San Yong Café
คาเฟ่จีนสไตล์โมเดิร์นที่เติมความอบอุ่นผ่านวัสดุกลิ่นอายคราฟท์

เมื่อถึงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ลูกชายคนโต ผู้เป็นเชฟ และเป็นทายาทเจนเนอเรชันใหม่เข้ามารับหน้าที่ก่อตั้งและต่อยอดธุรกิจจากครอบครัวไทยเชื้อสายจีน ส่งต่อสู่รูปลักษณ์และหน้าตาของสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยตามช่วงวัยอายุ เกิดเป็นโปรเจกต์ San Yong (ซันหยง) คาเฟ่และร้านอาหารใหม่ย่านบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ที่หยิบบรรยากาศความขลังจากร้านยาจีนดั้งเดิมของคุณพ่อ ณ เยาวราช และอาหารจีนรสมือคุณแม่มาบรรจง เรียงร้อยผสมความโมเดิร์นนิดๆ เติมกลิ่นอายคอนเทมโพลารี่หน่อยๆ จนออกมาเป็นสถาปัตยกรรมกลิ่นอายเอเชียที่ทั้งเก๋ไก๋เอาใจคนยุคใหม่และสอดแทรกบรรยากาศอบอุ่นได้ในเวลาเดียวกัน

“พอต้องมาออกแบบคาเฟ่ ผมรู้สึกว่ามันเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะงานคอมเมอเชียลจะมีความเบื่อง่าย ถ้ามีคาเฟ่ใหม่ผุดขึ้นมา ก็ต้องมีคนย้ายไปนั่งที่ใหม่ ถ่ายรูปที่ใหม่ มันคือการแข่งขัน ผมเลยมองว่ามันต้องมีอัตลักษณ์อะไรบางอย่างที่เป็นจุดแข็งในการดึงคนมา ไม่ใช่แค่สไตล์หรือความสวยงาม แต่สิ่งที่เราจะหยิบมาออกแบบ มันต้องมาจากความเป็นตัวเขา มาจากสิ่งที่เราพูดคุยคุยกับเขาแหละ” คุณเบล-ภูริวัจน์ เนตีพีระพงศ์ สถาปนิกจาก Bellman Design Studio เล่า

ความขลังที่มาพร้อมกับวัสดุงานคราฟท์

San Yong (ซันหยง) แปลจากภาษาจีนแต้จิ๋วอย่างตรงตัวว่า เจริญรุ่งเรืองทั้งสามคน ซึ่ง ‘หยง’ ยังเป็นหนึ่งในองค์ประชอบชื่อจีนของลูกชายทั้งสาม โดยคุณเบลเล่าว่า ครอบครัวแสนอบอุ่นที่ประกอบธุรกิจยาจีนเล็กๆ ดำเนินชีวิตอย่างเป็นกันเองและเรียบง่าย และมีอาหารมื้อสำคัญ ที่คุณแม่พิถีพิถันปรุงใส่ทั้งใจและรายละเอียดเป็นสิ่งหนึ่งที่ยึดโยงความสัมพันธ์ของครอบครัว ประกอบกับพี่ชายคนโตที่สนใจในด้านของกาแฟ หลังจากไปเยี่ยมเยียนพูดคุยที่บ้านมานับหลายครั้ง คุณเบลจึงตัดสินใจว่า แนวคิดหลักของร้านที่ต้องการนำเสนอ คือ กลิ่นอายและวิถีชีวิตของครอบครัว ยาจีน อาหารจีนประยุกต์ และกาแฟโลกใหม่ จึงถูกตีความเป็นงานเอเชียร่วมสมัยโดยเลือกใช้วัสดุธรรมชาติมาถ่ายทอดเป็นความคราฟท์และความขลังผ่านเครื่องจักสาน หวาย ทองเหลือง เครื่องดินเผาและไม้จริง

“ในร้านยาจีนของคุณพ่อ เขาจะมีตู้เก่า งานตาชั่งทองเหลือง โต๊ะจีนเก่าๆ หรือไม้หนักๆ ไว้สำหรับเป็นที่นั่ง ของใช้ภายในบ้าน มันเป็นงานของเก่าที่สวยและมีเสน่ห์ เพราะหาไม่ได้ง่ายๆ ในปัจจุบัน เราชอบกลิ่นอายความคราฟท์ ความขลังตรงนี้ และคิดว่าจะดึงไปให้ได้ อย่างที่สองคือ ความจีน แต่เราไม่ได้ตีความว่าจะทำคาเฟ่จีน หรือโรงเตี๊ยมนะ เพราะลูกชายเขามาขายกาแฟคั่ว กาแฟโลกใหม่ ผมเลยมองว่ามันต้องเป็นเอเชียโมเดิร์น ผมพยายามประกอบเรื่องทุกอย่างจากสิ่งที่เราเห็นและเซนส์ที่เราได้รู้จักเขา”

บรรยากาศความขลังที่ว่า คุณเบลแปลงให้เป็นงานวัสดุอย่างงานทองเหลือง หรือสีทองที่มีโทนสีดำผสมอยู่หน่อยๆ และงานไม้จริง ส่วนความคราฟท์นำเสนอผ่านเครื่องจักสาน งานดินเผา อย่างอิฐแดง หวายและอิฐช่องลม นอกจากนั้นยังมีงาน Custom ที่ผู้ออกแบบเลือกใช้กระเบื้องทุบ เติมความทันสมัยด้วยวัสดุเงาอย่างเคาน์เตอร์แสตนเลสซึ่งช่วยเพิ่มมิติ ความน่าสนใจ และยังเป็นวัสดุที่เจ้าของร้านเคยใช้เมื่อครั้งยังเป็นเชฟอีกด้วย “เวลาทำงานออกแบบ วิธีการของผมคือการมองเป็น composition ผมจะมองทุกอย่างเป็นงานสี เป็นรูปด้าน เข้ามาจากร้านจะเห็นอะไร ยังไง โทนสีต้องประมาณนี้ มาตัดกันประมาณ 70% 30% วัสดุหยาบผสมกับวัสดุเรียบ เพราะเราอยากให้มันยูนีค เราไม่อยากมองเป็นการตลาด เรามองว่ามันคืองานศิลปะชิ้นหนึ่งที่เรากำลังจะทำ”

ออกแบบงานสถาปัตยกรรมเสมือน Design Fundamental

อาคารพาณิชย์หน้ากว้าง 4 เมตร ถูกต่อเติมพื้นที่ด้านข้างประมาณ 1.20 เมตรเพื่อรองรับกลุ่มคนจำนวนมาก เนื่องจากบริบทโดยรอบรายล้อมไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรและบ้านพักอาศัย โดยสถาปนิกออกแบบเลย์เอาท์บริเวณส่วนหน้าของร้านและส่วนต่อขยายให้เป็นเคาน์เตอร์ทำกาแฟเพื่อสะดวกต่อการ Grab & Go อาหาร เครื่องดื่มง่ายๆ หรือนั่งจิบกาแฟโซนที่นั่งแบบสตูลบาร์ในชั่วโมงเร่งด่วนยามเช้า บริเวณด้านหลังร้านดีไซน์ให้เป็น Main Kitchen ที่อำนวยความสะดวกในเรื่องของอาหารมื้อหลัก ส่วนพื้นที่บริเวณกลางร้านเป็นพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร ที่จัดสรรให้มีทั้งโต๊ะยาว 4 ที่นั่ง หรือโต๊ะเล็ก 2 ที่นั่ง เสริมด้วยการขยายพื้นที่ชั้นลอยเหนือเคาน์เตอร์ เพื่อรองรับกลุ่มได้อีกจำนวนหนึ่ง

เลย์เอาท์ร้านส่งผลต่อการดีไซน์ฟาซาดด้านหน้าอาคารซึ่งคุณเบลเล่าว่าหลักการ คล้ายๆ กับวิชา Design Fundamental ที่นักเรียนออกแบบทุกคนต้องคุ้นชิน รูปด้านอาคาร (Elevation) ออกแบบสีสันและเส้นตรงในสัดส่วนที่เข้ากันอย่างพอดิบพอดี เสริมกิมมิคเล็กๆ ที่เติมกลิ่นอายความเป็นจีนด้วยกระเบื้องหลังคาดินเผาแบบจีนดั้งเดิมที่นำมามุงเป็นผนังและยึดเข้าด้วยกันผ่านสกรู ซ่อนป้ายชื่อร้านซันหยงเอาไว้ภายใน ชวนนึกถึงร้านอาหารในประเทศแถบเอเชีย ส่วนหนึ่งของรูปด้านอาคารยังออกแบบช่องเปิดหน้าต่างบานสูง ทำหน้าที่นำแสงธรรมชาติให้เข้าสู่พื้นที่ เพื่อลดความทึบตันจากขนาดอาคารที่มีจำกัด

เคาน์เตอร์บาร์ภายในร้านออกแบบพื้นหลังด้วยอิญมอญสีแดงที่ก่อเรียงราย เสริมด้วยฝ้าหวายเส้นสายโค้งที่ลดความแข็งกระด้างของวัสดุอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี เติมความโปร่งและเบาให้เคาน์เตอร์เล็กน้อยด้วยบล็อกช่องลมลายดอกไม้ นอกจากนั้นพื้นกระเบื้องคอสตอมเมดที่ทุบเองภายในพื้นที่ยังมีการเบรกโครงสร้างกันการแตกหรือเสียหายภายหลัง โดยสถาปนิกออกแบบเส้นสายแสตนเลสสีทองให้เป็นแพทเทิร์นลายพื้นที่ล้อไปกับเส้นสายบริเวณเคาน์เตอร์บาร์ได้อย่างลงตัว

ใครที่ผ่านไปมาในถนนเส้นทางหลวงชนบท นนทบุรี ลองแวะเวียนมาดื่มด่ำความเก๋ของสถาปัตยกรรมกลิ่นอายเอเชีย โมเดิร์น ที่รอต้อนรับผู้คนผ่านความคราฟท์ของวัสดุที่หลากหลาย ถึงพื้นที่จะมีจำกัดแต่รับรองว่าอัดแน่นไปด้วยเสน่ห์และบรรยากาศอบอุ่นสุดเป็นกันเอง หรือจะแวะเวียนมาจิบกาแฟสักแก้ว รับประทานอาหารรสมือแม่แสนละเมียดละไมก็ดีไม่น้อย 

Location : ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
Built Area :
110 ตารางเมตร
Architects & Interior : 
Bellman Design Studio
Photographer : 
ชลัฐพล วลัยกนกและ ภูริวัจน์ เนตีพีระพงศ์

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้