Search
Close this search box.

The Baristro Asian Style
คาเฟ่สไตล์เอเชียนที่กลมกลืนบริบท ปรุงแต่งน้อย เข้าใจง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด

หากพูดถึงจังหวัดเชียงใหม่ คุณจะนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก?
เป็นที่รู้กันว่า จังหวัดเชียงใหม่ แวดล้อมไปด้วยอากาศเย็นสบาย รายล้อมด้วยป่าเขา และยังผสมผสานความเป็นเมืองใหญ่ที่คงเอกลักษณ์ความเนิบช้าแบบเมืองเหนือไว้ได้อย่างลงตัว บรรยากาศของร้าน The Baristro ในแต่ละสาขาจึงพยายามรักษาคาแร็กเตอร์ของย่านต่างๆ แทรกตัวอยู่ภายในเมืองเชียงใหม่แห่งนี้ จนเป็นที่คุ้นเคยของคอกาแฟมากมาย ก่อนจะขยับขยายสู่สาขาที่ 8 ในชื่อ The Baristro Asian Style คาเฟ่กลิ่นอายเอเชียที่กลมกลืนกับบริบทที่สุด ปรุงแต่งน้อยที่สุด เข้าใจง่ายที่สุด และใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด

ด้วยความพิเศษของพื้นที่ ซึ่งเป็นเนินหญ้ารายล้อมไปด้วยป่าธรรมชาติน้อยใหญ่ สถาปนิกคนเมืองเชียงใหม่อย่าง pommballstudio จึงไม่รีรอที่จะเก็บสเน่ห์เหล่านั้นไว้เช่นเดิม และเพิ่มเติมการออกแบบสถาปัตยกรรมให้อยู่ร่วมกับความเป็นธรรมชาติเหล่านั้นโดยไม่มีใครโดดเด่นไปกว่าใคร The Baristro สาขาใหม่จึงมาลงตัวด้วยแนวคิดการออกแบบ ‘Asian Style’ เพื่อสร้างความหลากหลายในขณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แบบไม่จำเพาะเจาะจง บรรยากาศในแบบไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ผสมปนเปกลายเป็นคาเฟ่ไม้กลางป่าที่ละมุนตาอย่างที่เราเห็น

หมู่บ้านเอเชียน ที่เชื่อมที่ว่างระหว่างอาคารด้วยธรรมชาติ

“ตอนเห็นครั้งแรก เราคิดว่าน่าจะดีไซน์เป็นสไตล์ที่อยู่กับป่าได้ดี ทำเป็นไทยๆ ไม้ๆ ดีไหม เป็นคาเฟ่อีกแบบของ The Baristro ไปเลย แต่สุดท้ายก็มาลงตัวที่ Asian Style เพราะเราว่าร้านกาแฟ คนหลากหลายต้องเข้าถึงคนง่าย เราเลยไม่ได้เจาะจงไปเป็นสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง แต่รวมๆ มันยังสะท้อนวัฒนธรรมและกลิ่นอายความเป็นเอเชียนในแบบที่ทุกคนนึกออกได้ง่ายๆ ซึ่งมันก็ทำให้แบรนด์ดูมีความหลากหลายด้วย” คุณชาติ -ธนชาติ สุขสวาสดิ์ หนึ่งในทีมสถาปนิกเล่า

เมื่อได้แนวคิดที่แน่ชัด ประกอบกับมีบ้านไม้หลังเก่าเป็นวัตถุดิบของดีที่ตั้งอยู่บนเนินหญ้าเดิม ทีมผู้ออกแบบจึงเริ่มต้นร่างผังบริเวณของร้านทั้งหมดด้วยลักษณะหมู่บ้านชนบทสไตล์เอเชียน ที่เชื่อมบ้านแต่ละหลัง อาคารและแห่งด้วยทางเดิน คอร์ดยาร์ดและลานบ้าน ไม่เพียงแต่สร้างบรรยากาศความเป็นหมู่บ้านเท่านั้น แต่วิธีการวางผังแบบนี้ยังช่วยกระจายแมสอาคารไม่ให้โดดเด่นเกินหน้าเกินตาธรรมชาติ ในขณะที่ทางเดิน และพื้นที่เอาท์ดอร์ส่วนต่างๆ จะทำหน้าที่พาแขกผู้มาเยือนชมนกชมไม้ และธรรมชาติรอบตัว ซึ่งเป็นบริบทที่โดดเด่นของพื้นที่

ร้านกาแฟลูกผสมแห่งนี้จึงดัดแปลงบ้านบ้านไม้เก่าบนเนินด้านหน้าให้กลายเป็นพื้นที่ Speed Bar ส่วนอาคารด้านหลังที่เยื้องไปอีกหน่อยเป็นที่ตั้งของ Slow Bar และ Matcha Bar ที่เชื่อมหากันผ่านทางเดินซุ้มไม้ และกำแพงหิน โดยแนวคิดการออกแบบอาคารเป็นการหยิบนำองค์ประกอบ ไอคอนิกของความเป็นเอเชีย (ไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน) มาถอดความ และผสมผสานลงไปในสถาปัตยกรรม โดยแล้วแต่คนจะตีความ

ณ บริเวณพื้นที่ไม่มีวิวอะไรที่นอกเหนือไปจากต้นไม้เดิมมากมาย ทั้งไม้เล็ก หรือไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อายุหลายสิบปี การออกแบบอาคารจึงเน้นวิวจากภายในทั้งหมด โดนหันด้านหน้าของอาคารออกสู่ภายนอก เพื่อให้คอกาแฟทั้งหลายที่แวะเวียนมาได้ใช้เวลากับพื้นที่แห่งนี้ในการดื่มด่ำบรรยากาศธรรมชาติไปพร้อมกับกาแฟรสชาติดี สถาปนิกใช้ต้นไม้ที่มี โดยพยายามแตะต้องของเดิมให้น้อยที่สุด รวมถึงใช้วัสดุธรรมชาติในการออกแบบเพื่อให้สถาปัตยกรรมอยู่ร่วมกับบริบทรอบด้านได้อย่างสมดุล The Baristro สาขาใหม่จึงใกล้ชิดธรรมชาติที่สุด หากเทียบกับสาขาอื่นที่เป็นพื้นที่กว้างใจกลางเมือง

“ไม้ หิน พื้นที่สีเขียว เนินหญ้าก็คือเป็นพื้นที่เดิมเลย เราไม่เจาะ ไม่คว้านอะไรออก พยายามปรับของเดิมที่มีอยู่ให้น้อยที่สุด เราเพียงแค่นำสิ่งที่เราออกแบบเข้าไปใส่ โดยสิ่งนั้นต้องกลมกลืน คือเราไม่ได้พยายามให้มันมีดีไซน์ขนาดนั้น ทำยังไงให้โปรเจกต์มันดูเป็นธรรมชาติได้มากที่สุดโดยไม่ปรุงแต่ง อันนั้นคือโจทย์ของเรามากกว่า”

กาแฟ ธรรมชาติ และผู้คนที่สร้างอารมณ์ร่วมกัน

อาคาร Speed Bar ตั้งอยู่บนเนินหญ้าขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก ราวกับกำลังรอต้อนรับเหล่า Café Hopper ซึ่งอาคารหลังนี้ถูกรีโนเวทมาจากบ้านไม้หลังเก่า ที่สถาปนิกเลือกรักษาโครงพื้นและหลังคา Slab เดิมเอาไว้ พร้อมดีไซน์ขยับขยายผนังทั้งสามด้านออกมาจากแนวเสาเดิม และล้อมด้วยกระจกแทนที่ เพื่อให้ภายในเกิดความรู้สึกโปร่ง โล่ง โดยไม่มีเสาหรือระนาบใดๆ มาคั่นกลางระหว่างผิวอาคาร

นอกจากนั้นบริเวณหลังคา ฝ้า และเสา ซึ่งเดิมเคยเป็นคอนกรีต ยังถูกแปรเปลี่ยนและกรุใหม่ด้วยไม้ท้องถิ่นของไทยที่ไร้การปรุงแต่ง ซึ่งบริเวณฝ้าเพดาน มีการดีไซน์คานและตงไม้ธรรมชาติ คล้ายกับบ้านไม้ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีกลิ่นอายของใต้ถุนบ้านไทยเจือปนอยู่ด้วย

ในขณะที่ไม้ทำหน้าที่สร้างความเป็นธรรมชาติ บริเวณบาร์ซึ่งเป็นไฮท์ไลท์ของร้านกาแฟ สถาปนิกดีไซน์ด้วยแผ่นสแตนเลสไฮไลน์ เติมแต่งความทันสมัยเข้ามาผสมผสาน และยังคงความเรียบง่าย โดยส่วนบาร์ทั้งหมดจะเป็นสแตนเลสที่สั่งทำพิเศษให้เป็นวัสดุชิ้นเดียว

วัสดุหินซึ่งใช้เป็นกำแพงบริเวณภายนอก ไหลต่อเนื่องเข้าสู่ส่วนผนังบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ ด้วยความที่อาคารเป็นกระจกใส เมื่อมองจากภายนอกจึงเห็นเรื่องราวของวัสดุธรรมชาติรวมถึงพื้นที่สีเขียว สะท้อนและต่อเนื่องให้ร้านกาแฟทั้งหมดดูกลมกล่อมเป็นเรื่องราวเดียวกัน “เราอยากส่งเรื่องราวของวัสดุในแบบ Inside-out / outside-In ข้างนอกต่อเนื่องเข้าไปข้างใน อยากให้มันมีความรู้สึกว่าวัสดุต่างๆ ก็พาให้คนเดินจากอาคารหนึ่ง ไปสู่อีกอาคารหนึ่ง ซึ่งระหว่างทางเดินก็จะมีเสาไม้ ผสมผสานไปกับการใช้กำแพงหินเป็นแนว ซึ่งเราได้แรงบันดาลใจจากหมู่บ้านชนบทซอยเล็กๆ ในญี่ปุ่นและเกาหลี”

วัสดุไม้ธรรมชาติยังสร้างความต่อเนื่องจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งสถาปนิกออกแบบลานว่างด้านหน้าอาคารหลัก ปูด้วยพื้นไม้ที่กักเก็บอากาศเย็นสบาย แถมยังได้กลิ่นอายความเรียบง่าย ที่จะสั่งเครื่องดื่มมานั่งจิบชมความร่มรื่นของต้นไม้ ก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ

ถัดไปไม่ไกล ทางเดินหินแกรนิตพาเราไปสู่อาคาร Slow Bar และส่วนชงชามัจฉะ ที่ยังคงใช้วัสดุธรรมชาติในการออกแบบไม่ต่างจากอาคารหลัก เพียงแต่เน้นกลิ่นอายความเป็นบ้านญี่ปุ่นในแบบต้นตำรับการชงชาให้มากขึ้น โดยภายในแบ่งโซนอย่างเรียบง่าย บริเวณพื้นถูกยกสูงในระดับที่อ้างอิงการนั่งบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ ปูด้วยคริสตัลบล็อกที่ทำให้พื้นที่ดูโปร่ง และกว้างขึ้น หรือหากต้องการสัมผัสอากาศธรรมชาติของเชียงใหม่ อาคารหลังนี้ก็มีพื้นที่เอาท์ดอร์รอต้อนรับ โดยเชื่อมต่อกับโครงเสาไม้ กำแพงหิน และลานหญ้าที่รวมกลิ่นอายเอเชียไว้ได้อย่างลงตัว

“ในมุมมองที่ผมเป็นคนออกแบบ ผมว่า The baristro สาขานี้ มันจะแปลกออกไปสักนิดหนึ่ง คือ รู้สึกว่าเราไม่ค่อยใส่ดีเทลอะไรลงไปเลย แต่ความจริงแล้ว เราคุยกับทั้งเจ้าของ ทั้งกับทีมเราเอง ว่าเราจะพยายามลดทุกอย่างลงมาเพื่อให้มันเข้าใจง่ายที่สุด ให้มันย่อยง่ายที่สุด ทำยังให้มันยังดูโมเดิร์น ดูมีดีไซน์แต่ไม่ได้จัดจ้าน”

The Baristro Asian Style กลายเป็นคาเฟ่ลูกผสมไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นการผสมของร้านกาแฟแบบ Speed Bar และ Slow Bar ในแง่ของคอกาแฟทั้งหลาย และในแง่ของสถาปัตยกรรม ร้านกาแฟที่ว่าก็ยังนำเสน่ห์ความเป็นเอเชียเข้ามาผสมกลมกล่อมไม่แพ้กัน  อีกทั้งสถาปัตยกรรมและธรรมชาติที่ออกแบบให้ผสมผสานกันอย่างสมดุล ว่าแล้ว ใครมีโอกาส ก็อย่าลืมแวะเวียนมาจิบกาแฟภายในคาเฟ่ลูกผสมสไตล์เอเชียนที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้ และเสน่ห์ของบริบทเดิม

Location:  ซอย 8 บ้านใหม่หลังมอ หมู่ที่ 14 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่
Built Area: 500 ตารางเมตร
Architects Firm : ปอมบอลสตูดิโอ Pommballstudio
Architects & Interior : กานต์ คำแหง, ธนชาติ สุขสวาสดิ์, แพรพลอย มหาธงชัย
Structural Engineer :  พิลาวรรณ พิริยะโภคัย
Photo credit: ธนชาติ สุขสวาสดิ์

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading