ทำไมตอนไปเที่ยวคนเราถึงตกหลุมรักใครสักคนได้ง่ายกว่าตอนเจอเขาในชีวิตประจำวันกันนะ?
คงมีหลายปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมความโรแมนติกนี้ ทั้งจังหวะ โอกาส และสถานที่ที่เจอกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกลางที่มีผลต่อความสัมพันธ์ หรืออาจจะลองนึกเล่นๆ ตอนที่เรารู้สึกตกหลุมรักใคร เราพบเขาครั้งแรกที่ไหน? บางคู่อาจเจอกันในคอนเสิร์ต บางคู่เหตุเกิดเพียงเพราะแค่หันไปเจออีกฝ่ายกำลังก้มผูกเชือกรองเท้าที่สวนสาธารณะ บางคนเป็นคนแปลกหน้าที่บังเอิญมานั่งเครื่องบินข้างกัน ทุกอย่างเหมือนเป็นใจให้เรื่องราวโรแมนติกเหล่านี้เกิดขึ้น
แต่จริง ๆ แล้วยังมีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า วันนี้เราเลยขอหยิบแง่มุมเกี่ยวกับ Sense of place ความโรแมนติกของสถานที่นั้น ๆ ผ่านมุมมองของหนังรักที่ทุกคนคุ้นเคย เพื่อกล่าวถึงมวลความโรแมนติกทั้งหมดที่เราพบเจอ ที่หลายคนอาจเคยสงสัยว่ามันถูกก่อร่างสร้างตัวมากจากอะไรกันแน่ มาชวนให้ทุกคนมาติดตามหาคำตอบกัน!
*** Spoiler Alert
Midnight in paris (2011) : พลังรักจากทางเท้า
-บรรยากาศข้างทางพาให้เราสรรสร้างบทสนทนา-
เริ่มต้นกับภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Midnight in Paris ที่ถ่ายทำ ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเมืองที่อบอวลไปด้วยศิลปะและปรัชญา ศิลปินของโลกมากมาย และได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองแห่งศิลปะ’ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ทั้งสองช่วงเวลาต่างก็โรแมนติกไม่แพ้ไปกว่ากัน ในภาพยนตร์ย้อนยุคเมืองปารีสเรื่องนี้ หลังจากที่อยู่ๆ พระเอกก็สามารถย้อนเวลากลับไปตอนเที่ยงคืนของทุกวันได้ โดยเริ่มย้อนไปตั้งแต่ยุค 2000s จนถึงยุคที่ศิลปินระดับโลกอย่างปิกัสโซ่ยังมีชีวิตอยู่ แน่นอนเขาหลงใหลไปกับช่วงเวลาอันแสนวิเศษนี้ จึงทำให้ทุกคืนเขาเลือกที่จะเดินทางย้อนไปอดีตอยู่บ่อย ๆ
“มนุษย์มักนิยมชมชอบความหอมหวานในอดีต และประเมินค่าปัจจุบันเป็นสิ่งไร้ค่าที่แสนทรมาน”
คำนี้อธิบายอาการ Nostagia (การหลงใหลอดีต) ของพระเอกได้อย่างครอบคลุม จริง ๆ แล้วในทุกสถานที่มีความทรงจำ ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ มันก็มีอยู่จริง ๆ ถึงร่องรอยของสถานที่นั้นอาจไม่มีร่องรอยการมีอยู่ของคุณมาก่อน แต่คนอื่นก็ได้ฝากร่องรอยเอาไว้เสมอ กลิ่นความทรงจำจึงอบอวลรอบเมืองอยู่อย่างนั้นฝังรากลึกจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกลิ่นที่ว่าก็มาจาก สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตของคนในสังคม
Location : https://goo.gl/maps/niejKZ9zqotbDXwf9
-ปารีสตอนฝนตกโรแมนติกเสมอ-
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ Romanticize เมื่อฝนตกในเมืองในไทยได้ ที่ปารีสไม่มีทั้งรถติด น้ำท่วม และขยะลอย เพราะการจัดเมืองที่ดีจึงทำให้ตอนฝนตกยิ่งเพิ่มความสวยงามให้แก่เมือง แสงสะท้อนไฟตามร้านค้าในเมืองที่สาดลงบนท้องถนน การทำตาเบลอทำให้มองเห็นแสงนั่นเป็นโบเก้ แค่นึกภาพปารีสตอนฝนตก เพลงแจ๊สในจินตนาการก็ลอยมาแตะหูผู้กำกับแล้ว จึงทำให้ฉากเปิดของเรื่องถูกบรรเลงด้วยเพลงแจ๊สและบรรยากาศของปารีสในวันฝนตกที่เป็นไปอย่างงดงาม
การเดินกลับบ้านกับใครสักคน (คนที่เราชอบ) ในเมืองปารีสบนทางเท้าที่เรียงด้วยอิฐสีทรายสวยงามเรียบกริบ ทางคนเดินมีขนาดกว้างกว่าถนน การหยอกเย้าที่มีอิสระไม่ต้องกลัวชนสิ่งกีดขวาง อากาศบริเวณนั้นที่อยู่ในภาวะที่น่าสบาย ถนนและทางเท้าเชื่อมกับสวนสาธารณะและกลืนไปกับคลอง ทุกอย่างสอดผสานกันทั้งอาคาร ฟุตพาธ ต้นไม้ และถนน รวมถึง Street furniture ที่มีเยอะพอให้ผู้คนนั่งคุยกันได้ แค่นี้ก็ถือเป็นเมืองในฝันที่ใครหลายคนถวิลหาแล้ว
Notting Hill (1999) : แรกพบที่ร้านหนังสืออิสระ
-พื้นที่ปลอดภัย (ในการถูกแอบมอง)-
มาต่อกันที่อีกหนังรักระดับตำนานอย่าง Notting Hill ที่เล่าเรื่องราวความรักของดาราฮอลลีวูด กับหนุ่มขี้อายเจ้าของร้านหนังสืออิสระที่มีชื่อร้านว่า The Travel Book Bookshop ร้านหนังสือเล็ก ๆ เปิดมาตั้งแต่ปี 1979 ในย่าน Notting Hil ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ทั้งสองคนไม่น่าโคจรมาเจอกันได้
ใคร ๆ ก็ฝันอยากไปเดตในสวนยามค่ำคืนที่น็อตติงฮิลล์เหมือนฮิวจ์ แกรนต์และจูเลีย โรเบิร์ตส์กันทั้งนั้น อยากไปเดินตลาดตรงถนน Portobello และหวังว่าจะบังเอิญเจอใครสักคนที่เข้าตาในร้านหนังสือเล็ก ๆ สักร้าน
อาจเพราะSpace ที่บีบคนสองคนให้ใกล้กันมากขึ้น ซึ่งปรากฏเรื่องนี้ในวิชาของคณะสถาปัตยกรรม มักสอนถึงระยะที่คนจะรู้สึกปลอดภัยต่อกันในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ เมื่อเราสนิทมากก็สามารถอยู่ใกล้กันได้มาก แต่กับคนแปลกหน้าเราก็จะประเมินว่าควรมีระยะห่างถึงจะรู้สึกปลอดภัย เรียกว่า behavior in public places เป็นทฤษฎีทางสถาปัตยกรรมจาก Erving Goffman
ชั้นหนังสือเป็นกลไกสําคัญในการลดทอนการรับรู้สาร(การกระทำของผู้คนรอบข้างให้น้อยลง) และการสามารถควบคุมการบุกรุกจากเสียงและการกระทำของบุคคลภายนอกได้
ผลงานวิจัยของ Goffman ศึกษาพฤติกรรมของชาวเผ่าทัวเร็กที่ใช้ผ้าคลุมหน้า เป็นกลไกในการกําหนดภาวะส่วนตัวในระดับที่ต่างกัน คือการบดบังระดับผิวหน้าที่แตกต่างกัน เป็นการส่งสารที่พอเหมาะให้คนภายนอกรับรู้ได้อย่างเหมาะสม หรือ การสวมแว่นกันแดดใหญ่ๆ หรือสวมหมวก ใบกว้างของพวกดารานักแสดง เป็นการใช้กลไก shelter ควบคุมสารที่สื่อสารต่อคนภายนอก ไม่ให้ระบุได้ว่าตนเองเป็นใคร เพื่อสภาพเป็นส่วนตัวของตนเอง ตรงกับในเรื่องที่นางเอกเป็นดาราสาวชื่อดังยืนหลบอยู่หลังชั้นหนังสือในครั้งแรกที่พบกันกับพระเอก
การที่เรายืนมองใครสักคนเลือกหนังสือ คงเป็นภาพที่เขาดูมีเสน่ห์อยู่ไม่น้อย เราจะได้แอบมองเขาเลือกหนังสือซึ่งบ่งบอกมุมมองที่มีต่อโลกว่าจะชอบอ่านหนังสือคล้ายเราบ้างหรือเปล่า หรือการที่เขาหันมามอง เราก็ยังเนียน ๆ ก้มอ่านเล่มที่ถือในมือต่อได้ด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่คุกคามกันและกัน มองอย่างมีระยะห่าง เพราะจังหวะการพบกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ของการสร้างสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน
ปัจจุบันร้าน “The Travel Bookshop” เปลี่ยนเป็นร้านขายของที่ระลึกชื่อ “Notting Hill” แต่ยังคงรูปลักษณ์ของประตูสีฟ้าอยู่เหมือนเดิม ทุกๆ เดือนสิงหาคมของทุกปี ที่นี่จะจัดงาน Notting Hill Carnival ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 ถือเป็นเทศกาลที่จัดบนท้องถนน หรือ street festival ที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
(อ้างอิงข้อมูลจากงานเขียนเรื่องการสร้างสภาพเป็นส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ โดย คุณพุทธิกันต์ สมมาตย์ )
Location : https://g.page/nottinghillbookshop?share
Before sunrise (1995) : นั่งรถไฟไปเวียนนา
-สถาปัตยกรรมที่ไหลผ่านบทสนทนา-
ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คนแปลกหน้าสองคนพบกันบนรถไฟสายบูดาเปสต์-เวียนนา เซลีน เธอกำลังจะกลับบ้านที่ปารีส และ เขา เจสซี่ หนุ่มอเมริกันกำลังมุ่งหน้าไปยังกรุงเวียนนา ทั้งสองพบกันบนรถไฟและเริ่มพูดคุยกันอย่างออกรส ซึ่งทั้งคู่ก็ถูกชะตากันตั้งแต่แรกเห็น บรรยากาศในห้องอาหารรถไฟทำให้เขาและเธอได้ใกล้กันมากขึ้น พ่วงด้วยวิวข้างทางที่เป็นใจสำหรับบทสนทนาของทั้งคู่ เมื่อรถไฟมาถึงเวียนนา ทั้งสองยังไม่อยากแยกจากกัน เจสซี่จึงโน้มน้าวให้เธอลงจากรถไฟเพื่อเที่ยวเวียนนาสำรวจเมืองกับเขาต่อ แต่เธอก็ลังเล
บิงโก! เธอลงจากรถไฟและไปเที่ยวกับเขา ทั้งคู่เดินชมเมืองและคุยกันไปเรื่อย ๆ ถ้าจะให้ตั้งชื่อเรื่องใหม่จากBefore Sunrise ที่หมายถึงเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นและจบลงภายในคืนเดียวก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น สามารถตั้งชื่อใหม่ได้ว่า Midnight in Vienna เพราะบรรยากาศการเดินเล่นในเมืองโรแมนติกพอ ๆ กับปารีส เพียงแต่ไม่มีฝนตกเท่านั้นเอง อาจเพราะเวียนนาเป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีกิจกรรมให้ทั้งคู่ได้เที่ยวเล่นกันตลอดวันและคืน
ทั้งคู่ไปสวนสนุก สุสาน ร้านแผ่นเสียง กระทั่งนอนบนหญ้าเงียบ ๆ กันสองคน แค่สวนสาธารณะที่ดีก็ทำให้เกิดความโรแมนติกขึ้นได้แล้ว แม้แต่ในสุสานที่นั่นก็ทำให้คนมาเยี่ยมรู้สึกเงียบสงบ บทสนทนาระหว่างกันมีความลงลึกมากขึ้นเมื่อยืนคุยกันที่สุสานทำให้รู้สึกผูกผันกันในเรื่องราวที่แต่ละคนพบเจอมา เมืองเวียนนาแห่งนี้ได้รับการยกให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกถึง 10 ปีซ้อน (2010-2020) มีถนนหนทางที่กว้างใหญ่และโอ่อ่า สถาปัตยกรรมเป็นแบบบาโรคและสมัยกลาง เมืองเต็มไปด้วยพระราชวังเพราะเคยเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมาก่อน และยังได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งดนตรี เพราะที่นี่เคยมีศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อาศัยอยู่ เช่น โยฮันน์ ชเตราสส์, โมซาร์ท, เบทโฮเฟิน
รูปปั้น Prinz Eugen สถานที่นี้เป็นที่สุดท้ายที่ทั้งสองคนอยู่ด้วยกันที่เวียนนา รูปปั้นของเจ้าชาย Eugen ตั้งอยู่ในพระราชวัง Hofburg ตรงหน้าพิพิธภัณฑ์ Neuburg รูปปั้นนี้เป็นอนุสรณ์ความพ่ายแพ้ของกองทัพฝรั่งเศสในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 Prince Root จึงทำให้พระราชวัง Habsburgs of Austria อันสวยงามเป็นตัวแทนของจักรวรรดิโรมันที่ได้รับชัยชนะในครั้งนั้น ฉากท้ายเรื่องเป็นเหมือนฉากแห่งความสมหวังและผิดหวังในคราวเดียว ที่ทั้งคู่รู้สึกดีต่อกันก่อนที่จะถึงเวลาต้องแยกกลับไปขึ้นรถไฟตอนพระอาทิตย์ขึ้น
การได้พบใครสักคนหนึ่งในพันกว่าเที่ยวรถไฟที่ผู้คนผ่านไปผ่านมา จนทำเขาและเธอเกิดแรงดึงดูดอะไรบางอย่างขึ้น จากเมืองทั้งเมือง สถาปัตยกรรมทั้งหลัง พระราชวัง อนุสาวรีย์ ทุกอย่างเป็นเหมือนน้ำที่ไหลผ่าน ทั้งคู่จ้องมองกันอย่างไม่ลดละ พื้นที่ทั้งหมดถูกลดสถานะลงจากความโอ่อ่าเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของบทสนทนาของทั้งคู่เพียงเท่านั้น เหมือนต่อให้ยกเวียนนาทั้งเมืองมาวางไว้ตรงหน้าก็ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าคู่สนทนาฝั่งตรงข้าม เรื่องราวเล็กน้อยในรถไฟขบวนนั้นถือเป็นความมหัศจรรย์อันโรแมนติกของชีวิตของทั้งสองคน ที่ถ้าใครอยากพบประสบการณ์ลงเที่ยวพร้อมคนแปลกหน้าก็ต้องลองออกเดินทางดูสักครั้ง!
Location : https://goo.gl/maps/KxEYn2Faph7vK1kDA
(ภาพจากภาพยนตร์ Mary is happy , Mary is happy – 2013)
“People put romantic projections on everything. It’s not based on any kind of reality”
“คนเราชอบคาดหวังว่าทุกอย่างจะโรแมนติก โดยไม่ได้มองความเป็นจริง “ – เจสซี่ (Before sunrise -1995)
บางครั้งสภาวะโรแมนติกมันก็ไม่สามารถควบคุมได้ สถานที่ในหนังนั้นอาจจะโรแมนติกสำหรับใครหลายคน แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคน มุมมองที่มีต่อพื้นที่ของแต่ละคนมักแตกต่างกันออกไปเสมอ การไปปารีสในวันที่สุดเหงาและเศร้าอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดประสบการณ์โรแมนติกต่อพื้นที่ทางสถาปัตยกรรมในแบบที่หนังมอง ฉะนั้นการมองหอไอเฟลของนางสาว A จึงไม่ได้โรแมนติกเท่าคู่รักที่ยืนดูหอไอเฟลอยู่ข้าง ๆ
แต่อย่างไรก็ตามการที่แต่ละเมืองมีพื้นที่สาธารณะที่ดี ก็จะทำให้สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตและจิตใจของประชาชนให้ดีขึ้นได้ ยิ่งในช่วง Covid-19ที่ผู้คนไม่สามารถออกไปไหนได้ด้วยแล้ว อย่างน้อยการมีสนามหญ้าให้นั่งแบบเว้นระยะห่าง มีร้านหนังสืออิสระให้เข้า มีทางเท้าที่ดีให้เดิน ได้มีต้นไม้ให้มอง มีการขนส่งที่ไม่แออัดเกินไป ก็พอจะทุเลาความเครียด ความเหงาที่มีในเมืองใหญ่ลงได้บ้าง ปัจจัยในการเป็นเมืองที่ดีนั้นควรจะส่งเสริมให้พื้นที่สารธาณะแก่ประชาชนตามหลัก Urban Design ให้ได้ และหวังว่าสักวันผู้คนจะได้ใช้ชีวิตแบบ Normal และกลับมาออกเดทในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศกันได้ในเร็ววันสักที
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
https://artenmalee.files.wordpress.com/2015/07/tumblr_n986c9z49c1rtmeojo2_1280.png
https://www.komchadluek.net/news/ent/111010
https://today.line.me/th/v2/article/KKK2Bm
https://travellingtheworldsolo.com/2017/03/04/a-before-sunrise-inspired-day-in-vienna/
https://cinematicpaintings.com/post/124393050193/midnight-in-paris-2011
http://www.woodyallenpages.com/2017/03/every-location-midnight-pariss-opening-scene/
https://20×200.com/products/books-are-magic?utm_source=pinterest&utm_medium=social
https://society6.com/product/book-lover1392412_framed-print?c_kid=s6-9343642p21a12v60a13v57&sku=s6-9343642p21a12v60a13v57&utm_source=pinterest&utm_medium=social&utm_campaign=2331
https://urbancreature.co/paris-love-on-the-sidewalk/
นักศึกษาสถาปัตยกรรม ที่เชื่อว่าการออกแบบเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องบนโลกใบนี้
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!