Search
Close this search box.

รวมบ้านกลิ่นอายพื้นถิ่นที่สร้างเอกลักษณ์จากบริบทที่เปรียบต่าง
และการตีความอย่างร่วมสมัย

หากไม่ได้อิงอย่างตรงไปตรงมาตามตำราสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ความหมายของเรือนพื้นถิ่นในภาษาบ้าน ๆ ก็อาจพอจะกล่าวได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดจากวิถีชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อวิถีชีวิตของมนุษย์เรานั้นมีการวิวัฒน์และมีความหลากหลายมากขึ้นเท่าไหร่ รูปแบบของเรือนที่พักอาศัยก็ย่อมเปลี่ยนไปตามวิถีและพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้สอดคล้องต่อสภาพแวดล้อมและบริบท

หากแต่ในปัจจุบันที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตนั้นมีการผสมผสานกันมากขึ้น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจึงถูกนำมาหลอมรวมสู่บริบทสมัยใหม่ ที่สะท้อนภาษาและกลิ่นอายอันเป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผ่านการตีความทางสถาปัตยกรรมได้อย่างแยบยล และนี่คือ 7 บ้านร่วมสมัยกลิ่นอายพื้นถิ่นที่ Dsign Something ตั้งใจนำกลับมาบอกเล่าความน่าสนใจของการประสานวัฒนธรรม แนวคิด วิถีชีวิต และยุคสมัยได้อย่างลงตัว

01 บ้านโฮมบุญ
บ้านที่เกิดจากวิถีชีวิตของคนในบ้านและชุมชน

จากการที่สถาปนิกได้เข้าไปสัมผัส พูดคุยกับคนในครอบครัว พบว่าบ้านหลังนี้มีเสน่ห์บางอย่างที่น่าดึงดูด เป็นเสน่ห์ในบริบทสังคมคนอีสานที่มีต่อคนในครอบครัว นั่นคือในตอนกลางวันบ้านนี้จะเป็นศูนย์รวมของสมาชิกในหมู่บ้าน เป็นที่พบปะ นั่งคุย และนั่งเล่น ส่วนในช่วงที่มีเทศกาลงานบุญต่างๆ พื้นที่บ้านแห่งนี้จะเปลี่ยนเป็นที่จัดเตรียมข้าวของสำหรับจัดงาน ซึ่งในเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ผู้คนมักจะใช้เพียงบริเวณพื้นที่ semi-outdoor หรือมักนั่งบนแคร่และบนพื้นบ้าน เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่จำกัดจำนวนผู้นั่ง สถาปนิกจึงนำเอกลักษณ์และวิถีชีวิตนี้มาเป็นแรงบันดาลใจสู่การออกแบบ ‘บ้านโฮมบุญ’

บ้านโฮมบุญเป็นบ้านขนาด 1 ชั้น ที่แบ่งสรรพื้นที่ผ่านการยกระดับพื้น โดยระดับความสูงของพื้นมีการไล่ระดับจากต่ำไปสูง ส่วนต่ำสุดคือลานจอดรถ ลานอเนกประสงค์ ถัดขึ้นมาเป็นชานบ้าน ระดับต่อมาเป็นห้องนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และครัวที่เชื่อมต่อกับชานโดยตรง ระดับที่สูงที่สุดคือส่วนของห้องนอน ห้องทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวจึงยกพื้นสูงสุด

รูปทรงหลังคาเป็นทรงจั่วตามลักษณะของบ้านพื้นถิ่นอีสาน เพื่อทำให้คนในชุมชนหรือแขกผู้มาเยือนรู้สึกคุ้นชินและเป็นกันเอง อีกทั้งเมื่อสังเกตดูจะเห็นว่าไม้บริเวณชานบ้านมีหลากหลายสี เช่นไม้บางแผ่นมีสีเข้ม สีอ่อน นั่นเป็นเพราะบ้านโฮมบุญนำไม้เก่าจากบ้านเดิมมาใช้ โดยไม้เดิมนั้นถูกหามาจากป่าบนภูเขาหลังหมู่บ้าน ซึ่งป่าแห่งนี้มีความหลากหลายของพรรณไม้จึงทำให้สีของไม้มีความแตกต่างกัน

บ้านโฮมบุญมีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก ภายในบ้านมีการจัดสรรแบ่งพื้นที่อย่างกะทัดรัดและใช้งานได้ง่าย ร่วมกับการออกแบบที่คำนึงถึงวิถีชีวิตและอุปนิสัยของผู้คนในบ้าน รวมถึงการออกแบบพื้นที่ Public Space ก็ยังมีการทิ้งระยะระหว่างกันจึงทำให้พื้นที่ภายในตัวบ้านยังได้รับความเป็นส่วนตัวอยู่ โฮมบุญเป็นบ้านในชนบทที่หน้าตาดูทันสมัย แต่การใช้งานนั้นยังคงกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่น จึงทำให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านเล็ก ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขที่ไม่แค่ของคนในครอบครัวแต่ยังเป็นของคนในชุมชนด้วยในเวลาเดียวกัน

Designer : S Pace Studio
อ่านบทความบ้านโฮมบุญเต็มๆ ได้ที่ : http://bit.ly/2LmYELP

02 Long An House
บ้านทรอปิคอลที่แฝงแนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของเวียดนาม

อิฐ ไม้ คอนกรีต และช่องเปิดคือองค์ประกอบของ “บ้านสไตล์ทรอปิคอล” ที่เข้ากันได้ดีกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น การออกแบบสไตล์ทรอปิคอลมักจะเน้นไปที่การเปิดพื้นที่ภายในบ้านให้มีความโปร่ง โล่ง เพื่อระบายความร้อนและอากาศในช่วงเวลากลางวัน รวมทั้งมีการใช้วัสดุจากพื้นถิ่น ที่มีความโปร่ง ไม่ทึบ เพื่อสร้างความกลมกลืนกับบริบทรอบข้างและมีช่องเปิดพอที่ลมจะสามารถพัดผ่านได้ทุกพื้นที่ภายในบ้าน

Long An House บ้านสไตล์ทรอปิคอลหลังนี้ ตั้งอยู่ที่เมือง Long An ประเทศเวียดนาม สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่นำมาใช้ จึงเป็นการออกแบบพื้นที่ให้เปิดโล่ง ใช้แสงแบ่งขอบเขตพื้นที่ในอาคารมาผสมผสานกับความโมเดิร์น และการเลือกใช้ “อิฐ” เป็นวัสดุหลัก ไปพร้อมๆ กับการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมอย่างชาญฉลาดและลงตัว เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้น ซึ่งคล้ายกับภูมิอากาศของประเทศไทย แนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเวียดนามดังกล่าวจึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับสถาปัตยกรรมบ้านเราได้เป็นอย่างดี

บ้านพื้นถิ่นในแบบฉบับของเวียดนาม “สเปซ” ระหว่างด้านหน้าและด้านหลังจะถูกยืดขยายออกมา ไม่ติดกัน ก่อเกิดเป็นช่องว่างที่ไหลต่อเนื่องกันภายในอาคาร มีทางเดินยาว มีสวนกลางบ้าน เชื่อมต่อระหว่างสองส่วนเข้าไว้ด้วยกัน และมีการเลือกใช้ปริมาณ “แสง” ที่ต่างกัน เช่น ความสว่างและความเข้มของแสงจะแตกต่างกันตามแต่ละส่วน เพื่อแบ่งขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน และบ้านพื้นถิ่นของเวียดนามจะถูกออกแบบโดยคำนึงถึงทิศทางลมอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเปิดรับลมที่พัดผ่านมาได้ในทุกฤดูกาล

สถาปนิกจึงได้แรงบันดาลใจจากบ้านพื้นถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการเลือกใช้โครงสร้างแบบดั้งเดิม กล่าวคือมีพื้นที่แยกจากกัน 3 ส่วน คือส่วนหน้าบ้าน สวนกลางบ้าน และหลังบ้าน อีกทั้งมีการใช้หลังคาที่ลาดชันและเจาะช่องบางส่วนของหลังคา เพื่อระบายอากาศในตอนกลางวัน และสถาปนิกยังผสมผสานความโมเดิร์นเข้าไปในอาคารอย่างเห็นได้ชัดจากการแบ่งหลังคาเป็น 2 ส่วน โดยตรงกลางระหว่างหลังคาทั้ง 2 นั้น จะมีสวนและบ่อน้ำตั้งอยู่ใจกลางบ้าน มีทางเดินล้อมรอบสวนที่เปิดโล่ง และเชื่อมต่อระหว่างพื้น ผนังแต่ละด้าน จากการออกแบบเช่นนี้ จะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลางบ้านขนาดใหญ่ เพื่อเปิดช่องรับลมและระบายอากาศภายในบ้าน

วัสดุที่ใช้ในบ้านคืออิฐที่มีรูพรุนและคอนกรีต อิฐจะใช้ในบริเวณกำแพงและหลังคาเป็นส่วนใหญ่ เพราะการใช้อิฐที่มีรูพรุน จะช่วยในการระบายอากาศ ดูดซับฝน และสร้างเฉดเงาในบ้าน ซึ่งเป็นการออกแบบ Transition Space ด้วยแสงและเงา นอกจากนั้น วัสดุที่ใช้ในบ้านอีกชนิดคือคอนก
รีต โดยนำมาใช้เป็นพื้นและผนังบางส่วนของอาคาร Long An House บ้านสไตล์ทรอปิคอลที่นำสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ตั้งเป็นหลักสำคัญในการออกแบบ จนสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและบ้านสไตล์โมเดิร์น สามารถเชื่อมถึงกันได้อย่างงดงาม

Designer : Tropical Space
อ่านบทความบ้าน Long An House เต็มๆ ได้ที่ : http://bit.ly/2DIxBX9

03 FOOTHILL HOUSE
บริบท วัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ สู่บ้านที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

“บริบทหรือ context เป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดที่คุณจะเอามาออกแบบบ้านหนึ่งหลัง เราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดีมันต้องสร้างมาเฉพาะที่ตรงนั้น ถ้าบ้านหลังนี้ย้ายไปที่อื่นการออกแบบมันก็จะถูกเปลี่ยนไป บ้านแต่ละหลังมันถูกจงใจสร้างขึ้นเพื่อเจ้าของ ผู้ร่วมอยู่อาศัยกับเจ้าของและก็พื้นที่นั้น”

บ้านกลุ่มหลังนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 หลัง โดยการเอาบ้านเรือนไทยมาเป็นต้นแบบในการออกแบบและการจัดเรียงรูปแบบอาคาร ปรับให้เหมาะสมกับไลฟ์ไตล์ของคนในปัจจุบัน รวมไปถึงความต้องการและวิถีชีวิตของเจ้าของบ้านด้วย ซึ่งจะแบ่งออกเป็นเรือนรับแขก เรือนห้องนอนแขก เรือน Master Bedroom แล้วก็เรือนเซอร์วิสต่าง ๆ อีกสองเรือน

ความน่าสนใจของบ้านเรือนกลุ่มนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือเรื่องการเลือกใช้วัสดุ ซึ่งผู้ออกแบบได้นำ “อิฐ” มาออกแบบพื้น ผนังอาคารและผนัง Façade บริเวณอัฒจันทร์ ที่เชื่อมโยงมาถึงส่วนของ Master bedroom โดยนำอิฐมาเรียงเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปเรื่อย ๆ จนเกิดโครงสร้างที่แข็งแรงและมั่นคงแล้วยึดด้วยโครงเหล็กเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กำแพงเพิ่มขึ้นอีก การใช้อิฐทำพื้นทางเท้าหรือแม้กระทั่งผนังด้านในอาคารนั้น ต้องนำอิฐสองแผ่นมาต่อกันก่อนแล้วจึงนำไปก่อเป็นผนังและพื้น จากนั้นใช้โครงเหล็กและผนังขาวทึบมาตัดให้เกิดความหลากหลาย

รวมถึงความพิเศษของการเลือกใช้อิฐนั้นยังเกิดจากการที่สถาปนิกได้ศึกษาบริบท ณ ที่แห่งนี้ด้วยว่าแต่เดิมเคยมีเตาเผาอิฐอยู่ การนำอิฐมาใช้เป็นวัสดุหลักที่ชูโรงจึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเฉพาะถิ่นของสถานที่ ถึงแม้จะถูกประยุกต์มาใช้ร่วมกับดีไซน์ที่ดูไปทางตะวันตกแต่ก็ยังมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในแบบไทย ๆ ผสมผสานอยู่

อีกทั้งบ่อน้ำที่อยู่ตรงกลางกลุ่มเรือนนั้น ถือเป็นอัตลักษณ์ของบ้านทางเหนือที่ต้องมีบ่อน้ำอยู่ทุกบ้านแต่ห้ามถูกปกคลุม เมื่อหยิบอัตลักษณ์ส่วนนี้มาผสมผสานในการออกแบบ้านก็ยิ่งช่วยให้เกิดความกลมกลืนกับบริบทท้องถิ่นที่ช่วยสะท้อนวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ๆ ออกมาได้อย่างเด่นชัด และด้วยความที่เจ้าของบ้านชอบงานสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พื้นที่ส่วนนี้จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์กับการใช้งานของเจ้าของบ้านเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้การสร้างบ้านหลังนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายในการออกแบบที่น่าสนใจอีกหลายประเด็น ตั้งแต่การศึกษาอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และวัฒนธรรมของบ้านทางเหนือ ซึ่งเป็นที่มาของการออกแบบ “บริบทสร้างบ้าน” จนเกิดเป็นกลุ่มอาคารที่กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมของพื้นที่ และทำให้บริบทโดยรอบกลายเป็นตัวแปลสำคัญของวิถีชีวิตคนในบ้านไปโดยปริยาย

Designer : SITE – SPECIFIC : ARCHITECTURE & RESEARCH
อ่านบทความบ้าน FOOTHILL HOUSE เต็มๆ ได้ที่
: http://bit.ly/2MyKYQ6

04 เรือนพินรัตน์
กลิ่นอายแห่งความสุขของสถาปัตยกรรมเพื่อระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก

จากความผูกพัน ความทรงจำ การระลึกถึงคนในครอบครัวอย่างคุณตาคุณ สู่โจทย์ที่แฝงไปด้วยความรู้สึกมากมาย การออกแบบเรือนพินรัตน์หลังนี้จึงค่อนข้างละเอียดอ่อนมากเป็นพิเศษ แต่ถึงแม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความทรงจำในอดีต เจ้าของบ้านก็ไม่ได้ต้องการยกบ้านหลังเดิมมาสร้างใหม่ให้เหมือนของเก่า แต่เป็นการนำองค์ประกอบที่มีคุณค่าทางความรู้สึกมาผสมผสานกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรม โดยสถาปนิกได้นำลักษณะของเรือนพื้นถิ่นของพัทลุงในยุคสมัยนั้นเข้ามาใช้ เพื่อถ่ายทอดภาพความทรงจำของคุณตาคุณยาย ผ่านการผสมผสานรูปแบบใหม่ที่เข้ากับบริบท และวิถีปัจจุบันมากขึ้น

สำหรับการวาง Planing สถาปนิกได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านหลังเก่าของคุณตาคุณยายในความทรงจำ จะมีบางส่วนที่เป็นแปลนเดิม ๆ และมีบางส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยนขึ้นใหม่อย่างตำแหน่งบันได เพื่อให้เหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้านอย่าง ลวดลายของช่องคอสอง ราวกันตก ประตูบานเฟี้ยม และลักษณะหลังคาปูกระเบื้องแบบพื้นถิ่น ล้วนเป็นสิ่งที่ประกอบขึ้นมาเพื่อหวังให้คนในครอบครัวรู้สึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักในอดีตได้อย่างแท้จริง 

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าความตั้งใจในการออกแบบนั้นมาจากเรือนไม้เก่าในจังหวัดพัทลุง ทีมสถาปนิกจึงพยายามค้นหาวัสดุที่แสดงเอกลักษณ์เหล่านั้นมาใช้ นั่นคือ ‘หลังคาดินเผาเกาะยอ’ ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นดั้งเดิม แต่ปัญหาที่พบคือ ปัจจุบันกระเบื้องเกาะยอนั้นมีแหล่งผลิตน้อยลงจนไม่อาจทันต่อระยะเวลาในการก่อสร้าง ทีมสถาปนิกจึงเลือกใช้กระเบื้องดินเผาจากอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาใช้ในการก่อสร้างแทน

รวมถึงวัสดุหลักอย่าง ‘ไม้’ ก็เป็นการนำไม้เก่าจากบ้านคุณตาคุณยายที่รื้อเก็บไว้ มาใช้ในการก่อสร้าง ทั้งโครงสร้างเสา คานและพื้น และใช้ไม้หลุมพอซึ่งเป็นไม้พื้นถิ่นของภาคใต้ ผสมผสานกับวัสดุใหม่ในยุคปัจจุบันอย่างกระจก เกิดเป็นเรือนไม้เก่าที่แฝงความโมเดิร์นผ่านเรื่องราวความรัก ความผูกพัน ที่ช่วยเติมเต็มให้บ้านหลังนี้กลับมามีชีวิตและเป็นจุดศูนย์รวมความรักของคนในครอบครัวได้อย่างอบอุ่น

Designer : ตื่นดีไซน์สตูดิโอ และอรวี เมธาวี
อ่านบทความ เรือนพินรัตน์ เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/35Y6NSo

05 บ้านฟ้าบ่กั้น
เรือนอีสานยุคใหม่ที่ผสมผสมผสานความชนบทและความทันสมัยอย่างกลมกล่อม

“ฟ้าบ่กั้น” คือชื่อหนังสือวรรณกรรมที่เล่าถึงเรื่องราวของคนอีสาน เปรียบดั่งภาพตัวแทนของวิถีชีวิตคนชนบทอีสานได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าของบ้านที่เป็นคู่รักข้าวใหม่ปลามันนี้ ฝ่ายชายเป็นคนอีสานโดยกำเนิด มีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอีสานมาตั้งแต่เด็ก ๆ และมีความชื่นชอบวรรณกรรมเรื่องนี้มาก จึงได้ ริเริ่มความคิดในการสร้างบ้านหลังใหม่ที่ถ่ายทอดกลิ่นอายความเป็นอีสานชนบทผสานเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันไว้ด้วยกัน

สถาปนิกถอดความหมายของ “เรือนพื้นถิ่นอีสาน” โดย เริ่มต้นจากองค์ประกอบของบ้านเรือนอีสานที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง “หลังคาทรงจั่ว” และ “พื้นที่ใต้ถุนบ้าน” ซึ่งถือเป็นพื้นที่เปิดโล่งอเนกประสงค์ที่ใช้ทำกิจกรรมหลักอย่างนั่งเล่น รับแขก กินข้าว ทำครัว ลักษณะขององค์ประกอบทั้งสองถูกสอดแทรกเข้าไปภายใต้บ้านหลังนี้ แต่ทว่าแทนที่จะนำมาใช้อย่างตรงไปตรงมา สถาปนิกได้เพิ่มเติมลูกเล่นให้ทันสมัย ด้วยการจับจังหวะเส้นสายขององค์ประกอบใหม่ให้ออกมาน่าสนใจกว่าเดิม

ฟังก์ชันภายในพื้นที่ชั้นหนึ่ง อย่างห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร ถูกจัดวางให้เชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด ให้เสมือนเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่ระหว่างห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร มีบานสไลด์ซ้อนราง ที่สามารถเลือกปิดในเวลาทำอาหาร และเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานมากยิ่งขึ้น

วัสดุทั้งหมดที่นำมาใช้ภายในบ้านหลังนี้ หลัก ๆ ประกอบไปด้วย “ไม้” ที่สอดแทรกอยู่ในทุก ๆ พื้นที่ แต่เนื่องจากไม่สามารถใช้ไม้จริงได้ทั้งหมด ด้วยงบประมาณและการดูแลรักษาในอนาคต สถาปนิกจึงเลือกใช้ไม้จริงกับพื้นห้องนั่งเล่นและห้องนอน เพราะเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยสัมผัสมากที่สุด นอกจากนี้วงกบประตู-หน้าต่างก็ยังเป็นไม้ทั้งหมด รวมถึงออกแบบ “ตงไม้ชั้นสอง” ที่เจ้าของบ้านคุ้นเคยในบ้านไม้แบบเรียนอีสานตั้งแต่สมัยเด็ก ไว้เหนือส่วนรับประทานอาหาร เพื่อคงกลิ่นอายความเป็นเรือนอีสานไว้อย่างครบถ้วน

ทั้งนี้การออกแบบบ้านที่สะท้อนกลิ่นอายความเป็นอีสานพื้นถิ่นและเรื่องราวเจ้าของบ้านผ่านการผสมผสานระหว่างความเป็นชนบท และความทันสมัยไว้ได้อย่างกลมกล่อม ผ่านการหยิบองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ มาประกอบไว้ภายในบ้านหลังนี้นั้น ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์สไตล์ที่เจ้าของบ้านอยากได้ แต่สถาปัตยกรรมเรือนอีสานพื้นถิ่นรูปแบบใหม่นี้ ยังทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยดีและมีความสุขมากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน

Designer : S Pace Studio
อ่านบทความบ้านฟ้าบ่กั้น เต็มๆ ได้ที่ : https://bit.ly/3Ci9u0d

06 บ้านเรือนไทย
ภายใต้ความโมเดิร์น และความผูกพันเก่าแสนอบอุ่นเรียบง่าย

ภาพความเรียบง่ายของบ้านรูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวสไตล์โมเดิร์น และบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความอบอุ่นจากระแนงไม้ที่อยู่ใจกลางชั้นสองของบ้าน ใครจะคิดว่าภายในได้บรรจุ “บ้านเรือนไทย” พื้นที่แห่งความผูกพันที่เป็นหัวใจสำคัญของทุกคนในครอบครัวไว้ สถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยได้อย่างกลมกลืนนี้ และถ่ายทอดความต้องการของสมาชิกทุกคนไว้ได้อย่างลงตัว

การริเริ่มโปรเจคบ้านหลังใหม่บนพื้นที่ 1 ไร่เศษ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเดิมเริ่มจากความต้องการขยับขยายพื้นที่พักอาศัยให้เป็นพื้นที่ของธุรกิจส่วนตัวไปในเวลาเดียวกัน โจทย์หลักที่เป็นไฮไลท์ของบ้านหลังนี้ คือ “เรือนไทยเก่า” โดยความที่พื้นที่หน้าตื้น และยาวตามแนวเหนือใต้ การจัดวางแมสอาคาร จึงเริ่มต้นออกแบบจากที่ตั้งของเรือนไทยไม้สักเก่า ที่เป็นหนึ่งในข้อจำกัดนอกเหนือจากความต้องการของทุกคนในครอบครัว เป็นความผูกพันของคุณแม่และครอบครัว เพราะเป็นเรือนที่คุณตาของคุณป่องสร้างร่วมกับช่างจีนเอง

ระแนงไม้ใหม่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อโอบล้อมเรือนไทยเก่าเป็นภาษาทางสถาปัตยกรรมบ่งบอกความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยทำหน้าที่สำคัญคือป้องกันแดดและลมที่จะกระทบเข้าสู่บ้านโดยตรง และสามารถบังสายตาจากภายนอกให้เกิดความกลมกลืนกับกลุ่มก้อนอาคารอื่นๆที่มีความโมเดิร์นตอบรับวิถีชีวิตใหม่ของคนในบ้าน

ส่วนกลุ่มอาคารอื่นๆ ให้เป็นเรือนบริวารตั้งใจวางเยื้องกัน เพื่อให้ลมพัดผ่านเข้ามา ไหลเวียนไปตามพื้นที่ที่ถูกกำหนดไว้ เช่น ชานของบ้าน ช่องประตูและหน้าต่าง และเนื่องจากพื้นที่ภายนอกฝั่งทิศตะวันตกติดกับทุ่งโล่ง ซึ่งพื้นที่ของคุณน้าคุณป่อง ยังไม่มีโครงการว่าจะสร้างอะไร เลยเลือกเปิดมุมมองทางนั้นให้โล่ง เป็นสระว่ายน้ำยาวขนานไประเบียงทางเดิน เชื่อมกับพื้นที่ภายในสำหรับจัดเลี้ยง ส่วนผนังอาคารด้านอื่นๆที่ไม่ได้มีมุมมองทิวทัศน์ที่สวยงามอะไร จึงเลือกเปิดรับแสงเข้ามาทางทิศเหนือ และทิศใต้ส่วนใหญ่จะเป็นผนังทึบ มีเพียงบางส่วนที่ทำช่องเปิดเพื่อการระบายอาคารและรับลมเท่านั้น รวมถึงการสร้างพื้นที่สีเขียวภายในบ้านเอง เพื่อเปิดมุมมองภายในบ้านเองและทำให้บ้านดูมีชีวิตชีวามากขึ้น

หากสังเกตประตูหน้าต่างของที่นี่ จะพบว่ากรอบบานจะมีเพียงไม้และสีขาวเท่านั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างความเก่าและใหม่ ส่วนใหญ่บานไม้ที่มาจากบ้านเก่า มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายขนาด ทั้งบานเปิดและบานเฟี้ยม ซึ่งกว่าจะออกมาลงตัวอย่างภาพที่เห็น ต้องผ่านการวัดขนาดแต่ละบานอย่างละเอียด แล้วค่อยๆนำมาบรรจุลงในการออกแบบส่วนต่างๆของบ้านตามความเหมาะสม

บ้านที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแห่งความสุขนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาในการใช้ชีวิตของทุกคนครอบครัว สิ่งของต่างๆที่มีความหมายกับครอบครัวจนเกิดความผูกพันไว้ได้อย่างครบถ้วน ทุก ๆ พื้นที่ที่ก่อเกิดขึ้นมาภายในบ้าน จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และเข้าใจผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังสร้างประสบการณ์และความทรงจำแห่งการอยู่อาศัยต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

Designer :  Case Studio 
อ่านบทความบ้านเรือนไทยได้ที่ : https://bit.ly/3EmMNdc

07 บ้านนนท์
เมื่อความสุขแปลงกายเป็นสถาปัตยกรรม

จากความเป็นครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียวนำมาสู่การวางผังบ้านครอบครัวขยาย ภายใต้โจทย์การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับความเป็นอยู่ของครอบครัว 3 เจนเนอเรชัน โดยบ้านเก่าสองชั้นขนาด 300 ตารางเมตรบนที่ดินเดิมได้ถูกรีโนเวทให้มีฟังก์ชันเพิ่มขึ้น ส่วนบ้านหลังใหม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อขยายเรื่องราวของลูกๆ ซึ่งอาจจะมีครอบครัวเป็นของตัวเองในอนาคต

ชั้นหนึ่งและชั้นสองเชื่อมถึงกันผ่านบันไดที่ถูกออกแบบไว้สองทาง ทางแรกคือทางเดินขึ้นจากบริเวณบ้านเก่าซึ่งเราจะเจอกับมาสเตอร์ยูนิตทั้งหมด ประกอบไปด้วย ห้องนอน ห้องพักผ่อนของครอบครัวที่แยกขาดจากชั้นหนึ่งโดยสิ้นเชิง เผื่อสำหรับวันที่มีแขกเรื่อมาเยี่ยมบ้าน สมาชิกคนอื่นๆ จะได้ยังมีพื้นที่เอาไว้อยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

นอกจากส่วนผสมของเจเนอเรชันที่แตกต่าง บ้านหลังนี้ยังเป็นส่วนผสมระหว่างความเข้ายุคเข้าสมัยแบบโมเดิร์นและเสน่ห์ของบ้านแบบไทยๆ ด้วยความที่มองว่าบ้านสไตล์ไทย จะสวยงามเหนือกาลเวลา และเหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทยมากกว่า ทางเจ้าของจึงสนใจที่จะนำคาแร็กเตอร์บ้านไทยเข้ามาใช้ในการออกแบบรูปลักษณ์ของบ้าน

แต่ด้วยความที่สถาปนิกค่อนข้างถนัดงานในลักษณะโมเดิร์น เราจึงได้เห็นดีเทล หรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่นำความเป็นโมเดิร์นมาประยุกต์ใช้ โดยจะมีความบาง ความคมของการเลือกใช้วัสดุ หรือการจบวัสดุ ไม้เทียม และอลูมิเนียมลายไม้ ถูกเลือกให้กลายเป็นจุดเด่นของบ้านซึ่งตอบโจทย์กับยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องทนทาน ดูแลรักษาง่าย และราคาไม่แพง ในส่วนของงานอินทีเรียและแลนด์สเคป ทางเจ้าของยังมีส่วนร่วมโดยเป็นคนเลือกเฟอร์นิเจอร์และต้นไม้ทั้งหมด ช่วยเติมเต็มให้งานสถาปัตยกรรมออกมาสมบูรณ์ และกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว

ด้วยสเปซที่ร้อยเรียงเรื่องราวความสุข เอื้อให้สมาชิกครอบครัวได้พร้อมหน้าพร้อมตากัน ทางเดินระเบียงไม้ทอดยาว พาให้สมาชิกได้พบหน้า แวะเวียนมาทักทาย หรือชักชวนให้ทุกคนออกมานั่งเล่น กินบรรยากาศภายนอก จึงไม่น่าแปลกใจที่ บ้านนนท์ หลังนี้จะเปี่ยมไปด้วยความสุขและสะท้อนเรื่องราวความเป็นครอบครัวออกมาได้อย่างน่าอิ่มเอมใจ

Designer :  Space Story Studio
อ่านบทความ เรือนพินรัตน์ได้ที่ : https://bit.ly/3tdNtLu

ทั้งนี้จะเห็นว่าบ้านแต่ละหลังที่ได้คัดสรรมาให้ได้ชมกันนั้น ล้วนแต่เป็นบ้านที่มีเรื่องราวของวิถีชีวิตแฝงอยู่ และในส่วนของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็เป็นความงามทางด้านวัฒนธรรมและวิถีในวันเก่าที่นำมาบอกเล่าร่วมกับยุคสมัย พร้อมกับเติมเต็มวิถีชีวิตในปัจจุบันให้ได้อย่างลงตัวสะดวกสบาย ด้วยวัสดุ เทคนิคในงานโครงสร้าง หรือแม้แต่กลิ่นอายที่ชวนให้คิดถึงวันเก่าๆ ของบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวได้อย่างแยบยล

Writer
Pichapohn Singnimittrakul

Pichapohn Singnimittrakul

Copy writer ผู้มีความสนใจในงานจิตอาสา และ Eco-Living ที่เชื่อว่างานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเปลี่ยนโลกให้น่าอยู่ขึ้นได้

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading