Dynamic space in Architecture
ที่ว่างเคลื่อนไหวในงานสถาปัตยกรรม

ในปัจจุบันพื้นที่ในงานสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต โดยเฉพาะเมืองที่มีความหนาแน่นประชากรต่อพื้นที่สูงอย่างเช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ หรือเขตกรุงเทพชั้นในของประเทศไทย เนื่องจากราคาที่ดินและต้นทุนการพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงพื้นที่บางอย่างอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของบริบททางสถาปัตยกรรม การใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นสิ่งที่ท้าทายสถาปนิกที่จะต้องออกแบบพื้นที่ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย

แนวคิดที่ว่างเคลื่อนไหว (Dynamic space) คือแนวคิดที่มุ่งศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดพื้นที่อุดมคติที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ

The New Domestic Landscape

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1972 ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีการจัดแสดงนิทรรศการ The New Domestic Landscape โดยหัวข้อหลักของงาน คือการนำเสนอแนวคิดการสร้างสภาพแวดล้อมในงานสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ๆ โดยกลุ่มสถาปนิกสัญชาติอิตาลี ก่อให้เกิดแนวคิดที่ว่างเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากมาย

Ettore Sottsass สถาปนิกหัวก้าวหน้าคนสำคัญของยุคได้นำเสนอผลงาน Microenvironment เป็นแนวคิดการสร้างที่ว่างเคลื่อนไหวที่ล้ำสมัย โดยนำคอนเทนเนอร์เคลื่อนที่ได้ระบบ Modular ภายในบรรจุส่วนประกอบของเครื่องเรือนอย่าง ตู้เสื้อผ้า ชุดครัว โต๊ะรับประทานอาหาร โซฟา ตู้หนังสือ มาเรียงต่อกันในพื้นที่สมมุติ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอุดมคติระหว่างโมดูล สำหรับการอยู่อาศัยตามความต้องการของแต่ละบุคคล แต่ละโมดูลสามารถเชื่อมต่อหรือถอดออกจากกันได้อย่างอิสระ เป็นการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่อย่างชาญฉลาด โดยการนำหน่วยที่ของเครื่องเรือนที่เล็กมาประกอบขึ้นเป็นที่ว่างในงานสถาปัตยกรรม

“สิ่งที่อยู่ภายในคอนเทนเนอร์ ไม่ใช่แค่เพียงเครื่องเรือน แต่มันคือสภาพแวดล้อมขนาดเล็กที่เคลื่อนที่ได้ และเมื่อเชื่อมต่อกันจะเกิดเป็นสภาพแวดล้อมของพื้นที่อาศัย (living space) ในอุดมคติที่ใช้งานได้อย่างอิสระตามความต้องการของแต่ละบุคคล” – Ettore Sottsass

Total Furnishing unit

อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจมีชื่อว่า Total Furnishing unit โดยเป็นผลงานของ Joe Colombo สถาปนิกหัวก้าวหน้าแห่งยุค ที่จัดแสดงในนิทรรศการเดียวกันนั้น เขาได้นำเสนอแนวคิดความสัมพันธ์ระหว่างฟังก์ชั่นการใช้งานและพฤติกรรมของมนุษย์ ถ่ายทอดในรูปแบบของหน่วยพื้นที่อาศัย (Living space unit) ที่ซ่อนอยู่ในตู้ขนาดใหญ่ สามารถเคลื่อนที่ได้ อย่างเช่น ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องอาบน้ำ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ที่สามารถผสมผสาน Function การใช้งานได้อย่างอิสระเมื่อส่วนประกอบมาแต่ละหน่วยมาจัดวางต่อกัน ตัวอย่างเช่น การจัดงานสังสรรค์จะเป็นการใช้ส่วนประกอบของห้องครัวและห้องนั่งเล่น การอาบน้ำจะเป็นการใช้ส่วนประกอบระหว่างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและห้องอาบน้ำ โดยฟังก์ชั่นทั้งหมดสามารถพับเก็บได้หากไม่ได้ใช้งาน

“สิ่งที่ซ่อนอยู่ในตู้คือสภาพแวดล้อมขนาดเล็กที่ซ้อนทับอยู่ในมิติของพื้นที่โดยรวม และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ”Joe Colombo

Domestic transformer

Gary Chang สถาปนิกหัวหัวสมัยใหม่ชาวฮ่องกง ที่ศึกษาเรื่องการจัดการพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ได้ออกแบบห้องชุด Domestic transformer เมื่อปี 2007 ในเกาะฮ่องกง หนึ่งในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยห้องชุดดังกล่าวมีพื้นที่จำกัดเพียง 32 ตารางเมตร แต่มีฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างครบครับ โดยมีองค์ประกอบเพื่อการอยู่อาศัย อย่างเช่น ฉากกั้นห้อง เตียงนอน ห้องครัว ตู้หนังสือ หรือห้องน้ำ อยู่ในโมดูลที่พับเก็บได้ สามารถเคลื่อนที่ได้ในแนวราบโดยกลไกรางเลื่อน ทำให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถจัดรูปแบบการใช้งานได้ถึง 24 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น พักผ่อน ประชุมงาน อ่านหนังสือบนเปล รวมไปถึงพื้นที่ดูหนังแบบโฮมเธียเตอร์ โดยโมดูลทั้งหมดสามารถใช้แบ่งพื้นที่ของห้องและเลื่อนเก็บได้หากไม่ได้ใช้งาน

Suitcase house

อีกผลงานที่น่าสนใจของ Gary Chang คือ บ้านพักตากอากาศ Suitcase house ชานเมืองปักกิ่ง ที่ออกแบบให้พื้นที่ภายในให้มีลักษณะโล่ง ยาวถึง 44 เมตร โดยไม่มีเครื่องเรือนหรือผนังมาบดบังทัศนียภาพ แต่มีการเก็บซ่อนฟังก์ชั่นการใช้งานเพื่อการอยู่อาศัยทั้งหมด อาทิเช่น ห้องสมุด ห้องพักผ่อน ห้องซาวน่า หรือ ห้องซ้อมดนตรี อยู่ใต้ระนาบพื้นโดยมีกลไลที่เปิด-ปิดได้ คล้ายกับกระเป๋าเดินทาง โดยห้องที่อยู่ใต้ระนาบพื้นจะมีทางสัญจรเชื่อมโยงกัน เป็นแนวคิดการออกแบบพื้นที่ภายในแบบพลวัตที่สามารถเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างหลากหลาย

“แนวคิดการออกแบบในลักษณะนี้ไม่ใช่การออกแบบเชิงนิเวศ เราแค่ศึกษาถึงวิธีการลดขนาดของพื้นที่ในแต่ละกิจกรรม โดยการมองข้ามขอบเขตของพื้นที่ และหาเครื่องมือที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างอิสระ” – Gary Chang

MJE House

ผลงานออกแบบบ้านพักอาศัยริมทะเล MJE House ที่เมือง Asturias ประเทศสเปน จากสถาปนิก PKMN Architect พวกเขาได้มีความคิดที่จะสร้างที่ว่างเคลื่อนไหว เพื่อรองรับพฤติกรรมการใช้งานที่หลากหลายของครอบครัวในแต่ละช่วงเวลาของปี โดยที่ไม่ต้องการแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นห้องเล็กๆ เพราะไม่ต้องการบดบังทัศนียภาพของชาดหาดที่งดงาม จึงได้ออกแบบผนังกั้นที่มีล้อเลื่อนบานหมุน ภายในเก็บซ่อนฟังก์ชั่นการใช้งานที่สามารถเปิดเปิดได้ แนวคิดดังกล่าวเป็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในของบ้านพักอาศัยให้เกิดเป็นพื้นที่อุดมคติ ที่สามารถวางพื้นที่ห้องต่างๆภายในบ้านอย่าง ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องอ่านหนังสือ ได้ตามความต้องการของของผู้อาศัยได้อย่างอิสระ

“ที่อยู่อาศัยควรจะออกแบบให้สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลาย มากกว่าการที่ผู้พักอาศัยต้องปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัดด้านพื้นที่” – PKMN Architect

Centre Georges Pompidou

อาคาร Centre Georges Pompidou ณ กรุงปารีส เป็นผลงานระดับ Master piece ของ Renzo Piano และ Richard Roger สองสถาปนิกหัวก้าวหน้าชาวอิตาลี ที่เปิดใช้งานเมื่อปี 1977 เป็นต้นแบบของอาคารพลวัตรภายใต้แนวคิด inside out ที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในให้มีการใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือแม้กระทั่งศูนย์การจัดแสดงนิทรรศการ โดย Piano และ Roger ได้นำโครงสร้างวิศวกรรมและสาธารณูปโภคทั้งหมดมาวางเปลือยไว้ภายนอกอาคารอย่างสวยงาม ไม่ว่าจะเป็น บันไดเลื่อน ลิฟต์ งานระบบอาคาร ท่อและช่องระบายอากาศ ทำให้พื้นที่ภายในอาคารให้มีลักษณะแบบเปิดโล่ง สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างอิสระ นอกจากนี้พื้นที่บริเวณหน้าอาคารยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวในเชิงภูมิสถาปัตยกรรม เนื่องจากเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้จัดกิจกรรมทางสังคมได้อย่างหลากหลาย

“แนวคิดก็คือ หากคุณขึ้นบันไดเลื่อนบริเวณด้านหน้าของ Façade อาคาร และมองลงมาบริเวณพื้นที่ว่างหน้าอาคาร คุณจะเห็นว่านี่คือพื้นที่สาธารณะนี้มีความพลวัตมาก” – Richard Roger

จากผลงานที่หยิบยกมาพูดคุยกันในวันนี้ อาจกล่าวได้ว่าแนวคิดพื้นที่เคลื่อนไหว คือการสร้างพื้นที่อุดมคติเพื่อรองรับความหลากหลายของกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน โดยจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ เช่น พฤติกรรมของผู้ใช้งาน ช่วงเวลา รวมถึงข้อจำกัดของพื้นที่ด้านกายภาพ เพื่อให้เกิดพลวัตในงานสถาปัตยกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้ตามต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุด แนวคิดดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับที่ว่างในงานสถาปัตยกรรมได้ทุกมิติ ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดอย่างเครื่องเรือน ห้องหรือพื้นที่ว่างในอาคาร ตลอดจนพื้นที่ขนาดใหญ่ในงานภูมิสถาปัตยกรรม

Reference:
Micronenvironment
http://www.atlasofinteriors.polimi.it/2018/11/23/ettore-sottsass-sistema-di-containers-moma-new-york-usa-1972/

Total Furnishing Unit
http://www.misfitsarchitecture.com/2018/08/11/houses-as-art/total-furnishing-unit-1971-inventing-the-future-joe-colombo/

Domestic Transformer
http://www.designboom.com/architecture/gary-chang-on-urbanism-and-his-metamorphic-apartment

Suitcase House
http://www.designboom.com/architecture/suitcase-house-by-gary-chang-hides-program-beneath-ground/

MJE House
http://www.dezeen.com/2016/01/10/mje-house-pkmn-architectures-apartment-spain-rotating-walls/

Centre Georges Pompidou
http://www.dezeen.com/2019/11/05/centre-pompidou-piano-rogers-high-tech-architecture/

Photo Credit:
Micronenvironment
http://www.atlasofinteriors.polimi.it/2018/11/23/ettore-sottsass-sistema-di-containers-moma-new-york-usa-1972/

http://www.archiveofaffinities.tumblr.com/post/58805080490/ettore-sottsass-micro-environment-the-new

Total Furnishing Unit
http://www.flashbak.com/paleofuture-highlights-italy-new-domestic-landscape-1972-58436/joe-colombo-total-furnishing-unit-b-1971/

http://www.pinterest.com/pin/340162578076193098/

http://www.misfitsarchitecture.com/2018/08/11/houses-as-art/total-furnishing-unit-1971-inventing-the-future-joe-colombo/

Domestic Transformer
http://www.designboom.com/architecture/gary-chang-on-urbanism-and-his-metamorphic-apartment

http://www.archdaily.com/949150/nano-scale-gary-chang-explores-compact-living-and-the-future-of-dense-cities/5f8072f663c017ac95000003-nano-scale-gary-chang-explores-compact-living-and-the-future-of-dense-cities-image

Suitcase House
http://www.designboom.com/architecture/suitcase-house-by-gary-chang-hides-program-beneath-ground/

MJE House
http://www.dezeen.com/2016/01/10/mje-house-pkmn-architectures-apartment-spain-rotating-walls/

Centre Georges Pompidou
http://www.dezeen.com/2019/11/05/centre-pompidou-piano-rogers-high-tech-architecture/

http://www.rsh-p.com/projects/centre-pompidou/

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว