BSPN House
บ้านทรอปิคอลโมเดิร์นที่เปิดรับฟังเสียงของธรรมชาติและทิวทัศน์สองฝั่งคลอง

ภาพชาวบ้านกำลังพายเรือเก็บผักตบชวาที่ลอยอยู่ในคลอง ท้องทุ่งนาสีเขียวขจี และบ้านพื้นถิ่นที่มีท่ายื่นลงสู่คลอง บรรยากาศเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยนักในกรุงเทพฯ แต่ถ้าเป็นที่ ‘สุพรรณบุรี’ สิ่งเหล่านี้กลับเป็นวิถีชนบทที่แสนเรียบง่ายที่พบเห็นได้ เป้าหมายสำคัญในการออกแบบ BSPN House บ้านหลังใหม่ของครอบครัวสองเจนเนอเรชันจึงตั้งใจสร้าง ‘บ้าน’ เป็นที่พักผ่อนแสนสบายในช่วงบั้นปลายชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ และเป็นจุดเริ่มต้นครอบครัวขยายของรุ่นลูก สู่รุ่นหลาน โดยได้สถาปนิกคนคุ้นเคยอย่าง แอ้ม-บุญญกานต์ เรืองวงศ์ จาก 10Space Architects มารับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบในครั้งนี้

กระจายฟังก์ชัน เพื่อเปิดรับแสง ลม และธรรมชาติ

เดิมที สมาชิกครอบครัวทั้งหมดอาศัยอยู่ภายในตึกแถวหนึ่งคูหาที่บริเวณด้านหน้าประกอบกิจการร้านขายทอง การอยู่อาศัยจึงควบคู่ไปกับการทำธุรกิจเรื่อยมา เมื่อถึงเวลาของบ้านหลังใหม่บนที่ดิน 1 ไร่ คุณแอ้มและเจ้าของจึงเห็นพ้องต้องกัน โดยบ้านจะต้องมีคุณภาพที่ดี เหมาะแก่การพักผ่อน ไปพร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาเรื่องความมืดทึบ และแสงธรรมชาติที่เคยพบเจอในบ้านตึกแถวมาแต่เดิม ประกอบกับความชื่นชอบบ้านทรอปิคอลโมเดิร์นของทางเจ้าของ คุณแอ้มจึงเริ่มลงมือจับคาแรกเตอร์ ฟังก์ชัน และบริบทต่างๆ เข้าด้วยกัน ก่อนจะปรับแต่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เราเห็น

แรกเริ่ม ทางเจ้าของ (สะใภ้เมืองสุพรรณซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยเรียนสถาปัตย์ร่วมกันกับคุณแอ้ม) สเก็ตช์ภาพแมสอาคารในลักษณะกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางผืนที่ดินเป็นไอเดียคร่าวๆ ซึ่งปัญหาที่เกิดตามมา คือ ฟังก์ชันที่อยู่ตรงกลางสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะไม่ได้รับแสงธรรมชาติและแน่นทึบ ไม่ต่างจากบ้านตึกแถว อีกทั้งวิวริมคลองที่ดีจะมีเพียงไม่กี่ฟังก์ชันเท่านั้นที่ได้มองเห็น สถาปนิกจึงปรับเปลี่ยนแมสอาคารในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองด้านต่อกันคล้ายรูปตัว L และนำพื้นที่บางส่วนของอาคารออกให้กลายเป็นคอร์ดยาร์ดสีเขียวกว้าง 12 เมตรบริเวณใจกลางผืนที่ดิน เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงได้ทุกฟังก์ชันของตัวบ้าน และเกิดวิวธรรมชาติอีกด้านของอาคาร บรรยากาศ ความร่มรื่นของต้นมั่งมีจึงทำหน้าที่เป็นวิวธรรมชาติให้กับบางฟังก์ชันของบ้านไปในตัว

(ภาพแสดงแนวคิดการออกแบบแมส BSPN House)

วิวที่ดีคือวัตถุดิบที่สำคัญ

ถ้าเปรียบเทียบการออกแบบเป็นการทำอาหาร บริบท หรือวิวที่ดีคงเปรียบเสมือนวัตถุดิบชั้นเลิศที่รอให้เราหยิบมารังสรรค์เป็นอาหารจานอร่อยที่ตอบโจทย์ทั้งร่างกายและจิตใจ BSPN House ก็เช่นเดียวกัน สำหรับการวางฟังก์ชันของบ้านหลักที่อยู่ริมคลองสองพี่น้อง ผู้ออกแบบจึงมองเรื่องบริบทและวิวเป็นสำคัญ โดยนำหัวใจของบ้านที่รวบรวมสมาชิกครอบครัวอย่างพื้นที่รับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น วางฟังก์ชันในจุดที่สามารถเปิดรับวิวทิวทัศน์คลองได้ดีที่สุด

สถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างร่วมกันออกแบบพื้นที่ดังกล่าวให้ยาวตลอดแนว 10 เมตร โดยไม่มีเสามาบดบังวิวที่สวยงาม ด้วยการใช้โครงสร้างเหล็ก เพื่อให้คานสามารถพาดได้ในระยาวโดยที่ความหนาของคานยังไม่มากจนเกินไป ฝั่งหนึ่งของห้องนั่งเล่นที่เปิดโล่งจึงเชื่อมออกสู่สระว่ายน้ำขนานไปกับตัวบ้านและคลอง ส่วนอีกฝั่งเปิดรับลมและความร่มรื่นจากกลุ่มไม้ประธานสีเขียว วันไหนที่ฟ้า ฝน และลมเป็นใจ บ้านหลังนี้จึงสามารถเปิดพื้นที่ให้กว้างขวาง รับความเป็นธรรมชาติได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเครื่องปรับอากาศ

ฟังก์ชันอื่นๆ ของบ้าน ไล่เรียงตามความสำคัญ โดยพื้นที่อยู่อาศัยหลักและพื้นที่ที่ใช้งานบ่อยอย่างห้องนอนมาสเตอร์ทั้ง 2 ห้อง ห้องเวิร์คชอปงานฝีมือของคุณแม่ จะถูกวางฟังก์ชันในตำแหน่งที่มองเห็นวิวคลองสองพี่น้องเช่นเดียวกับห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร โดยบริเวณชั้นสองจะแบ่งการใช้งานของครอบครัวสองเจนเนอเรชันเป็นห้องนอนมาสเตอร์สองฝั่งอย่างชัดเจน ซึ่งห้องนอนที่อยู่ทางทิศตะวันตก จะถูกออกแบบให้มีช่องเปิดน้อยที่สุด และเน้นปลูกต้นไม้ริมอาคารเพื่อถ่ายเทและลดความร้อนให้กับฟังก์ชันภายใน

(แปลน BSPN House ชั้น 1)
(แปลน BSPN House ชั้น 2)

ด้วยความที่เจ้าของบ้านรักการสังสรรค์และมักจะมีเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ฟังก์ชันที่เหลือจึงเป็นส่วนของห้องนอนแขก ซึ่งสถาปนิกออกแบบเป็นอาคารรองที่เชื่อมต่อกับบริเวณ Drop-off และที่จอดรถ เพื่อแบ่งสัดส่วน ไม่ให้พื้นที่สังสรรค์รบกวนการอยู่อาศัยของบ้านหลัก

โครงสร้างเหล็กที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลัง

ฟังก์ชันทั้งหมดของบ้านมีโครงสร้างเหล็กเปรียบเสมือนกระดูกสันหลัง ซึ่งสถาปนิกเลือกปิดผิวอาคารหลักด้วยการใช้กระจกเพื่อเปิดรับวิวธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจึงกลายเป็นการเติมแต่งเพื่อให้เกิดคาแร็กเตอร์ทรอปิคอลโมเดิร์นในแบบที่เจ้าของบ้านต้องการ ผ่านการเลือกใช้ไม้สักพม่า เพื่อลดทอนความแข็งกระด้างของอาคารทรงเหลี่ยม และใช้หินภูเขาแต่งแต้มความเป็นธรรมชาติไปพร้อมๆ กับการสร้างความหนักแน่นให้กับอาคาร

“ลูกค้าเขาดูตั้งความหวังกับบ้านหลังนี้ไว้ค่อนข้างสูง เราก็อยากจะทำมันให้ดี ซึ่งผมเองรู้สึกว่าบ้านหลังนี้จุดประกายให้ผมเลย เพราะเราทำงานคอนโดมิเนียม งานอาคารลักษณะอื่นๆ มากมาย แต่บ้านหลังนี้ทำให้เรารู้ตัวว่าเราชอบออกแบบบ้านมากที่สุด ในตอนที่บ้านใกล้เสร็จ เราไปยืนดูบ้านกับลูกค้า เราสัมผัสความสุขของเขาได้จากสายตา ซึ่งมันทำให้ผมประทับใจมาก” สถาปนิกกล่าว

การออกแบบบ้านที่ประสบความสำเร็จสำหรับสถาปนิกคงหมายถึงการที่ผู้อยู่อาศัยชื่นชอบและมีความสุข ไม่ต่างจากเจ้าของบ้าน ที่การใฝ่ฝันอยากมีบ้านสักหลังเป็นพื้นที่แห่งความสุขของสมาชิกครอบครัวในช่วงบั้นปลายชีวิต BSPN House ทำหน้าที่เหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ เบื้องหลังความสวยงามของบ้านทรอปิคอลโมเดิร์น และฟังก์ชันการใช้งานที่ตรงใจเจ้าของ คงจะมีรอยยิ้มและความสุขประทับตราการันตี

เล่ามาถึงตรงนี้ คุณแอ้มยังเสริมและเน้นย้ำด้วยว่า บ้านหลังนี้จะออกมาดีไม่ได้เลยหากปราศจากผู้ทำงานในทุกๆ ฝ่าย ตั้งแต่เจ้าของบ้านที่เปิดกว้างรับฟังอย่างเต็มที่ ผู้รับเหมาที่ใส่ใจงานออกแบบละเอียดแม้กระทั่งการติดตั้งระดับเซนติเมตร อินทีเรียดีไซน์ที่ออกแบบภายในได้อย่างกลมกลืนกับตัวอาคาร ผู้ควบคุมดูแลดีเทลดีไซน์ที่เติมเต็มรายละเอียดให้บ้านสมบูรณ์ อีกทั้งยังรวมไปถึงช่างภาพผู้เก็บเรื่องราวและความสวยงามมาให้เราได้ชม

Location: จังหวัดสุพรรณบุรี
Built Area: 800 ตารางเมตร
Architects: Boonyagan Rueangwong 10 space architects
Interior: Interiority design studio
Landscape Architect: Patchara Patcharoen
Contractor: Sakkayapab Construction Company Limited
Photo Credit: Rungkit Charoenwat

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้