Temporary Architecture for Urban development
สถาปัตยกรรมชั่วคราวเพื่อการพัฒนาเมือง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาปัตยกรรมชั่วคราว (Temporary Architecture) ได้ถูกใช้เป็นกลยุทธ์รูปแบบหนึ่งในการพัฒนา พื้นที่ของเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ว่าง พื้นที่รกร้างที่ไม่มีการใช้งาน อีกทั้งเป็นการทดสอบความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการสร้างเหตุการณ์หรือกิจกรรมบางอย่าง ภายใต้บริบท ข้อจำกัด ความต้องการของผู้ใช้งานในรูปแบบของชุมชนหรือสังคม

สถาปัตยกรรมชั่วคราว คือสิ่งปลูกสร้างที่คงอยู่ไม่ถาวร หรือคงอยู่เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง อาจใช้เป็นโครงสร้างเบาหรือโครงสร้างถอดประกอบได้ อย่างเช่น Pavilion ในงาน Venice Biennale, งาน World Expo และอาจรวมถึงกิจกรรมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งภายใต้ขอบเขตของเวลา อย่างเช่น งาน Milan Design week, New York Fashion week เทศกาลดนตรี รวมถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

สิ่งที่ตามมาหลังจากการก่อตัวของสถาปัตยกรรมชั่วคราว คือการพบปะของผู้คนจำนวนมากที่มาร่วมกันทำกิจกรรม ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลให้เกิดการพัฒนาของชุมชนและเมืองในทุกมิติ ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

Instant City

ทฤษฎีการใช้สถาปัตยกรรมชั่วคราวเพื่อการพัฒนาเมืองในยุคทศวรรษ 1970 ที่สำคัญคือ นครสำเร็จรูป (Instant City) โดยสถาปนิกหัวก้าวหน้า Peter Cook จาก Archigram ซึ่งถ่ายทอดในลักษณะของภาพประกอบของเหตุการณ์สมมุติ ภายใต้แนวคิด Neofuturism  ที่นิยามถึงเทคโนโลยีอากาศยานลอยอยู่บนท้องฟ้า ภายในบรรทุกส่วนประกอบของเมืองที่สามารถเชื่อมต่อกับเมืองชนบทภาคพื้นดินเพื่อการ upgrade  ประหนึ่งเมืองคือหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่สามารถประกอบร่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ โดยส่วนที่ upgrade จะเป็นการเพิ่มพื้นที่อาศัยของมนุษย์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่จำเป็นต่างๆ อย่างเช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา และยังสร้างสถานการณ์ที่เปลี่ยนเมืองชนบทให้เป็นกลายเป็น “มหานคร” ในชั่วข้ามคืนอย่างเช่นงาน Expo หรือ จัดคอนเสิต จากนั้นนครสำเร็จรูปจะกลับขึ้นสู่ท้องฟ้าและเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป สิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการวาดฝันถึงสถาปัตยกรรมชั่วคราวที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองหรือชุมชนตามจินตนาการของสถาปนิกหัวก้าวหน้า

“สถาปัตยกรรมอาจไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่ยังรวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบริบทใด ณ ช่วงเวลาหนึ่ง” – Peter Cook

Burning Man

เทศกาลดนตรีและศิลปะ Burning Man จัดขึ้นที่บริเวณพื้นที่ทะเลทรายรกร้าง Black Rock City มลรัฐ Nevada สหรัฐอเมริกา เป็นเทศกาลที่พบปะของผู้คนนับหมื่น เพื่อมาปลดปล่อยตัวตน แลกเปลี่ยนแนวคิด ความเชื่อ เสพศิลป์ และกินนอนกลางทะเลทราย ภายใต้แนวคิด Post Apocalypse ภายในงานมีการจัดแสดงสถาปัตยกรรมชั่วคราวในลักษณะของ Pop up Pavilion และ Art Installation ที่น่าสนใจมากมาย

ผลงานออกแบบ Archaeopteryx โดยกลุ่ม Wevolve Labs เป็น Installation Pavilion ขนาด 9 เมตร สูง 7.6 เมตร  ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงกระดูกของไดโนเสาร์สายพันธุ์มีปีก ทำจากชิ้นไม้ตัดด้วย CNC ในลักษณะของโมดูลลาแยกส่วนที่นำมาประกอบรวมกัน ส่วนที่เป็นปีกใช้ผ้าใบขึงกับโครงไม้ที่สามารถปรับองศาได้เหมือนปีกนก โดยผลงานชิ้นนี้ได้ถูกใช้เป็นที่นั่งพักคอย เพื่อพบปะ พูดคุย สังสรรค์หรือเต้นรำของผู้คนตลอดช่วงระยะเวลาของเทศกาล นอกจากนี้เวลาค่ำคืนจะมีการประดับด้วยไฟ LED และที่บริเวณโครงสร้าง และฉายลวดลายกราฟฟิกลงบนผ้าใบ ที่ได้แนวคิดจากการจำลองลวดลายธรรมชาติของ Allen Touring นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ

“สิ่งนี้มันถูกออกแบบมาเพื่อชักนำผู้คนให้มารวมกัน” – Wevolve Labs

ผลงานออกแบบวิหาร Galaxia โดยสถาปนิกฝรั่งเศษ Arthur Mamou-Mani เป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราวในรูปแบบของโครงถักสามเหลี่ยมที่สร้างจากไม้บรรจบกันเป็นเกลียวพุ่งสู่ท้องฟ้า ยึดกับส่วนโครงสร้างแกนกลางที่ใช้เทคโนโลยี 3D printing โดยมีลักษณะคล้ายกับสัญลักษณ์วงกลมศักดิสิทธิ์ที่แสดงถึงการรู้แจ้งของชาวธิเบต ซึ่งได้ตั้งชื่อพ้องกับดาวเคราะห์ Gaia ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในแกแลกซี่ ตามงานเขียนเรื่อง Foundation’s Edge ในปี 1982

“Galaxia ได้ออกแบบตามแนวคิดของ Burning Man ที่ต้องการเป็นสถานที่ชุมนุมเพื่อแสดงออกตัวตนอย่างสุดขั้ว จึงออกแบบให้ไม่มีประตู ไม่มีกำแพง ไม่มีลำดับชั้น ทั้งหมดจะเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากันไปสู่จักรวาลอันไกลโพ้นที่เบื้องบน” – Arthur Mamou-Mani

ไฮไลต์ที่สำคัญของเทศกาลนี้คือ การเผาทุกสิ่งอย่างทิ้งในช่วงท้ายของเทศกาล ตามความเชื่อของพิธีกรรมก่อกองไฟ Bonfire Ritual เพื่อเป็นสักขีพพยานในการรวมกลุ่มกันของมนุษย์

Burning man เป็นตัวอย่างการสร้างสถานการณ์ ให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่รกร้างกลางทะเลทราย โดยมีการใช้สถาปัตยกรรมชั่วคราวเป็นเครื่องมือสื่อสารแนวคิดและดึงดูดผู้คนภายใต้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ช่วยพัฒนาพื้นที่รกร้างให้มีการใช้งานที่เกิดประโยชน์สูงสุด

The Stairs to criterion

The Stairs to criterion โดย MVRDV เป็นนิทรรศการชั่วคราวที่สร้างขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ของเมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ บริเวณข้างสถานีรถไฟ Rotterdam Central โดยมีลักษณะเป็นขั้นบันไดขนาดใหญ่จำนวน 180 ขั้น ตั้งอยู่บนโครงสร้างนั่งร้านแบบถอดประกอบได้ มีความสูง 29 เมตร ยาว 57 เมตร เพื่อเป็น landmark และจุดชมวิวแห่งใหม่ของเมือง โดยจุดหมายปลายทางของขั้นบันไดจะนำพาไปสู่บริเวณ Rooftop ของอาคาร Groot Handelsgebouw  ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่แรกที่สร้างขึ้นหลังจากการทิ้งระเบิดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เป็นต้นมา พื้นที่โล่งบริเวณ Rooftop ยังเป็นพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้งที่การใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายทั้งการฉายภาพยนต์ พื้นที่ศิลปะ รวมถึงเป็นที่รับชมทัศนียมุมสูงภาพที่สวยงามของเมือง Rotterdam อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งมองเห็นไกลถึง ท่าเรือ ส่วนของเมืองใหม่ อาคารเคเบิลคาร์ Euromast และสวนสัตว์ Blijdorp Zoo

Winy Maas สถาปนิกผู้ออกแบบจาก MVRDV เชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นก้าวแรกในการพัฒนาพื้นที่ Rooftop ของเมือง Rotterdam ในอนาคต น่าเสียดายที่โครงการนี้เป็นนิทรรศการชั่วคราวที่เปิดให้ชมระยะเวลาเพียง 1 เดือนก่อนที่จะถูกถอดออกไป

“มันคงจะเป็นการดีถ้าเราได้ติดตั้งอย่างถาวร” Winy Maas ได้กล่าวทิ้งท้าย

The Floating Piers

Christo และ Jean Claude ดูโอศิลปินชาวอิตาลี ได้สร้างผลงานศิลปะ Land Art แบบชั่วคราว ในลักษณะของทุ่นลอยน้ำ Polyethylene โมดูลลาแยกส่วนจำนวน 220,000 ชิ้น บุด้วยผ้าสีเหลืองยาวประมาณ 3 กิโลเมตร กินเนื้อที่ประมาณ 70,000 ตารางเมตร ในทะเลสาบ Lake Iseo เมือง Brescis ประเทศอิตาลี เพื่อเป็นทางเดินเชื่อมไปยังเกาะ San Paolo เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์เดินอยู่บนน้ำ ชมทัศนียภาพของทะเลสาบที่งดงามราวกับเดินชมงานผลงานศิลปะ รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อน รวมถึงการเผยมุมมองจากมุมสูงที่ไม่เคยมีมาก่อน

“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือการสร้างมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้อยู่อาศัยรอบทะเลสาบ และรับรู้ถึงคุณค่าและความงามของสภาพแวดล้อม”

นิทรรศการดังกล่าวจัดในช่วงฤดูใบไม้ผลิตลอดระยะเวลา 16 วัน มีผู้คนเข้าชมมากกว่า 1,200,000 คน สื่อมวลชนทางศิลปะทั่วโลกต่างให้ความสนใจและยกยกว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของศิลปินคู่นี้ หลังจากนั้นได้ถูกรื้อถอน และโครงสร้างทั้งหมดได้นำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมต่อไป

สถาปัตยกรรมชั่วคราวคือสิ่งที่ Pop up ขึ้นมา ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อาจจะมีสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นพียงแค่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ได้ ซึ่งจะมาพร้อมกับเหตุการณ์และกิจกรรมที่สำคัญตามวัตถุประสงค์ของงานและบริบทของพื้นที่ เกิดการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนความคิด สังคม และวัฒนธรรม และจะมลายหายไปตามจุดสิ้นสุดของกรอบเวลา

Reference & Photo Credit
Instant city
https://balabanbegum.wordpress.com/category/genel/page/2/
https://www.dezeen.com/2020/05/13/archigram-instant-city-peter-cook-video-interview-vdf/
Burning Man
https://www.dezeen.com/2020/03/24/burning-man-2020-preparation-coronavirus-pandemic/
Archaeopteryx
https://www.dezeen.com/2020/03/19/archaeopteryx-wevolve-labs-burning-man-2019-nevada/
Galaxia
https://www.dezeen.com/2020/06/08/galaxia-burning-man-unseen-drone-footage-arthur-mamou-mani-vdf/
The Stairs to criterion
https://www.archdaily.com/787593/mvrdv-unveil-monumental-urban-staircase-in-the-center-of-rotterdam-holland-the-netherlands/573a1505e58ecefac2000004-mvrdv-unveil-monumental-urban-staircase-in-the-center-of-rotterdam-holland-the-netherlands-photo
The Floating Piers
https://christojeanneclaude.net/artworks/the-floating-piers/
https://www.stirworld.com/see-features-the-floating-piers-in-italy-by-christo-and-jeanne-claude

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว