ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทำให้เกิดผลกระทบกับโลกของเราอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่เรายังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์มากถึง 80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ส่งผลให้หลายๆ หน่วยงานหันมาทบทวนและหาทางแก้เพื่อเป้าหมายของการลดโลกร้อนกันมากขึ้น รวมถึงพยายามที่จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
ซึ่งการแยกคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศทางธรรมชาตินั้นก็มีวิธีการจัดการที่สามารถทำได้โดยพืชที่จับคาร์บอนในชั้นบรรยากาศผ่านการสังเคราะห์ด้วยแสงแล้วนำไปใช้โดยตรง เช่น ไม้ ไม้คอร์ก ป่าน และสาหร่าย นอกจากนี้เรายังสามารถเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้เป็นวัสดุที่เก็บคาร์บอนได้อย่างถาวรมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้วงการอุตสาหกรรมหันมาปฏิวัติคาร์บอนและหาทางออกเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์จากกระบวนการผลิต
วันนี้เราจึงอยากแนะนำคุณมารู้จักกับ 10 ตัวอย่างของวัสดุและผลิตภัณฑ์จากบริษัททั่วโลกที่สามารถนำไปใช้ในอนาคตและยังช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้!
01 Bioplastic
พลาสติกชีวภาพย่อยสลายเป็นวัสดุที่ผลิตจากแหล่งวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ง่ายกว่าพลาสติกแต่กระบวนการผลิตนั้นยังทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศปกติ ด้วยเหตุนี้แบรนด์สตาร์ทอัพสัญชาติเยอรมันจึงได้พัฒนาวัสดุที่ชื่อว่า Made of Air ออกมา โดยเป็นพลาสติกชีวภาพปลอดสารพิษที่ทำจากถ่าน Biochar ผสมกับสารยึดเกาะจากอ้อย ถ่านที่ว่านี้เกิดจากการเผาไหม้ในแบบที่ไม่มีออกซิเจนของเศษไม้และของเสียจากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งกระบวนการจะช่วยป้องกันไม่ให้คาร์บอนกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ วัสดุนี้สามารถหลอมและขึ้นรูปได้เหมือนเทอร์โมพลาสติกทั่วไปและเราสามารถนำไปใช้ในการออกแบบจำพวก Façade, เฟอร์นิเจอร์, การตกแต่งภายใน หรือแม้แต่ทางการขนส่งคมนาคมได้
02 Mycelium insulation
ไมซีเลียม คือกลุ่มของไฮฟาซึ่งเป็นเส้นใยของเห็ดราและสามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ในตัวได้ โดยเริ่มแรกไมซีเลียมถูกนำมาใช้งานเพื่อเป็นฉนวนป้องกันไฟภายในอาคาร โดยมีข้อได้เปรียบกว่าวัสดุสังเคราะห์แบบดั้งเดิม ทั้งต้นทุนต่ำ มีความหนาแน่นกว่า และการย่อยสลายทางชีวภาพที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เมื่อโตขึ้นไม่ซีเลียมยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกจากชั้นบรรยากาศได้อย่างน้อย 16 ตันต่อเดือน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาไมซีเลียมนี้เป็นหนังเทียมเพื่อใช้ในการทำกระเป๋าถือและเสื้อผ้า
03 Carpet tiles
วัสดุปูพื้นของบริษัท Interface ผู้ผลิตพรมปูพื้นของอเมริกาที่ได้ปล่อยก๊าซคารบอนไดออกไซต์ออกสู่บรรยากาศอย่างมากในกระบวนการผลิต ดังนั้นเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นลบภายใน 20 ปี บริษัทจึงได้พัฒนากระบวนการผลิตพรมปูพื้นจากพลาสติกรีไซเคิลและวัสดุชีวภาพต่าง ๆ เกือบทั้งหมด โดยปัจจุบันก็ได้เปิดตัวพรม Embodied Beauty และ Flash Line สองรุ่นแรกออกสู่ตลาดโลก
04 Wood
ไม้ คืออีกหนึ่งวัสดุที่ช่วยในการกักเก็บคาร์บอน โดยต้นไม้ที่โตเต็มที่สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซต์ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีได้ถึง 22 กิโลกรัมจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งหมายความว่าวัสดุจากไม้นี้มีค่าคาร์บอนเป็นลบอยู่แล้วและต้นไม้ที่ถูกตัดเพื่อนำไปทำเป็นวัสดุจะได้รับการชดเชยด้วยการปลูกใหม่ทดแทน โดยจะต้องปล่อยให้ต้นไม้เติบโตนานพอที่จะสามารถเก็บเกี่ยวแล้วค่อยเปลี่ยนมาเป็นวัสดุในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง หรือแม้แต่โครงสร้าง ไม้ที่นิยมนำไปใช้ ได้แก่ ไม้แอช ไม้ไผ่ ไม้บีช ไม้คอร์ก ไม้สน เป็นต้น
05 3D–printed wood
3D-printed wood ผลงานการพัฒนาวัสดุชีวภาพจาก Forest บริษัทผู้ผลิตสารเติมแต่งเพื่อลดการตัดต้นไม้และป้องกันไม่ให้มีไม้เหลือทิ้งด้วยการเปลี่ยนขี้เลื่อยและลิกนินจากอุตสาหกรรมไม้และกระดาษให้เป็นเส้นใยสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ โดยการกระจายขี้เลื่อยให้เป็นชั้นบาง ๆ แล้วมัดด้วยสารยึดเกาะที่ไม่เป็นพิษและย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่ง Yves Béhar นักออกแบบชาวสวิส ก็ได้นำเอาวิธีการนี้ไปใช้ในการออกแบบเครื่องใช้ภายในบ้านให้เราได้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น ภาชนะ ชาม ตะกร้า และถาด
06 Olivine
Olivine เป็นหนึ่งในแร่ธาตุที่พบมากที่สุดในโลกซึ่งสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์ได้ง่าย โดยมวลของ olivine เมื่อถูกบดขยี้และกระจายบนพื้นดินมันจะทำหน้าที่เป็นปุ๋ย หรือใช้ทดแทนทรายและกรวดในการจัดสวนได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นสารเติมแต่งในการผลิตซีเมนต์ กระดาษ หรือเส้นใยสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ
07 Concrete
คอนกรีตของบริษัท Carbureted ในเมืองมอลทีออล ประเทศแคนนาดา ที่บริษัทได้พัฒนาวิธีการกักเก็บคาร์บอนในคอนกรีตด้วยเทคโนโลยีที่ลดความจำเป็นในการใช้ซีเมนต์ที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบหลักตามแบบดั้งเดิมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้เพียงครึ่งหนึ่งของวัสดุ โดยระบบนี้จะรวมเอาตะกรันของเสียจากอุตสาหกรรมเหล็กเข้ากับคาร์บอนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศแทน ซึ่งนั้นก็คือการนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกจากระบบทุกครั้งที่สร้างบล็อกคอนกรีตและทำให้วัสดุสุดท้ายเป็นคาร์บอนเชิงลบ
08 Brick
อิฐอีกหนึ่งวัสดุก่อสร้างที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ โดยบริษัท Mineral Carbonation International ของออสเตรเลียได้พัฒนาการผลิตอิฐด้วยการฉีด CO2 ลงในของเสียจากอุตสาหกรรม เช่น หางแร่ ที่สามารถเปลี่ยนจากก๊าซให้เป็นของแข็งแล้วจากนั้นจึงนำไปใช้สร้างอิฐซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ เช่น drywall ชนิดใหม่เพื่อทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์และวัสดุจากยิปซัม ซึ่งกระบวนการนี้เกิดจากการจำลองวิธีเกิดขึ้นของแร่คาร์บอเนตในธรรมชาติ โดยเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ถูกละลายในน้ำฝนและทำปฏิกิริยากับหินจะทำให้เกิดแร่คาร์บอเนตขึ้นมา
09 Food
Solar Foods สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ได้พัฒนาการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งใช้จุลินทรีย์เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารทดแทนเนื้อสัตว์ที่เรียกว่า Solein โดย CO2 จะถูกฉีดเข้าไปในถังหมักพร้อมกับไฮโดรเจนและสารอาหารต่าง ๆ ทำให้เกิดการสร้างโปรตีนแห้งก่อนจะนำไปบดละเอียดเป็นผง ซึ่งวิธีนี้มีรูปแบบการผลิตคล้ายกับกระบวนการหมักที่ใช้ทำเบียร์ โดยเราสามารถใช้เพื่อการผลิตอาหารในทะเลทราย อาร์กติก หรือแม้แต่ในอวกาศได้
กระบวนการผลิตโปรตีนแบบนี้จะช่วยให้เราสามารถลดพื้นที่ของการเกษตรแบบดั้งเดิม และทำให้มีพื้นที่ว่างมากขึ้นสำหรับการปลูกป่า พลังงานแสงอาทิตย์ และวิธีการอื่น ๆ ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
10 Vodka
เครื่องดื่มที่ช่วยลดปัญหาโลกร้อน โดยบริษัท Air Co ในบรู๊คลิน ใช้ CO2 ในการผลิตวอดก้าด้วยการกลั่นจากกระบวนการที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อแปลงคาร์บอนไดออกไซด์เป็นเอทานอล โดยทาง Air Co ได้ตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในระหว่างกระบวนการผลิตทั้งหมดของวอดก้าที่ได้ผลลัพธ์ดีกว่าเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตในแบบเดิม แต่ในทางตรงกันข้ามกับวอดก้าแบบดั้งเดิมที่ทำจากธัญพืชและมันฝรั่งหมักนั้นก็สามารถผลิตได้โดยไม่ต้องใช้ที่ดินและพื้นที่ชลประทาน หรือโรงงานขนาดใหญ่
ขอบคุณที่มาจาก :
https://www.dezeen.com/2021/06/27/carbon-negative-carbon-neutral-materials-roundup/
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!