Greenery Revolution
ปฏิวัติพื้นที่สีเขียวให้สอดคล้องกับเมืองยุคใหม่

ชิบุยา – ย่านทันสมัยในโตเกียวนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในย่านล้ำหน้าอันดับต้นๆ ของโลกเลยก็ว่าได้ การใช้ประโยชน์ที่ดินในย่านนี้จึงตามมาด้วยแผนการพัฒนาที่ต้องคิดให้ถี่ถ้วนว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าบนผืนดินมูลค่ามหาศาลนี้ที่สุด แน่นอนว่าทิศทางการพัฒนาพื้นที่กลางเมืองส่วนใหญ่จะถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นอาคารพาณิชย์ตลอดจนตึกสูงระฟ้า และปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบนี้ส่งผลให้พื้นที่สาธารณะตลอดจนพื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมืองลดลงอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวเนื่องกัน

เราคงปฏิเสธการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองใหญ่ไม่ได้ เพราะย่านเศรษฐกิจก็ถือเป็นหัวใจสำคัญในการหล่อเลี้ยงประเทศพอๆ กับความสำคัญของพื้นที่สีเขียวที่ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเมือง นั่นทำให้หลายโครงการในยุคปัจจุบันนี้ที่เริ่มหันมาพัฒนาสถาปัตยกรรมที่ผสานกับพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดประโยชน์หลากมิติไปพร้อมกัน รวมถึงโปรเจกต์น่าสนใจในย่านชิบุยาที่หยิบมาแนะนำกันในคราวนี้ด้วยที่ถือว่าเป็นการปฏิวัติการพัฒนาพื้นที่สีเขียวผสานสถาปัตยกรรมที่เกิดประโยชน์มากมายหลายมิติทีเดียว

โปรเจกต์ที่ว่านี้ก็คือ Miyashita Park อาคาร Community Mall สารพัดประโยชน์ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา การพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้สอดคล้องกับพลวัตรเมืองยุคใหม่นี้กำลังได้รับความสนใจไปทั่วโลกเพราะเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง แลนด์มาร์กใหม่ของชิบุยานี้ตั้งอยู่บริเวณตะเข็บย่านในโซนที่เชื่อมต่อไปยังฮาราจูกุและโอโมเตะซานโดซึ่งใครที่รู้จักโตเกียวก็จะรู้ดีว่าพื้นที่โดยรอบย่านนี้คือแหล่งฮิปสำหรับนักช้อปแถมยังเป็นแหล่งธุรกิจสำคัญของญี่ปุ่นด้วย

Miyashita Park ประกอบไปด้วยอาคารพาณิชย์แนวยาว 3 ชั้น ที่มีความกว้างของอาคารแค่ราว 35 เมตร แต่กินพื้นที่แนวยาวกว่า 330 เมตร ทอดยาวตลอดแนวถนน Meiji Dori และคู่ขนานไปกับรางรถไฟของ JR ที่เป็นเส้นทางหลักของสายสำคัญมากมายซึ่งก็รวมถึงสาย Yamanote Line ด้วย อาคารด้านล่างสูง 3 ชั้นเป็นที่ตั้งของ RAYARD MIYASHITA PARK ซึ่งเป็น Lifestyle Mall ทันสมัยที่ประกอบไปด้วยร้านค้ามากมาย

ในส่วนของชั้นดาดฟ้าก็คือสวนสาธารณะ Miyashita Park (ชื่อเดียวกับชื่อโครงการ) ที่ออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้ทันสมัยและเต็มไปด้วยประโยชน์ใช้สอยหลากหลายมิติ ตั้งแต่การเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ลานหญ้าสีเขียวกว้างใหญ่ให้นั่งเล่นอย่างชิลๆ นอกจากนี้ ยังมีคาเฟ่เก๋ๆ ที่รายล้อมไปด้วยบรรยากาศดีๆ ไปจนถึงลานกีฬาคนเมืองในรูปแบบต่างๆ ที่ให้ทุกคนได้สนุกกับการเสียเหงื่อหลากหลายกิจกรรมอีกด้วย

พื้นที่ของ RAYARD MIYASHITA PARK และ Miyashita Park ยังผสานไปสู่อีกส่วนสำคัญที่อยู่ปลายสุดของโครงการนั่นก็คือ sequence MIYASHITA PARK ซึ่งเป็นส่วนของอาคารสูง 18 ชั้นที่ถูกพัฒนาเป็นโรงแรมทันสมัยใจกลางเมืองอีกด้วย โดยโรงแรมนี้มีห้องพักในรูปแบบ Business Hotel ตามสไตล์ตะวันตกไว้บริการ ตลอดจนห้องพักในรูปแบบ Dormitory Room ที่มีเตียงสองชั้นคล้ายสไตล์ Budget Hotel ไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่มหรือแบบครอบครัว (แต่ไม่ได้เปิดจองแบบแยกเตียงเดี่ยวเหมือนกับ Budget Hotel) พร้อมบาร์ไปจนถึงคาเฟ่เก๋ๆ ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่

จะว่าไปแล้วด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมอาจจะไม่ได้โดดเด่นอะไรมากนัก แต่ทว่าความน่าสนใจกลับอยู่ที่รายละเอียดของการออกแบบที่เน้นอรรถประโยชน์มากกว่าดีไซน์ สถาปนิกต้องการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมนี้ในรูปแบบ Walkable Architecture ที่ผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับวิถีสัญจรไว้ด้วยกัน นอกจากจะกลายเป็นพื้นที่ช้อปปิ้งที่เป็นแหล่งรวมร้านค้าต่างๆ แล้วขณะเดียวกันก็ยังเป็นเส้นทางสัญจรที่ผู้คนสามารถใช้เดินทางในย่านนี้ได้พร้อมกันด้วย ทางเดินส่วนใหญ่เป็นเส้นทางแนวยาวที่ผสานกับโซนการค้า บางส่วนของอาคารผสานกับฟังก์ชั่นสะพานลอยที่ใช้ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยแบบไม่ต้องเดินขึ้นลงให้เสียเวลาด้วย นอกจากนี้ส่วนของสวนสาธารณะด้านบนนอกจากเป็นแหล่งสันทนาการแล้วก็ยังถือเป็นเส้นทางเดินสาธารณะที่ใช้เดินทางสัญจรเชื่อมย่านได้พร้อมกันด้วย นับเป็นเส้นทางสัญจรที่ปลอดภัยและช่วยลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพทีเดียว

อันที่จริงแล้วหลายคนอาจคิดว่า Miyashita Park นั้นน่าจะเป็นการตั้งชื่อเก๋ๆ ให้เข้ากับธุรกิจและการออกแบบโครงการนี้เฉยๆ แต่หากใครรู้ถึงที่ไปที่มาจริงๆ ก็จะรู้ว่าเหตุใดที่ทำให้โครงการนี้ได้รับความสนใจขึ้นมา การตั้งชื่อครั้งนี้นอกจากจะสะท้อนการเป็น Green Community Mall ที่มีอาคารพาณิชย์ผสานพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแล้ว ชื่อดังกล่าวก็ยังอุทิศให้กับประวัติศาสตร์ดั้งเดิมในคราวเดียวกันด้วย เพราะบริเวณที่ Community Mall แห่งนี้สร้างขึ้นก็คือพื้นที่เดิมของสวนสาธารณะ Miyashita Park (宮下公園) นั่นเอง โดยสวนสาธารณะแห่งนี้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1953 (ก่อนโอลิมปิกครั้งแรกที่จัดขึ้นโตเกียวเมื่อปี ค.ศ.1964 ด้วยซ้ำ) จากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1966 ให้เป็นอาคารจอดรถ (1 ชั้น) ที่ผสานกับสวนสาธารณะอยู่ด้านบนซึ่งถือได้ว่านี่คือสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของโตเกียวเลยก็ว่าได้

ปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือความเสื่อมโทรมไปจนถึงกลายเป็นแหล่งปักหลักของกลุ่มคนไร้บ้าน ทางเมืองโตเกียวจึงได้มีแผนการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ใหม่ โดยในปี ค.ศ.2009 ได้ปล่อยพื้นที่ให้ยักษ์ใหญ่อย่าง Nike Japan เช่าและปรับเปลี่ยนเป็น Miyashita Nike Park (宮下ナイキパーク) ลานกีฬาสายเอ็กซ์ตรีมที่กำลังเป็นเทรนด์นิยม  จนกระทั่งสัญญาเช่าเดิมหมดลงพื้นที่นี้จึงถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งสู่อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่แห่งวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่นอย่าง Mitsui Fudosan ที่เป็นผู้ปรับโฉม Community Mall รูปแบบล่าสุดนี้นั่นเอง

Miyashita Park เวอร์ชั่นล่าสุดปรับเปลี่ยนจากสวนสาธารณะผสานอาคารจอดรถกลายเป็นสวนสาธารณะผสาน Community Mall ที่ทันสมัย ถึงแม้โปรเจกต์การพัฒนาพื้นที่คราวนี้จะยิ่งใหญ่กว่าเดิม แต่ทาง Mitsui Fudosan ก็ยังคงตัดสินใจเก็บเอกลักษณ์ดั้งเดิมอย่าง “สวนสาธารณะ” ไว้กับสถานที่นี้เหมือนอย่างเคยเช่นกัน ในส่วนรูปแบบของการพัฒนาโครงการนั้นก็อยู่ภายในแนวคิด Multilevel Urban Park System (立体都市公園制度) ที่เป็นการบริหารจัดการการใช้พื้นที่กลางเมืองใหญ่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าในหลากหลายมิติที่สุด แล้วก็เป็นการพัฒนาสวนสาธารณะกลางเมืองในรูปแบบใหม่ไปพร้อมกันด้วย ส่วนแนวคิดทางสถาปัตยกรรมนั้นมาในรูปแบบ Business Environment integrated with Outdoor Space ที่ต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับย่านธุรกิจเมืองใหญ่ ขณะที่ตัวสถาปัตยกรรมเองก็ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมิติที่เป็นประโยชน์ต่อคนใช้สอยอาคารไปจนถึงคนในชุมชนโดยรอบด้วย

ปอดของคนกรุงยุคใหม่นั้นสามารถเป็นได้มากกว่าแค่พื้นที่สีเขียวที่มีประโยชน์มิติเดียวเหมือนอย่างเคย หรือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นก็สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนเมืองไปพร้อมกันได้เช่นกัน นี่น่าจะเป็นแนวทางการปฏิวัติการพัฒนาพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองแนวใหม่กับคอนเซ็ปต์ Modern Public Space ที่น่าสนใจไม่น้อยด้วย คุ้มค่าและได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย แถมยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมเมืองไปพร้อมกัน

Information
Miyashita Park
Location : 6-20-10 Jingumae, Shibuya, Tokyo
Website: www.miyashita-park.tokyo

ขอบคุณข้อมูลจาก
www.miyashita-park.tokyo
https://www.gooood.cn/miyashita-park-by-nikken-sekkei-ltd.htm
https://www.designboom.com/architecture/nikken-sekkei-miyashita-park-shibuya-tokyo-japan-04-25-2021/
https://www.seibu-la.co.jp/park/miyashita-park/
https://www.mitsuifudosan.co.jp/english/shopping/?id=global
https://metropolisjapan.com/miyashita-park/
https://www.nippon.com/en/views/b07801/

ขอบคุณภาพจาก
www.nacasa.co.jp
www.miyashita-park.tokyo
https://www.tokyoweekender.com/2020/08/new-look-miyashita-park/

Writer
Tada Ratchagit

Tada Ratchagit

นักเขียนที่หลงรักการถ่ายภาพ หลงเสน่ห์การเดินทาง หลงใหลงานดีไซน์ไปจนถึงสถาปัตยกรรมทุกยุค ตลอดจนสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตยั่งยืน