Urbanism Architecture
เมื่อสังคมเมืองยูโทเปียมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรม

ในปัจจุบันการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะใหญ่โตราวกับเมืองขนาดย่อม มีสาธารณูปโภคขึ้นพื้นฐานครบวงจร เป็นกลยุทธ์ที่บริษัทสถาปนิกยักษ์ใหญ่ได้ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมกะโปรเจกต์ขึ้นจำนวนมาก แนวคิดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นกระแสการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960 ที่กลุ่มสถาปนิกมักจะสร้างงานสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะทางกายภายใหญ่โต อันเนื่องมาจากความเฟื่องฟูของลัทธิทุนนิยม รวมถึงมีการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมบรูทัลลิสต์ (Brutalist Architecture) ทำเกิดผลงานออกแบบที่มีความแปลกตาราวกับเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มาจากจากโลกอนาคต

Habitat 67

สถาปนิกสัญชาติอิสราเอล – แคนนาดา Moshe Safdie สมัยเมื่ออายุ 23 ในขณะที่ฝึกงานกับสถาปนิกบรมครูอย่าง Louis Kahn เขาได้ส่งโครงการประกวดแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในงาน World Expo ประจำปี 1967 เมือง Montreal ประเทศแคนนาดา ซึ่งผลงานของเขาถูกตอบรับ และใช้เป็นต้นแบบในพัฒนาต่อเป็นโครงการ Habitat 67 ซึ่งเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย จำนวน 158 ยูนิต ความสูง 7 ชั้น ที่มีลักษณะคล้ายกับลูกบาศก์ขนาดเล็กก่อสร้างด้วยคอนกรีตเปลือย วางเรียงซ้อนกันคล้ายกับของเล่นชุดตัวต่อ Logo โดยมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและพื้นที่ส่วนกลางสีเขียวกระจายอยู่ในพื้นที่ว่างของกลุ่มอาคาร รวมถึงมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอยู่ครบครันบริเวณชั้นล่าง

โครงการนี้ เกิดจากการพัฒนาแนวคิดต่อจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของ Safdie ที่มหาวิทยาลัย McGill ในปี 1961 ในหัวข้อ “กรณีศึกษาการใช้ชีวิตในเมือง” และ “ระบบอาคารแบบแยกส่วนสามมิติ” ซึ่งภายหลังในขั้นตอนการก่อสร้าง Safdie ได้ใช้โมดูลลาสำเร็จรูปวางซ้อนกันและยึดด้วยสายเคเบิลเหล็ก พื้นที่ทั้งหมดจะเชื่อมต่อกันด้วยทางสัญจรแนวราบในลักษณะของถนนและสะพานหลายชุด โดยมีลิฟต์ที่ใช้ในการขนส่งแกนแนวตั้ง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว สามารถฉีกกฎเดิมๆของตึกสูงทึบตันในอดีต โดยแต่ละยูนิตมีระยะห่างจากยูนิตไกล้เคียง ทำให้เกิดเป็นที่ว่างระหว่างอาคาร และยังสามารถใช้เป็นพื้นที่จัดสวนบนดาดฟ้า ที่มีอากาศบริสุทธิ์ไหลผ่านต่อเนื่องและเปิดรับแสงธรรมชาติได้สูงสุดตามแนวคิดการออกแบบ passive design

ในปัจจุบัน อพารท์เมนท์ส่วนตัวของ Safdie ภายในโครงการ Habitat 67 ได้ถูกรีโนเวทใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิด Sustainable Design เพื่อการประหยัดพลังงานและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเปิดเป็นสาธารณะให้เข้าชมเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและถูกใช้เป็นต้นแบบกรณีศึกษาของการออกแบบอาคารในลักษณะนี้ในเวลาต่อมา

Kafka Castle

หนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้สถาปนิกชาวสเปน Ricardo Bofill เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ  คือโครงการ Kafka Castle ในปี 1968 ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาริมทะเลนอกเมือง Barcelona ประเทศสเปน เป็นอาพารต์เมนต์คอมเพลกซ์ในลักษณะของสถานตากอากาศ ที่มีจำนวน 90 ยูนิต มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนต ซาวน่า บาร์ ร้านอาหาร อย่างครบครันภายในสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะเหมือนกับปราสาทขนาดใหญ่ โดยมีองค์ประกอบคล้ายกับลูกบาศก์จำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่โดยรอบ โดย Bofill ได้กล่าวถึงวิธีการวางตำแหน่งโมดูลลาที่อยู่อาศัยคล้ายลูกบาศก์ว่า ไม่ใช่การวางแบบสุ่ม แต่หากเป็นการวางตำแหน่งด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ที่คำนวนอย่างพิถีพิถัน

โมดูลลาที่อยู่อาศัยทั้งหมดจะกระจายตัวเกาะกันอยู่รอบๆแกนโครงสร้างในแนวตั้งและระบบคานยื่น แต่ละยูนิตจะมีระดับพื้นที่ต่างกัน มีฟังก์ชั่นการใช้งานต่างกัน อย่างเช่น บางยูนิตจะมีห้อน้ำและห้องนอน บางยูนิตอาจมีเพียงห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร แต่มีพื้นที่ส่วนกลางที่เชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด เป็นการสร้างความหลากหลายเชิงพื้นที่จากภายนอกสู่ภายใน

โครงการ Kafka castle ได้แรงบัลดาลใจมาจากบรรยากาศของปราสาทในวรรณกรรม Franz Kafka นักเขียนชาวยิวคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 โดยในปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวได้ถูกรีโนเวทใหม่ และยังคงเป็นหนึ่งในสถานที่ดึงดูดของผู้ที่หลงไหลในสถาปัตยกรรมรูปแบบ Post Modern แห่งหนึ่งของประเทศสเปน

โครงการ Kafka castle ได้แรงบันดาลใจมาจากบรรยากาศของปราสาทในวรรณกรรม Franz Kafka นักเขียนชาวยิวคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 โดยในปัจจุบันสถานที่ดังกล่าวได้ถูกรีโนเวทใหม่ และยังคงเป็นหนึ่งในสถานที่ดึงดูดของผู้ที่หลงไหลในสถาปัตยกรรมรูปแบบ Post Modern แห่งหนึ่งของประเทศสเปน

The Interlace

โครงการ The Interlace ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทสถาปนิก OMA ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมประจำปี  2015 ในงาน World Architecture Festival เป็นเมกะโปรเจกต์อาพารต์เมนต์เพื่อการอยู่อาศัยขนาดใหญ่ คล้ายคลึงกับชุมชนเมืองในงานสถาปัตยกรรม ประกอบด้วยอาคารหลักจำนวน 31 หลัง จำนวน 1040 ยูนิต วางซ้อนทับกันคล้ายรังผึ้งเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนกลางระหว่างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 8 แห่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวบริเวณสวนลอยฟ้าของแต่ละกลุ่มอาคาร ซึ่งถูกใช้เป็นสวนสาธารณะ ลานกิจกรรม ฟิตเนส สนามเทนนิส พื้นที่บาร์บิคิว รวมถึงมีลานภาพยนต์และพลาซ่าแทรกอยู่ภายในโครงการระหว่างยูนิตที่อยู่อาศัย โดยช่องโล่งระหว่างอาคารที่ซ้อนทับกันจะช่วยเรื่องการระบายอากาศและดึงแสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่พักอาศัยภายในอาคาร ประกอบกับมีสิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งแนวคิดดังกล่าว ทาง OMA ได้พัฒนาต่อยอดมาจากรูปแบบสถาปัตยกรรม Radical Architecture ในยุคทศวรรษที่ 1960

“แนวคิดเริ่มต้นของโครงการก็คือการสร้างสถาปัตยกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยที่เชื่อมต่อกันอย่างกว้างขวางผสมผสานกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ” – OMA

Mahanakorn

โครงการ Mahanakorn กรุงเทพ โดยสถาปนิก Ole Scheeran จาก OMA เป็นอาคารมิกซ์ยูสคอมเพลกซ์ระดับ Hi – End  สูง 79 ชั้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆครบครันทั้งห้องชุดเพื่อการพักอาศัย The Ritz-Carlton residences โรงแรม Bangkok Edition Hotel ร้านอาหาร บาร์ ห้างสรรพสินค้า สร้างเสร็จเมื่อปี 2559 ปัจจุบันเป็นอาคารที่สูงที่สุดอันดับ 2 ของประเทศไทย และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพ ตัวอาคารมีลักษณะประหนึ่งงานประติมากรรมกระจกที่ถูกโอบล้อมด้วยเม็ดพิกเซล 3 มิติ ลดหลั่นกันเป็นชั้นๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ของเมือง

“เราต้องการให้โครงการนี้แทรกตัวเสมือนเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเมือง ที่รองรับกิจกรรมทุกอย่างของมนุษย์ เริ่มจากพื้นที่สาธารณะที่จตุรัสหน้าโครงการ หมุนวนไปตามพิกเซลของ Facade ขึ้นไปสู่บริเวณ roof top ชั้นบนสุดของอาคารที่เป็นทั้งพื้นที่สาธารณะและจุดชมวิวแห่งใหม่ของกรุงเทพ” – Ole Scheeran

“แนวคิดก็คือเราสามารถนำวิถีชีวิตของคนเมืองขึ้นมาอยู่บนอาคารที่มีลักษณะคล้ายกับพิกเซลที่หมุนวนได้อย่างน่าทึ่ง” – Ole Scheeran

King Toronto

โครงการ King Toronto ย่าน King street west เมือง Toronto มลรัฐ Ontario ประเทศแคนนาดา จากบริษัทสถาปนิก BIG เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและพาณิชยกรรมที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาและก่อสร้าง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากโครง habitat 67 ในอดีต

ลักษณะที่เด่นชัดของโครงการคือยูนิตโมดุลลาคล้ายพิกเซลจัดวางเรียงซ้อนกันเป็นขั้นบันได มีการใช้แนวคิดการออกแบบ environmental design โดยการหมุนโมดูลลาพิกเซล 45 องศาเพื่อเพิ่มการรับแสงธรรมชาติและอากาศที่ถ่ายเท รวมถึงการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวแทรกตัวอยู่ภายในที่พักอาศัยโครงการอย่างกลมกลืน รวมถึงการใช้ Green wall เป็นองค์ปะกอบหลักในการตกแต่ Façade โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฟิตเนส อยู่บริเวณชั้นล่างของโครงการ

ด้วยบริบทโดยรอบของโครงการมีอาคารที่มีอยู่ในย่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จึงไม่ต้องการสร้างอาคารสูงระฟ้า พวกเราจึงมีความคิดที่จะสร้างยูโทเปียในงานสถาปัตยกรรมคล้ายกับเกาะหรือป่าดงดิบในเขาร้อนบนใจกลางเมือง และต้องการให้งานสถาปัตยกรรมของเรา เป็นเนื้อเดียวกับเมืองให้มากที่สุด” – Bjarke Ingels News

แนวคิดสำคัญของสถาปัตยกรรมในรูปแบบของเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ การนำเสนอปรัชญาการอยู่ร่วมกันของสังคมเมืองภายในงานสถาปัตยกรรม ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ประกอบกับการนำเสนอแนวคิด Environmentalism ที่ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ รวมถึงการสอดแทรกแนวคิด Sustainable Design ลงในผลงานอย่างลงตัว

Reference & Photo Credit
Habitat 67
https://www.dezeen.com/2014/12/19/moshe-safdie-movie-interview-habitat-67/
https://www.dezeen.com/2014/09/11/brutalist-buildings-habitat-67-montreal-moshe-safdie/
https://www.safdiearchitects.com/projects/habitat-67
https://www.archdaily.com/404803/ad-classics-habitat-67-moshe-safdie

Kafka castle
https://www.archdaily.com/870691/ad-classics-kafkas-castle-ricardo-bofill-taller-de-arquitecturas
https://www.archdaily.com/121483/ad-classics-kafka-castle-ricardo-bofill

Interlace
https://buro-os.com/projects/the-interlace 
https://www.dezeen.com/2009/09/04/the-interlace-by-oma/

Mahanakorn 
https://www.dezeen.com/2009/07/23/mahanakhon-by-oma/
https://www.dezeen.com/2017/05/24/ole-scheeren-pixellated-mahanakhon-tower-photography-hufton-crow-architecture-skycrapers-bangkok-thailand/

King Toronto 
http://gladkiplanning.com/portfolio/kingstreetwest/
https://www.dezeen.com/2018/09/20/big-king-street-west-pixelated-complex-toronto-gains-approval/

Writer
Torpong Limlunjakorn

Torpong Limlunjakorn

ฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ที่พยายามสื่อสารแนวคิดผ่านตัวหนังสือ วันว่างมักจะหนีไปหายใจที่ใต้ทะเล เงียบๆ คนเดียว