ภาพยนตร์เรื่อง Columbus ถูกฉายในปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเมืองโคลัมบัสในหน้านิตยสารนิวยอร์คไทม์ ที่ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้-อเมริกัน อย่างโคโกนาดะ (Kogonada) บังเอิญไปสะดุดตากับการจัดอันดับสุดยอด ‘เมืองแห่งสถาปัตยกรรม’ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเข้า ทำให้เขาเริ่มเขียนบทจากการขับรถไปชมอาคารที่โคลัมบัส รัฐอินดีแอนาเขาใช้สถาปัตยกรรมในเรื่องเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเหงา ว่างเปล่า และเงียบสงบในคราวเดียวกัน สถาปัตยกรรมในเรื่องจึงไม่ได้เป็นแค่ฉากหลังเท่านั้น แต่แทนค่าเป็นจิตใจและตัวตนของมนุษย์ในอีกแบบหนึ่งด้วย
Blur Boundary
ขอบเขตที่มองเกือบไม่เห็นของคนแปลกหน้า
จิน ชายหนุ่มที่เดินทางจากเกาหลีมายังเมืองโคลัมบัส หลังทราบข่าวว่าคุณพ่อสถาปนิกของตนกำลังป่วยใกล้ตาย และ เคซีย์ หญิงสาวผู้อยากเรียนสถาปัตย์แต่ตัดสินใจละทิ้งเป้าหมายเพื่อมาดูแลแม่ที่กำลังเลิกยาและทำหน้าที่เป็นไกด์ที่พิพิธภัณฑ์ เมื่อทั้งคู่บังเอิญมาพบกันและได้คุยอย่างถูกคอ ผ่านกำแพงซึ่งเป็นตัวสร้างขอบเขตให้เกิดความสบายใจแก่คนแปลกหน้าทั้งสองคน แม้จะมีกำแพงบางๆ กั้น แต่ทั้งคู่ก็คุยกันราวกับว่ามันไม่มีอยู่ เป็นไปได้ว่าถ้าไม่มีตัวช่วยอย่างกำแพงวิเศษในฉากนี้ทั้งคู่อาจจะไม่ได้เริ่มคุยกันก็ได้ หลังจากนั้นเคซีย์จึงอาสาเป็นไกด์พาจินทัวร์สถาปัตยกรรมในเมืองโคลัมบัสที่เธอชอบ
“นี่เป็นอาคารโปรดลำดับสองของฉัน” บทสนทนาของทั้งคู่เริ่มต้นอีกครั้งและเธอเป็นฝ่ายเปิดก่อน
“คุณรู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง?” เขาถามกลับ
“เป็นธนาคารโมเดิร์นแห่งแรกในอเมริกา ไอเดียของมันคือมันอยู่ระดับเดียวกับพื้นถนน คุณไม่จำเป็นต้องปีนบันได มันกำลังต้อนรับคุณ”
เธอพูดจบ ทั้งคู่ถกเถียงกันเพราะจินไม่ชอบเวลาที่เธอเลือกจะโยนข้อเท็จจริงใส่เขาแทนที่จะตอบไปตามความรู้สึก ท่ามกลางความเงียบเคล้าดนตรีที่ผู้กำกับเลือกที่จะปกปิดบทสนทนาหลังจากนั้นเพื่อให้คนดูคิดตามกันเอาเอง
ธนาคารส่วนใหญ่ที่เราพบเจอจะเน้นถึงความมั่นคงทางการเงิน ผ่านเสาและแผ่นคอนกรีตฉาบเรียบที่สูงใหญ่ ถ้าเทียบลักษณะอาคารเป็นคนเขาก็คงกำลังก็ยืนข่มผู้ใช้งานอยู่หน่อยๆ ภายในตกแต่งอย่างหรูหราเพื่อให้ลูกค้าประทับใจในความอู้ฟู่ของสถาบันทางการเงินที่มั่นคง แต่ธนาคารที่เคซีย์พามาชมอย่าง Irwin Union Bank (เดิมคือ Irwin Conference Center) ได้รับการออกแบบโดย Eero Saarinen กลับปราศจากความโอ่อ่า ถ้าเปรียบเป็นคน คนๆ นี้คงเป็นคนธรรมดาที่ยืนระดับเดียวกับเรา ทว่ากลับมีความอุ่นใจเมื่อมาใช้อาคารที่เป็นเพื่อนและที่พึ่งในยามต้องการได้
Healing Architecture
สถาปัตยกรรมแห่งการบำบัด
“นี่คือลำดับที่สามของฉัน” เธอบอกเขา
“คุณไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง” เขาถามเหมือนครั้งที่แล้ว
“ไม่มี” เธอพูดติดตลก
“ตอนมาที่นี่ฉันรู้สึกถูกปลอบโยนอย่างแปลกประหลาด” เธอไม่ละสายตาไปจากอาคาร
เธอพูดต่อว่าการที่ได้รู้จักสถาปนิกที่ออกแบบและตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ทำให้เธอมองที่ที่อยู่มาทั้งชีวิตรู้สึกแตกต่างออกไปจากเดิม เวลาทุกข์ใจแล้วมาที่นี่จะรู้สึกเหมือนถูกส่งตัวไปอยู่ที่อื่น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเธอกับเหล่าอาคารในโคลัมบัส แต่ท้ายที่สุดแม้จะอยากเรียนต่อมากแค่ไหนก็ต้องเก็บความฝันไว้เพราะปัญหาเรื่องแม่และเงิน นี่จึงเป็นความทุกข์ใจที่เธอมาปลดปล่อยผ่านการใช้อาคารบำบัด
“พ่อน่าจะรักเธอ” เขากล่าวประโยคนี้เพราะพ่อของเขาเป็นสถาปนิกที่น่าจะเข้าใจความรู้สึกเธอได้เป็นอย่างดี
แต่ตัวของจินยังคงมีอคติกับพ่อและสถาปัตยกรรม เขาคิดว่า concept ของการใช้อาคารบำบัดเป็นเพียงแค่จินตนาการของสถาปนิก และความเชื่อของผู้คนที่ชื่นชอบในตัวสถาปนิกและกล้าที่จะลงทุนก็เท่านั้น แต่สุดท้ายการจ้องมองตึกในค่ำคืนนี้ก็ทำให้ทั้งคู่เล่าปมความทุกข์ของกันและกันออกมา
งานที่เคซีย์พาจินมาดูเป็นผลงานของสถาปนิกหญิง Deborah Berke เธอต้องการแสดงให้เขาเห็นโครงสร้างกระจกซึ่งตั้งฉากกับตัวอาคารอิฐเป็นฐานล่าง ขณะเดียวกันมันก็ส่องแสงอย่างนุ่มนวลในความมืดของค่ำคืน อาคารหลังนี้ใช้งบประมาณที่จำกัดในการแก้ปัญหาโดยใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น หินปูนในรัฐอินดีแอนา ตลอดจนใช้วิธีการก่อสร้างแบบเดิมในรูปแบบที่แตกต่างออกไป
บทบาทของตัวสถาปัตยกรรมถูกใช้เป็นศิลปะที่สามารถบำบัดจิตใจคนได้ มันจึงมีคุณค่าที่นอกเหนือจากการใช้งานด้านประโยชน์ใช้สอย ในหนังจะเห็นว่าตัวอาคารนั้นสำคัญพอๆ กับตัวละครเหมือนเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ผู้กำกับตีความและมอบบทให้ตึกเหล่านั้นได้ออกมาโลดแล่นอย่างเงียบขรึมและคอยปลอบประโลม คำว่าจิตวิญญาณ (soul) ของตึกไม่ใช่จิตวิญญาณที่มีตัวตน แต่เป็นประสบการณ์ที่ถูกสะสมมาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างของตึกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
Modernism with a soul
โบสถ์โมเดิร์นที่เป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณคริสต์คาทอลิกในโคลัมบัส
นี่คือโบสถ์ North Christian ที่มีชื่อเสียงวาทกรรมอันน่าทึ่งโดยสถาปนิก Eero Saarinen โบสถ์แห่งนี้เป็นที่หลอมรวมเรื่องราวของพระเจ้า ธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมไว้รวมกันและแสดงออกอย่างเปิดเผยผ่านความโมเดิร์นที่ถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ.1964
บรรยากาศในโบสถ์เงียบสงบ บทสนธนาว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อของจิน แน่นอนเขาปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องศาสนาและระบบ Monarcy เขาบอกว่ามันไม่เกี่ยวว่าผู้นำจะเป็นคนดีหรือไม่ดี มันผิดมาตั้งแต่ระบบ ซึ่งไม่แปลกใจเพราะเขาเป็นคนหัวสมัยใหม่ และไม่เชื่อในวิถีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม เธอจึงถามต่อว่าพ่อของเขาเชื่อในอะไร
“Modernism with a soul” เขาตอบเธอ
แม้เขาจะไม่รู้ว่าความหมายที่แน่ชัดคืออะไร แต่เป็นสิ่งที่พ่อย้ำกับเขาอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณ
ผู้กำกับอย่าง Kogonada ซ่อนแนวคิดอะไรบางอย่างไว้ที่บทสนทนา ความเป็นสมัยของจิน ความอนุรักษ์นิยมของเคซีย์ ผนวกกับตัวโบสถ์ที่ใช้เพื่อทำพิธีทางศาสนาแต่กลับแสดงออกอย่างตรงกันข้าม ซึ่งก็อยู่รวมกันได้อย่างสง่างามดังวัตถุประสงค์ของสถาปนิก คือการออกแบบอาคารที่สามารถตอบสนองความต้องการร่วมสมัยได้โดยไม่สูญเสียจุดสนใจของหน้าที่ดั้งเดิมของคริสตจักรในฐานะสถานที่สำหรับสักการะและเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น
สถาปัตยกรรมพยายามที่จะสร้างบรรยากาศทางศาสนาที่มีความใกล้ชิด มีเอกลักษณ์ และเหนือธรรมชาติ ตั้งแต่วัสดุที่เป็นดินไปจนถึงรูปทรงแหลมชี้ขึ้นไปบนฟ้าอย่างน่าทึ่ง การเปลี่ยนแปลงของการเดินจากภายนอกสู่ภายในอาคารสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สถาปนิกตั้งใจบรรลุจุดประสงค์เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางทางจิตวิญญาณของผู้นมัสการ
เพียงหนึ่งเดือนหลังจากส่งแบบสุดท้ายของการออกแบบของเขา ซาริเน็นก็ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหันและโดยไม่คาดคิดเมื่ออายุ 51 ปี โบสถ์แห่งนี้ เป็นอาคารหลังสุดท้ายที่เขาออกแบบ รูปแบบยังคงอยู่ได้รับการคัดลอกไว้หลายฉบับ และมันได้กลายเป็นไอคอนที่คนรู้จักมากที่สุดของโคลัมบัส ในปี ค.ศ.2000 หลังจากสร้างเสร็จเพียงสามสิบหกปี ก็ได้รับการกำหนดให้เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าของเมืองและสถาปัตยกรรมอเมริกันหลังสงคราม
Architect’s eye view
มีดวงตาแบบสถาปนิก
หนังเรื่อง Columbus ฝึกให้ผู้ชมมองดูอาคารอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่นเดียวกับที่เคซีย์และจินทำ ด้วยความสงสัยในตอนแรกของจิน เขายังคงพยายามทำความเข้าใจเสน่ห์ของสถาปัตยกรรมในเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำความเข้าใจแนวความคิดพ่อของเขาที่กำลังป่วยหนักมากกว่า หลังจากดิ้นรนเพื่อตีความภาพวาดลายเส้นง่ายๆ ของพ่ออยู่นาน หลังจากพ่อของเขาจากไปจินและเคซีย์กำลังนั่งอยู่หน้าศาลากลางเมืองโคลัมบัส ซึ่งออกแบบโดย Edward Bassett อาคารหลังนี้มีโครงสร้างอิฐสองหลังที่ขนานกันแต่ไม่เคยพบกัน และในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาเงยหน้าขึ้นมองก้อนอิฐที่ขนานก้อนนั้น เขารู้สึกมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่พ่อของเขาวาดไว้ในสมุดจด นั่นคือสิ่งที่จินกำลังตามหามาตลอด จินเงยหน้าขึ้นและเห็นสิ่งเดียวกับที่พ่อของเขาเคยเห็น นาทีนั้นทำให้เขารู้สึกใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้น
ฉากท้ายของเรื่องทั้งคู่อยู่ในอาคารหลังเดียวกันกับตอนเปิดเรื่อง Miller House and Garden ของสถาปนิก Eero Saarinen ในตอนเปิดเรื่องแสดงให้เห็นว่าพ่อของจินกำลังหลงทางอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วยโรคอัลไซเมอร์ จินมองออกไปที่สวนที่เดียวกับที่พ่อของเขามอง จินและพ่อของเขาเหมือนกันแทบจะทุกประการ ราวกับว่าจินรับดวงตาของพ่อหลังจากที่เขาทำความเข้าใจพ่อสำเร็จ ตอนที่เขาพบเคซีย์ครั้งแรก เขาพูดติดตลกว่า “คุณโตมากับบางสิ่งและรู้สึกเหมือนมันกับว่ามันไม่มีอะไรเลย” สำหรับเคซีย์จากที่ “ไม่มีอะไรเลย” นั้นกลายเป็นที่นี่เริ่มมีบางสิ่งหลังจากเธอเริ่มซึมซับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของโคลัมบัส และสำหรับจิน เขาก็ได้รู้สึกใกล้ชิดกับพ่อที่เหินห่างกันมานานมากขึ้นหลังจากที่เขาใช้เวลาทำความเข้าใจส่วนหนึ่งในงานที่พ่อทำ
ความเป็นสถาปนิกมันคงอยู่ใน DNA ของผู้ที่สนใจเสมอ เมื่อพวกเขาทั้งคู่เปิดใจที่จะศึกษาก็จะมีดวงตาที่มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกับภาพในมุมมองของสถาปนิก และหนังเรื่องนี้สะท้อนถึงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้กำกับปรารถนาจะบอกกับเรา เขาต้องการให้เราเงยหน้าขึ้นมองที่ๆ ตัวเองกำลังอยู่ด้วยมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจมันให้มากขึ้น แล้วจะเห็นบางสิ่งในเมืองที่เราเคยมองว่าแสนน่าเบื่อ เหมือนกับที่ทั้งจินและเคซีย์ได้รู้จักโคลัมบัสมากขึ้นกว่าเดิมผ่านบทสนทนาและประสบการณ์ที่ทั้งคู่มีต่อเมืองนี้
ขอบคุณภาพและที่มาจาก :
https://www.flickr.com/photos/psulibscollections/8536397327
https://filmdaze.net/looking-up-architectures-ability-to-soothe-the-spirit-in-kogonadas-columbus/
https://www.architectmagazine.com/project-gallery/irwin-union-bank-3126
https://www.instagram.com/p/BKHex6PAWoD/?taken-by=exhibitcolumbus
https://www.archdaily.com/544843/ad-classics-north-christian-church-eero-saarinen
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!