

(พื้นที่ตั้งโครงการ ชุมชนคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ)

จากนั้นจึงนำข้อมูลที่สะสมไว้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากคณะวนศาสตร์ ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปว่า “วิธีที่จะช่วยฟื้นฟูปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ตรงจุดที่สุด แท้จริงแล้วไม่ใช่การทำเขื่อนกันคลื่น แต่เป็นการปลูกป่าชายเลนให้กลับคืนมา และทำหน้าที่เป็นพื้นที่กันชนทางธรรมชาติในระยะยาวต่างหาก” แต่การจะปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คำถามและคำตอบมากมายจึงคล้ายกับปมเชือกที่พันกันอย่างซับซ้อน และต้องค่อยๆ คลี่คลายออกไปทีละปม  

ด้วยแรงคลื่นที่ถาโถมเข้ามา เป็นไปไม่ได้เลยที่ต้นกล้าจะทานอยู่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องการชะลอแรงคลื่นลงและเพิ่มตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลนให้กลับคืนมา ในผลงานของดล จึงได้ออกแบบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมให้ตอบรับกับ 3 ประเด็นหลัก หนึ่ง คือ การลดแรงคลื่น สองคือ การดักตะกอนดินให้เพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับการปักกล้าไม้ชายเลน และสุดท้าย คือ การปลูกป่าชายเลนทดแทนบนพื้นที่นากุ้งร้าง และพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

01 Floating Break Water
ลดแรงคลื่นด้วยเขื่อนลอยน้ำรูปสามเหลี่ยม

จิ๊กซอว์ตัวแรก คือ การลดแรงคลื่น ซึ่งต่อเนื่องมาจากประเด็นหลักที่ดลสนใจ นั่นคือปัญหาของเขื่อนหินทิ้งที่มีขนาดใหญ่และหนัก ไม่เหมาะกับคลองด่านซึ่งมีดินอ่อน ในระยะยาวเขื่อนจะค่อยๆทรุดตัวและพังทลายลง ทำให้ตะกอนดินขุ่นและส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ฉะนั้น สำหรับหาดเลน วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน

เมื่อดลไปค้นคว้าต่อ ทำให้เขาพบงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จดสิทธิบัตรเรื่องเขื่อนกันคลื่นแบบคอนกรีตเอาไว้ เขาจึงได้เรียนรู้ว่า รูปทรงสามเหลี่ยมคือรูปทรงที่สามารถกันคลื่นได้ดีที่สุด แต่ทว่าการใช้โครงสร้างแบบถาวรนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม “ดลจึงพยายามออกแบบโครงสร้างกันคลื่นแบบใหม่ แต่ปัญหาคือ เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราออกแบบจะกันคลื่นได้จริง เพราะเราไม่รู้พฤติกรรมคลื่นใต้น้ำ เราเลยต้องไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ โชคดีที่เขากำลังทดลองเรื่องเขื่อนกันคลื่นแบบลอยน้ำ Floating Break Water ซึ่งความเจ๋งอยู่ตรงที่มันยึดกับพื้นด้วยสลิง ถ้าเราจะเลิกใช้ ก็คือถอดออกไปได้เลย ไม่มีการยึดติดถาวร เรารู้ได้ในทันทีเลยว่า นี่คือธงที่ 1 ที่เราหาพบ!” อาจารย์แพร์เล่า

(ภาพแสดงแนวคิดเขื่อนกันคลื่นทรงสามเหลี่ยม Floating Break Water)

“พอคุยกับคนในชุมชนมากๆ เห็นการใช้ชีวิตของเขา เราพยายามคิดว่า ถ้าโปรเจกต์ของเรามาลงในพื้นที่นี้จริง คนในชุมชนจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปยังไง หรือจะมีวิธีที่จะผสมผสานสถาปัตยกรรมของเราเข้าไปกับวิถีชีวิตของเขาอย่างไรบ้าง? สถาปัตยกรรมแต่ละส่วนจึงมีการดึงวิถีชีวิตชุมชนเข้าไป ในขณะที่ทำหน้าที่ฟื้นฟูระบบนิเวศไปพร้อมกัน” ดลเล่าต่อ

กระชังปลา ที่พักชั่วคราวของชาวประมงและอวนโป๊ะจับปลาในละแวกนั้น ถูกนำมาออกแบบผสมผสานร่วมกับ Floating Break Water กลายเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมชิ้นเดียวต่อเนื่องเป็นแนวยาวในชายทะเลเพื่อชะลอแรงคลื่นที่ปะทะเข้าสู่ชายฝั่ง ซึ่งโครงสร้างในส่วนนี้ได้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมชลศาสตร์ และวิศวกรรมโยธามาเป็นที่ปรึกษาเพิ่มเติม

02 ดักตะกอนดินเพื่อปลูกกล้าไม้ชายเลน

หลังจากตัวคลื่นถูกชะลอมาจากส่วนแรกเป็นที่เรียบร้อย เมื่อเข้าสู่ชายฝั่ง จำเป็นต้องมีการดักตะกอน เนื่องจากเขื่อนหินทิ้งทำให้ตะกอนดินเลนเสียหาย ในโซนที่ 2 ดลออกแบบแนวไม้ไผ่ดักตะกอน 3 ชั้น บริเวณรอยต่อชายฝั่ง เพื่อทำหน้าที่ดูดซับแรงคลื่นและดักตะกอนเลนสำหรับการปลูกกล้าไม้ชายเลนไปพร้อมๆกัน

นอกจากนั้น เขื่อนหินทิ้ง และน้ำเสียจากโรงงานและการทำนากุ้งร้าง ยังส่งผลทำให้สัตว์บางชนิดสูญหายไปจากห่วงโซ่อาหาร ทำให้สัตว์เศรษฐกิจและการจับสัตว์น้ำของชาวประมงในแถบนั้นเปลี่ยนแปลงตามกันไปติดๆ โจทย์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมส่วนที่ 2 ของดล จึงครอบคลุมทั้งการดักตะกอน ปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม (Afforestation) ไปพร้อมกับการฟื้นฟูระบบนิเวศของสัตว์

(ภาพแสดงการออกแบบโครงสร้างดักตะกอนดิน ธนาคารหอยลาย และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ)

ด้วยประเด็นเฉพาะทาง ดลต้องไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านประมง เพื่อทำการศึกษาเรื่องการเพาะพันธุ์และอนุบาลตัวอ่อนของหอยลาย ก่อนจะปล่อยลงสู่ทะเล เติมเต็มห่วงโซ่อาหารที่ขาดช่วงให้สมบูรณ์ ธนาคารตัวอ่อนจึงถูกออกแบบให้ผสมผสาน กับโครงสร้างดักตะกอนที่เป็นแนวไม้ไผ่ ซึ่งถูกใช้เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปในตัว

ในการออกแบบรายละเอียดของอาคาร ต้องมีการคิดโครงสร้างแบบพิเศษ เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อสัตว์หน้าดิน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโยธาจึงร่วมให้คำปรึกษา สู่ผลลัพธ์ของการออกแบบอาคารที่มีโครงสร้างเลียนแบบรากโกงกาง โดยมีเสาลาดเอียงในองศาที่พอดีเพื่อลดการต้านแรงลมและสร้างความมั่นคงบนพื้นที่ดินที่อ่อนนุ่มโดยปราศจากตอม่อ

(ภาพแสดงแนวคิดโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม)

03 Reforestation คืนป่าสู่ชุมชน

เมื่อตะกอนถูกดักและเพิ่มขึ้นในส่วนที่สอง โซนสุดท้ายคือ Reforestation หรือการเริ่มเอาแนวต้นกล้าป่าชายเลนมาปลูกลงบนพื้นที่นากุ้งร้าง ซึ่งดลออกแบบให้มีการก่อสร้างธนาคารตัวอ่อนไปพร้อมๆ กับการปลูกป่าชายเลนเป็นระยะๆ อีกทั้งโซนนี้ยังมีส่วน Eco-Tourism โดยนักท่องเที่ยวสามารถมาชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนธนาคารตัวอ่อนปูแสม และหอดูนกได้ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่สามารถคืนทุนให้กับชุมชนได้อีกทาง

ในส่วนนี้ซึ่งเป็นบริเวณน้ำนิ่ง ตัวอาคารจึงได้ออกแบบให้มีการยื่นแนวกำแพงไม้ไผ่ออกมา เพื่อให้น้ำที่ไหลมาอย่างช้าๆ นั้น สามารถสะท้อนและไหลเวียนเข้ามาสู่กระชังตัวอ่อนได้ง่าย ทำให้น้ำหมุนเวียนและไม่เน่า และเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆสามารถอาศัยอยู่ได้

ขั้นตอนในการชะลอแรงคลื่นจากทะเล จนมาถึงการดักตะกอนและปลูกป่าชายเลน ทั้งหมดที่เราเล่ามานั้น แน่นอนว่า ย่อมต้องใช้เวลาเป็นตัวช่วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศและพื้นที่ธรรมชาติ อาจนานถึง 20 หรือ 30 ปี แต่โปรเจกต์นี้คงจะเป็นสัญญาณและจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับการมองเห็นปัญหา พยายามหาวิธีแก้ไขโดยนำองค์ความรู้หลายศาสตร์ สถาปัตยกรรม รวมถึงสุนทรียศาสตร์เข้ามาผสมผสานได้อย่างแท้จริง

(ภาพแสดงแนวคิดการ Reforestation คืนป่าสู่ชุมชน)
(ภาพแสดงแนวคิดรายละเอียดโซน 3 หรือการ Reforestation คืนป่าสู่ชุมชน)
(ภาพตัดแสดงแนวคิดการฟื้นฟูป่าชายเลน ณ ชุมชนคลองด่าน จ.สมุทรปราการ)

โปรเจกต์ไม่ได้สร้างจริงที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงอย่างสูงสุด

หากเราพูดถึง ‘วิทยานิพนธ์’ หลายคนมองประเด็นของความสนุกสนาน การปล่อยจินตนาการของตัวเองให้โลดแล่น ก่อนจะเข้าสู่โหมดชีวิตการออกแบบจริงที่ต้องมีลูกค้า และข้อจำกัดมากมายมาล้อมกรอบ แต่วิทยานิพนธ์ของดลกลับแตกต่าง และคิดทุกอย่างบนพื้นฐานของความเป็นจริงอย่างสูงสุด เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เราโยนคำถามนี้ไปถึงดลและอาจารย์แพร์

“มีคำถามมากมายเกิดขึ้นระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งผมว่าสิ่งสำคัญมันคือการที่เราต้องรู้ก่อนว่า คำตอบของคำถามอยู่ที่ไหน และเราจะพาตัวเองไปหาคำตอบเหล่านั้นยังไง เราเห็นทีสิสที่ดีและหลากหลายมากในไทย และทุกครั้งเราก็อดคิดไม่ได้ว่า มันจะดีแค่ไหน ถ้าทีสิสเหล่านั้น สามารถนำไปต่อยอดทำจริงได้ ซึ่งมันก็น่าจะช่วยสังคมได้มากเลย” ดลส่งคำตอบทิ้งท้าย

ก่อนที่อาจารย์แพร์จะเสริมว่า “ทีสิสเป็น Self-Study ก็จริง กล่าวคือ เราตั้งคำถามในสิ่งที่เราอยากรู้ แต่เมื่อเราลงแรงไปแล้วระยะเวลาถึง 1 ปี มันจะดีมากถ้าผลงานเหล่านั้นทำแล้วมีประโยชน์กับคนอื่นได้จริงๆ รู้ไหมว่าตอนที่ส่งประกวด LafargeHolcim Awards เราสองคนคุยกันว่า เราส่งเพราะเราอยากเผยแพร่แนวคิดนี้ เราอยากให้ผู้คนได้เห็นว่ามันมีวิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในแบบนี้อยู่นะ เท่านั้นเราก็พอใจแล้ว”

“ปัจจุบัน ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และมีกลุ่มนักออกแบบจำนวนไม่น้อยที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วทุกทวีปได้นำความรู้ของตนเองมาบูรณาการร่วมกับศาตร์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าใจและแก้ไขปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

เวทีประกวดแบบ LafargeHolcim Awards นี้ จึงถือได้ว่าเป็นจุดรวมพลที่สำคัญของนักออกแบบเหล่านั้น ที่จะมาร่วมแชร์ผลงานและมุมมองของนักออกแบบ รวมถึงเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละโปรเจกต์ที่ได้รับคัดเลือก ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่งานของเราได้มีที่ยืนในเวทีนานาชาติ  และคิดว่านี่คือโอกาสที่ดีที่จะแสดงจุดยืนว่าการออกแบบอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจถึงปัญหาอย่างลึกซึ้งและถูกคิดอย่างครอบคลุมในทุกๆ มิติ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความยอมรับ” ดลกล่าว

(ผู้ออกแบบและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์)

Project Information
ชื่อผลงาน : Coastal Reborn: A symbiosis of architecture and environment
การออกแบบสถาปัตยกรรมแนวผสมผสาน บูรณาการหลายศาสตร์
ผู้ออกแบบ
ดลเทพ เจตีร์
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-MAIL : Dolathep_chetty@hotmail.com
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์
ผศ.ดร.คัทลียา จิรประเสริฐกุล  
อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail : archcyn@ku.ac.th
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
ผศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.วิพักตร์ จินตนา ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หัวหน้าสถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.ศิรเดช สุริต ภาควิชานวัตกรรมอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading