จากผืนที่ดิน 2 งาน ในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ที่มองเห็นวัดพระธาตุดอยสุเทพและยอดทิวเขาปลายตา สู่ PSNK House บ้านแฝด 2 หลังคาภายใต้การใช้งานบางฟังก์ชันร่วมกันของ 2 ครอบครัว ซึ่งคุณวี -วีรวัต จันทร์กิติสกุล สถาปนิกจาก PLADIB Architect รับหน้าที่ปรับเปลี่ยนเรื่องราวของบ้านให้ตอบโจทย์ความต้องการ กลายเป็นพื้นที่หัวใจหลักของครอบครัวขยาย 3 เจนเนอเรชัน
สมาชิกครอบครัวใหญ่ ประกอบไปด้วยคุณพ่อ คุณแม่ ลูกชาย และลูกสาว ผู้ซึ่งกำลังขยับขยายสร้างครอบครัวพร้อมมีลูกเล็กเป็นเจนเนอเรชันใหม่ที่กลายเป็นขวัญใจของบ้าน บ้านแฝดหลังนี้จึงแบ่งพื้นที่ของสองครอบครัวอย่างชัดเจน กล่าวคือ บ้านของครอบครัวลูกสาว และบ้านของคุณพ่อคุณแม่และลูกชาย ในขณะที่ยังเชื่อมโยงเรื่องราวความอบอุ่นไว้ภายใต้พื้นที่คอร์ดยาร์ทสีเขียวและพื้นที่รับประทานอาหาร
‘แยก’ ฟังก์ชัน ‘รวม’ ความอบอุ่น
บ้านแฝดที่บรรจุความอบอุ่นหลังนี้ ออกแบบโดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน หนึ่งคือโซน Plaza ซึ่งเป็นอาคารจอดรถและลานโล่ง โซนที่ 2 คือ Center Courtyard ที่ประกอบไปด้วยโถงต้อนรับ ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ห้องนอนแขก และโถงรับประทานอาหาร ส่วนโซนสุดท้าย คือ Back Of House หรือส่วนเซอร์วิส อย่างห้องแม่บ้าน ห้องซักรีด และพื้นที่ครัวไทย ซึ่งจุดเด่นของบ้าน คือการออกแบบพื้นที่พลาซาและส่วนเซอร์วิสให้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินผ่านโซนอยู่อาศัยหลัก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว และตัดขาดจากพื้นที่อื่นๆ ภายนอก
หากดูจากแปลนบ้าน เราแทบจะไม่รู้ว่านี่คือ ‘บ้านแฝด’ เพราะสถาปนิกออกแบบพื้นที่บางส่วนให้เชื่อมต่อกัน อีกทั้งยังมีการออกแบบภาษาทางสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนเป็นบ้านหลังเดียวของครอบครัว ระนาบของกำแพงทึบที่ผสานเข้ากับระแนงไม้จึงกลายเป็น Paradoxical Functional ที่เมื่อเปิดจะทำหน้าที่ ‘แยก’ พื้นที่ภายในให้กลายเป็นบ้านสองหลัง แต่เมื่อปิดและมองจากภายนอก บ้านจะมีรูปด้านเป็นบ้านหลังเดียวที่ล้อมกรอบเรื่องราวของครอบครัวทั้งสองเอาไว้ภายใน
หรือหากวันไหนมีแขกมาเยี่ยมบ้านจำนวนมากมาย ระแนงไม้ทั้ง 6 บานก็ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่พลาซาและส่วนอาศัยหลัก กลายเป็นพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ที่ Flexible พร้อมปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตามความเหมาะสม
Dtips : การติดตั้งระแนงไม้ในบริเวณนี้ จึงไม่ใช้ระบบโครงเคร่ายิงสกรูในแบบดั้งเดิม แต่จะใช้วิธีการร้อยสกรูยาว 1 เมตรในบริเวณกลางท่อนไม้คั่นด้วยเหล็กปลอก ขนาด 9 มม. เพื่อจัดระยะ ทำให้ระแนงไม้แข็งแรงและสวยงามทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
Modern Tropical ความเรียบง่าย ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ
ก้าวพ้นจากส่วนพลาซา เราจะเจอกับ Main Courtyard ที่ถูกออกแบบขึ้นให้โอบล้อมฟังก์ชันต่างๆ ของการอยู่อาศัยทั้ง 3 ด้าน เป็นวิวธรรมชาติส่วนตัวที่ไม่ว่าจะใช้งานอยู่ภายในพื้นที่ใดก็สามารถมองเห็นและทักทายธรรมชาติได้อย่างใกล้ชิด อีกทั้ง ผนังระแนงไม้โปร่งทั้ง 6 ยังรับลมธรรมชาติจากบริเวณด้านหน้าบ้านให้โฟลวเข้าสู่การใช้งานภายในได้อย่างสะดวก
“บ้านเชียงใหม่เกือบทุกหลังในบริเวณนี้ วิวดอยสุเทพจะอยู่ทางทิศตะวันตก ซึ่งแปลว่าถ้าเราอยากได้วิวทิวเขาพร้อมดอยสุเทพ ก็ต้องยอมแลกมาด้วยความร้อนบ้าง ซึ่งพอเราเห็นวิวสถานที่ มันก็ต้องยอมแลกจริงๆ เพราะสวยมาก เราเลยพยายามออกแบบบางส่วนของบ้านด้วยช่องเปิดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยต้องไม่รับความร้อนเข้ามาจนทำให้บ้านอยู่ไม่สบาย” สถาปนิกเล่า
ทางสัญจรหลักภายในบ้านออกแบบให้อยู่ชิดภายในติดกับคอร์ดยาร์ด ทำให้ผู้อยู่อาศัยมองเห็นธรรมชาติ ไม่ว่ากลับจากทำงานหรือกำลังจะออกไปจากบ้าน อย่างน้อยได้พักสายตาจากพื้นที่สีเขียวบ้าง ก็ช่วยเติมพลังระหว่างวันได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยความที่คุ้นชินกับการอยู่อาศัยภายในตึกแถวมาแต่เดิม เจ้าของบ้านต้องการสวนสีเขียวที่ดูแลง่าย จึงเลือกไม้ประธานต้นใหญ่อย่าง ต้นลูกหว้า และสนามหญ้ามาเลเซียที่สามารถเติบโตภายในพื้นที่ร่มได้
นอกจากพื้นที่รับประทานอาหารบริเวณชั้น 1 จะทำหน้าที่เชื่อมโยงบ้านสองหลังเข้าไว้ด้วยกันแล้ว บริเวณชั้น 2 สถาปนิกออกแบบสะพานทอดยาว 6 เมตรในช่องเปิดระดับสายตา ที่มองเห็นวิวพระธาตุดอยสุเทพในเวลากลางคืน ในขณะเดียวกันสะพานนี้ยังสามารถเดินชมวิวสวนในยามเช้าได้เช่นกัน
เพื่อให้บ้านโปร่ง โล่ง พร้อมระบายอากาศให้หมุนเวียนได้มากที่สุด คุณวีออกแบบสเปซห้องรับประทานอาหารที่เปรียบเสมือนไฮท์ไลท์ของบ้านให้เป็น Double Volume รวมไปถึงบริเวณโถงนั่งเล่นของบ้านปีกซ้าย ด้วยการยื่นอาคารชั้น 2 ออกมาประมาณ 5 เมตร (เท่ากับความยาวของห้องนั่งเล่น) เป็นข้อดีที่ทำให้รูปลักษณ์ของบ้านภายนอกดูสมดุล ไม่แบนจนไร้มิติ และที่สำคัญคือ การได้พื้นที่โถงสูงในแบบ Double Volume เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งจุด กลายเป็นฟังก์ชันห้องนั่งเล่นหลักของครอบครัว
Dtips : โครงสร้างคานยื่นในแบบ Cantilever ถูกวางอยู่บนคานคู่ขนาน ขนาด 1 เมตรที่ยื่นออกจากผนังคอนกรีตขนาดใหญ่ 1 คู่ ซึ่งปลายคานนั้นจะถูกดึงกลับมาที่ยอดผนังระดับหลังคาด้วยเหล็กอีก 1 เส้น บริเวณโถงนั่งเล่นจึงไม่จำเป็นต้องมีคานเพื่อรับน้ำหนัก ทำให้ได้ผนังกระจก 2 ด้าน ที่สามารถเปิดรับวิวธรรมชาติได้แบบเต็มบาน
วัสดุของอาคารยังสะท้อนรูปลักษณ์ความเป็นบ้าน Tropical Modern ที่ประกอบร่างจากการใช้พื้นกระเบื้องลายหิน พื้นคอนกรีตลายหิน ผนังพ่นหิน หรือผนังทาสี ภาพรวมของบริเวณชั้น 1 ทั้งหมดจึงดูแข็งแกร่งเป็นฐานของอาคาร ในขณะที่บริเวณชั้น 2 จะถูกออกแบบในโทนสีสว่างกว่า เพื่อให้อาคารมีรูปทรงที่ชัดเจน ดูเบาและโดดเด่นมากขึ้น
บริเวณภายนอกที่ต่อเนื่องเข้าสู่ภายใน สอดแทรกบรรยากาศธรรมชาติ ด้วยไม้คอนวูดสีสักโปร่งแสง ที่แบ่งแยกองค์ประกอบของอาคารอย่างชัดเจน โดยสถาปนิกยังมีการออกแบบบัวผนังเป็นเส้นบางๆ ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ตลอดแนวยอดของผนัง เพื่อเก็บรายละเอียด ให้สีและอาคารดูคม
นอกจากเสน่ห์ของบ้านหลังนี้ คือพื้นที่ส่วนกลางที่พาให้ครอบครัวขยายกลับมาใกล้ชิดและผูกพันกันกว่าที่เคย ความเรียบง่ายจากสเปซ แสงเงา และความเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการออกแบบยังส่งต่อบรรยากาศที่ทำให้บ้านมีความหมาย มีอารมณ์ ความรู้สึกของผู้คน ธรรมชาติที่อบอุ่นอบอวลอยู่ภายในบ้านแฝด Tropical Modern ของสองครอบครัว
Location : ถนนแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
Gross Built Area : 600 ตารางเมตร
Architect: PLADIB ARCHITECT
Structure Engineer : WTD Co.,Ltd
Contractor : Perfect Building Home
Photograph : Rungkit Charoenwat
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!