“ที่พวกเรา Cloud-Floor อยากมาศึกษาเรื่องพื้นที่สาธารณะ เพราะเราอยากอยู่ในเมืองที่ดี มันไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นเลย” คุณฟิวส์-นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย สถาปนิกจาก Cloud-Floor เริ่มต้นส่งสารผ่านประโยคที่เราเชื่อว่าเป็นการพูดแทนใจคนเมืองทั้งประเทศนี้แล้ว!
การมีเมืองที่ดีเป็นความคาดหวังของใครหลายคนไม่ต่างจากการมีบ้านในฝัน พื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย เลิกงานก็ได้วิ่งออกกำลังกาย หรือนั่งพักผ่อนชมธรรมชาติในเช้าวันหยุด น่าเสียดายที่เรื่องราวเหล่านี้ยังคงเป็นแค่ความฝันในเมืองไทย บทความ #Design ในครั้งนี้เราจึงถือโอกาศชวนคุณฟิวส์มาพูดคุยถึงโปรเจกต์ Urban Re-Typology (เมืองดีที่สี่แยก) จากงานประกวดแบบ ASA International Design Competition เมื่อหลายปีก่อน ในหัวข้อ DENSITY | DENSE CITY ที่พร้อมเปลี่ยนเมืองหนาแน่นให้น่าอยู่ ด้วยความหวังว่าวันหนึ่งคนไทยก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จากการออกแบบเมือง
เพราะทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่า การจะหยิบรองเท้ากีฬาออกมาวิ่งจ๊อกกิงยามเช้า หรือการเข้าถึงสวนสาธารณะดีๆ ต้องมีความพยายาม จึงไม่แปลกที่บางคนจะถอดใจ และถูกผลักไสให้อยู่ห่างไกลคุณภาพชีวิตที่ดีไปอีกหนึ่งระดับ การเข้าถึงสวนสาธารณะได้ง่าย จึงกลายเป็นแก่นที่ทีม Cloud-Floor ให้ความสำคัญกับการประกวดแบบในครั้งนี้
เข้าถึงง่าย ใช้ความพยายามน้อยๆ
“Cloud-Floor เราศึกษาเรื่องพื้นที่สาธารณะมาพอสมควร และเรารู้สึกว่าหัวใจที่แท้จริงของมัน คือ การเข้าถึงได้โดยง่าย (Accessibility) เป็นพื้นที่ที่คนทั่วไป คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด ไม่ต้องถึงขั้นนั่งรถเข้าเมืองไป ขับรถไปสวน ซึ่งประเทศเราส่วนมากยังคงเป็นแบบนั้น” คุณฟิวส์เล่า
ทีมสถาปนิกจึงเริ่มต้นจากการหันมามองว่า “ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ส่วนไหนบ้างที่มีโอกาสพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะที่กระจายทั่วถึงได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการเข้าถึงมาก” ปรากฏว่าโจทย์ตั้งต้นดังกล่าว พบเพียงคำตอบเดียว นั่นคือ ถนน ออกจากออฟฟิศ ลงจากรถไฟฟ้า หรือเพียงแค่เดินไปหน้าปากซอยก็สามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะถนนบริเวณสี่แยกซึ่งเป็นศูนย์รวมคน และเป็นจุดตัดเมืองที่ผู้คนมักจะมาเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ผู้ออกแบบจึงสนใจพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะระดับพื้นดิน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและเท่าเทียม
“ในเมืองของเรา ยังมีคนชรา มีคนพิการ ดังนั้น Typology ของเมืองที่พื้นที่สาธารณะถูกยกระดับขึ้นไปอยู่ลอยฟ้า อาจจะไม่เฟรนลี่กับคนบางประเภทในการเข้าถึง”
เมื่อสวนสาธารณะถูกจัดสรรให้อยู่ในระดับพื้นดินที่ถนน ประเด็นต่อมาคือการจัด Priority ของทางเดินเท้าและทางสัญจรใหม่ เปลี่ยนให้รถยนต์ที่มีกำลังมากกว่าสัญจรผ่านสี่แยกบริเวณใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่ระดับดินสามารถใช้งานเป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลูกต้นไม้ พื้นที่ทำกิจกรรม หรือพื้นที่ธรรมชาติของเมือง นอกจากนั้น การกดทางสัญจรรถลงสู่ใต้ดิน ยังช่วยเพิ่มทัศนวิสัยของเมือง และลดความหนาแน่นทางสายตาได้อีกทางหนึ่งด้วย
Typology ของเมืองที่สามารถ customize ได้ตามการใช้งาน
สี่แยกทางสัญจรของรถถูกกดลงสู่ใต้ดิน และบอกสัญญาณไฟจราจรผ่านเทคโนโลยี LED Screen ส่วนทางสัญจรของรถยนต์บนดิน ถูกออกแบบให้มีเลนกลับรถบริเวณสี่แยกทั้งหมด เพื่อให้เกิดโฟลวในการสัญจร มี Drop-off ที่สามารถรับส่งคนบริเวณพื้นที่ธารณะได้ หรือในยามฉุกเฉิน รถพยาบาล หรือรถดับเพลิงก็สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ นี้ได้เช่นกัน
สิ่งที่น่าสนใจ คือ โครงข่ายทางเท้าที่เชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกับพื้นที่สาธารณะที่อยุ่ใจกลางเมือง โดยไม่จำเป็นต้องข้ามถนน หรือเดินขึ้นสะพาน ทำให้คนเมืองสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้เพียงแค่เดินผ่าน อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการเดินเท้าที่ปลอดภัย และได้สัมผัสกับความสุนทรีย์มากขึ้น
“ในแต่ละพื้นที่อาจจะเป็นย่านอโศก คลองเตย หรือสามย่าน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจจะมีคาแร็กเตอร์ที่แตกต่างกันไปตามผู้ใช้งานที่อยู่ในรัศมีนั้นๆ เช่น ย่านอโศกเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนทำงาน พักเที่ยงสามารถซื้ออาหารมานั่งรับประทานหรือหย่อนใจในบริเวณนี้ได้ บริเวณสามย่านที่มีนักศึกษาเยอะ อาจจะออกแบบพื้นที่ให้คนมาทำกิจกรรม ออกกำลังกายได้ หรือย่านคลองเตย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชน อาจจะมีพื้นที่สนามเด็กเล่น หรือพื้นที่กิจกรรมของคนในชุมชน เราพยายามออกแบบ Prototype ที่มีรูปแบบหลากหลาย เป็น Typology ที่เราสามารถประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสม”
(01 – Public park สวนสาธารณะย่านคนทำงาน)
(02 – Sport park ลานกีฬาสาธารณะ)
(03 – Community playground สนามเด็กเล่นและลานกิจกรรมชุมชน)
บทสนทนาเริ่มต้นวันกับคุณฟิวส์ทั้งเติมไฟและแอบสร้างความหดหู่แปลกๆ ไปพร้อมกัน พอย้อนกลับมาคิดว่า ทำไมการมีพื้นที่สาธารณะดีๆ ที่เข้าถึงง่าย หรือการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศนี้ช่างดูเลือนรางซะเหลือเกิน ไม่ใช่เพียงต้นไม้และพื้นที่สีเขียว แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่สาธารณะสำหรับเด็ก พื้นที่กิจกรรมคนเมือง หรือแม้แต่พื้นที่ธารณะที่เอื้อต่อกลุ่มคนพิการและคนชรา คงจะดีไม่น้อยหากในอนาคตกลุ่มผู้มีอำนาจสามารถจัดการให้แนวคิดดีๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งเราเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสพัฒนาชีวิตและสร้างเสริมกลุ่มคนที่มีคุณภาพให้กับเมืองได้ไม่มากก็น้อย
“เรามองว่ามันคือ Future Perspective เราอยากให้คนที่เขาเห็นได้ rethinking และทดลองหาความเป็นไปได้ ถ้าผู้มีอำนาจในการจัดการต่างๆ ใส่ใจในเรื่องนี้มากขึ้น เราจะมีวิธีการเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่คนเมืองเข้าถึงได้ง่ายด้วยวิธีใดบ้าง? ผมไม่ได้คาดหวังว่างานนี้จะถูกสร้างขึ้นนะ ทางออกหรือทางแก้ปัญหามันมีอีกหลากหลายรูปแบบ การที่เราทำแบบเดิม มันก็ได้แบบเดิม แต่ถ้าเราคิด เราทำแบบใหม่ มันอาจจะได้สิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม และแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิมได้ดีด้วยก็ได้ สิ่งที่เราทำมันเหมือนการ Disrupt ความคิดในระบบ Typology เดิมที่มีอยู่ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการที่จะมีมันขึ้นมาในอนาคต” คุณฟิวส์กล่าว
ขอขอบคุณ
ทีมออกแบบจาก Cloud-Floor
Rendering By : ภคิน ถานะภิรมย์
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!