LADPRAO18 House ทาวน์เฮาส์หลังเก่าในซอยลาดพร้าว 18 เปลี่ยนมือผู้อยู่อาศัยมาหลากเจนเนอเรชัน หลายรูปแบบไม่ต่างจากบ้านทั่วไปที่เราพบเห็นได้ในเมือง ตั้งแต่เจ้าของบ้านผู้ย้ายถิ่นฐานไปทำธุรกิจ และตั้งโรงงานอยู่นอกเมืองหลวง หรือผู้เช่าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ย้ายเข้า-ออกไปตามช่วงเวลา
เมื่อบ้านหลังเก่าไม่มีผู้เช่า ถูกปล่อยว่าง ทิ้งร้างและทรุดโทรมมานานหลายปี ก็ถึงคราวต้องปรับปรุงขึ้นใหม่เพื่อให้สมบัติของครอบครัวหลังนี้ กลับมามีชีวิต โดยอาจจะกลายเป็นอยู่อาศัยชั่วคราวของทางเจ้าของ หรือปล่อยให้เช่าอีกครั้งในอนาคต โจทย์ของการรีโนเวทบ้านเก่า จึงถูกส่งต่อให้คุณยอท -สิระกิจ เจริญกิจพิสุทธิ์ และคุณนาฏ-สินีนาฏ สัพทานนท์ สองสถาปนิกจาก OAAS มารับช่วงต่อ
สร้างสัมพันธ์ของฟังก์ชันที่ยืดหยุ่นพร้อมปรับเปลี่ยน
“บ้านหลังนี้จะมีความยืดหยุ่น เพราะปรับปรุงสำหรับผู้ใช้งานที่ไม่แน่นอน อาจเป็นพื้นที่รับแขก สังสรรค์ ของเจ้าของบ้านเอง หรือผู้เช่าซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเป็นใคร และมีจำนวนผู้ใช้งานเท่าไหร่ แต่ที่มองไว้น่าจะเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ หรือคนกลุ่มใหญ่มากกว่า มันเลยนำมาสู่โจทย์ของสถาปัตยกรรมที่เน้นการใช้งานพื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องนั่งเล่น หรือพื้นที่บาร์บีคิวหลังบ้าน เพื่อให้มีพื้นที่หรือมุมต่างๆ รองรับกิจกรรมของคนกลุ่มใหญ่ พื้นที่ส่วนตัวที่เหลือ อย่างห้องนอน เราจึงประหยัดงบประมาณด้วยการพยายามคงแปลนและสัดส่วนห้องให้เหมือนเดิมมากที่สุด” สถาปนิกเล่า
แน่นอนว่า บ้านที่ยืดหยุ่นรองรับคนกลุ่มใหญ่ ออกจะสวนทางกับความเป็นไปได้ของแปลนบ้านแถวในแบบทาวน์เฮาส์ไปเสียหน่อย ด้วยปัญหาเดิมของบ้านทาวน์เฮาส์ที่มักเป็นแนวลึก ทำให้ฟังก์ชันต่างๆ ต้องเรียงตัวยาวไปตามพื้นที่ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหน้าบ้านและหลังบ้านขาดหายไป สองสถาปนิกเห็นความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงเริ่มต้นแนวคิด ด้วยการสร้างพื้นที่โฟลวแนวยาวจากหน้าบ้านไปจนถึงหลังบ้าน โดยไม่มีฟังก์ชันภายในมาขวางการเชื่อมโยงพื้นที่
เกิดเป็นทางสัญจรหลักด้านขวาที่ออกแบบขนานยาวไปกับฟังก์ชันส่วนกลางซึ่งสถาปนิกเซ็ตไว้เป็นกลุ่มใหญ่ด้านซ้ายของตัวบ้าน กั้นด้วยบานประตูไม้สาน ที่สามารถปิดเพื่อแยกสัดส่วนการใช้งานและทางสัญจร หรือจะเปิดบานให้กว้างเพื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดของบ้านให้เป็นเนื้อเดียวกันก็ทำได้ “พอเราปิดบานไม้ มันจะกลายเป็นทางเดินกึ่งภายนอก จะใส่รองเท้าเดินจากหน้าบ้านไปหลังบ้านเลยก็ได้ หรือถ้าเปิดประตูไม้บานสานทิ้งไว้ ทั้งหมดก็จะดูกลายเป็นพื้นที่ภายใน”
เพิ่มความเป็นส่วนตัวจากภายนอกเข้าสู่ภายใน
สถาปนิกเลือกใช้อิฐบล็อกช่องลมที่เป็นวัสดุหาง่ายและราคาจับต้องได้ มาใช้พรางตาเป็นฟาซาดของบ้านใหม่ที่ลดการมองเห็นจากภายนอกได้ในระดับหนึ่ง
ไฮไลท์หนึ่งของบ้าน คือ บริเวณด้านหน้า ซึ่งสถาปนิกออกแบบให้เป็นพื้นที่ภายนอกที่ถูกเรียกว่า ‘ศาลา’ หรือมุมพักผ่อนเล็กๆ มีช่องว่างบริเวณหลังคา เปิดให้ต้นไม้ใหญ่เจริญเติบโตไปทักทายฟังก์ชันบางส่วนบริเวณชั้นสอง รวมถึงเปิดช่องทางให้แสงสว่างธรรมชาติส่องเข้าสู่พื้นที่ภายใน “เรามองพื้นที่ตรงนี้เป็นการใช้งานภายนอกบ้าน เหมือนสวนหย่อมเล็กๆ ที่ยังมีความเป็นส่วนตัว มีบล็อกลมเป็นตัวช่วยกรองมุมมอง ซึ่งปกติเราไม่ค่อยเห็นพื้นที่แบบนี้ ในบ้านแถวเท่าไร เราเลยพยายามสร้างสเปซเสริมขึ้นมาเพื่อให้มันไปได้มากกว่าบ้านแถวทั่วไป”
พื้นที่ศาลา แบ่งสัดส่วนจากพื้นที่ภายในด้วยการใช้ประตูไม้บานเฟี้ยมที่สามารถเปิด-ปิดแบ่งการใช้งานกันได้สะดวก หากต้องการความเป็นส่วนตัวสูงสุดก็สามารถปิดประตูไม้บานเฟี้ยมเพื่อป้องกันมุมมองจากภายนอกสู่ภายใน หรือหากเปิดบานไม้เฟี้ยม พื้นที่ภายในและภายนอกก็สามารถเชื่อมถึงกันกลายเป็นพื้นที่ใหญ่ทั้งหมดได้ทันที
เติมบรรยากาศใหม่ แต่คงเสน่ห์ของบ้านเก่าในอดีต
ส่วนกลางหลักอย่างพื้นที่นั่งเล่น และส่วนรับประทานอาหารถูกจัดให้เป็นคอมมอนเอเรียขนาดใหญ่ที่รวมอยู่ในพื้นที่เดียว โดยสถาปนิกเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ทั้งหมด เพื่อรองรับกลุ่มคน และยังช่วยพรางตาทำให้พื้นที่ทั้งหมดดูใช้งานได้เต็มที่ เสมือนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีจำกัดนั่นเอง
บริเวณห้องนั่งเล่น ผู้ออกแบบเลือกที่จะเก็บโครงสร้างและโชว์ท้องพื้นไม้ของชั้นสอง ซึ่งเป็นไม้เดิมที่คุณภาพดีและยังคงความสวยงามได้อย่างไร้การปรุงแต่ง “เรามองว่ามันเป็นสเน่ห์หนึ่งของโปรเจ็กต์รีโนเวทเหมือนกัน คือเราไม่รู้ว่าอะไรจะรอเราอยู่ เรารื้อฝ้ามาแล้วเห็นว่าพื้นเดิมมันสวย การที่สีของไม้ไม่เท่ากันในแต่ละชิ้น หรือตงไม้สีเข้มกว่าพื้นมันน่าสนใจ เราเลยทำขอบฝ้า หรือส่วนอื่นๆ อย่างงานผนังให้มันเนี้ยบกริบตัดกับคานเดิม พื้นเดิมที่ยังคงดูดิบและเก่า เหมือนแกลลอรี่ที่โชว์เรื่องราวของบ้านเก่าในอดีต”
ห้องน้ำบริเวณชั้น 1 มีการแบ่งแปลนใหม่ทั้งหมด กลายเป็นห้องอาบน้ำ 2 ห้อง ห้องสุขา 1 ห้อง และส่วนของอ่างล้างหน้าที่แยกส่วนกันอย่างชัดเจน รองรับการใช้งานของคนกลุ่มใหญ่ ถัดเข้ามาบริเวณสุดปลายของตัวบ้าน เป็นที่ตั้งของห้องครัว ซึ่งออกแบบให้มีกิมมิคเล็กๆ ด้วยการเจาะช่องเปิดเชื่อมระหว่างเคาน์เตอร์ครัวและพื้นที่บาร์บีคิวภายนอก เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในการใช้พื้นที่ที่บ้านแถวในแบบดั้งเดิมขาดหายไป
ด้วยความที่ทางสัญจรเชื่อมพื้นที่หน้าบ้านไปยังหลังบ้าน ทำให้เกิดการกั้นกำแพงยาวตั้งแต่บริเวณห้องนั่งเล่น ไปสิ้นสุดถึงหน้าห้องน้ำ และห้องครัว ซึ่งในส่วนนี้สถาปนิกออกแบบผนังให้หนา 60 เซนติเมตรสลับฝั่งและฝังตู้เก็บของเข้าไปในกำแพง เพื่อเพิ่มพื้นที่จัดเก็บให้บ้านที่มีขนาดจำกัด
เพราะบ้านหลังนี้ไม่ได้ออกแบบขึ้นเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง สไตล์ทั้งหมดของบ้านจึงต้องคงความเรียบง่าย เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การเลือกใช้สีขาวหรือไม้สีอ่อนเพื่อความโปร่งและสว่าง จึงส่งผลให้มู้ดแอนด์โทนของบ้านมีกลิ่นอายของความเป็นเอเชียนผสมผสานอยู่หน่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงแต่สไตล์ที่ต้องยืดหยุ่นพร้อมต้อนรับคนหลากหลายประเภท แต่ฟังก์ชันภายในของบ้าน Ladprao18 ที่ออกแบบให้ปรับเปลี่ยนได้ยังพานิยามของ ‘บ้านทาวน์เฮาส์’ ก้าวผ่านขีดจำกัดเดิมๆ ไปได้อย่างน่าสนใจ
Location: Soi Ladprao 18
Architect Firm :OAAS (The Office of Design and Research for Appropriate Aesthetic)
Design Team: Sirakit Charoenkitpisut , Sineenart Suptanon
Interior designer: OAAS
Landscape designer: OAAS
Building Area: 130 sq.m
Photographer: Nattakit Jeerapatmaitree
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!