จะเป็นอย่างไร เมื่อร้านติ่มซำ สภากาแฟ และโรงเตี๊ยมที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาว่า คุณปู่ คุณย่าจะต้องแวะเวียนมาอ่านหนังสือพิมพ์ยามเช้า ถูกเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นร้านติ่มซำสมัยใหม่ที่ชวนวัยรุ่น และครอบครัวทุกวัยมาฮอปปิงร่วมกันระหว่างวัน KOPIHUB เป็นแบรนด์ติ่มซำ กาแฟ และชาโบราณ สูตรต้นตำรับของคุณแม่ในย่านอ่างศิลา จังหวัดชลบุรีที่ทายาทรุ่นสองเข้ามาบริหารจัดการร้านสาขาใหม่ แปลงโฉมให้ความสำคัญกับงานดีไซน์มากขึ้น โดยมีสถาปนิกจาก Does Studio รับหน้าที่ยกเครื่องร้านติ่มซำแห่งนี้ใหม่ทั้งหมด
หยิบเส้นสายโค้ง จากเข่งของติ่มซำ
ด้วยบริบทและสภาพที่ดิน ซึ่งมีด้านหน้าแคบ ทางเจ้าของจึงต้องการเปิดมุมมองด้านหน้าของร้านให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ และอยากให้อาคารมีฟอร์มแปลกตาเพื่อเชื้อเชิญผู้คนจากถนนให้เหลียวหันมอง ประจวบเหมาะกับช่วงเริ่มต้น ก่อนลงมือทำการออกแบบ ทีมสถาปนิกแวะเวียนไปเยี่ยมชมร้านสาขาดั้งเดิมที่บางแสน เพื่อมองหาคาแร็กเตอร์หรือวัสดุเดิมที่สามารถหยิบไปเป็นไอเดียเพื่อให้ 2 สาขาเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวเดียวกัน จนได้ไปพบกับเข่งติ่มซำเก่าจำนวนมากที่หลังร้าน ซึ่งตามหลักแล้วจะมีอายุการใช้งานที่ต้องผลัดเปลี่ยนไปตามเวลา สถาปนิกจึงปิ๊งไอเดียที่จะหยิบ ‘เข่งติ่มซำ’ เหล่านี้มาเล่นกับงานดีไซน์ทั้งการนำไปใช้อย่างตรงตัว และการนำเส้นสายฟอร์มโค้ง องค์ประกอบการสาน แพทเทิร์นบางส่วนมาถ่ายทอดกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องไปกับแบรนด์
สถาปนิกออกแบบตัวร้านด้วยฟอร์มโค้งมน ที่แก้ปัญหาพื้นที่และสร้างคาแร็กเตอร์ ซึ่งภายในแบ่งโซนของการใช้งานอย่างชัดเจน โดยด้านซ้ายมือที่ติดถนนจะเป็นโซนนั่งรับประทานอินดอร์หรือ The Pavillion DimSum ส่วนบริเวณใจกลางของร้านเป็นครัวหลัก เคาน์เตอร์ติ่มซำ ที่เชื่อมต่อมารับกับทางเข้าหลักได้อย่างพอดี ในขณะที่ด้านขวามือสุดเป็นครัวเล็กเอาท์ดอร์ โซนรับประทานเอาท์ดอร์ สำหรับวันชิลๆ อากาศไม่ร้อนก็สามารถนั่งจิบชาและชื่มชมแลนด์สเคปด้านข้างก็เพลินตาไม่ต่างกัน
องค์ประกอบของร้านติ่มซำร่วมสมัย ผสมกลิ่นอายไทยและจีน
สิ่งที่น่าสนใจ คือ องค์ประกอบร่วมสมัยกลิ่นอายไทย-จีนที่อัดแน่นอยู่ทั่วร้าน ซึ่งสถาปนิกนำวัสดุที่พบจากร้านสาขาแรกอย่างไม้เก่า เข่งติ่มซำเก่า มาผสมผสานกับองค์ประกอบใหม่ที่เลือกใช้อย่างงานกระเบื้องโบราณ การพ่นสีเท็กเจอร์งานผนัง และหน้าต่างรูปดอกไม้ที่คิดแพทเทิร์นขึ้นใหม่โดยเฉพาะ โดยภาพรวมยังหยิบสีครีมและสีแดงมาใช้เป็นหลัก ส่งกลิ่นอายถึงวัฒนธรรมจีนร่วมสมัยได้อย่างกลมกล่อม
เพราะร้านติ่มซำ มีความพิเศษอยู่ตรงที่ลูกค้าต้องไปเลือกเมนูอาหารเองจากตู้เคาน์เตอร์ เคาน์เตอร์ติ่มซำหลักบริเวณใจกลางร้าน จึงต้องออกแบบให้แกรนด์เพื่อต้อนรับผู้คน และเชื้อเชิญให้เข้ามาลิ้มรส โดยส่วนนี้สถาปนิกออกแบบด้วยไม้เก่าที่นำมาเซาะร่อง เสริมด้วยฐานกระเบื้องซับเวย์ขนาดเล็กสีแดงที่มีการ Custom Made เรียงเป็นแพทเทิร์นใหม่ กลายเป็นจุดหนึ่งของร้านที่บอกเป็นนัยๆ และตั้งใจชวนผู้คนมาเลือกชมและรับประทานติ่มซำ ถัดไปทางขวามือไม่ไกลนัก เป็นเคาน์เตอร์กาแฟโบราณ และชาชักที่ถูกดีไซน์ให้มีระดับเตี้ยลงเล็กน้อย เพื่อให้ลูกค้าที่มาสั่งติ่มซำสามารถมองเห็น เพลิดเพลินและมีส่วนร่วมไปกับกระบวนการทำ นอกจากนั้น บริเวณฝ้าด้านบนของโซนดังกล่าว ยังดีไซน์ด้วยเข่งติ่มซำไซส์ใหญ่จำนวน 42 ชิ้น เรียงเป็นแพทเทิร์นและซ่อนไฟเอาไว้ภายในเพื่อสร้างกิมมิคเล็กๆ ให้กับพื้นที่
ซุ้มโค้ง Arch ด้านซ้าย ชวนเราก้าวเข้าสู่โซนรับประทานอินดอร์ ซึ่งกดฝ้าให้ต่ำลงและออกแบบด้วยโทนสีแดงเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย ให้ผู้คนสามารถนั่งกินสบายๆ ได้อย่างเป็นตัวเอง โต๊ะอาหารถูกจัดวางล้อมรอบไปตามรูปทรงครึ่งวงกลมของร้าน โดยมีการแบ่งขอบเขตให้ชัดเจนผ่านการใช้พื้นกระเบื้องลายดอกไม้โบราณ ในขณะที่บริเวณใจกลางโซนเป็นพื้นกระเบื้องเทอราซโซที่ง่ายต่อการดูแลทำความสะอาด และมีพาร์ทิชันเป็นจุดนำสายตา ซึ่งเกิดจากการนำเข่งติ่มซำเก่าจำนวน 240 ชิ้น มาจัดวางทำมุมที่แตกต่างกัน กลายเป็นแบ็กดร็อปที่สามารถถ่ายรูปได้ และยังสร้างเอฟเฟกต์ของแสงเงาที่น่าสนใจให้เกิดขึ้นภายใน
บริเวณหน้าต่าง ยังดีไซน์กรอบกระจกด้วยลูกฟัก ซึ่งเป็นองค์ประกอบแบบไทยๆ ที่ช่วยกรองแสงและสร้างมิติของเงา เช่นเดียวกับกระจก Arch โค้งที่มีการฉลุไม้และทำแพทเทิร์นใหม่ขึ้นมา เป็นดีเทลเล็กๆ ที่ซุกซ่อนอยู่อย่างน่าสนใจ
โซนขวาสุดของตัวร้านติดกับลานจอดรถ เป็นที่ตั้งของครัวเอาท์ดอร์ที่ทำเมนูง่ายๆ โชว์ความน่ารับประทานอย่างการทอดปาท่องโก๋ และที่นั่งเอาท์ดอร์ซึ่งจำลองบรรยากาศสภากาแฟผ่านการดีไซน์ด้วยโต๊ะไม้กลมกระเบื้องหินอ่อน และมุมหนึ่งของโซนด้านนอกยังแบ่งสรรปันส่วนให้เป็นห้องน้ำที่กั้นระหว่างที่นั่งด้วยกล่องกระถางต้นไม้ใหญ่ พรางสายตาและสร้างบรรยากาศให้พื้นที่ดูน่านั่งไปพร้อมกัน
ถึงแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ขอบอกว่าห้องน้ำก็สอดแทรกแนวคิดและรายละเอียดของการออกแบบไม่แพ้ตัวร้าน โดยภายในถูกดีไซน์ด้วยวัสดุหลักจากกระเบื้องโมเสกหกเหลี่ยม ซึ่งนำสีขาวและสีแดงมาผสมผสาน สร้างเรื่องราวของการเฟดเพื่อให้สีขาวเบลนไปกับแสงธรรมชาติได้อย่างมีกิมมิค สำหรับห้องน้ำหญิง จะมีการเพนท์ภาพผู้หญิงเก๋ในชุดจีนซึ่งสะท้อนคาแร็กเตอร์ของตัวร้านที่ยังมีความนำวัฒนธรรมเก่าและใหม่มาผสมผสานกันอย่างลงตัว ส่วนห้องน้ำชายแตกต่างด้วยการใช้กระเบื้องสระว่ายน้ำสีเขียว ตัดกับโทนสีแดงซึ่งเป็นสีหลักของร้านได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือแม้แต่ร้านขนมในยุคปัจจุบัน หันมาใช้งานดีไซน์เพื่อดึงคนและถ่ายทอดความเป็นแบรนด์ผ่านการออกแบบองค์ประกอบ และร้อยเรียงสเปซ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่การฮอปปิงตามร้านต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เราตื่นเต้นไปกับการมองหาเรื่องราวที่ดีไซน์เนอร์พยายามซุกซ่อนไว้ ราวกับการเล่นเกมพัซเซิลที่ต้องมองหาชิ้นส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน ไม่ต่างจากร้าน KOPIHUB สาขาใหม่บนถนนถนนพระยาสัจจา ย่านอ่างศิลาที่ซ่อนองค์ประกอบของงานดีไซน์เอาไว้อย่างเต็มอิ่ม ใครที่ผ่านไปมา หรือแวะเวียนมาเที่ยวชลบุรี เราอยากชวนมาลิ้มลองติ่มซำและดื่มด่ำงานสถาปัตยกรรมแห่งนี้ดูสักครั้ง
Location: ถนนพะยาสัจจา อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี
Built Area: 300 ตารางเมตร
Architects & Interior : DOES studio
Structural Engineer : วันเฉลิม คำเจริญ
Photo Credit: Shootative
รับข่าวสารเรื่องการออกแบบ สถาปัตยกรรม ไลฟ์สไตล์
ทางอีเมล ที่จะส่งตรงถึงคุณทุกเดือน ลงทะเบียนได้ที่ด้านล่างนี้เลย!