How to Light Your Home?
เติมไฟให้กับบ้าน

การออกแบบแสงสว่างสำคัญไม่ต่างไปจากการมองหาสถาปนิก หรือนักออกแบบภายในดีๆ สักคน เพราะนอกจากองค์ประกอบหลักของสถาปัตยกรรมอย่าง กระจก บานประตู ผนัง หรือระนาบที่ประกอบเข้ากันเป็นสเปซ สิ่งหนึ่งที่ทำให้รายละเอียดของงานออกแบบเหล่านั้นสมบูรณ์ ก็คือ ‘แสงไฟ’ ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อทางอารมณ์ระหว่างผู้คนและสภาพแวดล้อม นอกจากนั้นการออกแบบแสงที่ดียังช่วยประหยัดพลังงานให้กับเจ้าของบ้านได้ ส่งต่อสู่งานออกแบบที่ดีมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงและต้นทุนน้อยลงตลอดอายุการใช้งาน

นอกจากนี้ แสงสว่างยังส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีทั้งในด้านชีวภาพและกายภาพ องค์ประกอบที่ใครหลายคนมองข้าม กลับเป็นตัวช่วยทำให้จังหวะวงจรชีวิตมีความสมดุล Dsign Something จึงถือโอกาสนี้ชวน Nulty Lighting บริษัท Lighting Design Consultants มาพูดคุยถึงเทคนิค และเคล็ดลับดีๆ ในการออกแบบแสงสว่างให้กับบ้านของเรา

ทำไมถึงต้องมีการออกแบบแสงสว่าง?

ใช้หลอดไฟธรรมดาได้ไหม?
แน่นอนว่าใช้หลอดไฟธรรมดาทั่วไปก็ย่อมได้! แต่การออกแบบแสงสว่างที่ดีไม่ใช่เพียงการเลือกใช้โคมไฟที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังถือเป็นศิลปะการเลือกใช้สสารชนิดหนึ่งที่ไม่มีตัวตน โดยเป็นการทำงานร่วมกันของแสงที่ตกกระทบลงบนพื้นผิว เกิดเป็นงานศิลปะที่เติมเต็มและสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งนักออกแบบระบบแสง หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘Lighting Designer’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกระบวนการออกแบบที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่มืดทึมให้ดูสวยงามหรือมีสไตล์ขึ้นมาได้อย่างลงตัว

ผู้คนมักจะไม่เข้าใจธรรมชาติที่ซับซ้อนของแสง และวิธีในการกำหนดทิศทางแสง โดยส่วนมากมักจะคำนึงเพียงแค่ความสวยงามของโคมไฟมากกว่าคุณภาพของแสงที่ใช้ และยังมีเรื่องที่เข้าใจผิดๆ ในการออกแบบแสงที่พบได้บ่อยๆ อย่างเช่น การติดตั้งโคมดาวน์ไลท์ไว้เหนือเตียงโดยตรง การเกิดแสงสะท้อนในห้องน้ำที่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา ไปจนถึงการใช้แสงไฟสาดลงบนพื้นที่กลางแจ้ง

เติมความอบอุ่นและเชื้อเชิญ
ด้วยการออกแบบแสงไฟภายในห้องนั่งเล่น

เริ่มต้นกันที่ห้องนั่งเล่น ซึ่งถือเป็นหน้าเป็นตาของบ้าน สิ่งสำคัญ คือ การออกแบบให้มีความหลากหลาย เพื่อรองรับกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน นั่งพักผ่อน พูดคุย หรือแม้แต่ในด้านของความสวยงาม เชื้อเชิญและพร้อมต้อนรับแขก ซึ่งสามารถทำให้น่าสนใจได้โดยการเพิ่มเลเยอร์ของการใช้งานแสงสว่างหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แสงไฟเพื่อการใช้งานหลัก แสงไฟเน้นไปที่ตัววัตถุ แสงไฟบรรยากาศ หรือแสงไฟตกแต่ง

แสงเพื่อการใช้งานจะเน้นไปที่ส่วนสำคัญของห้องนั่งเล่นที่มีการใช้งานบ่อยๆ อย่างเช่น โต๊ะกาแฟรับแขก ซึ่งหากอยากให้ห้องดูเรียบคลีน และไม่รบกวนแสงจากโทรทัศน์ สามารถเลือกใช้โคมไฟดาวน์ไลท์แบบฝังเสมอไปกับฝ้า นอกจากนั้นการติดตั้งไฟดาวน์ไลท์ไว้ใกล้ผนังหรือม่านมากเกินไป จะทำให้เกิดการสะท้อนที่ไม่น่ามอง อีกหนึ่งไอเดียง่ายๆ ในการเพิ่มความมีมิติ คือ แสงไฟส่องวัตถุที่สามารถนำสายตาและสร้างความน่าสนใจให้ห้องนั่งเล่นได้ อย่างการใช้แสงไฟส่องรูปภาพ

นอกจากไฟหลักที่ใช้ภายในพื้นที่แล้ว อย่าลืมไฟบรรยากาศซึ่งอาจมาในรูปแบบของ ไฟซ่อนที่หลืบฝ้า ไฟซ่อนภายในเฟอร์นิเจอร์อย่างชั้นวางของติดผนัง ไฟซ่อนในกล่องผ้าม่าน หรือโคมไฟตั้งพื้นหรือตั้งโต๊ะแบบกระจายแสง โดยเราขอแนะนำให้ใช้หลอดไฟแบบขุ่นเพื่อความสบายตา และสำหรับห้องนั่งเล่นที่จำเป็นต้องมีแสงสว่างจากโทรทัศน์มารบกวนสายตา ซึ่งบางครั้งเมื่อเราปิดไฟดูโทรทัศน์ แสงสว่างจ้าจะทำให้ตาล้าอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งอาจแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งไฟ LED ไว้บริเวณหลังทีวีเพื่อช่วยกระจายและปรับความสว่างของพื้นที่ภาพรวมให้พอดี  

เลเยอร์สุดท้าย คือ โคมไฟตกแต่ง ที่สามารถใช้เป็นของประดับตกแต่งให้กับพื้นที่ได้ในตัว อย่าง Feature Pendant ไฟ Up light เล็กๆ บริเวณขอบหน้าต่าง หรือ โคมไฟห้อยจากเพดาน ซึ่งแนะนำให้เลือกวัสดุของโคมไฟไปในทิศทางเดียวกับพื้นที่ จะช่วยเติมความน่าสนใจมากขึ้น

เพิ่มความน่าสนใจให้กับห้องครัว
ด้วยเลเยอร์ของไฟส่องสว่างที่แตกต่างกัน

สำหรับการออกแบบแสงสว่างในบริเวณที่มีการใช้งานเป็นหลักอย่างบริเวณเคาน์เตอร์ครัว เราแนะนำให้ติดไฟเส้นที่บริเวณตู้แขวน และหลีกเลี่ยงการติดตั้งที่มองเห็นดวงโคม เพื่อลดการสะท้อนบนเคาน์เตอร์ทำให้เกิดความไม่สบายตา

ส่วนบริเวณโต๊ะรับประทานอาหาร สามารถออกแบบเป็นโคมไฟฝังฝ้า แต่ต้องแน่ใจว่า โคมไฟทั้งหมดจะอยู่ในแนวกริดเดียวกัน เพื่อให้ภาพรวมของพื้นที่ดูทันสมัยและสบายตามากขึ้น และอย่าลืมว่การติดตั้งโคมไฟเพื่อเน้นการใช้งานต้องติดตั้งบริเวณดานหน้าของผู้ใช้งานเท่านั้น เพื่อลดแสงเงาตกกระทบที่จะรบกวนการใช้งานในพื้นที่ หากห้องครัวมีขนาดที่กว้างขวาง เราอาจจะเติมลูกเล่นด้วยแสงไฟเน้นไปที่ตัววัตถุ อย่างภาพวาด หรืองานศิลปะ ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งไฟฝังฝ้า และดวงโคมแบบ Picture Light ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือระยะการติดตั้งโคมไฟ เพื่อให้ได้ปริมาณแสงที่ดีที่สุด

ถ้าหากอยากเติมบรรยากาศ หรือความรู้สึกอบอุ่น เราสามารถใช้ไฟ Ambient เป็นตัวช่วย โดยหลีกเลี่ยงการใช้โคมไฟที่ส่องสว่างชัดเจน ซึ่งอาจแก้ปัญหาด้วยการซ่อนไฟที่หลืบฝ้า หรือการเลือกใช้โคมไฟแบบหน้าปิดที่กระจายแสง โดยสิ่งที่ต้องคำถึงถึง คือ ระยะช่องในการซ่อนไฟต้องเพียงพอ เพื่อให้เอฟเฟกต์แสงที่ได้มีความนุ่มนวลและสบายตา หรือการติดตั้งไฟ Up light บนเฟอร์นิเจอร์ก็ทำเช่นกัน และยังช่วยทำให้ฝ้าเพดานดูโปร่งและสว่างมากขึ้นอีกด้วย

ออกแบบแสงไฟภายในห้องนอน
เพื่อการพักผ่อนอย่างมีสมดุล  

เพราะห้องนอน คือ ห้องแห่งการพักผ่อนเพื่อเติมพลังงานสู่ร่างกายพร้อมรับกับวันใหม่ การออกแบบแสงสว่างภายในจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงภาวะสบายเป็นสำคัญ โดยสำหรับห้องนอนขนาดใหญ่ ไฟดาวน์ไลท์ฝังฝ้าจะช่วยกระจายแสงให้ทั่วถึงทั้งพื้นที่ แต่ควรหลีกเลี่ยงการติดไฟดาวน์ไลท์เหนือหมอน เพราะจะทำให้เกิดแสงแยงตา

การเลือกโคมไฟหัวเตียง ควรใช้ไฟแบบกระจายแสงเพื่อสร้างความรู้สึกผ่อนคลายและสบายตา ส่วนไฟบริเวณกระจก หากต้องการลดเงาที่จะเกิดขึ้น แนะนำให้ติดตั้งไฟซ่อนบริเวณสองข้างของกระจกแทนการใช้ดวงโคมที่ให้แสงสว่างโดยตรง ส่วนไฟสร้างบรรยากาศสามารถทำได้ในรูปแบบเดียวกับห้องนั่งเล่น โดยอาจเป็นไฟซ่อนที่หลืบฝ้า ไฟซ่อนภายในเฟอร์นิเจอร์ ไฟซ่อนในกล่องผ้าม่าน ซึ่งควรมีพื้นที่มากพอในการบังแสงไฟ เพื่อไม่ให้แสงสว่างอยู่ในเอฟเฟกต์ที่จ้าเกินจนรบกวนสายตา

แสงไฟภายในห้องน้ำ
สร้างความปลอดภัยและผ่อนคลาย

ห้องน้ำมาคู่กับความผ่อนคลายและความปลอดภัย เพราะฉะนั้นแสงไฟย่อมต้องสร้างบรรยากาศ ในขณะที่เพียงพอต่อการใช้งาน จุดที่โดดเด่นที่สุดในการติดตั้งไฟ คือ กระจกในห้องน้ำ ซึ่งเราสามารถติดตั้งไฟซ่อนบริเวณผนังทั้งสองข้างของกระจก แสงสว่างบริเวณที่อาบน้ำควรติดตั้งเหนือฝักบัว เพื่อป้องกันการเกิดเงาในขณะอาบน้ำ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการติดตั้งไฟในห้องน้ำ คือ หลอดไฟต้องลึกและไม่แยงสายตา ส่วนการติดตั้งไฟบริเวณอ่างอาบน้ำควรส่องลงตรงริมของอ่างมากกว่าบริเวณกลาง เพื่อป้องกันแสงแยงตาในเวลาที่เราใช้งานอ่างอาบน้ำ

สำหรับการเติมบรรยากาศภายในห้องน้ำ เราสามารถออกแบบแสงสว่างโดยเน้นบริเวณผนังด้วยการเติมไฟ Up Light หรือไฟบริเวณอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ จะช่วยเติมความลึกและทำให้ห้องน้ำที่มีขนาดจำกัดดูมีมิติได้มากขึ้น และยังช่วยทำให้เห็นเท็กเจอร์หรือพื้นผิวของงานผนังได้ชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยโคมไฟทั้งหมดที่เลือกใช้ภายในห้องน้ำ อย่าลืมเลือกวัสดุที่สามารถป้องกันความชื้น เพื่อลดการดูแลรักษา และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง

Writer
Rangsima Arunthanavut

Rangsima Arunthanavut

Landscape Architect ที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานออกแบบ สามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสิ่งรอบตัว และการบอกเล่าเรื่องราวการออกแบบผ่าน 'ตัวอักษร' ทำให้งานออกแบบที่ดี 'มีตัวตน' ขึ้นมาบนโลกใบนี้